ประวัติศาสตร์แรงงานภาคเหนือ “ฅน(งาน) สร้างบ้าน แป๋งเมือง”

โครงการนิทรรศการประวัติศาสตร์แรงงานภาคเหนือ เรื่อง “ฅน(งาน) สร้างบ้าน แป๋งเมือง”
เมื่อวันที่ 21 เมษายน 2560 ภาคีความร่วมมือที่ทำงานร่วมในประเด็นแรงงานพื้นที่ภาคเหนือ ซึ่งประกอบด้วย นักวิชาการ ผู้ใช้แรงงานไทย แรงงานข้ามชาติ คนทำงานอิสระหรือคนทำงานนอกระบบ และองค์กรพัฒนาเอกชน รวม 19 องค์กร อาทิ คณะมนุษยศาสตร์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ มูลนิธิพิพิธภัณฑ์แรงงานไทย มูลนิธิฟรีดริค เอแบร์ท (FES) ฯลฯ ร่วมกันจัดโครงการนิทรรศการประวัติศาสตร์แรงงานภาคเหนือ เรื่อง “ฅน(งาน) สร้างบ้าน แป๋งเมือง” ณ เซ็นทรัลพลาซ่า เชียงใหม่ แอร์พอร์ต จ.เชียงใหม่ จัดระหว่างวันที่ 21-23 เม.ย.2560

เว็บไซต์ประชาธรรมรายงานว่า สำหรับกิจกรรมภายในงานนิทรรศการประวัติศาสตร์แรงงานภาคเหนือ “ฅน(งาน) สร้างบ้าน แป๋งเมือง” วันแรก มีการจัดกิจกรรมออกเป็น 2 ช่วง ช่วงแรกเป็นการกล่าวปาฐกถา โดย ศ.ดร.อรรถจักร์ สัตยานุรักษ์ และการเสวนาในหัวข้อ “เฮาก่เป๋นฅนงาน” มีตัวแทนจากองค์กรเกี่ยวกับแรงงานของภาคเหนือและตัวแทนชาวบ้านเข้าร่วมแลกเปลี่ยนประสบการณ์การทำงานด้านแรงงาน

ศ.ดร.อรรถจักร์ สัตยานุรักษ์ กล่าวปาฐกถา “ฅน(งาน) สร้างบ้าน แป๋งเมือง” โดยแบ่งหัวข้อเป็น 3 ส่วน ได้แก่ ส่วนแรก คือ การทำความเข้าใจในสถานการณ์การทำงานบ้านเรา จากสภาพเศรษฐกิจในปัจจุบัน ทำให้เกิดการเปลี่ยนแปลงในการจ้างงาน ประเภทหรือลักษณะของงานมีความหลากหลายซับซ้อนมากกว่าเดิม รวมถึงการแบ่งงานแบบเดิมถูกเปลี่ยนแปลงไป ขบวนการไหลเวียนของคนจากงานประเภทหนึ่งไปงานอีกประเภทหนึ่งเพิ่มมากขึ้น อีกทั้งโครงสร้างประชากรทำให้การจ้างงานเปลี่ยนไปด้วย

หัวข้อที่สอง คือ การปรับเปลี่ยนความหมายตัวตนแรงงาน โดยกล่าวว่า “เราไม่ใช่แรงงานธรรมดา แต่เราเป็นคนทำงานที่เกื้อหนุนให้สังคมไทยดำเนินอยู่ได้ โดยเฉพาะแรงงานภาคการผลิตไม่เป็นทางการ เราต้องเดินไปข้างหน้าในจังหวะที่เปลี่ยนแปลง” และหัวข้อที่สาม คือ การสร้างอนาคตร่วมกัน “โดยคนทำงานต้องคิดว่าเราไม่ได้ทำงานเพื่อเรา แต่เชื่อมงานของเราเข้ากับระบบ ซึ่งจะทำให้มองเห็นว่าแม้เป็นคนตัวเล็กในระบบการผลิตการทำงาน แต่เป็นตัวที่จะผลักดันสังคมให้ก้าวหน้าต่อไป และต้องยืนอยู่บนพื้นฐานของความเสมอภาค”

ส่วนการเสวนาหัวข้อ “เฮาก่เป๋นฅนงาน” คุณสุชาติ ตระกูลหูทิพย์ แรงงานพัฒนาเอกชน มูลนิธิเพื่อสุขภาพและการเรียนรู้ของแรงงานกลุ่มชาติพันธุ์ (MAP Foundation) กล่าวว่า “คนงาน ความสำคัญที่เกิดขึ้นคือ พอใช้คำว่าเขาเป็นคนงานเป็นกรรมกร เราจะถูกโต้แย้งว่าเขาไม่ใช่ เขาบอกว่า เขาเป็นคนงานในโรงงานซึ่งคล้าย ๆ กับที่อ.อรรถจักรพูดถึง การแบ่งแยกแรงงานเป็นส่วน ๆ นั้น โดยกฎหมายระเบียบข้อบังคับ มันทำให้คนทำงานถูกแยกส่วนออกไปเป็นคนทำงานบ้าง แรงงาน กรรมกร ซึ่งจริง ๆ แล้วความหมายรวมของมันเป็นความหมายเดียวกัน ก็คือคนทำงานที่อยู่ในภาคส่วนต่าง ๆ เพราะฉะนั้นประเด็นที่อยากจะฝากไว้ คือ ในเมื่อต่างก็เป็นคนงานด้วยกัน ก็สมควรได้รับการดูแลให้มีชีวิตที่ดี สามารถยืนหยัดอยู่ในสังคมได้ อย่างมีคุณภาพของความเป็นคนงาน และมีคุณภาพชีวิตที่ดี เราไม่ทำงานให้เกิดรายได้กับนายจ้างแต่เราเป็นผู้สร้างรายได้ให้กับประเทศชาติให้กับโลกแห่งนี้”

สำหรับโครงการนิทรรศการประวัติศาสตร์แรงงานภาคเหนือ เรื่อง “ฅน(งาน) สร้างบ้าน แป๋งเมือง” จะดำเนินต่อไปจนถึงวันอาทิตย์ที่ 23 เมษายนนี้ สำหรับผู้ที่สนใจ สามารถมาร่วมงานได้ ณ ลานหน้าลิฟท์ชั้น 3 เซ็นทรัลพลาซา เชียงใหม่ แอร์พอร์ต จ.เชียงใหม่ ทุกวัน 4 โมงเย็นเป็นต้นไป หรือติดตามการถ่ายทอดสดผ่านทางเฟซบุ๊กที่เพจพิพิธภัณฑ์แรงงานไทย https://www.facebook.com/thailabourmuseum/ และดูกำหนดการทั้งหมดได้ที่ https://www.facebook.com/events/745040515655723/