ผู้นำแรงงานซักแถวค้าน มาตรการลดสมทบสปส.ช่วยนายจ้าง

ผู้นำแรงงานประสานเสียงค้านลดเงินสมทบประกันสังคมช่วยนายจ้าง นักวิชาการย้ำทำได้รัฐต้องจ่ายเพิ่ม ถามไหนว่า เงินกองทุนง่อนแง่น หลังจ่ายบำนาญชราภาพ

วันที่ 21 มกราคม 2561 นักสื่อสารแรงงานได้สัมภาษณ์ผู้นำแรงงาน และนักวิชาการต่อประเด็นข้อเสนอมาตรการช่วยนายจ้างหลังมีมติคณะกรรมการค่าจ้างขั้นต่ำ ซึ่งนายสมพร ขวัญเนตร รองประธานความกรรมการสมานฉันท์แรงงานไทย กล่าวถึงประเด็นที่ นางเพชรรัตน์ สินอวย รองปลัดกระทรวงแรงงาน ในฐานะโฆษกกระทรวงแรงงาน แถลงถึงการปรับค่าจ้าง ขั้นต่ำ 308 – 330 บาท ที่มีผลกระทบกับนายจ้างและสถานประกอบการ นอกจากมาตรการด้านภาษี ที่จะให้นายจ้างนำต้นทุนค่าจ้างแรงงาน มาลดหย่อนได้ 1.5 เท่าและบอร์ดฝ่ายนายจ้าง ยังเสนอให้ลดเงินสมทบประกันสังคม ร้อยละ 1โดยจะสมทบเข้ากองทุนเพียงร้อยละ 4 เท่านั้น ว่า การที่ภาครัฐไปเสนอมาตรการช่วยเหลือนายจ้างในการลดหยอนภาษี หรือว่าการลดการจัดเก็บเงินสมทบให้นายจ้างนั้น

มองว่า “รัฐอย่าใช้แนวคิดแบบเหมารวมใช้มาตรการเดียวกันในการช่วยเหลือนายจ้างต่อประเด็นได้รับผลกระทบจากการขึ้นค่าจ้างขั้นต่ำ รัฐควรมีการแยกให้ออกว่า กลุ่มไหนที่ได้รับผลพวงได้รับผลกระทบจริง อย่างบริษัทที่ตนทำงานอยู่นั้นนายจ้างจ่ายค่าจ้างสูงกว่าค่าจ้างขั้นต่ำแล้ว ซึ่งสถานประกอบการขนาดใหญ่ส่วนใหญ่เขาจ่ายค่าจ้างสูงกว่าค่าจ้างขั้นต่ำที่มีการประกาศปรับขึ้น จึงเห็นว่าไม่ได้รับผลกระทบอะไรกับการประกาศปรับขึ้นค่าจ้างขั้นต่ำ แล้วมาตรการลดภาษีรัฐควรทบทวนว่าจะแก้ปัญหาตรงจุดได้อย่างไรไม่ใช่ใช้มาตรการวานแห่ ประเด็นต่อมาเรื่อง ลดการจัดเก็บเงินสมทบประกันสังคมเพื่อช่วยนายจ้างนั้น รัฐก็ทราบดีว่า กองทุนประกันสังคมเป็นกองทุนเพื่อจัดสวัสดิการให้กับลูกจ้างผู้ประกันตน การลดการจัดเก็บเงินสมทบก็จะกระทบต่อสวัสดิการที่ลูกจ้างจะได้รับในอนาคตแน่นอน ซึ่งในฐานะลูกจ้างผู้ประกันตนไม่ยอม และไม่เห็นด้วยกับมาตรการนี้ หยุดใช้มาตรการแบบเหมารวมในการช่วยเหลือนายจ้าง” นายสมพร กล่าว

“หากจำกันได้ว่าเจ้าสัว ซีพี (ธนินท์ เจียรวนนท์ ประธานกรรมการและประธานคณะผู้บริหาร เครือเจริญโภคภัณฑ์ (ซีพี)) กล่าวถึงค่าจ้างแรงงานไทยในงาน “35 ปีหนองหว้ากับการพัฒนาที่ยั่งยืน” เมื่อมกราคม 2555 ว่า “ควรปรับเงินเดือนข้าราชการเป็น 22,000 บาทต่อเดือน ส่วนค่าแรงขั้นต่ำควรอยู่ที่ 500 บาทต่อวัน เทียบราคาน้ำมัน และค่าครองชีพที่ปรับตัวสูงขึ้น” ซึ่งผ่านมาหลายปี ค่าจ้างยังไปไม่ถึงค่าครองชีพปี 2555 เลย” ซึ่งมาตรการที่รัฐกำหนดมาทั้ง 2 มาตรการนั้นส่งผลกระทบกับคนส่วนใหญ่ทั้งสิ้น รัฐควรดูมาตรการที่เหมาะสมสำหรับแก้ปัญหาผู้ประกอบการขนาดเล็ก ขนาดกลางที่มองว่าน่าจะได้รับผลกระทบ เพื่อการแก้ที่ตรงจุด นายสมพร กล่าว

นายบุญสม ทาวิจิตร ประธานกลุ่มผู้ใช้แรงงานสระบุรี และใกล้เคียง กล่าวว่า มาตรการที่รัฐออกมาหลังประกาศจะปรับขึ้นค่าจ้างนั้นเป็นมาตรการอุ้มนายจ้าง ที่กล่าวเช่นนี้ ทุกคนต้องเข้าใจนะว่าค่าจ้างยังไม่ได้มีการปรับขึ้นต้องรอเดือนเมษายน 2561สิ่งที่มาก่อน คือ ค่าครองชีพที่สูง ราคาสินค้าอุปโภคบริโภคทยอยปรับขึ้นตั้งแต่ปีที่แล้ว ซึ่งรัฐไม่เคยมีมาตรการในการที่จะช่วยเหลือประชาชนคนส่วนใหญ่ที่มีรายได้น้อย แต่เมื่อมีการประกาศจะปรับขึ้นค่าจ้างขั้นต่ำ รัฐเตรียมมาตรการต่างๆในการที่จะช่วยเหลือนายจ้าง ทั้งมาตรการลดภาษีให้กับนายจ้าง และยังมาขอลดเงินสมทบประกันสังคมให้อีก อันนี้คือมาตรการที่ช่วยกลุ่มน้อยคือนายทุนแต่ส่งผลกระทบต่อคนจนส่วนใหญ่ สิ่งที่รัฐเสนอมาไม่ใช่มาตรการที่จะลดความเหลื่อมล้ำ เพื่อสร้างมาตรฐานให้คนได้กินดีอยู่ดี มีสวัสดิการรองรับ รัฐควรหาแนวทางใหม่เพื่อแก้ปัญหาให้ตรงจุดมาใช่แบบรูปหน้าปะจมูกแบบนี้

รศ.ดร.ณรงค์ เพ็ชรประเสริฐ อาจารย์ประจำหลักสูตรเศรษฐศาสตร์ การเมือง คณะเศรษฐศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย กล่าวถึงประเด็นมาตรการของรัฐหลังการประกาศจะปรับขึ้นค่าจ้างขั้นต่ำในเดือนเมษายน 2561 ว่า การที่กระทรวงแรงงาน หรือรัฐหามาตรการในการที่จะช่วยลดภาระให้กับนายจ้างหลังการปรับขึ้นค่าจ้างขั้นต่ำนั้น ในส่วนของการลดหย่อนภาษี หรือว่า การที่จะลดการจัดเก็บเงินสมทบประกันสังคมนั้น อยากให้รัฐบาลคำนึงถึงหลักความเป็นจริง และอาจต้องดูรอบด้านมากขึ้นเพราะส่งผลกระทบกับเงินที่เข้สู่กองทุนประกันสังคม ซึ่งสำนักงานประกันสังคมเองก็กล่าวเสมอเงินกองทุนเริ่มมีปัญหาเมื่อแรงงานเข้าสู่วัยเกษียณอายุและรับสิทธิบำนาญชราภาพ และพยายามคิดหามาตรการหาเงินเข้ากองทุนอยู่

“ เรื่องการลดหย่อนการจัดเก็บเงินสมทบประกันสังคม รัฐจะทำก็ได้แต่รัฐบาลต้องสมทบเพิ่มให้กับส่วนที่หายไปที่ลดหย่อนให้กับนายจ้างด้วยเพื่อไม่ให้เกิดปัญหากับกองทุนประกันสังคม ที่ตอนนี้รัฐเองก็เป็นคนออกมาประกาศว่า เงินกองทุนมีปัญหาง่อนแง่นเต็มที เรื่องความไม่มั่นคง เพราะว่า ประเทศไทยได้เข้าสู่สังคมสูงวัย มีการทยอยเกษียณอายุของแรงงาน และเข้าสู่การจ่ายเงินบำนาญชราภาพแล้ว และทำให้ให้เงินในกองทุนลดลงและอาจหมดไปในไม่ช้า หากรัฐช่วยนายจ้างด้วยการลดการจัดเก็บเงินสมก็ต้องสมทบเพิ่มในส่วนที่ลดนั้น ซึ่งรัฐบาลควรดูแนวคิดการประกันสังคมประเทศต่างๆที่มีการดูแลด้านสวัสดิการ ในแถบยุโรปว่า การประกันสังคมของเขานั้นไม่มีประเทศไหนที่นายจ้างจ่ายเงินสมทบน้อยกว่าลูกจ้างเลย ซึ่งประเทศไทยนั้นการจัดเก็บเงินสมทบตามหลักกฎหมายคือ ร้อยละ 5 เท่ากันไม่ว่านายจ้าง ลูกจ้าง และรัฐ แต่รัฐก็แก้กฎหมายให้ตนเองจ่ายน้อยกว่าลูกจ้าง และนายจ้าง ซึ่งเงินที่หายไปจึงส่งผลกระทบกับกองทุนประกันสังคมอยู่แล้ว หากมาลดการจัดเก็บเงินสมทบประกันสังคมในส่วนของนายจ้างแม้ว่าเพียง 1 เปอร์เซ็นต์ เป็นเวลา 1 ปี ก็ถือว่าเป็นปัญหากับกองทุนแน่นอน นอกจากรัฐบาลจะมาจ่ายสมทบเข้ามาเพิ่มเป็น 6 เปอร์เซ็นต์ เพื่อทดแทนเงินที่หายไป” รศ.ดร.ณรงค์กล่าว

รศ.ดร. ณรงค์ กล่าวอีกว่า ประเด็นการปรับขึ้นค่าจ้างขั้นต่ำนั้น ทุกวันนี้นายจ้างก็ได้ประโยชน์เพราะไม่ได้เป็นค่าจ้างตามหลักสากล ที่ว่า ค่าจ้าง 1 คนเลี้ยงครอบครัวได้ เป็นเพียงค่าจ้างขั้นต่ำสำหรับคนทำงานหนึ่งคน นี่เป็นประเด็นที่รัฐเองก็หนุนช่วยนายจ้างผู้ประกอบการอยู่แล้ว ซึ่งมาตรการที่จะช่วยลูกจ้าง หรือนายจ้างสถานประกอบการเล็กๆซึ่งมีค่าจ้างขั้นต่ำรัฐควรที่จะส่งเสริมให้นายจ้างจัดสวัสดิการ ที่จะช่วยเรื่องลดค่าครองชีพให้กับลูกจ้าง เช่น การให้ที่พักอาศัย เป็นหอพักใกล้ที่ทำงาน เพื่อลดภาระการเดินทาง ซึ่งทำให้แรงงานอยู่ได้นายจ้างอยู่ได้ ไม่ใช่ให้ค่าจ้างขั้นต่ำแล้วลูกจ้างต้องแบกรับภาระค่าครองชีพที่สูงกว่ารายได้ ก็ต้องเรียกร้องให้มีการปรับขึ้นค่าจ้างขั้นต่ำ รัฐก็หามาตรการดูแลนายจ้าง โดยไม่คิดเรื่องลดภาระลูกจ้าง ส่วนลูกจ้างที่มีค่าจ้างสูงกว่าขั้นต่ำที่อยู่ในสถานประกอบการขนาดใหญ่ ตรงนี้นายจ้างก็อาจช่วยเรื่องค่าครองชีพให้ลูกจ้างเพื่อเป็นสวัสดิการในการดำรงชีวิตด้วย ส่วนมาตรการที่รัฐโดยกระทรวงแรงงานเสนอเรื่องการปรับขึ้นค่าจ้างขั้นต่ำให้ผู้ใช้แรงงาน แลกกับการปรับลดภาษีให้ ย้ำว่าทำได้ แต่ต้องมีมาตรการจัดเก็บภาษีอัตราก้าวหน้า เพื่อให้สถานประกอบการขนาดใหญ่ที่ได้ผลกำไรมากก็ต้องจ่ายภาษีมากด้วย ไม่ใช่จ่ายเท่ากันกับสถานประกอบการขนาดเล็ก ขนาดกลาง นี่คือประเด็นที่หนึ่ง รัฐควรดูประเทศที่เขาเจริญแล้วที่มีการจัดเก็บภาษีแบบอัตราก้าวหน้าจะส่งผลดีในการบริหารจัดการด้านงบประมาณและการบริหารของรัฐในการพัฒนาด้านต่างๆ ประเด็นที่สองเรื่องปรับลดเงินสมทบประกันสังคมให้นายจ้าง ก็ทำได้แต่รัฐต้องจ่ายสมทบเพิ่มเข้ามาเพื่อไม่ให้เกิดผลกระทบกับกองทุนประกันสังคมเพราะเงินส่วนนี้นำมาเพื่อจัดสวัสดิการให้กับลูกจ้าง ซึ่งประเทศไทยกำลังเข้าสู่สังคมสูงวัย กองทุนประกันสังคมก็ได้รับผลกระทบอยู่แล้วรัฐควรคิดว่าจะทำอย่างไรให้กองทุนประกันสังคมไม่กระทบ

เมื่อวันที่ 19 ม.ค. นายมนัส โกศล ประธานเครือข่ายประกันสังคมคนทำงาน (คปค.) ให้สัมภาษณ์เดลินิวส์ออนไลน์ว่า  ไม่เห็นด้วยกับการไปลดสัดส่วนการเก็บเงินสมทบของนายจ้าง และลูกจ้างฝ่ายละ ละร้อย 1 เพื่อแลกกับการขึ้นค่าจ้างขั้นต่ำ ซึ่งเป็นคนละเรื่อง ไปลดลงเงินสมทบเช่นนี้ก็กระทบกับเงินออมชราภาพของผู้ประกันตนอยู่แล้ว แม้จะลดแค่ 1 ปีก็เป็นเงินจำนวนเยอะอยู่ และที่ผ่านมาในการแก้ไขพ.ร.บ.ประกันสังคม ฉบับที่ 4 เมื่อปี 2558 กรณีนายจ้าง ลูกจ้างเกิดเหตุสุดวิสัย ให้ไปใช้กองทุนว่างงานได้ 180 วัน ก็เพื่อหลีกเลี่ยงไม่ให้มีการไปลดการส่งเงินสมทบโดยไม่มีเหตุ  มันมีเหตุผลของมันอยู่ ดังนั้นเราขอคัดค้านเต็มที่ไม่ว่าจะลดไม่ถึงร้อยละ 1 ตามที่ขอมาก็ตาม เราคัดค้าน

ทั้งนี้ นางเพชรรัตน์ สินอวย รองปลัดกระทรวงแรงงาน ในฐานะโฆษกกระทรวงแรงงาน เปิดเผยถึงหลักเกณฑ์การพิจารณาค่าจ้างขั้นต่ำปี 2561 เมื่อวันที่ 19 มกราคม 2561ว่า คณะกรรมการค่าจ้างได้ใช้สูตรคำนวณที่นำมาพิจารณาการปรับค่าจ้างขั้นต่ำในครั้งนี้จากปัจจัยที่เกี่ยวข้อง อาทิ ผลิตภาพแรงงานเฉลี่ย 5 ปีของแต่ละจังหวัด สัดส่วนต้นทุนด้านแรงงานของผลิตภาพมวลรวมของแต่ละจังหวัด (GPP) อัตราเงินเฟ้อของแต่ละจังหวัด ซึ่งคณะกรรมการค่าจ้างจะนำไปพิจารณารวมอยู่ด้วย นอกจากนี้ ยังพิจารณาถึงอัตราเงินเฟ้อจากการคาดการณ์ของปี 2561 อัตราการเจริญเติบโตทางเศรษฐกิจของปี 2561 จากนั้นนำผลที่ได้มาจัดกลุ่มให้อัตราค่าจ้างของจังหวัดที่ใกล้เคียงกันไม่ให้มีความแตกต่างกันมากนัก เพื่อไม่ให้กระทบต่อการเคลื่อนย้ายแรงงานและขาดแคลนแรงงาน ทั้งนี้ ทั่วไปแล้วต้นทุนด้านแรงงานจะอยู่ที่ 7 – 10% ของค่าจ้าง โดยขึ้นอยู่กับแต่ละประเภทอุตสาหกรรมว่ามีการใช้แรงงานเข้มข้นหรือไม่ หากเป็นพนักงานรักษาความปลอดภัยจะใช้ทุนต้นด้านแรงงานสูงถึง 90 % ที่เหลือจะเป็นต้นทุนด้านการบริหารจัดการและไอที เป็นต้น

นักสื่อสารแรงงาน รายงาน