ปริมณฑลของกฎหมาย: นักกฎหมาย สัญญา กระชังปลา และสารคดี

 นายกฤษณ์พธร โสมณวัตร นักสื่อสารสังคมเกษตรพันธสัญญา

งานสารคดีกับงานกฎหมายดูเหมือนเป็นสสารที่เข้ากันไม่ได้ เพราะภาพแรกที่นึกถึงสารคดี คือ ภาพธรรมชาติ วิถีชีวิต หรือสิ่งที่เราเรียกกันว่า “ความจริง” แต่ขณะที่งานในทางกฎหมายกลับเต็มไปด้วยการตีความและการให้ความเห็น การทำงานสารคดีที่เน้นที่ “ความจริง” หรือ “ข้อเท็จจริง” จึงก่อให้เกิดความเสียดทานในวงการคิดไม่น้อย ทำนองเดียวกันกับ “เกษตรพันธสัญญา” กับ “นักกฎหมาย” ในเบื้องต้นย่อมทำให้เกิดความฉงนว่า นักกฎหมายมาทำอะไรกันในที่ไร่ ที่สวน ฟาร์ม หรือกระชัง ภาพของนักกฎหมายนั้นดูสนิทกับศาลสำนักงาน หรือโรงพักมากกว่า หรือแม้แต่คิดในมิติด้านความรู้ กล่าวคือ ความรู้ด้านกฎหมายจะช่วยเหลืองานด้าน “เกษตรพันธสัญญา” ซึ่งเป็นระบบเศรษฐกิจการเกษตร เป็นความเดือดร้อนด้านเศรษฐกิจ สุขภาพ หรือนิเวศได้อย่างไร ในฐานะของนักเรียนกฎหมายย่อมให้ท้ายตนเองว่ากฎหมายที่ความเกี่ยวข้องกับทุกเรื่อง รวมถึง “เกษตรพันธสัญญา” ด้วย ทั้งในด้านที่เกิดประโยชน์และทำลายล้าง   เพื่ออธิบายข้ออ้างนี้งานนี้จึงนำเสนอ “สาระ” ความสัมพันธ์ระหว่างกฎหมายกับเกษตรพันธสัญญาในมิติที่ตื้น และแคบที่สุด คือ “สัญญา” กับ “เกษตรพันธสัญญา”

“สัญญา” เป็นข้อความคิดทางกฎหมายว่า รัฐอนุญาตให้เอกชนกำหนดความสัมพันธ์ระหว่างกันได้ในบางเรื่อง เรื่องที่กฎหมายอนุญาตนั้นจะถูกเรียกว่า “สัญญาที่มีผลทางกฎหมาย” (Valid)ส่วนความสัมพันธ์ที่รัฐไม่อนุญาตให้เอกชนกำหนดสิทธิหน้าที่ระหว่างกันนั้นจะถูกแสดงมาในรูปของ “ไม่เป็นสัญญา” “ไม่สมบูรณ์” “โมฆะ” หรือ “โมฆียะ” ขึ้นอยู่กับดีกรีและความสำคัญของเรื่อง   ภายใต้อุดมการณ์เสรีทางการค้ารัฐจึงเปิดพื้นที่กว้างให้เอกชนกำกับความสัมพันธ์ระหว่างกันด้วยตนเองให้มากที่สุด โดยมีภาพฝันว่าเอกชนแต่ละคนนั้นเท่าเทียมกันในแง่สิทธิ

ระบบเกษตรพันธสัญญาคือระบบเศรษฐกิจที่ยืนอยู่บนอำนาจของรัฐและกฎหมายดังที่กล่าวไป เพราะเอกชนสองฝ่าย (หรือมากกว่านั้น) ที่เป็น “เอกชน” เหมือนกันมาหารือตกลงกันว่าจะกำหนดความสัมพันธ์ระหว่างกันในการผลิตอย่างไรถึงจุดนี้อาจมีข้อสงสัยว่าชาวบ้านกับบริษัทนั้นจะเสมอเท่าทียมกันได้อย่างไร ในเมื่อ “บริษัท” นั้นไม่ได้เป็นคนด้วยซ้ำ ทั้งนี้สายตาของกฎหมายนั้นจำแนกตัวแสดงในสังคมเป็น “รัฐ” และ “เอกชน” เป็นส่วนใหญ่ นั้นหมายถึง เมื่อไม่ใช้รัฐก็เป็นเอกชน ดังนั้น บริษัทขนาดใหญ่ บริษัทข้ามชาติ ที่บางครั้งแทบจะกล่าวได้ว่ามีอำนาจเหนือรัฐด้านเศรษฐกิจ แต่กฎหมายยังเรียกบริษัทเหล่านี้ว่า “เอกชน” อยู่ดีระบบเกษตรพันธสัญญา จึงเป็นระบบเศรษฐกิจที่อาศัยอำนาจของกฎหมายคอยจรรโลงระบบอยู่ ให้เอกชนมีอำนาจกำกับเอกชนด้วยกันในด้านการผลิต ข้อสังเกตบางประการโดยไชยันต์ รัชชกูล เสนอว่า ภายใต้ภาพฝันถึงความเสมอภาคเท่าเทียมกัน และหลักการทางกฎหมายว่า “สัญญา” (Contract) นั้นเกิดจากเอกชนสองฝ่ายที่เท่าเทียมกันมาตกลงกำหนดความสัมพันธ์ระหว่างกันแต่คำว่า “พันธสัญญา” นั้นแปลมาจากคำว่า “Testament”ซึ่งหมายถึงข้อตกลงที่กำหนดความสัมพันธ์ระหว่างมนุษย์กับพระเจ้า อีกแง่หนึ่งคือเป็นความพันธ์ที่ไม่เสมอกันอย่างถึงที่สุด เพราะมนุษย์ไม่อาจเทียบพระเจ้าได้ในทุกกรณี และ “พันธสัญญา” นั้นยังสื่อความหมายในแง่บวก เพราะพระเจ้าทรงหวังดีต่อมนุษย์ เฉกเช่นบริษัทหวังผลดีแก่เกษตรกรและประเทศชาติ จะจริงไม่จริงอย่างไรก็แล้วแต่การให้ความหมายลักษณะนี้เป็นการขัดแย้งในตัวเอง

ดังนั้น การใช้ “เกษตรพันธสัญญา” กับ “Contract Farming”จึงอาจไม่ใช้การแปลความที่สอดคล้องกับความหมายมากนักเมื่อกล่าวถึงสัญญาที่กำหนดความสัมพันธ์ในการผลิต (แบบตรงๆ) ที่ใกล้เคียงกับระบบเกษตรพันธสัญญา ในเอกเทศสัญญาตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์บรรพที่สาม (สัญญาที่สังคมได้รวบรวมประสบการณ์ความรู้เกี่ยวกับความสัมพันธ์ลักษณะนั้นๆ มาระยะหนึ่งแล้วจนกำหนดรูปแบบความสัมพันธ์ที่น่าจะเป็นธรรมได้ชัดเจนขึ้น เช่น สัญญาซื้อขายที่ดิน สัญญาเช่า สัญญาฝากทรัพย์ เป็นต้น) ได้แก่

สัญญาจ้างแรงงานและสัญญาจ้างทำของ   สาระสำคัญของสัญญาจ้างแรงงานคือ เอกชนฝ่ายหนึ่งเรียกว่านายจ้างตกลงกันเอกชนอีกฝ่ายหนึ่งเรียกว่าลูกจ้างให้ทำงานให้ โดยคิดเป็นหน่วยเวลา (ชั่วโมง/วัน/เดือน) ภายในเวลาการทำงานนายจ้างจะมีอำนาจในการปกครองลูกจ้างระดับหนึ่งเกี่ยวกับการทำงานโดยแลกกับค่าจ้างเช่น สั่งให้ยกข้าวของ สั่งให้รีบทำงาน เป็นต้น สัญญาแบบนี้ลูกจ้างไม่ต้องมีต้นทุนอะไรนอกจาก “แรงงาน” (ซึ่งสัมพันธ์กับเวลา ร่างกายและชีวิต)และนายจ้างก็ต้องมีอำนาจบังคับในระดับหนึ่งเพื่อให้ลูกจ้างนั้นใช้แรงงาน ลูกจ้างไม่มีส่วนในการตัดสินใจหรือลงเม็ดเงินใดใดในกิจการของนายจ้าง ดังนั้น เมื่อนายจ้างมีกำไรจึงอ้างได้ว่าลูกจ้างได้รับค่าตอบแทนที่เหมาะสมและเต็มใจแล้ว แต่เมื่อนายจ้างขาดทุนหรือเจ๊ง แรงงานก็ไม่ต้องรับผิดชอบอะไร หรือมากที่สุดคือการออกจากงานเท่านั้น จะไม่มีการขาดทุนเป็นเม็ดเงินของลูกจ้าง สาระสำคัญคือ สัญญาจ้างแรงงานให้ค่าตอบแทนเป็นเวลาที่ลูกจ้างลงไป ลูกจ้างไม่ได้ร่วมลงทุน ไม่มีอำนาจตัดสินใจใดใด และลูกจ้างต้องทำตามคำสั่งของนายจ้างภายในเวลาทำงาน แต่ก็ไม่ต้องรับความเสี่ยงอันเนื่องมาจากการประกอบกิจการ

ในขณะที่สัญญาจ้างทำของ เป็นสัญญาที่เอกชนสองฝ่าย ฝ่ายหนึ่งเรียกว่า “ผู้ว่าจ้าง” และอีกฝ่ายหนึ่งเรียกว่า “ผู้รับจ้าง” โดยผลประโยชน์ที่แลกเปลี่ยนกันคือ “ของ” หรือ “ชิ้นงาน” หรือ “สินค้าเกษตร” แลกกับค่า “สินจ้าง” ภายใต้ความสัมพันธ์แบบจ้างทำของผู้รับจ้างเป็นอิสระจากผู้ว่าจ้าง เกี่ยวข้องกันเพียงแค่เมื่อถึงเวลาแล้วต้องนำของไปให้ตามคุณภาพและปริมาณที่กำหนดกันไว้เท่านั้น ผู้ว่าจ้างไม่มีสิทธิที่จะมากำหนดรูปแบบและวิธีการผลิต ในสัญญาลักษณะนี้ผู้รับจ้างเป็นผู้ลงทุนไปด้วยตนเอง ดังนั้นหากขาดทุนก็ต้องรับไว้เอง เป็นต้น

เกษตรพันธสัญญาดูเหมือนจะเป็นลูกผสมของสัญญาจ้างแรงงานกับสัญญาจ้างทำของ โดยคัดเอาไปแต่ส่วนที่ “ลูกจ้าง” หรือ “ผู้รับจ้าง” เสียเปรียบ คือ รูปแบบทั่วไปของเกษตรพันธสัญญาคือ เกษตรกรลงทุนเอง รับความเสียงเอง ตามแบบของสัญญาจ้างทำของ ขณะเดียวกันเกษตรกรก็ต้องถูกอำนาจบังคับในทุกท่วงทำนองชีวิตตั้งแต่ตื่นยันหลับ บังคับปัจจัยการผลิตทุกระดับ ซึ่งงานศึกษาหลายชิ้นสะท้อนให้เห็นข้อเท็จจริงนี้ เช่น เมื่อเข้าระบบพันธสัญญาก็วุ่นวายกับไก่ หมู ปลา จนไม่มีเวลาสำหรับพักผ่อน หรือร่วมกิจกรรมสังคม เป็นต้น   จึงกล่าวได้ว่าถึงแม้เกษตรพันธสัญญาจะใกล้เคียงกับสัญญาจ้างแรงงานและสัญญาจ้างทำของแต่ก็ไม่ใช่ทั้งสองอย่าง   การที่เกษตรพันธสัญญาไม่อยู่ในทั้งสองแบบของเอกเทศสัญญาไม่ได้แปลว่าเป็นสัญญาที่ผิดกฎหมาย หรือรัฐไม่อนุญาตให้ทำ เพราะพื้นฐานคือเอกชนกำหนดความสัมพันธ์ระหว่างกันอย่างไรก็ได้ต่อเมื่อไม่ผิดกฎหมาย หรือรัฐเห็นว่ามันโอเค   สัญญาในระบบเกษตรพันธสัญญา ความเป็นธรรม ไม่เป็นธรรม จึงยังมืดบอดในสายตาของกฎหมาย เกินกว่าจะนำมาทบทวนความสัมพันธ์และปรับปรุงแก้ไขอย่างจริงจัง ภายใต้ความมืดบอดนี้กฎหมายก็เหมือนกรงโกโรโกโสสนิมเขรอะที่จองจำเกษตรกรไว้ ไม่เหมาะสมไม่งดงามแต่ยังทุรังทำหน้าที่

สัญญาในระบบเศรษฐกิจที่ขูดรีด เอาเปรียบ เอาดีเข้าตัวเพียงด้านเดียว กลับมีผลบังคับใช้ได้ในทางกฎหมาย และปราศจากร่องรอยในการทบทวนความสัมพันธ์ระหว่างเกษตรกรและบริษัทภายใต้ความสัมพันธ์นี้ และด้วยเหตุของความชอบด้วยกฎหมายที่มืดบอดต่อปรากฏการณ์ในสังคมทำให้อำนาจของกฎหมายดังกล่าวกดทับลงมาแก่เกษตรกรในระบบอย่างตรงไปตรงมาว่า เกษตรกรต้องทำตามสัญญา นำไปสู่ผลอื่นตามที่ศึกษามา เช่น ขาดทุน เป็นหนี้ เสียสุขภาพ ระบบนิเวศย่อยยับ ความมั่นคงทางอาหาร เป็นต้น   ดังนี้ เห็นได้ว่าแม้แต่ในมิติที่ตื้นเขินที่สุด ที่คิดจาก “ชื่อ” เกษตรพันธ “สัญญา” หรือ “Contract” Farming ยังมีประเด็นและทฤษฎีทางกฎหมายมาเกี่ยวข้องจนเกิดปรากฎการณ์ได้ ในมิติที่ลึกซึ่งกว่านั้น เช่น กฎหมายเกี่ยวกับการกีดกันทางการค้า มาตรการทางภาษี กฎหมายว่าด้วยความปลอดภัยของอาหาร ยังมีมิติที่ซับซ้อนและส่งผลต่อปรากฏการณ์ในสังคมอย่างยิ่ง

การศึกษากฎหมายในปัจจุบันจึงต้องศึกษากฎหมายประสานไปพร้อมกับปรากฏการณ์ในสังคม เพราะกฎหมายนั้นมีผลต่อชีวิตประจำวันของประชาชนเกินกว่าจะให้นักกฎหมายนั่งทางนัยชี้ถูกผิดไปตามประสบการณ์ของแต่ละบุคคล นอกจากนี้ตัวนักกฎหมายหรือระบบกฎหมายเองก็ไม่อาจไว้ใจได้ว่าเป็นภววิสัยอย่างที่กล่าวอ้างหรือไม่ นักกฎหมายและระบบกฎหมายมีความเห็น มีประสบการณ์ส่วนตัวอยู่ ดังนั้น การใช้กฎหมายจึงไม่อาจหลีกพ้นไปจากนัย และเป้าหมายการเมือง (อย่างน้อยที่สุดก็ระดับบุคคล) ได้การศึกษากฎหมายจึงควรศึกษาโดยไม่ละทิ้งปรากฏการณ์ทางสังคม เพราะกฎหมายในตำรากับกฎหมายในทางที่ใช้กันไม่จำเป็นต้องสอดคล้องกันเสนมอ   ในวงการวิชากฎหมายเรียกการศึกษาแนวทางนี้ว่า “กฎหมายกับสังคม” (Law and Society Studies)

จึงไม่ใช่เรื่องแปลกที่นักกฎหมายไม่อยู่ในศาล แต่มาอยู่ขอบกระชังปลา และไม่แปลกที่จะเขียนสารคดี ที่ไม่มีความเป็นสารคดีเอาเสียเลย