พิพิธภัณฑ์แรงงานไทย กับ มักกะสันคอมเพล็กซ์ ; พื้นที่ทับซ้อนด้าน “คุณค่า”กับ “ราคา”

 

พิพิธภัณฑ์แรงงานไทย จับมือ FES จัดเสวนาในโอกาสครบรอบ 17 ปีการก่อตั้งพิพิธภัณฑ์  นักวิชาการ  อาจารย์มหาวิทยาลัย  และ ผู้นำแรงงาน  หนุนบทบาทที่ผ่านมาในฐานะที่เป็นแหล่งท่องเที่ยวและเรียนรู้เรื่องราวของผู้ใช้แรงงานซึ่งสามารถอยู่ร่วมกับโครงการด้านธุรกิจอย่าง “มักกะสันคอมเพลกซ์”ได้โดยอยากให้เชื่อมเรื่องแรงงานสากลด้วย     ด้านตัวแทนจากหน่วยงานรัฐอย่างการท่องเที่ยวฯแนะปรับให้ทันสมัยสร้างจุดขายแล้วจะช่วยโปรโมทให้   กระทรวงแรงงานฯบอกต้อง ไฮ-เทค และน่าจะเป็นกองหนึ่งในกระทรวง  กระทรวงวัฒนธรรมเห็นว่าเนื้อหาและวัสดุสิ่งของด้านแรงงานมีคุณค่าต่อการอนุรักษ์  ส่วนตัวแทนจากการรถไฟฯเปรียบเทียบกับต่างประเทศว่าจะอนุรักษ์ของเก่าที่มีคุณค่ามากกว่าทำลายทิ้ง

เมื่อวันที่ 20 ตุลาคม 2553 ที่โรงแรมอมารีเอเทรียม  มูลนิธิพิพิธภัณฑ์แรงงานไทย ร่วมกับ มูลนิธิฟรีดริค เอแบร์ท (FES)  จัดงานเสวนาในโอกาสครบรอบ 17 ปีการก่อตั้งพิพิธภัณฑ์แรงงานไทย เรื่อง “บทบาทพิพิธภัณฑ์แรงงานไทยต่อสังคม..จะก้าวไปทางไหน?”  มีนักวิชาการ  อาจารย์มหาวิทยาลัย  ตัวแทนหน่วยงานภาครัฐ และผู้นำแรงงาน เป็นผู้นำการเสวนา  มีตัวแทนองค์กรแรงงานต่างๆเข้าร่วมกว่า 50 คน

นายทวีป กาญจนวงศ์  ประธานมูลนิธิพิพิธภัณฑ์แรงงานไทย  กล่าวถึงวัตถุประสงค์การจัดงานว่า  เพื่อสรุปทบทวนบทบาทที่ผ่านมาของพิพิธภัณฑ์แรงงานไทยที่ก่อตั้งมาตั้งแต่วันที่ 17 ตุลาคม พ.ศ.2536  และรวบรวมข้อเสนอแนะการดำเนินงานในอนาคต  รวมทั้งการสร้างเครือข่ายความร่วมมือกับภาคส่วนต่างๆในสังคมเพื่อสนับสนุนการดำรงอยู่ของพิพิธภัณฑ์แรงงานไทย

Mr. Marc Saxer  ผู้อำนวยการมูลนิธิฟรีดริคเอแบร์ทกล่าวว่า  พิพิธภัณฑ์ฯ คือสิ่งแสดงถึงความภาคภูมิใจและศักดิ์ศรีของแรงงาน  ทำให้รู้ว่า เราคือใคร มาจากไหน เราต้องการให้คนเห็นอะไร สังคมไทยให้คุณค่าของแรงงานมากน้อยแค่ไหน ควรภูมิใจที่เป็นพิพิธภัณฑ์แรงงานแห่งเดียวในเอเชีย 

ประสบการณ์จากเยอรมัน มีพิพิธภัณฑ์หลายแห่งที่มีนักลงทุนมาซื้ออาคารเพื่อทำธุรกิจแต่ก็จะมีกลุ่มคนลุกขึ้นมาต่อสู้เพื่อรักษาอาคารสถานที่เหล่านี้เอาไว้  สิ่งหนึ่งที่จะบอกว่าที่แห่งนี้เป็นสาธารณะและเป็นที่แสดงออกคือต้องสร้างพันธมิตรกับคนหลายภาคส่วน เช่น กลุ่มศิลปะ นักวิชาการ  ต้องทำให้ชัดเจนว่าเป็นเรื่องสังคมโดยรวม

นายสาวิทย์ แก้วหวาน  เลขาธิการสมาพันธ์แรงงานรัฐวิสาหกิจสัมพันธ์  กล่าวในช่วงเป็นผู้ดำเนินการเสวนาเรื่อง “มุมมองของภาคสังคม คุณูปการของพิพิธภัณฑ์ ความคาดหวังและข้อเสนอแนะ”  ว่า  ได้มีโอกาสไปงานครบรอบ 100 ปีสวรรคตของ ร.5  ทำให้เห็นว่ารัฐไม่ค่อยให้ความสนใจมิติประวัติศาสตร์โดยเฉพาะพื้นที่ประวัติศาสตร์ของภาคประชาชน  ส่วนพิพิธภัณฑ์แรงงานไทยก็ล่อแหลมในด้านสถานที่ที่จะถูกแปรเป็นผลกำไรทางธุรกิจ

นายศักดินา ฉัตรกุล ณ อยุธยา  นักวิชาการประวัติศาสตร์  กล่าวว่า  พิพิธภัณฑ์แรงงานไทยเกิดขึ้นจากหลายคนหลายฝ่ายมาช่วยกันทำ  โดยมีแนวคิดต้องการยกสถานภาพของผู้ใช้แรงงานที่ถูกมองว่าต่ำในสังคมจากประวัติศาสตร์ที่ลำเอียง  และเพื่อสร้างเอกภาพฟื้นฟูขบวนการแรงงานไทย โดยกำหนดภารกิจไว้ 4 ประการ คือ 1. เป็นพิพิธภัณฑ์  2. เป็นศูนย์ข้อมูลแรงงานซึ่งมีทั้งเอกสารและภาพถ่าย  3. เป็นศูนย์วัฒนธรรมแรงงาน  และ 4. เป็นศูนย์จัดกิจกรรมฝึกอบรมด้านแรงงาน  ซึ่งตลอด 17 ปีที่ผ่านมาถือว่ามีความคืบหน้าประวัติศาสตร์ของแรงงานถูกเติมเต็ม  โดยปัจจัยแห่งความสำเร็จคือ ตอบสนองความต้องการของสังคมในการศึกษาประวัติศาสตร์แรงงานไทย  ได้รับความร่วมมือจากหลายฝ่าย ทั้งแรงงาน องค์กรพัฒนาเอกชน สถาบันการศึกษา องค์กรต่างประเทศ รวมทั้งหน่วยงานด้านการท่องเที่ยวทั้งระดับชาติและกรุงเทพมหนครฯ

แต่ก็ยังมีข้อน่ากังวลเรื่องพื้นที่จัดแสดงที่เริ่มคับแคบและยังขยับขยายไม่ได้จากความไม่ชัดเจนเรื่องสถานที่ตั้ง  รวมทั้งยังขาดการสนับสนุนด้านงบประมาณจากทั้งองค์กรของแรงงานและจากหน่วยงานภาครัฐ

นายวิษณุ เอมประณีตร์  ผู้จัดการพิพิธภัณฑ์หุ่นขี้ผึ้งไทย  กล่าวว่า  ในฐานะคนที่มีอาชีพทำพิพิธภัณฑ์ซึ่งถือเป็นแรงงานประเภทหนึ่งเช่นกัน  ขอคารวะผู้ที่มีส่วนในการก่อตั้งและดำรงอยู่ของพิพิธภัณฑ์แรงงานไทย  เรามีประวัติศาสตร์ชาติที่ไม่มีประวัติศาสตร์ท้องถิ่นรวมอยู่ซึ่งก็ควรต้องมีการชำระให้ชัดเจน  ชอบพิพิธภัณฑ์แรงงานไทยที่บอกว่าเป็นพิพิธภัณฑ์แรงงานแห่งแรกและแห่งเดียวในเอเชียเพราะไม่จำกัดอยู่แค่ขอบเขตประเทศ  ถือว่าเป็นสีสันและสร้างความหลากหลายซึ่งจำเป็นต่อวงการพิพิธภัณฑ์ทั่วโลก  พิพิธภัณฑ์แรงงานไทยเป็นตัวแทนรูปธรรมของการต่อสู้ทางด้านสังคม  และเสนอว่าให้เติมเนื้อหาของแรงงานโลกเข้ามาด้วย  ส่วนการดำรงอยู่ในโลกปัจจุบัน  เห็นว่าธุรกิจใหญ่ๆมีแนวทางดึงพิพิธภัณฑ์เข้าไปเป็นส่วนหนึ่งของการทำธุรกิจ เช่น พิพิธภัณฑ์ช้างเอราวัณ  พิพิธภัณฑ์ธนาคารไทย พิพิธภัณฑ์ของแปลก ริปลี่ส์

อาจารย์พธู คูศรีพิทักษ์  อาจารย์ประจำหลักสูตรวัฒนธรรมเพื่อการพัฒนา สาขาวิชาเอกพิพิธภัณฑ์ศึกษา สถาบันวิจัยภาษาและวัฒนธรรมเอเชีย มหาวิทยาลัยมหิดล  มีความเห็นว่า  พิพิธภัณฑ์แรงงานไทยแม้จะมีขนาดเล็กแต่ก็ใช้พื้นที่ได้เต็มศักยภาพ  ต่อไปน่าจะมีการปรับภูมิทัศน์และขยายพื้นที่เพื่อเพิ่มเนื้อหา  ซึ่งสถานที่ตั้งปัจจุบันก็เหมาะสมต่อการเป็นสถานที่ท่องเที่ยวศึกษาและคิดว่าสามารถอยู่ในพื้นที่เขตธุรกิจได้อย่างเอื้อประโยชน์ซึ่งกันและกัน  

ในส่วนการนำเสนอก็น่าสนใจมีคุณูปการต่อนักศึกษามาก  มีนักศึกษาเสนอตัวเข้าไปช่วยในเรื่องของการออกแบบของที่ระลึก  รวมทั้งสนใจจะทำเป็นวิทยานิพนธ์ด้วย  ในส่วนของมหาวิทยาลัยก็คาดหวังให้เป็นพื้นที่สร้างเอกลักษณ์ที่ทุกคนเท่าเทียมกัน เชื่อมชุมชนเข้ามาเรียนรู้ร่วมกัน เกิดปฏิสัมพันธ์ไม่เป็นปฏิปักษ์ต่อกัน ให้เป็นสังคมที่เอื้ออาทรและลดความเหลื่อมล้ำ

นางสาววิไลวรรณ แซ่เตีย  ประธานคณะกรรมการสมานฉันท์แรงงานไทย  กล่าวว่า  พิพิธภัณฑ์แรงงานไทยได้ทำให้มีโอกาสเรียนรู้ประวัติของผู้นำแรงงานในอดีตเช่น ถวัติ ฤทธิเดช  ผู้นำสมาคมกรรมกรรถรางแห่งสยาม  ที่แม้จะเป็นชนชั้นกลางแต่ก็อุทิศตัวทำงานเพื่อคนงานยากจน ยังมี ศุภชัย ศรีสติ  อารมณ์  พงศ์พงัน ทนง โพธิ์อ่าน ที่ยอมสละแม้ชีวิตเพื่อคนงาน  จึงอยากให้ผู้นำแรงงานเข้าไปศึกษาตัวตนของแรงงานเพื่อสร้างความภาคภูมิใจ  ต้องช่วยกันต่อสู้สนับสนุนให้พิพิธภัณฑ์แรงงานไทยคงอยู่อย่างมีศักดิ์ศรี เพื่อเป็นศูนย์รวมของแรงงาน และเป็นแหล่งศึกษาเรียนรู้ของคนทั่วไปด้วย

ช่วงต่อมาเป็นการเสวนาในหัวข้อ “รัฐและบทบาทในการสนับสนุนพิพิธภัณฑ์เพื่อการเรียนรู้ : ข้อเสนอแนะในการประสานความร่วมมือและการจัดการเรื่องสถานที่ตั้ง”

ศาสตราภิชาน แล ดิลกวิทยรัตน์  คณะเศรษฐศาสตร์จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย  กล่าวว่า  พิพิธภัณฑ์แรงงานไทยทำให้รู้จักปูมหลังของผู้ใช้แรงงานที่ทุกวันนี้มักพูดถึงแรงงานในคำว่าลูกจ้าง  ซึ่งต้นกำเนิดคือ กุลีจีน  ส่วนคนไทยในอดีตไม่เป็นลูกจ้าง แต่อยู่ในฐานะ ไพร่-ทาส  เห็นว่าในด้านของการท่องเที่ยว  ควรสนับสนุนในการเที่ยวพิพิธภัณฑ์ให้มากขึ้น  เพื่อให้ไม่ใช่มีเพียงเรื่องของ เซ็กซ์ทัวร์  หรือ ช้อปทัวร์  ส่วนกระทรวงแรงงานน่าจะมีหน่วยงานที่รวบรวมประวัติและเรื่องราวของแรงงานทั้งหมด

ในส่วนที่คิดว่ายังเป็นปัญหาของพิพิธภัณฑ์แรงงานไทยอยู่ คือ เรื่องข้อมูลที่อาจยังมีไม่ครบ  เรื่องสถานที่  ความอยู่รอดและความมั่นคง

นายสมชาย  ณ นครพนม  ผู้เชี่ยวชาญเฉพาะด้านวิจัยและพัฒนาพิพิธภัณฑ์ กระทรวงวัฒนธรรม  กล่าวว่า  กระทรวงมีแนวทางสนับสนุนให้ท้องถิ่นจัดตั้งพิพิธภัณฑ์เป็นแหล่งเรียนรู้มากขึ้นจากปัญหาในการพัฒนาพิพิธภัณฑสถานแห่งชาติที่ไม่ค่อยมีชีวิต  คนหนุ่มสาวไม่ชอบ  ซึ่งอาจต้องนำพิพิธภัณฑ์ไปสู่ผู้คนในห้างสรรพสินค้า ชุมชน หรือโรงเรียน

ส่วนพิพิธภัณฑ์แรงงานไทยมีความสำคัญเป็นแหล่งเรียนรู้การก่อร่างสร้างชาติ  ถ้าใช้หลักอนุรักษ์ในประเด็นคุณค่าภูมิปัญญาความรู้  และวัสดุสิ่งของที่เป็นของแท้ดั้งเดิมก็จะมีพลัง  และสามารถอยู่ร่วมกับศูนย์ธุรกิจอย่างคอมเพล็กซ์ได้

นายทวีศักดิ์  จันทร์เพชร  หัวหน้าสวัสดิการแรงงาน  ตัวแทนจากการรถไฟแห่งประเทศไทย  กล่าวว่า  หากย้อนไปดูต่างประเทศ  ถ้าสร้างสิ่งใหม่ก็ต้องอนุรักษ์สิ่งเก่า  ซึ่งสังคมไทยไม่ค่อยมีแนวคิดนี้  การต่อสู้เพื่อดำรงอยู่ก็ต้องมีการปรับภูมิทัศน์ และ นำเสนอสิ่งของที่ผูกพันกับวิถีชีวิต เช่น ระหัดชกมวย ระหัดวิดน้ำโบราณที่ใช้แรงคน

นายเกียรติศักดิ์ เอี่ยมสำอางค์  ผู้ช่วยผู้อำนวยการ การท่องเที่ยวแห่งประเทศไทย (ททท.) สำนักงานกรุงเทพ  กล่าวว่า  พิพิธภัณฑ์แรงงานถือเป็นกระจกบานใหญ่ที่ทำให้เห็นการเปลี่ยนแปลงและพัฒนาประเทศ  เป็นภูมิปัญญาและความรู้ที่ถือเป็นภาพลักษณ์ในด้านบวกของแรงงานที่ขายได้ไม่รู้จบแม้ในเรื่องของการท่องเที่ยว  โดยต้องสร้างการรับรู้ในด้านการตลาดและการประชาสัมพันธ์  ซึ่งเป็นภารกิจของ ททท. ที่พร้อมสนับสนุน  

นายอิทธพล แผ่นเงิน  ผู้เชี่ยวชาญเฉพาะด้านแรงงานสัมพันธ์  กระทรวงแรงงาน  กล่าวถึงปัญหาสถานที่ตั้งของพิพิธภัณฑ์แรงงานไทยที่การรถไฟฯมีโครงการจะใช้พื้นที่บริเวณนั้นไปทำมักกะสันคอมเพล็กซ์ว่า  ในแง่กฎหมาย  ถึงอย่างไรการรถไฟก็ต้องจัดหาสถานที่ให้  และเห็นว่าพิพิธภัณฑ์แรงงานไทยยังไม่ ไฮเทค  ต้องเป็นกองในกระทรวงแรงงานฯถึงจะเติบโต ซึ่งถ้าช่วยกันผลักดันอาจได้รับการสนับสนุน  และต้องมีการโรดโชว์ตีปิ๊บ

นักสื่อสารแรงงาน ศูนย์พิพิธภัณฑ์แรงงานไทย  รายงาน