ข้อสังเกตการแก้พ.ร.บ.คุ้มครองแรงงาน

mitsubishi-13

นักกฎหมายตั้งข้อสังเกตการแก้พ.ร.บ.คุ้มครองแรงงาน (ฉบับที่..) พ.ศ. ….ว่าเป็นข้อปลีกย่อย พร้อมเสนอบางเรื่องไม่ควรปรับ ด้านรัฐแจงแก้กฎหมายครั้งนี้เป็นคุณต่อลูกจ้าง รับไม่ครอบคลุมแรงงานนอกระบบ คนทำงานบ้าน ผู้นำแรงงานพร้อมจับตาดูผลได้ ผลเสีย

วันที่ 5 มกราคม 2560 ประเด็นตามที่คณะรัฐมนตรี(ครม.)ได้มีมติเห็นชอบร่าง พ.ร.บ.คุ้มครองแรงงาน (ฉบับที่..) พ.ศ. …. ตามที่กระทรวงแรงงานส่งมาให้พิจารณาเมื่อวันที่ 4 มกราคมนั้น นายชฤทธิ์ มีสิทธิ์ นักกฎหมาย ทนายความ ได้ตั้งข้อสังเกตต่อประเด็นร่าง พ.ร.บ.คุ้มครองแรงงาน (ฉบับที่..) พ.ศ. …. ที่ผ่านครม.แล้วไว้ 3 ข้อดังนี้ว่า

1. เป็นการแก้ไขกฎหมายบางจุดที่เป็นปลีกย่อยเหมือนที่ผ่านๆมา ส่วนเรื่องใหญ่ที่ควรแก้มิได้ทำเลย

  1.  เอกชนรายใดไม่มีสัญญาเรื่องเกษียณ หรือมิได้ตกลงกันให้ลูกจ้างต้องเกษียณที่ 60 ปี จะมีปัญหากับบางลักษณะและสภาพของงานที่ทำงานมาถึงอายุ 55 ปีก็แย่แล้ว เช่นงานคุมเครื่องจักรอันตราย งานเหมืองแร่ งานประมงทะเล งานขับรถบรรทุกสินค้า เป็นต้น ควรมีมาตรการเสริมกำหนดในกฎหมายด้วยหรือไม่ เช่น การเปลี่ยนย้ายงานที่เหมาะสมกับสภาพของแรงงานซึ่งสูงอายุแล้ว ให้ต้องเลี่ยงการทำงานที่เสี่ยงไม่สมวัย
  2.  เรื่องไม่ต้องส่งสำเนาข้อบังคับให้แก่เจ้าหน้าที่ คำถามก็คือ รัฐจะตรวจสอบระเบียบหรือข้อบังคับที่ไม่ชอบด้วยกฎหมายหรือไม่เป็นธรรมด้วยกลไกหรือเครื่องมืออะไร และอย่างไร? บางเรื่องไม่ควรปรับ จึงมีข้อเสนอให้นายจ้างส่งสำเนาข้อบังคับที่ผ่านการตรวจสอบของรัฐแล้วให้แก่คณะกรรมการสวัสดิการ หรือคณะกรรมการลูกจ้าง หรือคณะกรรมการสหภาพแรงงาน และให้องค์กรดังกล่าวแจ้งให้ลูกจ้างทราบ เพื่อให้มีการตรวจสอบกันเมื่อมีการเปลี่ยนแปลงข้อบังคับ หรือสภาพการจ้าง

ด้านนายสุเมธ มโหสถ อธิบดีกรมสวัสดิการและคุ้มครองแรงงาน กระทรวงแรงงาน กล่าวถึงมติคณะรัฐมนตรีที่เห็นชอบแก้ไขร่าง พ.ร.บ.คุ้มครองแรงงาน…พ.ศ…. ตามที่กระทรวงแรงงานเสนอ โดยมีสาระสำคัญ เช่น กำหนดอายุเกษียณจาก 55 ปี เป็น 60 ปี รวมทั้งกำหนดให้การเกษียณอายุเป็นการเลิกจ้าง และต้องได้รับเงินค่าชดเชยตามอายุงาน ว่า การกำหนดอายุเกษียณนี้ เพื่อให้ครอบคลุมสถานประกอบการขนาดเล็กที่ไม่มีการกำหนดไว้ในสัญญาจ้างงาน คาดว่ามีกว่า 93,000 แห่ง ลูกจ้างที่เกี่ยวข้องกว่า 650,000 คน พร้อมเชื่อว่า ผู้ที่อายุ 60 ปี และยังทำงานในสถานประกอบการกว่าร้อยละ 95 มีอายุงานมากกว่า 10 ปีแน่นอน อย่างไรก็ตามหากมีการเลิกจ้างก่อนอายุ 60 ปี ลูกจ้างจะยังได้รับค่าชดเชยตามกฎหมาย หากไม่มีการกระทำความผิด

ส่วนการกำหนดให้คณะกรรมการค่าจ้างขั้นต่ำกำหนดค่าจ้างครอบคลุมลูกจ้างทั้งนักเรียน นิสิต คนพิการ ผู้สูงอายุ เพื่อให้การกำหนดค่าจ้าง สอดคล้องกับสภาพความเป็นจริงและครอบคลุมลูกจ้างในระบบการจ้างงานทุกประเภท เช่น อัตราค่าจ้างของผู้สูงอายุ ที่ทำงานได้จำกัด ให้เหมาะสมและสอดคล้องกับความเป็นจริง ยกเว้น คนทำงานบ้าน แรงงานนอกระบบ ทั้งนี้ เมื่อผ่านความเห็นชอบจากที่ประชุมคณะรัฐมนตรีแล้ว ขั้นตอนต่อไปจะต้องส่งให้คณะกรรมการกฤษฎีกาพิจารณาเนื้อหา จากนั้นค่อยส่งให้สภานิติบัญญัติแห่งชาติพิจารณา เพื่อให้มีผลบังคับใช้โดยเร็ว

ทั้งนี้ สำหรับอัตราค่าชดเชยตามอายุงาน คือ อายุงานมากกว่า 10 ปี ได้รับการชดเชย 10 เดือน หรือ 300 วัน /หากทำงาน 6 ปีแต่ไม่ถึง 10 ปี ได้รับการชดเชย 8 เดือน /อายุงาน 3 ปีแต่ไม่ครบ 6 ปี จะได้รับค่าชดเชย 6 เดือน /ทำงาน 1 ปี แต่ไม่ครบ 3 ปี จะได้ค่าชดเชย 3 เดือน /ทำงาน 120 วัน แต่ไม่ถึง 1 ปี ได้รับค่าชดเชย 1 เดือน หากไม่ปฏิบัติตามจะมีโทษทั้งทางแพ่งและอาญา ทางแพ่งโทษปรับสูงสุดตามค่าชดเชยที่ค้างรวมดอกเบี้ยร้อยละ 15 ต่อปี หรือคิดเงินเพิ่มร้อยละ 15 ตามยอดเงินผิดนัดชำระ 7 วัน สำหรับโทษทางอาญาจำคุกสูงสุด 6 เดือน หรือทั้งจำและปรับไม่เกิน 100,000 บาท

ส่วนผู้นำแรงงาน นายวิสุทธิ์ เรืองฤทธิ์ รองประธานสหพันธ์แรงงานยานยนต์แห่งประเทศไทย กล่าวว่า การแก้กฎหมายคุ้มครองแรงงาน ตามมติครม.นั้นเป็นประเด็นที่กำลังติดตาม เพื่อดูผลได้ ผลเสียจากการแก้ไขกฎหมายครั้ง หลังจากผ่านมติคณะรัฐมนตรี หลังเข้าสภาพิจารณาก็คิดว่าคงจะผ่านแบบ 3 วาระรวด ด้วยเห็นว่าสอดคล้องกับนโยบายรัฐบาลในการที่จะขยายกฎหมายประกันสังคมกรณีชราภาพจากเดิมกำหนดไว้ที่อายุ 55 ปี และต้องการขยายอายุการเกษียณอายุออกไปในการใช้ระบบบำนาญชราภาพ การที่ครม.มีมติเห็นด้วยกับร่างกฎหมายคุ้มครองแรงงานประเด็นที่กำหนดเรื่องเกษียณอายุเป็น 60 ปี ซึ่งคิดว่าหลายที่ที่กำหนดการเกษียณอายุที่ 55 ปีอาจมีการแก้ข้อบังคับการทำงานเพิ่มระบบการเกษียณอายุเป็น 60 ปีไปด้วย ซึ่งก็เป็นการขยายการจ้างงานตามที่รัฐบาลมีการกำหนดเรื่องการจ้างงานแรงงานสูงวัย

“ระบบการเกษียณอายุแต่ละสถานประกอบการในประเภทกิจการยานยนต์นั้นมีการทำข้อตกลงสภาพการจ้างไว้ตามอายุงาน คือนอกเหนือจากกฎหมายคุ้มครองแรงงานกำหนด เช่น หากทำงานมานานกว่า20 ปีนายจ้างต้องจ่ายเพิ่มนอกเหนือจากกฎหมายกำหนดตามปีที่ทำงาน อย่างกรณีของตนเองที่ทำงานมากว่า 30 ปี นายจ้างจะจ่ายค่าชดเชยให้ทั้งหมด 10 เดือนตามกฎหมายคุ้มครองแรงงาน บวกอีก 20 เดือน บวกเงินกองทุนสำรองเลี้ยงชีพ เป็นต้น อันนี้แค่ยกตัวอย่างให้เป็น ซึ่งหลายบริษัทมีการกำหนดบวกเพิ่มนอกเหนือจากค่าชดเชยตามกฎหมาย ด้วยนายจ้างกับลูกจ้างมีการทำข้อตกลงสภาพการจ้างไว้ และคิดว่านายจ้างก็มองว่าลูกจ้างได้ทำงานร่วมกันพัฒนาบริษัทมาด้วยจึงเพิ่มเงินเกษียณอายุให้ ” นายวิสุทธิ์ กล่าว

นายวิสุทธิ์ ยังกล่าวอีกว่าประเด็นที่คิดว่ากระทบกับการจ้างงานคือประเด็นการจ้างงานนักศึกษาฝึกงาน ปัจจุบันมีหลายบริษัทที่มีการทำMOU กับวิทยาลัยอาชีวะเพื่อส่งนักศึกษามาฝึกงานในสถานประกอบการ การกำหนดค่าจ้างให้มีความครอบคลุมถือว่าดี แต่ปัญหาคือมีการคุ้มครองด้านสวัสดิการอื่นๆที่นอกเหนือจากค่าจ้างหรือไม่ต้องดู บางบริษัทดีมากมีการรับนักศึกษามาฝึกงานใช้เวลา 3 เดือนแล้วกลับไปเรียนตามระบบ จากนั้นส่งมาฝึกอีกสามเดือนก่อนที่จบ แต่บางบริษัทในกิจการเครื่องใช้ไฟฟ้ามีนักศึกษาฝึกงานเกินครึ่งของลูกจ้างที่ทำงานประจำในโรงงาน และปัญหาคือเป็นการจ้างงาน หรือว่าฝึกงานมีการทำกันเป็นปี มีการทำงานล่วงเวลาหรือ OT ด้วย เป็นการหลีกเลี่ยงการจ้างงาน หรือจัดสวัสดิการตามกฎหมายหรือไม่ รัฐต้องดูแลประเด็นนี้ด้วย เพื่อการทำให้นักศึกษาได้เรียน หรือฝึกงานอย่างแท้จริง ไม่ใช่ทำงานจนส่งผลกระทบกับการเรียน และเคยมีกรณีที่ประสบอุบัติเหตุแล้วส่งผลกระทบหมดอนาคตไปเลยแม้ว่าทางบริษัทจะดูแลแต่มันอาจดูแล้วไม่สมเหตุผลในการที่จะฝึกงานแบบมีความเสียงแล้วไม่มีการคุ้มครองจริง รวมทั้งบางบริษัทใช้นักศึกษาฝึกงานมาทำงานช่วงที่ปิดงานลูกจ้างที่ยื่นข้อเรียกร้อง อันนี้จะเป็นการเข้าข่ายแบบเดียวกับการจ้างงานแรงงานเหมาค่าแรงหรือไม่ ตรวจสอบด้วย

นักสื่อสารแรงงาน รายงาน