ประธาน สร.ธนาคารทหารไทยร้องถูกเลิกจ้างไม่เป็นธรรม

TMB union1

นายสุขุม เครือวรรณ ประธานสหภาพแรงงานพนักงานธนาคารทหารไทย ได้ทำหนังสือขอความช่วยเหลือจากคณะกรรมการสมานฉันท์แรงงานไทย (คสรท.) เมื่อวันที่ 7 กันยายน 2557 กรณีถูกนายจ้างคือ ธนาคารทหารไทย จำกัด(มหาชน) เลิกจ้างตั้งแต่วันที่ 15สิงหาคม 2555  ขณะนี้อยู่ระหว่างอุทธรณ์คำพิพากษาต่อศาลฎีกาว่าถูกเลิกจ้างเพราะเคลื่อนไหวกิจกรรมสหภาพแรงงาน

โดยประเด็นในการเลิกจ้างนั้น ในหนังสือขอความช่วยเหลืออ้างว่า นายจ้างคือธนาคารทหารไทยกล่าวหาว่าขัดคำสั่งผู้บังคับบัญชาที่สั่งโดยชอบด้วยกฎหมาย ละเลยไม่ปฏิบัติงานที่ได้รับมอบหมายและผิดซ้ำหนังสือเตือน ซึ่งนายสุขุมเห็นว่าเหตุที่นายจ้างกล่าวอ้างยังไม่สมควรแก่เหตุถึงขั้นที่จะต้องเลิกจ้าง แม้ว่าคณะกรรมการแรงงานสัมพันธ์ (ครส.) จะมีคำสั่งเมื่อ 12 ธ.ค.55 ว่าที่นายจ้างเลิกจ้างไม่เป็นการกระทำอันไม่เป็นธรรม และเมื่อ 28 ต.ค.56 ศาลแรงงานกลางก็พิพากษาว่านายจ้างเลิกจ้างเนื่องจากผิดวินัยไม่ใช่เรื่องการเคลื่อนไหวกิจกรรมสหภาพแรงงาน
จากเอกสารสรุปเหตุการณ์การเลิกจ้างของนายสุขุม แสดงให้เห็นว่านายสุขุมมีบทบาทในการตรวจสอบและคัดค้านการกระทำของนายจ้างหลายครั้ง รวมทั้งมีบทบาทในการปกป้องเรียกร้องสิทธิสภาพการจ้างของพนักงานมาโดยตลอด ในนามของสหภาพแรงงานพนักงานธนาคารทหารไทย (สร.พธท.) ที่ตั้งขึ้นเมื่อ พ.ค.2551

นายสุขุมระบุว่า นับตั้งแต่ถูกเลิกจ้างเป็นต้นมา ได้พยายามเคลื่อนไหวทวงคืนความเป็นธรรมให้กับตนเองมาเป็นลำดับในหลายๆเวที แต่ด้วยศักยภาพของลูกจ้างตัวเล็กๆ ที่เคลื่อนไหวเพียงลำพังไม่มีองค์กรแรงงานคอยสนับสนุน หรือไม่มีแม้กระทั่งมวลชนคอยหนุนหลังก็ยากที่จะเอาชนะฝ่ายนายจ้างที่มีทั้งทีมนักกฎหมาย ฐานเงินทุนและฐานะทางสังคมที่เหนือกว่าแทบทุกด้านได้ ที่ผ่านมานอกจากในเวทีต่างๆ ภายในประเทศแล้ว ยังได้มีการร้องเรียนไปยังหน่วยงานอื่นๆอีกหลายแห่ง เช่น world bank, IFC, ITUC โดยได้รับการสนับสนุนทั้งเงินทุนและบุคลากรจาก Solidarity Center (SC.ประเทศไทย) แต่เรื่องก็ยังไม่จบ โดยขณะนี้อยู่ระหว่างอุทธรณ์คำพิพากษาต่อศาลฎีกา โดยยืนยันว่า นายจ้างเลิกจ้างเนื่องจากตนเคลื่อนไหวกิจกรรมสหภาพแรงงาน และยื่นฟ้องเพิกถอนคำสั่ง ครส.ด้วย รวมทั้งได้มายื่นหนังสือต่อ คสรท.ให้ช่วยติดตามทวงคืนความเป็นธรรมให้กับตนด้วย โดย คสรท.รับเรื่องไปให้ฝ่ายที่เกี่ยวข้องดำเนินการต่อไป

นักสื่อสารแรงงาน รายงาน

…………………………….

กรณีการเลิกจ้างประธานสหภาพแรงงานพนักงานธนาคารทหารไทย นายสุขุม เครือวรรณ

– พ.ค.๒๕๕๑ จดทะเบียนก่อตั้งสร.พธท. เคลื่อนไหวเรื่องสภาพการจ้างที่ยังไม่เป็นธรรมมาเป็นลำดับ
– พ.ย.๒๕๕๑ สร.พธท.คัดค้านนโยบายเรื่องค่าจ้างเงินเดือนที่สร้างความเหลื่อมล้ำระหว่าง พนักงานใหม่ กับพนักงานเดิม มีการรวมตัวชุมนุมเปิดอภิปรายในช่วงพักกลางวันติดต่อกันเป็นเวลาหนึ่งสัปดาห์ มีการออกข่าวทางสื่อมวลชน อย่างต่อเนื่อง แต่ ไม่สามารถกดดันนายจ้างได้
– ธ.ค.๒๕๕๑ สร.พธท.แจ้งข้อเรียกร้อง แต่นายจ้างไม่ยอมเจรจา
– ม.ค.๒๕๕๒ แจ้งข้อพิพาทแรงงาน แต่นายจ้างยังยืนยันที่จะไม่เจรจาจนกว่าจะมีการตรวจรับรองจำนวนสมาชิกสหภาพฯ ว่าถึงหนึ่งในห้าของจำนวนพนักงานทั้งหมดก่อนจนท.ประนอมฯได้ทำบันทึก ให้คู่กรณีเจรจานอกรอบไปก่อน จนกว่าผลการตรวจรับรองจำนวนสมาชิกจะแล้วเสร็จ แต่ฝ่ายนายจ้างก็เพิกเฉยตลอดมาไม่นำพาต่อบันทึกที่ได้ลงนามกันไว้
– มี.ค.๒๕๕๒ สร.พธท.ร่วมกับทุกสหภาพฯ ในTMB ร่วมกันลงนามส่งหนังสือคัดค้านการปรับขึ้นเงินเดือนประจำปี และนัดสมาชิกเคลื่อนไหวรวมตัวแต่ สหภาพฯ อื่นๆ ถอนตัว จึงทำได้เพียงให้สมาชิกแต่งดำ และทำพิธีบวงสรวงศาลพระพรหม และรูปปั้นจอมพลสฤษธนะรัชต์
– ก.ค.๒๕๕๒ เคลื่อนไหวคัดค้านการรับพนักงานบริหารจากภายนอกในอัตราเงินเดือนสูง หนึ่งในนั้นคือหัวหน้าทีมประธานฯ
– ก.พ.๒๕๕๓ HR ทำการสอบสวนประธานสหภาพฯ เรื่องการไม่ปฏิบัติงานตามที่ได้รับมอบหมาย จงใจขัดคำสั่งผู้บังคับบัญชา
– ส.ค.๒๕๕๓ ร้องเรียน กลต.กรณี CEO ขายหุ้น TMB ที่ถือไว้ในนามส่วนตัว อาจเป็นการชี้นำตลาด ฉนั้นจึงไม่มีความเหมาะสมที่จะเป็นผู้บริหารสูงสุดของบริษัทที่มีมหาชนร่วมเป็นผู้ถือหุ้นอยู่อีกต่อไปกลต.ตอบว่าไม่มีผล
– ต.ค.๒๕๕๓ นายจ้างยื่นคำร้องต่อศาลแรงงานขอลงโทษด้วยการออกหนังสือเตือนนายสุขุม เครือวรรณ ในข้อหาละเลยการปฏิบัติหน้าที่ตามที่ได้รับมอบหมาย ขัดคำสั่งผู้บังคับบัญชา ศาลมีคำสั่งให้เตือนด้วยวาจาแทน
– พ.ย.๒๕๕๓ ถอนข้อพิพาทฉบับปี ๒๕๕๒ และยื่นเป็นข้อเรียกร้องและข้อพิพาทฉบับใหม่
– ยื่นฟ้องนายจ้างต่อศาลแรงงานกลาง ข้อหาเปลี่ยนแปลงแก้ไขสภาพการจ้างไปในทางที่ไม่เป็นคุณ กรณียกเลิก Fix-Bonus 1.5เดือนโดยนายจ้างอ้างว่าเป็นการปรับโครงสร้างเงินเดือนตามข้อตกลง
– ม.ค.๒๕๕๔ ให้ทบทวนวิธีปฏิบัติเรื่องวันหยุดพักผ่อนประจำปีให้สอดคล้องกับที่กฎหมายกำหนด / – คัดค้านนโยบายการยุบเลิกหน่วยงานบริการ ซึ่งจะมีผลทำให้ต้องเลิกจ้างพนักงาน ๕๐๐ คน(รปภ.,แม่บ้าน.ขับรถ)มีการรวมตัวชุมนุมเปิดเวทีอภิปรายในช่วงพักกลางวันประมาณหนึ่งสัปดาห์ มีพันธมิตรจากสหภาพฯ สหพันธ์ธนาคารฯ มาร่วมปราศรัย มีการออกข่าวทางสื่อมวลชนหลายฉบับต่อเนื่องกันหลายวัน แต่กดดันนายจ้างไม่ได้
– ก.พ.๒๕๕๔ ร้องเรียนพนักงานตรวจแรงงาน กรณีวันหยุดพักผ่อนของธนาคารฯ / -HR ออกหนังสือเตือนนายสุขุม เครือวรรณ เรื่องการไม่ปฏิบัติงานที่ได้รับมอบหมาย ขัดคำสั่งผู้บังคับบัญชา (ระหว่างที่ยังอยู่ในช่วงลาป่วย)
– เม.ย.๒๕๕๔ พนักงานตรวจแรงงานมีคำสั่งให้นายจ้างต้องจ่ายเงินค่าทำงานในวันหยุดให้ลูกจ้างกรณีวันหยุดพักผ่อนประจำปีที่ลูกจ้างไม่ได้หยุดตามที่สหภาพฯยื่นคำร้องไว้ แต่นายจ้างเพิกเฉย กรรมการสหภาพฯจึงยื่นฟ้องศาลแรงงานให้นายจ้างปฏิบัติตามคำสั่งพนักงานตรวจแรงงาน ศาลพิพากษาให้สหภาพฯชนะคดี แต่ นายจ้างยื่นอุทธรณ์ไปยังศาลฎีกา(คดีอยู่ระหว่างพิจารณา)
– มิ.ย.๒๕๕๔ คัดค้านการใช้งบประมาณ กว่า ๔๐ ล้านบาท ทำการปรับปรุงห้องอาหารภายในธนาคารฯ เพราะเห็นว่ายังไม่มีความจำเป็นที่จะต้องดำเนินการในระยะนี้
– ส.ค.๒๕๕๔ ศาลยกฟ้องคดี Fix-Bonus โดยให้เหตุผลว่านายจ้างมีข้อมูลมานำสืบได้ชัดเจนกว่าขณะที่สหภาพฯ ให้การลอยๆ ไม่มีพยานหลักฐานที่ชัดเจน และสืบเนื่องจากคดีนี้ศาลได้ออกข้อกำหนดจำกัดสิทธิ์การเข้าถึงกระบวนการยุติธรรมของสหภาพฯโดยนับแต่นี้ไปหากสหภาพฯ จะนำคดีขึ้นสู่ศาลจะต้องแจ้งจำนวนสมาชิกมาพร้อมคำฟ้องทุกครั้ง มิเช่นนั้นจะถือว่าละเมิดอำนาจศาล
– ก.ย.๒๕๕๔ ร้องเรียนแบงค์ชาติ ให้ตรวจสอบกระบวนการขายทรัพย์สินของธนาคารฯ ที่อาจไม่มีความโปร่งใส กรณีการขายโกดังริมแม่น้ำเจ้าพระยา ติดดกับโรงแรมแม่น้ำ (มีการปรับราคาประเมินให้ถูกลงก่อนขออนุมัติราคาขาย ประกาศขายใน นสพ.โนเนม หน้าในขนาดคอลัมม์ 1 นิ้ว 2-3วัน ทำให้ขายได้ราคาถูกกว่าที่ควรจะเป็น)
– ม.ค.๒๕๕๕ คัดค้านนโยบายHR.Transformation ที่มีผลกระทบต่อการปรับโครงสร้างองค์กร ทำให้มีการเปลี่ยนแปลงสภาพการจ้างขึ้นอย่างกว้างขวาง มีการลดตำแหน่ง ย้ายหน่วยงานอย่างไม่เป็นธรรม
– มี.ค.๒๕๕๕ คัดค้านการยุบเลิกสมาคม ฌาปนกิจสงเคราะห์ / ทำบันทึกให้ทบทวนการจ่ายเงินสมทบกองทุนสำรองเลี้ยงชีพให้สอดคล้องกับที่กฎหมายกำหนดโดยให้นำเอาค่าครองชีพมาเป็นฐานในการคำนวณด้วย
– เม.ย.๒๕๕๕ คัดค้านการเปลี่ยนแปลงแก้ไขสวัสดิการที่จอดรถ มีการออกแถลงการณ์ในเรื่องดังกล่าวหลายครั้งรวบรวมรายชื่อพนักงาน เตรียมยกระดับการเคลื่อนไหว
– มิ.ย.๒๕๕๕ ยื่นฟ้องศาลแรงงานกรณีการเปลี่ยนแปลงแก้ไขสวัสดิการที่จอดรถของพนักงาน และ ร้องเรียนไปยังผู้ว่าการธนาคารแห่งประเทศไทยให้ตรวจสอบกรณีที่ธนาคารฯ นำเอาอสังหาริมทรัพย์ของธนาคารฯ ออกให้พนักงานเช่า ซึ่งเข้าข่ายการกระทำผิดกฎหมายธุรกิจสถาบันการเงิน พ.ศ.๒๕๕๑ โดยในชั้นแรกธนาคารฯ แจ้งข้อมูลในการขออนุญาตดำเนินการโดยอ้างข้อยกเว้นที่ว่าอสังหาริมทรัพย์ดังกล่าวเกินความจำเป็นที่ธนาคารฯจะใช้ประโยชน์ หากปล่อยทิ้งไว้มีแต่จะทำให้เสื่อมค่าลง ทำให้ ธปท.อนุญาตให้สามารถดำเนินการได้ และธนาคารฯ ได้นำหนังสือที่ ธปท.อนุญาตดังกล่าวไปอ้างเป็นพยานศาล ซึ่ง สร.พธท.ได้มีหนังสือแจ้งไปยัง ผู้ว่าการธนาคารแห่งประเทศไทยแล้วว่าการกล่าวอ้างเหตุผลดังกล่าวอาจเข้าข่ายเป็นการให้ข้อมูลอันเป็นเท็จทั้งนี้เพราะอสังหาริมทรัพย์ที่ใช้เป็นที่จอดรถของธนาคารฯนั้นได้มีการใช้ประโยชน์จนเต็มพื้นที่หมดแล้ว หาใช่เป็นอสังหาริมทรัพย์ที่ไม่ได้มีการใช้ประโยชน์ดังที่กล่าวอ้างไม่ จึงขอให้ ธปท.ทบทวนการอนุญาตดังกล่าว ปัจจุบันเรื่องยังอยู่ระหว่างพิจารณาของ ธปท.
– ๒๒ มิ.ย.๒๕๕๕ นายจ้างยื่นคำร้องขออำนาจศาลเลิกจ้างนายสุขุม เครือวรรณ ข้อหาขัดคำสั่งผู้บังคับบัญชา ละเว้นการปฏิบัติหน้าที่ตามที่ได้รับมอบหมาย เป็นแบบอย่างที่ไม่ดีกับพนักงานอื่น ทำให้นายจ้างได้รับความเสียหาย
– ๑๔ ส.ค.๒๕๕๕ นัดไต่สวนเรื่องอำนาจฟ้องคดีที่จอดรถ ซึ่ง สร.พธท.จะต้องแจ้งจำนวนสมาชิกให้ศาลทราบในวันนี้ หากไม่แจ้งถือว่าละเมิดอำนาจศาล ซึ่งจำนวนสมาชิกของสหภาพฯ ณ วันยื่นฟ้องมีจำนวน ๘๐๒ คน
– ๑๕ ส.ค.๕๕ นายจ้างแถลงศาลถอนคำร้องขอเลิกจ้างฯ และก่อนเวลา ๑๗ นาฬิกา เล็กน้อย HR.นำคำสั่งเลิกจ้างมาแจ้งให้นายสุขุม เครือวรรณ ทราบ โดยให้มีผลการเลิกจ้างในทันที วันพรุ่งนี้คือ ๑๖ ส.ค.๕๕ ไม่ต้องมาทำงาน ยึดคืนบัตรประจำตัวคีย์การ์ดเข้าระบบต่างๆ
การเคลื่อนไหวทวงคืนความเป็นธรรม
– 8 ส.ค.55 ยื่นหนังสือ World Bankกรณีนายจ้างละเมิดผู้นำแรงงาน โดยมี ผอ.ภาคพื้นเอเชียตะวันออก รับเรื่อง
– 22 ส.ค.55 พบคุณโรเบิร์ต&พี่สกลเดช (SC) ให้ข้อมูลเรื่องเลิกจ้าง โดย SC ส่งเรื่องต่อไปให้ IFC,ITUC ที่วอชิงตัน
– 17 ก.ย.55 ยื่นคำร้อง ครส.การกระทำอันไม่เป็นธรรม ม.121
– 12 ธ.ค.55 ครส. มีคำสั่งยกคำร้อง ที่นายจ้างเลิกจ้างนั้นชอบแล้วไม่เป็นการกระทำอันไม่เป็นธรรม
– 18 ก.พ.56 ยื่นฟ้องเลิกจ้างไม่เป็นธรรมตาม ม.49 พรบ.จัดตั้งศาลแรงงานและวิธีพิจารณาคดีแรงงาน
– 28 ต.ค.56 ศาลแรงงานกลางพิพากษายกฟ้อง โดยให้เหตุผลว่า จำเลยเลิกจ้างโจทก์เนื่องจากโจทก์ผิดวินัยไม่ใช่เรื่องการเคลื่อนไหวกิจกรรมสหภาพแรงงาน
– 12 ธ.ค.56 อุทธรณ์คำพิพากษาต่อศาลฎีกา โดยยืนยันว่า จำเลยเลิกจ้างโจทก์เนื่องจากการเคลื่อนไหวกิจกรรมสหภาพแรงงาน
– 16 มิ.ย.57 ยื่นฟ้องเพิกถอนคำสั่ง ครส. (จำเลยที่ 1 , 2 ใช้สิทธิ์เลื่อนคดีหลายครั้ง นัดต่อไป 16 ก.ย.57 ซึ่งก็ยังเป็นนัดแรก ที่จะเป็นเพียงการกำหนดประเด็นข้อพิพาทเท่านั้น

อดีตประธานกรรมการ สหภาพแรงงานพนักงานธนาคารทหารไทย

สรุปประเด็นคำให้การโจทก์/จำเลย คดีเลิกจ้าง ตาม ม.49
๑.จำเลยให้การว่าผลการปฏิบัติงานของโจทก์อยู่ในเกณฑ์ต่ำติดต่อกันมาหลายปี จำเลยได้พยายามให้โอกาสโจทก์ปรับปรุงตัวหลายครั้ง แต่โจทก์กลับยังคงไม่ปฏิบัติให้ดีขึ้นเลย

๑. โจทก์มีผลการปฏิบัติงานดีมาโดยตลอดนับแต่บรรจุเข้าทำงานมาเมื่อปี ๒๕๓๔ จนกระทั่งปี ๒๕๕๓ ซึ่งเป็นปีที่โจทก์ในฐานะประธานสหภาพแรงงานมีข้อขัดแย้งกับฝ่ายจัดการของจำเลยค่อนข้างรุนแรงชัดเจน จำเลยโดยเพื่อประสงค์ต่อผลที่จะให้การประเมินผลงานให้โจทก์ไม่ผ่านเกณฑ์ที่จะได้รับการปรับขึ้นเงินเดือนรวมทั้งไม่ให้ได้รับเงินรางวัลพิเศษใดๆ จำเลยได้มอบหมายงานประเภทที่ยากต่อการที่จะปฏิบัติให้สัมฤทธิ์ผลได้ตามเกณฑ์ที่จำเลยกำหนดไว้ให้โจทก์เป็นผู้ดูแล โดยมอบหมายให้โจทก์ดูแลบัญชีลูกหนี้จัดชั้นหนี้สูญ (DL) ซึ่งบางรายไม่สามารถติดตามตัวลูกหนี้ได้แล้วดังนั้นโอกาสที่จะปรับปรุงให้กลับมาเป็นหนี้ปกติมีความเป็นไปได้ยาก เช่นนี้ย่อมเล็งเห็นผลโดยชัดแจ้งว่าโจทก์ย่อมไม่สามารถปฏิบัติงานให้เกิดผลงานตามที่จำเลยกำหนดเอาไว้ได้ ทั้งๆที่ก่อนหน้านั้น โจทก์สามารถแก้ไขหนี้เสียนำเม็ดเงินกลับคืนให้จำเลยได้ปีละกว่าหลายร้อยล้านบาท แต่กระนั้นก็ตามในปี ๒๕๕๓ โจทก์ก็สามารถแก้ไขหนี้เรียกเงินคืนให้จำเลยได้กว่า ๒๐ ล้านบาท ปี ๒๕๕๔ แม้ไม่มีลูกหนี้ที่จะปรับโครงสร้างหนี้ได้แต่โจทก์ก็ยังเรียกคืนเงินประกันจาก บสย.เป็นรายได้ให้กับจำเลยจำนวน ๑.๗ ล้านบาท

๒.จำเลยอ้างว่าจำเลยไม่ได้เลิกจ้างโจทก์ด้วยเหตุผลในการปฏิบัติงานในหน้าที่ประธานสหภาพแรงงานพนักงานธนาคารทหารไทยของโจทก์ และมีเรื่องฟ้องร้องจำเลย ด้วยเหตุว่ากิจกรรมของสหภาพแรงงานเป็นการดำเนินงานในนามคณะกรรมการ ไม่ใช่กระทำในนามส่วนตัวของโจทก์เพียงคนเดียว เพราะหากจำเลยเลิกจ้างเพราะเหตุจากการทำกิจกรรมสหภาพแรงงาน จำเลยก็ต้องเลิกจ้างกรรมการคนอื่นๆของสหภาพแรงงานฯโจทก์ด้วย ๒.การที่โจทก์อยู่ในฐานะประธานคณะกรรมการบริหารสหภาพแรงงาน ย่อมมีบทบาทสำคัญ ในการผลักดันนโยบายต่างๆของสหภาพแรงงานที่ตนได้ประกาศต่อสมาชิกไว้ฉะนั้นในการดำเนินกิจกรรมใดๆในนามของสหภาพแรงงานก็ย่อมสะท้อนแนวคิดของผู้เป็นประธานสหภาพอยู่ในตัว ดังนั้นแม้โดยนิตินัยกิจกรรมต่างๆของสหภาพแรงงานเป็นการดำเนินงานโดยคณะกรรมการบริหารสหภาพฯแต่ผู้ที่มีอำนาจตัดสินใจเด็ดขาดและผู้ที่ออกหน้าก็คือตัวประธานสหภาพฯนั่นเอง จึงไม่สามารถแยกความเป็นตัวตนออกจากกันได้

๓.จำเลยอ้างว่าการเลิกจ้างโจทก์ได้กระทำโดยคณะกรรมการพิจารณากำหนดโทษทางวินัยของจำเลยถูกต้องตามระเบียบข้อบังคับของจำเลยทุกประการแล้ว ๓.โจทก์ไม่เคยได้เข้าสู่กระบวนการพิจารณาโทษของจำเลยมาก่อนเลยไม่ว่าจะเป็นขั้นตอนกล่าวหา ขั้นตอนสอบสวน หรือจะเป็นขั้นตอนพิเศษพิสดารอย่างไรก็ไม่เคยมี แต่มาทราบทีเดียวก็คือเย็นวันที่ ๑๕ สิงหาคม ๒๕๕๕ ที่เจ้าหน้าที่สายงานทรัพยากรบุคคลของจำเลยมาแจ้งให้โจทก์ทราบแบบไม่มีปี่ไม่มีขลุ่ย ว่าจำเลยเลิกจ้างโจทก์แล้วให้มีผลทันทีพร้อมยึดคืนบัตรประจำตัวพนักงานโดยอ้างว่าเป็นทรัพย์สินของนายจ้าง พรุ่งนี้ไม่ต้องมาทำงาน

๔.จำเลยกล่าวหาว่าโจทก์ละทิ้งหน้าที่ ขัดคำสั่งผู้บังคับบัญชาที่สั่งโดยชอบด้วยกฎหมาย ฝ่าฝืนข้อบังคับ ทำผิดซ้ำหนังสือเตือน ทำให้จำเลยได้รับความเสียหาย ๔.หนังสือเตือนที่กล่าวอ้างถึงคือหนังสือตักเตือนฉบับลงวันที่ ๒๘ กุมภาพันธ์ ๒๕๕๔ ที่เตือนเรื่องที่โจทก์ละเว้นการปฏิบัติหน้าที่ตามที่ได้รับมอบหมายทำให้จำเลยได้รับความเสียหาย การที่จำเลยออกหนังสือตักเตือนฉบับดังกล่าวนั้นเป็นการไม่ชอบทั้งด้วยกฎหมายและข้อเท็จจริง ซึ่งโจทก์ก็ได้มีหนังสือทักท้วงทัดทานหนังสือตักเตือนฉบับดังกล่าวส่งถึงประธานกรรมการธนาคารจำเลยทาง จดหมายอีเล็คโทรนิค ขอให้ยกเลิกหนังสือเตือนฉบับดังกล่าวโดยชี้แจงเหตุผลให้ทราบถึงสาเหตุของการหยุดงานในช่วงระยะเวลาที่จำเลยกล่าวหาว่าโจทก์ละทิ้งหน้าที่นั้นให้ประธานกรรมการธนาคารทราบว่าโจทก์ได้ลาป่วยเนื่องจากประสบอุบัติเหตุขาหัก ไม่สามารถมาปฏิบัติงานได้ตามปกติ แพทย์ได้มีหนังสือรับรองให้โจทก์หยุดพักรักษาตัวได้นับแต่เดือนมกราคม – มีนาคม ๒๕๕๔ (มีใบรับรองแพทย์ ๓ ฉบับ ๒ โรงพยาบาล)

นอกจากนั้นแล้ว การออกหนังสือตักเตือนซึ่งถือเป็นการลงโทษทางวินัยกับลูกจ้างที่มีตำแหน่งเป็นกรรมการลูกจ้างนั้นนายจ้างจะกระทำโดยลำพังไม่ได้จะต้องได้รับอนุญาตจากศาลแรงงานก่อน ซึ่งจำเลยก็หาได้ปฏิบัติตามขั้นตอนของกฎหมายไม่ แม้จำเลยจะสงสัยในความเป็นกรรมการลูกจ้างของโจทก์ว่าได้รับการแต่งตั้งโดยชอบด้วยกฎหมายหรือไม่ จำเลยก็หาได้มีสิทธิ์วินิจฉัยเองได้ หากมีข้อสงสัยจำเลยก็ต้องยื่นคำร้องขอให้ศาลเป็นผู้พิสูจน์ เพราะการตั้งกรรมการลูกจ้างในส่วนของสหภาพแรงงานนั้นเป็นอำนาจของสหภาพแรงงานที่จะทำได้ตามกฎหมาย พระราชบัญญัติแรงงานสัมพันธ์ พ.ศ.๒๕๑๘ มาตรา ๔๕ ซึ่งกรรมการลูกจ้างที่ได้รับการแต่งตั้งจากสหภาพแรงงาน ย่อมมีผลทันทีและไม่จำต้องแจ้งให้นายจ้างทราบ ฉะนั้นแม้จำเลยจะมีข้อสงสัยว่าการตั้งกรรมการลูกจ้างของสหภาพแรงงานฯของโจทก์ได้กระทำขึ้นโดยชอบหรือไม่ก็เป็นหน้าที่ที่จำเลยจะต้องนำพิสูจน์ในชั้นศาลต่อไป จำเลยไม่อาจวินิจฉัยสรุปเอาเองว่าโจทก์เป็นกรรมการลูกจ้างที่ชอบด้วยกฎหมายหรือไม่ ดังนั้นหนังสือเตือนที่จำเลยอ้างขึ้นเพื่อเป็นเหตุแห่งการเลิกจ้างโจทก์ในครั้งนี้จึงไม่ชอบที่จะนำขึ้นมาอ้างได้
ฉะนั้นจึงสรุปได้ว่าข้อกล่าวหาที่ว่าโจทก์ทำผิดซ้ำคำเตือนนั้นจึงไม่ชอบที่จะกล่าวอ้างได้

๕.กล่าวหาว่านับแต่เดือนพฤศจิกายน ๒๕๕๓ ถึง มกราคม ๒๕๕๔ โจทก์ไม่ได้บันทึกข้อมูลในระบบ NPL Monitoring และโจทก์เป็นเพียงผู้เดียวที่ไม่ได้จัดทำเรื่องเสนอขออนุมัติการปรับปรุงโครงสร้างหนี้ของลูกหนี้ให้กรรมการพิจารณาเลย ๕.ตามที่เรียนไว้แต่ต้นแล้วว่า ลูกหนี้ที่จำเลยมอบหมายให้โจทก์ดูแลนั้นล้วนเป็นลูกหนี้ประเภทจัดชั้นนี้สูญ ไม่สามารถติดตามตัวลูกหนี้ได้แล้ว ดังนั้นความเป็นไปได้ที่จะปรับปรุงแก้ไขหนี้กลุ่มนี้ให้กลับมาเป็นหนี้ดีได้นั้นแทบไม่มีเลย ดังนั้นการที่จำเลยกล่าวว่าโจทก์เป็นเพียงพนักงานผู้เดียวที่ไม่ได้จัดทำเรื่องเสนอขออนุมัติปรับปรุงโครงสร้างหนี้นั้นก็ถูกต้องตามนั้นเพราะหนี้แต่ละรายไม่มีแนวทางที่จะแก้ไขได้โดยตัวของหนี้รายนั้นๆ หาใช่ว่าพนักงานไม่มีความสามารถที่จะเสนอแนวทางแก้ไข

๖.กล่าวหาว่าโจทก์ไม่ได้จัดทำรายงานทบทวนวงเงินลูกหนี้ของเดือนมิถุนายน ๒๕๕๔ จำนวน ๒ รายนั้น ๖. เดือน มิ.ย.๕๔ โจทก์มีลูกหนี้ที่จะต้องจัดทำรายงานทบทวนวงเงินสินเชื่อจำนวน ๒ รายจริง แต่โจทก์ยืนยันว่าโจทก์ได้จัดทำรายงานส่งไปตามสายบังคับบัญชาเรียบร้อยแล้วครบถ้วน ซึ่งในชั้นสืบพยานจำเลย โจทก์ได้ถามค้านพยานจำเลยว่าโจทก์ได้ส่งงานให้พยานก่อนครบกำหนดเวลาส่งงานใช่หรือไม่ แต่ที่มีการบันทึกว่าส่งงานล่าช้านั้นก็เนื่องจากพยานส่งกลับมาให้โจทก์ทำการแก้ไขใช่หรือไม่ แต่ถึงอย่างไรก็ตามแม้จะรายงานล่าช้าไปหนึ่งเดือนก็ไม่ได้ทำให้มีความเสียหายใดๆ เกิดขึ้นเพราะ ลูกหนี้จัดชั้นหนี้สูญ ( DL.) มีการตั้งสำรองหนี้สูญไว้เต็ม ๑๐๐% แล้ว และได้ดำเนินคดีถึงที่สุดหมดแล้ว ธนาคารฯไม่ต้องมีภาระเรื่องการตั้งสำรองหนี้สูญเพิ่มจากการรายงานสถานะล่าช้าแต่อย่างใด

๗.ไม่จัดทำรายงานทบทวนวงเงินเดือน สิงหาคม ๒๕๕๔ จำนวน ๓ ราย ทำให้จำเลยต้องมอบหมายให้เจ้าหน้าที่อื่นเป็นคนจัดทำแทน ๗. รายงานทั้งสามรายการโจทก์ได้ทำแล้วเสร็จปลายเดือนสิงหาคม (๒๖ ส.ค.๕๔ และนำส่งให้หัวหน้างานแล้ว จากนั้น ๒๙ ส.ค. – ๒ ก.ย.๕๔ โจทก์หยุดพักผ่อนประจำปี หลังจากกลับมาทำงานก็ได้รับแจ้งว่ารายงานของโจทก์ได้มอบหมายให้เพื่อนร่วมงานจัดทำให้เรียบร้อยแล้ว ซึ่งโจทก์ก็ไม่ได้ติดใจอะไร

๘.ไม่จัดทำบันทึก NPL Monitoring เดือน ม.ค.-มี.ค.-๒๕๕๔ และ พ.ย.-ธ.ค.๒๕๕๔ ๘. เดือน ม.ค.- มี.ค.๒๕๕๔ ลาป่วย , พ.ย.-ธ.ค.๒๕๕๔ มหาอุทกภัย

๙.จากการตรวจสอบการใช้บัตรเปิดประตูเข้าสำนักงาน ,การ Lock in เข้าระบบงานคอมพิวเตอร์ , พบว่าโจทก์ไม่ได้ใช้บัตรเปิดประตู ไม่ได้ Lock in เข้าระบบคอมพิวเตอร์ แสดงว่าโจทก์ไม่ได้เข้ามาทำงานงานหลายวัน แสดงตามรายงานที่แนบ ๙. จำเลยนำเอารายงานการเข้าออกงานของโจทก์มาแสดงศาลแม้กระทั่งช่วงที่โจทก์ลาป่วยมากล่าวหาว่าโจทก์ขาดงาน แสดงว่าจำเลยจ้องจับผิดโจทก์จนละเลยที่จะตรวจสอบรายละเอียด ว่าช่วงนั้นๆ โจทก์หายไปเพราะเหตุใด แต่อย่างไรก็ตามประเด็นนี้จำเลยไม่ได้ให้ความสำคัญกับการลงเวลาเข้าออกงาน และได้ยกเลิกระเบียบการลงเวลาเข้าทำงานของพนักงานทั้งหมดไปแล้ว ฉะนั้นประเด็นข้อกล่าวหานี้จึงไม่ติดใจสืบต่อ

๑๐.โจทก์ได้ร้องกล่าวหาจำเลยต่อคณะกรรมการแรงงานสัมพันธ์ กรมสวัสดิการและคุ้มครองแรงงาน (ครส.) ว่าได้กระทำการอันไม่เป็นธรรมกับโจทก์ ตาม มาตรา ๑๒๑ พรบ.แรงงานสัมพันธ์ พ.ศ.๒๕๑๘ และ ครส.ได้วินิจฉัยแล้วลงความเห็นว่าจำเลยไม่ได้กระทำการอันไม่เป็นธรรมต่อโจทก์ จึงมีมติให้ยกคำร้องโจทก์ และโจทก์ก็ไม่ได้อุทธรณ์คำสั่ง ครส.ดังกล่าวดังนั้นคำสั่ง ครส.จึงถือเป็นที่สุดแล้ว ๑๐. ด้วยความเคารพต่อคำตัดสินดังกล่าวแต่โจทก์ก็ไม่เห็นพ้องด้วยกับคำตัดสิน ทั้งนี้เพราะ พรบ.แรงงานสัมพันธ์ พ.ศ.๒๕๑๘ มาตรา ๑๒๑ ระบุไว้โดยชัดแจ้งว่า “ห้ามมิให้นายจ้าง (๑)เลิกจ้าง หรือกระทำการใดๆ อันอาจเป็นผลให้ลูกจ้าง ผู้แทนลูกจ้างกรรมการสหภาพแรงงาน หรือกรรมการสหพันธ์แรงงาน ไม่สามารถทนทำงานอยู่ต่อไปได้ เพราะเหตุที่ลูกจ้างหรือสหภาพแรงงาน ได้ชุมนุมทำคำร้องยื่นข้อเรียกร้อง เจรจา หรือดำเนินการฟ้องร้อง หรือเป็นพยาน หรือให้หลักฐานต่อพนักงานเจ้าหน้าที่ตามกฎหมายว่าด้วยการคุ้มครองแรงงานหรือนายทะเบียนพนักงานประนอมข้อพิพาทแรงงาน ผู้ชี้ขาดข้อพิพาทแรงงาน หรือกรรมการแรงงานสัมพันธ์ตามพระราชบัญญัตินี้ หรือต่อศาลแรงงาน หรือเพราะเหตุที่ลูกจ้างหรือสหภาพแรงงานกำลังกระทำการดังกล่าว….” ซึ่งในบทบัญญัติของกฎหมายไม่ได้มีบทยกเว้นใดๆที่ให้จำเลยสามารถเลิกจ้างโจทก์ได้เลย เพราะระหว่างที่จำเลยบอกเลิกจ้างโจทก์นั้นโจทก์ยังมีข้อพิพาทในทางศาลกับจำเลยอยู่สองคดี คือคดีวันหยุดพักผ่อนประจำปี และคดี สวัสดิการที่จอดรถ แต่ที่โจทก์ไม่อุทธรณ์คำสั่ง ครส.ก็ด้วยเข้าใจว่าการอุทธรณ์คำสั่งดังกล่าวก็เป็นเพียงการอุทธรณ์กลับเข้าไปยังหน่วยงานของรัฐหน่วยงานเดิมที่เป็นผู้ออกคำสั่งที่ไม่สอดคล้องกับข้อกฎหมาย จึงไม่มั่นใจในกระบวนการดังกล่าว โจทก์จึงตัดสินใจนำคดีมาฟ้องศาลแรงงานกลาง โดยอาศัยอำนาจตามความในพระราชบัญญัติจัดตั้งศาลแรงงานและวิธีพิจารณาคดีแรงงาน พ.ศ.๒๕๒๒ มาตรา ๔๙ เรื่องการเลิกจ้างไม่เป็นธรรมเพื่อขอบารมีศาลเป็นที่พึ่งต่อไป