แรงงานผลักดันค่าจ้าง 421 บาทเท่ากันทั่วประเทศ

  

ในการเคลื่อนไหวครั้งนี้ คณะกรรมการสมานฉันท์แรงงานไทย และคณะทำงานผลักดันอนุสัญญา ILO ฉบับที่ 87 และ 98 ได้มีการยื่นหนังสือต่อรัฐบาล 2 ฉบับโดยมีรายละเอียดดังนี้

ค่าจ้างที่เป็นธรรม 421 บาทต่อวัน เท่ากันทั่วประเทศ

ในสภาวะเศรษฐกิจปัจจุบัน “ค่าจ้าง” ไม่ได้เป็นเพียงตัวชี้วัดค่าตอบแทนสำหรับคนงานเท่านั้น แต่ยังเป็นตัวชี้วัดสินค้าและบริการที่เข้าออกในระบบเศรษฐกิจอันเป็นผลมาจากการดำเนินงานของกลไกการผลิตด้วยเช่นกัน เศรษฐกิจจะมั่นคงอยู่ได้ก็เพราะค่าจ้างของคนงานที่ส่งผลต่อเนื่องถึงสมาชิกในสังคมกลุ่มอื่นๆ และส่งผลให้เกิดการพัฒนาเศรษฐกิจและสังคม ในสถานการณ์ปัจจุบันค่าจ้างขั้นต่ำของประเทศไทยอยู่ในระดับที่ต่ำมาก ไม่พอเพียงต่อการดำรงชีพของคนงานในแต่ละวัน โดยขบวนการแรงงานไทยได้พยายามผลักดันให้เกิดค่าจ้างที่เป็นธรรมมาอย่างต่อเนื่อง โดยให้คนงานและครอบครัวดำรงชีพอยู่ได้อย่างมีคุณภาพ แต่ก็ยังไม่ได้รับการตอบรับจากรัฐแต่อย่างใด ถึงแม้ว่าในรัฐบาลปัจจุบัน ฯพณฯ นายกรัฐมนตรีจะมีแนวคิดในการยกระดับค่าจ้างขั้นต่ำเป็น 250 บาทต่อวันแต่ในทางปฏิบัติก็ยังไม่มีความคืบหน้า และในความเป็นจริงก็ยังไม่เพียงพอต่อการดำรงชีพจริงของคนงาน  ซึ่งในปี พ.ศ.2551 และ 2552 คณะกรรมการสมานฉันท์แรงงานไทย และเครือข่ายองค์กรแรงงาน ได้มีการออกแบบสำรวจเพื่อประกอบการผลักดันค่าจ้างที่เป็นธรรม โดยเป็นแบบสำรวจที่ใช้ในการเก็บข้อมูลเกี่ยวกับค่าใช้จ่ายจริงในการดำรงชีพของลูกจ้าง 1 คนต่อวัน ค่าใช้จ่ายเกี่ยวกับสาธารณูปโภคอื่นๆที่ต้องจ่ายจริงต่อเดือน และข้อมูลค่าจ้างขั้นต่ำต่อวันที่ควรจะเป็น ซึ่งจากการเก็บข้อมูลของแบบสำรวจดังกล่าวกว่า 500 ชุด จากคนงานกลุ่มต่างๆ ทำให้ทราบข้อมูลว่า

• คนงานมีค่าใช้จ่ายในการครองชีพต่อวัน (พาหนะ , อาหาร ,ยารักษาโรค) เป็นเงิน 153 บาทต่อวันในปี 2551 และ 172 บาทต่อวันในปี 2552
• คนงานมีค่าใช้จ่ายประจำเดือน (ค่าเช่าบ้าน , สาธารณูปโภค , ค่าใช้จ่ายในครัวเรือน และค่าใช้จ่ายสำหรับการศึกษา) เป็นเงิน  6608 บาทต่อเดือนในปี 2551 และ 7,468 บาทต่อเดือนในปี 2552
• รวมค่าใช้จ่ายต่อเดือนของคนงานคิดเป็น 12,631 บาทในปี 2552
• ค่าจ้างขั้นต่ำที่เป็นธรรมของคนงานต้องอยู่ในอัตรา 421 บาทต่อวัน

จากข้อมูลการสำรวจข้างต้น ซึ่งเป็นข้อมูลที่เกิดขึ้นจริงเกี่ยวกับค่าใช้จ่ายในการดำรงชีพของคนงาน ทำให้พบว่าค่าจ้างที่สามารถทำให้คนงานมีชีวิตอยู่ได้ภายใต้สภาวะเศรษฐกิจปัจจุบัน ต้องอยู่ในอัตราค่าจ้าง 421 บาทต่อวันเท่ากันทั่วประเทศ ทั้งนี้เพื่อให้เกิดความเป็นธรรมในเรื่องค่าแรงและให้เป็นไปตามความต้องการของคนงาน โดยยกระดับคุณภาพชีวิตของคนงานในการทำงานวันละไม่เกิน 8 ชั่วโมงไม่ต้องทำงานล่วงเวลาและมีรายได้เพียงพอต่อการยังชีพอย่างสมศักดิ์ศรีความเป็นมนุษย์ คณะกรรมการสมานฉันท์แรงงานไทยจึงผลักดันให้เกิดอัตราค่าจ้างขั้นต่ำที่เป็นธรรมเท่ากันทั่วประเทศในอัตรา 421 บาท พร้อมกันนี้คณะกรรมการสมานฉันท์แรงงานไทยขอเสนอหลักการในการขึ้นค่าจ้างประจำปี โดยคำนวนจากอัตราเงินเฟ้อและอัตราความเจริญเติบโตทางเศรษฐกิจ (GDP.) ให้สอดคล้องกับการขึ้นค่าจ้างต่อไปในอนาคต


  

  

ทวงสัญญา 1 ปี กับความคืบหน้าในการให้สัตยาบันอนุสัญญา ILO

  แถลงการณ์คณะทำงานผลักดันอนุสัญญา ILO ฉบับที่ 87 และ 98
ฉบับที่ 5/2552

  วันนี้ (วันพฤหัสบดีที่ 7 ตุลาคม 2553) เนื่องในวันงานที่มีคุณค่าสกล (International Decent Work’s Day) พวกเราเครือข่ายองค์กรแรงงานต่างๆ ในนามของคณะทำงานผลักดันอนุสัญญา ILO ฉบับที่ 87 และ 98 อันประกอบด้วย สภาองค์การลูกจ้าง , สหพันธ์แรงงาน , กลุ่มสหภาพแรงงาน , คณะกรรมการสมานฉันท์แรงงานไทย , สมาพันธ์แรงงานรัฐวิสาหกิจสัมพันธ์ รวมไปถึง สมาชิกสหพันธ์แรงงานระดับสากล (GUF) ในประเทศไทย ได้ออกมารณรงค์เรียกร้องต่อรัฐบาลไทยเพื่อสิทธิและคุณภาพชีวิตที่ดีของพี่น้องผู้ใช้แรงงาน

ซึ่งที่ในช่วง 2 ปีที่ผ่านมานี้ คณะทำงานผลักดันอนุสัญญา ILO ฉบับที่ 87 และ 98 ได้มีการเคลื่อนไหวกดดันต่อกระทรวงแรงงานและรัฐบาลอย่างต่อเนื่องเพื่อให้รัฐบาลให้สัตยาบันอนุสัญญา ILO ทั้ง 2 ฉบับ โดยเฉพาะเมื่อวันที่ 7 ตุลาคม 2552 ที่พวกเราคณะทำงานผลักดันอนุสัญญา ILO ฉบับที่ 87 และ 98 ได้พาพี่น้องผู้ใช้แรงงานกว่า 5,000 คน ออกมารณรงค์เคลื่อนไหวหน้าทำเนียบรัฐบาล และยื่นหนังสือต่อ ฯพณฯ นายกรัฐมนตรี ผ่านท่านรองนายกรัฐมนตรี พลตรีสนั่น ขจรประศาสน์ ซึ่งท่านได้รับปากว่าจะดำเนินงานผลักดันการให้สัตยาบันอนุสัญญา ILO ฉบับที่ 87 และ 98 ให้เรียบร้อยภายใน 3 เดือน จนถึงวันนี้ครบ 1 ปี การให้สัตยาบันอนุสัญญา ILO ฉบับที่ 87 และ  98 ก็ยังไม่เป็นที่เรียบร้อย ถึงแม้จะมีการประชุ่มร่วมกับคณะกรรมการประสานงานเพื่อการให้สัตยาบันอนุสัญญา ILO ฉบับที่ 87 และ 98 ของกระทรวงแรงงานถึง 5 ครั้ง ซึ่งมีมติร่วมกันว่าให้รัฐบาลไทยให้สัตยาบันอนุสัญญา ILO ทั้ง 2 ฉบับพร้อมกัน โดยให้มีการให้สัตยาบันก่อนแล้วค่อยทยอยแก้กฎหมายหลังจากนั้น

 ดังนั้นในวันนี้พวกเราในนามคณะทำงานผลักดันอนุสัญญา ILO ฉบับที่ 87 และ 98 ขอทวงสัญญาจากรัฐบาลในการให้สัตยาบันอนุสัญญา ILO ฉบับที่ 87 และ 98 อย่างเร่งด่วน โดยต้องนำเรื่องดังกล่าวเสนอขอความเห็นชอบจากคณะรัฐมนตรี และรัฐสภาตามลำดับโดยด่วน การสร้างงานที่มีคุณค่าจะเกิดขึ้นไม่ได้เลยหากรัฐบาลไม่รับรองอนุสัญญาหลักทั้ง 2 ฉบับ ในโอกาสครบรอบ 91 ปี ของการก่อตั้งองค์การแรงงานระหว่างประเทศ  และการเข้าเป็นประเทศภาคีสมาชิกองค์กรแรงงานระหว่างประเทศของประเทศไทย ในปี 2553 นี้ เป็นวาระสำคัญในการให้สัตยาบันอนุสัญญาทั้ง 2 ฉบับ

การที่รัฐบาลไม่รับรองอนุสัญญาทั้ง 2 ฉบับดังกล่าว เป็นเหตุสำคัญประการหนึ่งที่ทำให้ผู้ใช้แรงงานมีข้อจำกัดในการรวมตัวจัดตั้งเป็นองค์กรของคนงานและมีข้อจำกัดในการเจรจาต่อรอง ซึ่งถือว่าเป็นการละเมิดสิทธิขั้นพื้นฐานของคนงาน และแสดงให้เห็นถึงความไม่ใส่ใจในคุณภาพชีวิตของผู้ใช้แรงงาน ที่จะได้มาโดยรูปแบบการรวมตัวและเจรจาต่อรองกับอำนาจทุน ดังนั้นเพื่อแสดงให้เห็นถึงความจริงใจในการแก้ไขปัญหาของผู้ใช้แรงงานซึ่งมีจำนวนมากถึง 37 ล้านคน รัฐบาลไทยต้องให้สัตยาบันรับรองอนุสัญญา ILO ฉบับที่ 87 และ 98 โดยทันที ทั้งนี้หากรัฐบาลไทยยังเพิกเฉย ไม่ให้ความสำคัญต่อการให้สัตยาบันอนุสัญญา ILO ทั้ง 2 ฉบับดังกล่าว พวกเราในนามของคณะทำงานผลักดันอนุสัญญา ILO ฉบับที่ 87 และ 98 ก็จะมีการรณรงค์กดดันอย่างเข้มข้นและต่อเนื่อง ไม่ว่าจะเป็นการรณรงค์ในประเทศและการรณรงค์ในระดับสากลร่วมกับพี่น้องผู้ใช้แรงงานทั่วโลก

พร้อมกันนี้เพื่อเป็นการยกระดับคุณภาพชีวิตของพี่น้องผู้ใช้แรงงาน ให้สอดคล้องกับการทำงานที่มีคุณค่า คณะทำงานผลักดันอนุสัญญา ILO ฉบับที่ 87 และ 98 ขอสนับสนุนการรณรงค์ผลักดันค่าจ้างขั้นต่ำที่เป็นธรรมของพี่น้องผู้ใช้แรงงาน 421 บาทต่อวัน เท่ากันทั่วประเทศ เพื่อให้ผู้ใช้แรงงานสามารถดำรงชีพอยู่ได้จริงในสภาพเศรษฐกิจปัจจุบัน

แถลงเมื่อวันพฤหัสบดีที่ 7 ตุลาคม 2553
        เนื่องในวันงานที่มีคุณค่าสากล
                            คณะทำงานผลักดันอนุสัญญา ILO ฉบับที่ 87 และ 98