ผู้นำประชุมเตรียมจัดงานสมัชชาแรงงาน ดันร่างพ.ร.บ.ประกันสังคมฯมกราคมนี้

เมื่อวันที่ 10 ธันวาคม 2553 เครือข่ายพัฒนาคุณภาพชีวิตแรงงาน ประกอบด้วยคณะกรรมการสมานฉันท์แรงงานไทย เครือข่ายแรงงานนอกระบบ เครือข่ายปฏิบัติการแรงงานข้ามชาติ ฯลฯ ได้ จัดประชุมเพื่อติดตามการผลักดันร่าง พระราชบัญญัติประกันสังคม (ฉบับที่..) พ.ศ. …. (บับบูรณาการแรงงาน) ที่โรงแรมบางกอกพาเลซ ถนนนิคมมักกะสัน เขตราชเทวี กรุงเทพมหานคร มีผู้เข้าร่วมประชุมประมาณ 30 คน

นางสาววิไลวรรณ แซ่เตีย ประธานคณะกรรมการสมานฉันท์แรงงานไทย ได้กล่าวสรุปเรื่องแนวทางการผลักดันร่าง พ.ร.บ. ประกันสังคมฯว่า จากการที่ได้มีการร่างกฎหมายฉบับดังกล่าวแล้วเสร็จ ก็ได้มีการจัดประชุมร่วมกันเพื่อหาแนวทางการขับเคลื่อนสู่การพิจารณาในสภาผู้แทนราษฎร และวุฒิสภา ข้อเสนอหนึ่งคือการล่าลายมือชื่อเสนอกฎหมาย โดยที่ประชุมได้ระดมลงพื้นที่จนสำเร็จได้มา 14,000 กว่ารายชื่อ และได้นำลายมือชื่อไปยื่นให้กับทางประธานสภาผู้แทนราษฎรแล้วเมื่อวันที่ 24 พฤศจิกายน 2553 ซึ่งมีร่างกฎหมายประกันสังคมที่สมาชิกสภาผู้แทน (ส.ส.)ลงลายมือชื่อ 20 รายชื่อเสนอ เข้าไป 2 ฉบับประกอบด้วยของนายสถาพร มณีรัตน์ พรรคเพื่อไทย กับนายนคร มาฉิม พรรคประชาธิปัตย์ โดยมีรายละเอียดเหมือนกับร่างพ.ร.บ.ประกันสังคมของขบวนการแรงงานที่ล่าลายมือชื่อหนึ่งหมื่นชื่อมาเสนอ และมีร่างของรัฐบาล (กระทรวงแรงงาน) ที่รออยู่ก่อนแล้ว
 
เมื่อวันที่ 26 พฤศจิกายน 2553 ทางสภาฯได้มีการพิจารณาร่างพระราชบัญญัติประกันสังคมพ.ศ. …. ทั้ง 3 ฉบับ แต่ก็มีการขอเลื่อนประชุมออกไปสมัยประชุมหน้า ปัญหาคือในส่วนขบวนการแรงงานลายมือชื่อ ยังอยู่ระหว่างการตรวจสอบเอกสารซึ่งอาจใช้เวลานาน 2-3 เดือน คงไม่สามารถนำเข้ามาพิจารณาทันสมัยประชุมที่จะเปิดสภาฯในวันที่ 21 มกราคม 2554 นี้ 
 
ในส่วนที่มีการเสนอร่าง พ.ร.บ. ประกันสังคมโดยส.ส.พรรคไทยรักไทย ได้เสนอให้โคต้าเข้าเป็นกรรมาธิการวิสามัญ 2 คน และส่วนของพรรคประชาธิปัตย์ 2 คน แต่อย่างไรก็ตามก็คิดว่า คงต้องใช้ทุกวิธีที่จะผลักดันให้การตรวจสอบเอกสารลายมือชื่อให้เร็วที่สุดเท่าที่ทำได้ เพื่อจะได้โคต้ากรรมการวิสามัญฯของแรงงานเพิ่มอีก
 
เรื่องที่สองคือแนวทางการเคลื่อนไหว เพื่อผลักดันร่าง พ.ร.บ.ประกันสังคมฯฉบับนี้ ก็จะมีการจัดเวทีสมัชชาแรงงาน ประกันสังคมกับคุณภาพชีวิตแรงงาน โดยกำหนดว่าควรมีการจัดก่อนที่จะเปิดประชุมสภาฯสมัยหน้า เพื่อเป็นแรงกดดันให้รัฐได้เห้นความต้องการของผู้ใช้แรงงาน  โดยจะเรียนเชิญนายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ นายกรัฐมนตรีมาร่วมเปิดงาน ซึ่งจะกำหนดเป็นเวทีใหญ่ของผู้ใช้แรงงานทุกสาขาอาชีพ ทั้งในระบบ นอกระบบ ข้ามชาติ ฯลฯ ที่ร่างกฎหมายฉบับนี้จะเข้าไปดูแลคุ้มครอง
 
นายสถาพร มณีรัตน์ สมาชิกสภาผู้แทนราษฎร พรรคเพื่อไทย กล่าวว่า เมื่อสภาผู้แทนราษฎรจะเปิดประชุมในวันที่ 21 มกราคม 2554 ซึ่งเหตุการณ์ที่มีการแปลญัตติร่างพระราชบัญญัติประกันสังคมพ.ศ. ….ที่มีการเลื่อนออกไปก็เพราะมีปัญหาเรื่ององค์ประชุมเล็กน้อย จึงขอเลื่อนประชุมไม่เช่นนั้นร่างกฎหมายจะตก และไม่สามารถนำมาพิจารณาทันในสมัยหน้า เมื่อเปิดสมัยประชุมก็จะได้หยิบยกร่างพ.ร.บ.ประกันสังคมพ.ศ. ….เข้ามาพิจารณาเร็วขึ้น ขณะนี้ก็อภิปรายค้างไว้ไม่กี่คน จากนั้นคงเสนอตั้งคณะกรรมาธิการวิสามัญ ร่างพ.ร.บ.ประกันสังคม พ.ศ. …. เมื่อถึงขันตอนนี้ทางขบวนการแรงงานก็ต้องส่งผู้แทนเข้าไปร่วมแปรญัตติ ส่วนเรื่องที่จะขับเคลื่อนต่อประเด็นร่างพ.ร.บ.ประกันสังคม (ฉบับที่..) พ.ศ. …. โดยผ่านการยื่นให้นายกรัฐมนตรีคิดว่า ควรเสนอประเด็นหัวใจความต้องการหลักเป็นข้อเสนอจะดีกว่า เพราะร่างที่ตนเสนอ และท่านนคร มาฉิม เสนอก็เป็นร่างที่ทางคณะกรรมการสมานฉันท์แรงงานไทยมอบให้นำไปขอรายชื่อส.ส. เสนอหากมีการปรับปรุงตรงไหนที่เพิ่มให้เสนอเข้าไปโดยผ่านนายกรัฐมนตรี เพื่อให้ท่านเสนอเป็นความเห็นเข้าไปพิจารณา ซึ่งเราเห็นด้วยอยู่แล้ว 
 
ทิศทางที่จะขับเคลื่อนผ่านช่องทางการล่าลายมือชื่อเสนอกฎหมายนั้น ก็คลาดว่าการตรวจสอบคงไม่ทันจากประสบการที่ผ่านมาใช้เวลามากกว่า 3 เดือน และยังต้องประกาศตามจังหวัดของผู้ที่ลงลายมือชื่อเพื่อดูว่าจะมีใครคัดค้านหรือไม่อีก 90 วัน จึงคิดว่าร่างพ.ร.บ.ประกันสังคม (ฉบับที่..) พ.ศ. ….ไม่ทันการพิจารณาสมัยหน้าแน่
 
เรื่องการจัดงานสมัชชาแรงงานก็ควรทำให้ขัด ว่าสิ่งที่จัดคือความต้องการให้ความรู้ ประชาพิจารณ์ หรือว่ากดดันให้พิจารณาร่างพ.ร.บ.ประกันสังคมฯที่เป็นข้อเสนอของแรงงาน และคิดว่าการจัดงานสมัชชาควรนำไปจัดให้ครบทุกภูมิภาค เพื่อให้ทุกภาคมีส่วนรับรู้แนวทางร่างกฎหมายฉบับนี้ 
 
ทังนี้ที่ประชุมได้สรุปว่าจะมีการจัดเวทีหึความรู้ต่อผู้ใช้แรงงานทุกส่วน โดยมีการตั้งทีมทำงาน ประกอบด้วยคณะทำงานกลาง ทีมประสานงานกลาง และพื้นที่ ทีมประชาสัมพันธ์ ให้แต่ละพื้นที่ออกแบบกำหนดทิศทางการณรงค์ในพื้นที่ว่าควรทำรูปแบบใดแล้วนำมาเสนอทางคณะกรรมการกลางพิจารณาเพื่อการช่วยเหลือกันต่อไป
 
นักสื่อสารแรงงานโครงการการพัฒนาสื่อรายงาน