แรงงานบุกสภา!จี้ยึด 5 ประเด็นสำคัญปฏิรูปประกันสังคม

แรงงานหลายพื้นที่ฉุนกรรมาธิการวิสามัญพิจารณาร่างพระราชบัญญัติประกันสังคม (ฉบับที่..) พ.ศ. …. มอง 2 ตัวแทนแรงงานในคณะกรรมาธิการฯเป็นเสียงส่วนน้อย เดินทางมายื่นหนังสือต่อประธานกรรมาธิการ ย้ำความต้องการใน 5 ประเด็นสำคัญเพื่อปฏิรูปประกันสังคม  ส่วนคณะกรรมาธิการเปิดประชุมพิจารณารวดเดียว 46 มาตราหวังเสร็จทัน ก่อนยุบสภ
 
วันที่ 24 มีนาคม 2554 ณ บริเวณหน้ารัฐสภา มีกลุ่มสหภาพแรงงาน สหพันธ์แรงงาน เครือข่ายแรงงานนอกระบบ ประมาณกว่า 100 คน ได้เดินทางมาขอยื่นหนังสือ แสดงจุดยืน และข้อเสนอในการปฏิรูปการประกันสังคม ต่อประธานคณะกรรมาธิการวิสามัญพิจารณาร่างพระราชบัญญัติประกันสังคม ขอให้นำข้อเสนอของคณะกรรมการสมานฉันท์แรงงานไทย (คสรท.) เรื่องการปฏิรูปประกันสังคมเข้าสู่การพิจารณา
 
นางสาวธนพร วิจันทร์ เลขาธิการกลุ่มผู้ใช้แรงงานสระบุรีกล่าวว่า ด้วยคณะกรรมาธิการวิสามัญพิจารณาร่างพระราชบัญญัติประกันสังคม (ฉบับที่..) พ.ศ. …. ได้มีการประชุมคณะกรรมาธิการฯ ไปแล้วเป็นจำนวน 6 ครั้ง คณะกรรมการสมานฉันท์แรงงานไทย มีความเห็นว่ากระบวนการในการพิจารณาของกรรมาธิการวิสามัญร่างพระราชบัญญัติประกันสังคม (ฉบับที่..) พ.ศ. ….  รวมทั้งการดำเนินการของรัฐบาลภายใต้การนำของนายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ นายกรัฐมนตรี ที่ผ่านมา ยังขาดการพิจารณาจุดยืนและข้อเสนอในการปฏิรูประบบประกันสังคม อันจะนำไปสู่การประกันสังคมถ้วนหน้าที่มีความเป็นอิสระ โปร่งใส ตรวจสอบได้  
 
กล่าวนับตั้งแต่นายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ นายกรัฐมนตรี ได้แถลงต่อรัฐสภาเมื่อวันที่ 29 ธันวาคม 2551 ในนโยบาย 9 ด้านที่รัฐบาลจะดำเนินการเพื่อสร้างเสริมให้เกิดคุณภาพชีวิตที่ดีต่อประชาชนไทย หนึ่งในนั้นคือ นโยบายด้านสังคมและคุณภาพชีวิต ข้อ 3.2 เรื่องนโยบายแรงงาน ซึ่งระบุในข้อ 3.2.2 ว่า “รัฐบาลจะปฏิรูประบบประกันสังคมให้มีความเข้มแข็งมั่นคง ให้มีการบริหารจัดการที่เป็นอิสระ โปร่งใส และขยายความคุ้มครองถึงบุตรและคู่สมรสของผู้ประกันตนในเรื่องการเจ็บป่วย รวมทั้งเพิ่มสิทธิประโยชน์อื่น ๆ เพิ่มเติมให้แก่ผู้ประกันตน”  
 
นอกจากนี้ นายกรัฐมนตรียังได้กล่าวถึงการปฏิรูปประกันสังคมให้มีการบริหารจัดการที่เป็นอิสระ โปร่งใส ในงานสมัชชาแรงงาน : ปฏิรูปประกันสังคมกับคุณภาพชีวิตแรงงาน เมื่อวันที่ 13 มกราคม 2554 ว่า “…ผมอยากจะเน้นย้ำถึงความจำเป็นของการปฏิรูประบบประกันสังคมในปัจจุบัน ข้อเรียกร้องทั้งในเรื่องของการขยายการครอบคลุมของประกันสังคมก็ดี ทั้งในเรื่องของความเป็นอิสระและความโปร่งใสในการบริหารจัดการของกองทุนประกันสังคมก็ดี และการปฏิรูปในภาพรวมเพื่อให้เกิดการมีส่วนร่วมอย่างแท้จริงของผู้มีส่วนได้เสียโดยตรง ผมถือว่า เป็นหลักการที่สอดคล้องกับแนวทางการแก้ไขปัญหาของประเทศ และเป็นสิ่งที่ผู้ที่เกี่ยวข้องจะต้องรับไปดำเนินการ …” 
ต่อมาที่ประชุมสภาผู้แทนราษฎรในวันที่ 26 มกราคม 2554 ได้ลงมติในวาระที่ 1 รับหลักการแห่งร่างพระราชบัญญัติประกันสังคมที่เสนอโดยคณะรัฐมนตรี และฉบับบูรณาการแรงงาน ที่เสนอผ่านนายสถาพร มณีรัตน์ กับคณะ กับนายนคร มาฉิม กับคณะ และมีมติให้ตั้งคณะกรรมาธิการฯ จำนวน 36 คน เพื่อพิจารณา โดยถือเอาร่างพระราชบัญญัติของคณะรัฐมนตรีเป็นหลัก 
 
จากการประชุมคณะกรรมาธิการวิสามัญพิจารณาร่างพระราชบัญญัติประกันสังคม (ฉบับที่..) พ.ศ. …. นับตั้งแต่การประชุมครั้งที่ 1 เมื่อวันที่ 3 กุมภาพันธ์ 2554 จนถึงการประชุมครั้งที่ 6 เมื่อวันที่ 10 มีนาคม 2554 คณะกรรมการสมานฉันท์แรงงานไทย มีความเห็นดังนี้
 
ประการแรก คณะกรรมาธิการฯ บางส่วนยังมีข้อจำกัดเกี่ยวกับความรู้ความเข้าใจในกฎหมายประกันสังคม รวมทั้งความเข้าใจมิติต่างๆ ของผู้ใช้แรงงาน และงานด้านสวัสดิการสังคม ดังนั้น จึงมักจะรับฟังข้อเสนอหน่วยงานของรัฐ จากสำนักงานประกันสังคมและสำนักงานกฤษฎีกาเป็นหลัก
 
ประการที่สอง กระบวนการพิจารณากฎหมายของคณะกรรมาธิการฯ บ่งชี้ว่าไม่เป็นไปตามหลักการที่รัฐบาลแถลงไว้ การพิจารณาเนื้อหากฎหมายรายมาตราไม่ใช่ สาระสำคัญของการปฏิรูประบบประกันสังคม ตามที่คณะกรรมการสมานฉันท์แรงงานไทยเสนอทั้ง 5 ประเด็น รวมทั้งแนวทางการปฏิรูประบบประกันสังคมที่นายกรัฐมนตรีเคยรับข้อเสนอ ดังที่กล่าวไว้ข้างต้น
 
ประการที่สาม คณะกรรมาธิการฯ ซึ่งเป็นตัวแทนจากคณะกรรมการสมานฉันท์แรงงานไทย ไม่ได้รับโอกาสให้แสดงความคิดเห็นเท่าที่ควร และการสรุปบันทึกการประชุมจะขาดความเห็นของคณะกรรมาธิการจากคณะกรรมการสมานฉันท์แรงงานไทย รวมทั้งการไม่ให้ความสำคัญในการนำเสนอความคิดเห็นของที่ปรึกษากรรมาธิการฝ่ายแรงงาน 
 
ประการที่สี่ คณะกรรมาธิการวิสามัญฯ มีการพิจารณา 25 มาตรา จากทั้งหมด 46 มาตรา จึงเป็นที่น่าสังเกตว่า กฎหมายฉบับนี้มีการพิจารณาอย่างรวดเร็ว เนื่องจากรัฐบาลต้องการให้กฎหมายฉบับนี้ผ่านก่อนการยุบสภา เพื่อนำไปใช้ในการหาเสียงสนับสนุนในการเลือกตั้งที่จะมีขึ้น 
 
คณะกรรมการสมานฉันท์แรงงานไทยและเครือข่ายองค์กรแรงงานเห็นว่า หัวใจของการปฏิรูประบบประกันสังคมคือการบริหารจัดการที่เป็นอิสระ โปร่งใส ยังขาดหลักประกันว่าจะเกิดขึ้น จึงขอเรียกร้องให้คณะกรรมาธิการฯ นำจุดยืนและข้อเสนอในการปฏิรูประบบประกันสังคม โดยมีสาระสำคัญ 5 ประเด็น เข้าสู่การพิจารณาในคณะกรรมาธิการฯ ดังนี้
1.  ประกันสังคมต้องเป็นองค์กรอิสระ กล่าวคือ สำนักงานประกันสังคมต้องเป็นองค์กรอิสระที่กำหนดระเบียบวิธีการในการบริหารจัดการให้เป็นไปตามวัตถุประสงค์ได้เองเพื่อให้สอดคล้องกับความเป็นจริง และผู้จ่ายเงินสมทบมีสิทธิกำหนดนโยบาย การปฏิบัติ สิทธิประโยชน์ มีส่วนร่วมในการบริหารองค์กร ตรวจสอบ รับรู้ข้อมูลข่าวสาร ตัดสินใจ ทั้งนี้เพื่อประโยชน์ของผู้ประกันตนอย่างแท้จริง สังกัดกระทรวงแรงงานภายใต้การกำกับดูแลของนายกรัฐมนตรี
 
2.  ความโปร่งใส กระบวนการการตรวจสอบ กล่าวคือ กิจการของสำนักงานประกันสังคมมีความจำเป็นอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้ ในการปรับปรุงการบริหารจัดการให้มีความโปร่งใส มีกระบวนการตรวจสอบเพื่อให้เกิดประสิทธิภาพ และเกิดประสิทธิผลที่ดีที่สุด จนกระทั่งได้รับการยอมรับจากผู้ประกันตน และผู้ที่เกี่ยวข้องทั่วไปว่า กิจการมีระบบการกำกับดูแลกิจการที่ดี (Good Corporate Governance) 
 
3.  หนึ่งคนหนึ่งเสียงเลือกตั้งคณะกรรมการประกันสังคม กล่าวคือ ผู้ประกันตนทุกคนควรมีสิทธิเลือกตั้งคณะกรรมการประกันสังคมในลักษณะหนึ่งคนหนึ่งเสียง ต้องมีการแก้ไของค์ประกอบกระบวนการได้มา คุณสมบัติ อำนาจหน้าที่ และวาระการดำรงตำแหน่งและการพ้นจากตำแหน่งของคณะกรรมการประกันสังคม เพื่อเป็นหลักประกันชัดเจนให้ได้มาซึ่งประธานกรรมการ  กรรมการผู้แทนฝ่ายนายจ้าง ฝ่ายผู้ประกันตนซึ่งมาจากการเลือกตั้งโดยตรงของนายจ้างและผู้ประกันตน  ผู้ทรงคุณวุฒิที่มีความรู้ ความสามารถ ความเหมาะสม และไม่มีส่วนได้เสียในกิจกรรมที่กระทำกับสำนักงานทั้งโดยตรงและโดยอ้อม
 
4.  บัตรเดียวรักษาได้ทุกโรงพยาบาลคู่สัญญา กล่าวคือ  ผู้ประกันตนและคู่สมรสต้องมีสิทธิเข้ารับบริการทางการแพทย์ตามความต้องการหรือความสะดวกในแต่ละครั้งของตนเองเฉกเช่นเดียวกับประชาชนทั่วไป ที่เข้ารับการรักษาหรือบริการทางการแพทย์จากสถานพยาบาลใดก็ได้ตามความสะดวกหรือความต้องการของตน การขยายสิทธิประโยชน์ควรให้ผู้ประกันตนเข้าถึงสิทธิประโยชน์อย่างรวดเร็ว ตรงตามสิทธิ และเหมาะสมกับสภาพงานของคนทำงาน
 
5.  ประกันสังคมถ้วนหน้าเพื่อคนทำงานทุกคน กล่าวคือ การประกันสังคมเป็นหลักการที่คนทำงานและผู้มีส่วนเกี่ยวข้องร่วมกันสมทบเป็นกองทุนเพื่อประโยชน์ของผู้ประกันตนในอนาคตเมื่อเกิดเหตุใดเหตุหนึ่งจะได้รับสิทธิประโยชน์เป็นการบรรเทาความเดือดร้อนให้กับผู้ประกันตน ดังนั้น คนทำงานทุกคนควรเข้าสู่ระบบประกันสังคมเพื่ออย่างน้อยเป็นหลักประกันให้กับตนเอง
 
 โดยการมาครั้งนี้เพื่อบอกให้รัฐ ได้รับรู้ว่า ตัวแทนของแรงงานอันประกอบด้วย นางสาว วิไลวรรณ แซ่เตีย และนายชัยสิทธิ์ สุขสมบูรณ์ ไม่เป็นเสียงส่วนน้อยในการประชุมทั้ง 2 คนมีผู้ใช้แรงงานจำนวนมาก ซึ่งเป็นผู้ได้รับผลกระทบต่อกฎหมายที่กำลังมีการประชุมอยู่ในคณะกรรมาธิการแรงงาน ฉะนั้นตัวแทนของผู้ใช้แรงงานไม่ใช่เสียงส่วนน้อย แต่เป็นเสียงของคนส่วนใหญ่ในประเทศ
 
ดร.ผุสดี ตามไท รองประธานกรรมาธิการฯได้ออกมารับหนังสือจากตัวแทนกลุ่มต่างๆ และได้กล่าวต่อตัวแทนแรงงานทุกกลุ่มถึงความกังวลว่า ร่างพ.ร.บ.ฉบับนี้อาจไม่สามารถเข้าประชุมสภาในสมัยนี้ได้ทันเวลา เนื่องจากนายกรัฐมนตรีได้ประกาศแล้วว่าจะมีการยุบสภาในไม่ช้านี้ หากพี่น้องแรงงานต้องการให้ร่างพ.ร.บ.เข้าสู่การพิจารณาและตราเป็นกฎหมายประกาศใช้ได้ทันภายในรัฐบาลนี้ให้บอกผ่านไปยังผู้นำแรงงานที่เข้ามาเป็นตัวแทน ซึ่งในส่วนของคณะกรรมาธิการฯยินดีพิจารณาข้อเสนอของขบวนการแรงงาน
 
นายสถาพร มณีรัตน์ กรรมาธิการฯพรรคเพื่อไทยได้กล่าวว่า สิ่งที่หวั่นใจหากมีการยุบสภาร่างกฎหมายฉบับนี้จะตก แต่ยังสามารถให้รัฐบาลชุดต่อไปหลังเลือกตั้งหยิบมาเสนอใหม่ภายใน 30 วันหลังจากที่ได้รับการแต่งตั้งเป็นรัฐบาล หากต้องการให้มีการประกาศใช้โดยเร็วต้องช่วยกันพิจารณา เพราะเหลือเวลาอีกเพียง 4 อาทิตย์เท่านั้น
 
หลังจากรองประธานรับหนังสือข้อเสนอแล้ว ตัวแทนแรงงานในชั้นกรรมาธิการวิสามัญฯ ทั้ง 2 ท่านได้เข้าร่วมประชุมคณะกรรมาธิการฯ โดยมี ดร. ผุสดี ตามไท รองประธานฯ ทำหน้าที่ประธานที่ประชุมแทนรัฐมนตรีว่าการกระทรวงแรงงาน นายเฉลิมชัย ศรีอ่อน ประธานกรรมาธิการฯ 
 
นางสาววิไลวรรณ แซ่เตีย รองประธานคณะกรรมการสมานฉันท์แรงงาน หนึ่งในตัวแทนแรงงานกรรมาธิการวิสามัญฯกล่าวว่า หลังเปิดการประชุมทางประธานที่ประชุมได้หยิบยกหนังสือข้อเสนอมาอ่านให้ที่ประชุมได้รับทราบและนำเข้าสู่วาระพิจารณา โดยให้เลขาธิการประกันสังคม และผู้แทนกฤษฎีกา นำไปปรับตามข้อเสนอ เช่น ให้นำ มาตรา 3 และมาตรา 7 โดยมีการนำข้อความมาตรา 8 ฉบับร่างของนายสถาพร มณีรัตน์ ที่เสนอในกรณีให้มีคณะกรรมการคณะหนึ่งเรียกว่า “คณะกรรมการประกันสังคม” ประกอบด้วยประธานกรรมการอื่นๆ ประกอบด้วยตัวแทนลูกจ้าง 8 คน นายจ้าง 8 คน ภาครัฐ 8 คน พร้อมทั้งให้คณะกรรมการประกันสังคมเป็นผู้สรรหาผู้ทรงคุณวุฒิและคณะกรรมการตรวจสอบ ซึ่งประธานได้สรุปให้ทางตัวแทนกฤษฎีกาไปปรับแก้ให้สอดคล้องตามข้อเสนอของขบวนการแรงงาน และให้นำกลับมาให้ทางตัวแทนแรงงาน กรรมาธิการฯร่วมกันพิจารณาอีกครั้ง โดยมีการเสนอปรับแก้ตามข้อเสนอของแรงงาน ทั้ง 5 ข้อ หลักๆ แต่ข้อได้มีการเขียนกำหนดลงไปในร่างพ.ร.บ.ประกันสังคม (ฉบับที่ ..) พ.ศ. ….  บางข้อเสนอได้กำหนดไว้เป็นข้อสังเกต เช่นการเลือกตั้งคณะกรรมการประกันสังคม ทางเลขาธิการสำนักงานประกันสังคมรับไปแก้ไขระเบียบการได้มาของกรรมการฯซึ่งจะหมดวาระลง ส่วนข้อเสนอบัตรเดียวรักษาทุกโรงพยาบาล และไม่ต้องจ่ายค่ารักษาแม้แต่บาทเดียว ทางสำนักงานประกันสังคมได้มีการทำ MOU ร่วมกับทางกระทรวงสาธารณสุข และรับไปแก้ระเบียบการจัดจ้างโรงพยาบาลเอกชน ซึ่งยังมีปัญหาความไม่ชัดเจนให้ชัดเจนมากขึ้น เพื่อให้ผู้ประกันตนไม่ต้องจ่ายเงินก่อนมาเบิกค่ารักษาภายหลัง 
 
ทั้งนี้ นายชัยสิทธิ สุขสมบูรณ์ กรรมาธิการฯตัวแทนแรงงานอีกท่านได้กล่าวว่า การที่ประธานที่ประชุมนำข้อเสนอของคสรท.มาเข้าวาระการประชุมแล้วเสนอให้ปรับแก้ตัดต่อแต่งเติมเข้าไปในร่างพ.ร.บ. ฉบับของรัฐบาลที่พิจารณาอยู่ ไปที่ระข้อทำให้ข้ออื่นๆผ่านไปอย่างรวดเร็ว รู้สึกอึดอัดเหมือนกัน และขอให้เขียนข้อทักท้วงของตนไว้ เช่นกรณีการตั้งเป็นองค์กรอิสระ ของสำนักงานประกันสังคม ที่ปัจจุบันหากโครงสร้างการบริหารยังไม่มีการปรับแก้ให้สอดคล้องกับการขยายตัวของผู้ประกันตนและกองทุนที่ต้องเติบโตจะทำให้เกิดปัญหา เช่น ทรัพย์สินอสังหาริมทรัพย์ต่างๆที่ตกเป็นของรัฐ ในนามกรมธนารักษ์ การลงทุนที่ต้องลงทุนผ่านกระทรวงการคลังกฎระเบียบที่ไม่เอื้อต่อการบริหารโดยสำนักงานประกันสังคมเอง ทำให้ผู้ประกันตนเสียประโยชน์ อีกทั้งยังมีเรื่องมาตรา 39 เดิมที่มีการจัดเก็บเงินผู้ประกันตนสูงถึง 2 เท่า เห็นว่าผู้ประกันตนตามมาตรา 39 เป็นคนตกงานว่างงานไม่มีรายได้ การประกันตนเองต้องจ่ายเงินถึง 432 บาทอาจทำให้ผู้ไม่มีเงินเข้าไม่ถึงการประกันตนเอง และกรณีการประกันสังคมถ้วนหน้าในส่วนของแรงงานนอกระบบมีมาตรา 40 ให้การขยายความคุ้มครอง ซึ่งข้อนี้รัฐร่วมจ่ายไม่เกินกึ่งหนึ่ง แต่อย่างไรก็ตามพรุ่งนี้ (25 มีนาคม 54 เวลา 09.30 น.)จะมีการนำข้อกังวล ข้อสังเกตต่างๆ ในการพิจารณาร่างพ.ร.บ.ประกันสังคม (ฉบับที่ ..) พ.ศ. ….กลับมาดูอีกครั้ง
 
นักสื่อสารแรงงาน โครงการการพัฒนาสื่อ รายงาน