จะเข้คู่ใจของ จิตร ภูมิศักดิ์ กับการปั้นนักเขียนสารคดีแรงงาน

DSCN6989

ะเข้คู่ใจของ จิตร ภูมิศักดิ์ อยู่ที่พิพิธภัณฑ์แรงงานไทย เป็นงานเขียนสารคดีของ วีระศักดิ์ จันทร์ส่งแสง ที่ถูกใช้เป็นตัวอย่างในการฝึกอบรมเชิงปฏิบัติการ “ปั้นแรงงานให้เป็นนักเขียนสารคดีเชิงข่าว” รุ่นที่ 1 ที่มูลนิธิพิพิธภัณฑ์แรงงานไทย โดยความร่วมมือของ บุษยรัตน์ กาญจนดิษฐ์ ฝ่ายวิชาการ คสรท. จัดให้กับแกนนำแรงงานพื้นที่ต่างๆเพื่อเป็นการต่อยอดการพัฒนาศักยภาพของ นักสื่อสารแรงงาน ให้มีทักษะเพิ่มขึ้นในการเขียนเพื่อสื่อสารเรื่องราวของผู้ใช้แรงงาน

วันอาทิตย์สุดท้ายของเดือนตุลาคม ห้องประชุม ศุภชัย ศรีสติ ในพิพิธภัณฑ์แรงงานไทย ว่างเว้นจากงานประชุมขับเคลื่อนแก้ไขปัญหาของแรงงาน วันนี้ จึงเป็นโอกาสพิเศษเพื่องานสร้างคนเขียนสารคดีให้กับขบวนการแรงงาน มีแกนนำแรงงานกว่า 10 ชีวิตทั้งที่เป็นแรงงานในระบบและแรงงานนอกระบบ ต่างยอมละจากช่วงเวลาของวันหยุดพักผ่อนมาร่วมศึกษาหาความรู้เพิ่มพูนทักษะของตัวเอง โดยต่างก็บอกถึงความต้องการของตนเองว่า อยากมาพัฒนาตัวเองเพื่อให้มีความสามารถในการทำงานให้กับมวลพี่น้องผู้ใช้แรงงานให้ดียิ่งขึ้น

ความที่หลายคนที่เข้าร่วมอบรมล้วนผ่านการฝึกฝนให้เป็น นักสื่อสารแรงงาน มาแล้ว และยังคงมีส่วนในการเขียนสื่อข่าวสารแรงงานเผยแพร่ใน www.voicelabour.org ตลอดมา บรรยากาศการฝึกอบรมจึงเสมือนเป็นการแลกเปลี่ยนเรียนรู้ระหว่างกันมากกว่าจะเป็นการเรียนการสอนอย่างคร่ำเครียด และการได้มีโอกาสทำแบบฝึกหัดเขียนงานจริงภายใต้การชี้แนะของนักเขียนสารคดีตัวเป็นๆ ก็เอื้อให้ทุกคนต่างเกิดความมั่นใจมากขึ้นในเรื่องของการขีดๆเขียนๆเพื่อเล่าเรื่องราวของแรงงานให้สังคมได้รับรู้  โดยได้สารคดีเรื่อง จะเข้คู่ใจของ จิตร ภูมิศักดิ์ อยู่ที่พิพิธภัณฑ์แรงงานไทย ที่ วีระศักดิ์ จันทร์ส่งแสง เขียนไว้เมื่อ 3 ธันวาคม 2546 มาเป็นตัวอย่างเสริมความมุ่งมั่นในการที่จะก้าวสู่เส้นทางการเขียนสารคดีของคนแรงงาน

แม้การ“ปั้นแรงงานให้เป็นนักเขียนสารคดีเชิงข่าว”จะไม่ใช่เรื่องง่าย แต่วีระศักดิ์ก็บอกกับทุกคนว่า ถ้าหมั่นฝึกฝน การเขียนสารคดีโดยคนงานก็ไม่ใช่เรื่องของการฝันกลางวันแต่อย่างใด

นักสื่อสารแรงงาน รายงาน

DSCN7003 DSCN6895 DSCN6899DSCN6927 DSCN6913 DSCN6928DSCN6933 DSCN6888 DSCN6963DSCN6972 DSCN6999 DSCN6975 

************************

จะเข้คู่ใจของ จิตร ภูมิศักดิ์ อยู่ที่พิพิธภัณฑ์แรงงานไทย

วีระศักดิ์ จันทร์ส่งแสง

DSCN7034

ขอมอบจะเข้และภาพถ่ายของน้องจิตร ภูมิศักดิ์ ให้พิพิธภัณฑ์แรงงานไทย

ภิรมย์ ภูมิศักดิ์

3 ธันวาคม 2546

ตัวหนังสือเขียนด้วยหมึกสีดำบนกระดาษขาว ปิดอยู่บนผนังด้านในของตู้ใบที่มี จะเข้ เก่าแก่ตัวหนึ่งวางอยู่ด้วย ตู้ดังกล่าวตั้งอยู่ในห้อง ศิลปะวัฒนธรรมกรรมกร จิตร ภูมิศักดิ์ และห้องนี้เป็นส่วนหนึ่งของพิพิธภัณฑ์แรงงานไทย

เป็นจะเข้ตัวที่ ทองใบ ทองเปาด์ เล่าว่า จิตร ภูมิศักดิ์ ใช้ในการแต่งเพลงยามพักผ่อนคลายความเหน็ด เหนื่อยจากการงานในคอมมูน ระหว่างถูกจองจำอยู่ในคุกลาดยาวด้วยกันเมื่อครั้งกระโน้น

นับแต่ผู้เป็นเจ้าของจากไป คล้ายว่าฐานะความเป็นเครื่องดนตรีของมันได้สิ้นลมไปด้วย ครั้นถูกนำมาวางสงบอยู่ในตู้กระจกของพิพิธภัณฑ์แรงงานฯ จะเข้โบราณจึงได้เดินทางต่อในฐานะหลักฐานทางประวัติศาสตร์วัฒนธรรมของชนชาวกรรมกร และเล่าเรื่องราวแต่หนหลังของผู้เป็นเจ้าของ

วันเวลานี้ชื่อของเขาเป็นที่ยกย่องกันอย่างไม่มีข้อกังขา ในฐานะนักค้นคว้า นักวิชาการทางประวัติศาสตร์ ภาษาศาสตร์และนิรุกติศาสตร์ เป็นนักคิดนักเขียนที่มีอุดมคติแรงกล้า เป็นนักปฏิวัติ เป็นนักกวี และเป็นนักเพลง

เฉพาะสถานะหลังสุด เป็นที่รับรู้กันว่า จิตร ภูมิศักดิ์ รักชอบดนตรีไทยมาตั้งแต่สมัยเรียนอักษรศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย เขาเป็นคนที่มีทักษะด้านการร้องรำทำเพลงสูงยิ่ง เล่นดนตรีได้หลากหลายชนิด ทั้งประพันธ์บทเพลงได้ไพเราะ ลึกซึ้ง และทรงพลัง

ในทางความคิด จุดยืนที่ชัดเจนตลอดมาของเขาคือการต่อสู้อยู่ข้างผู้เสียเปรียบ คนยากไร้ และชนชั้น กรรมาชีพผู้ลงแรงทำงานสร้างสรรค์โลก เนื้อหาของการสร้างสรรค์งานศิลปะทั้งหลายจึงต้องเอื้อประโยชน์ต่อผองคนชนชั้นนี้ ตามที่ จิตร เขียนไว้ในหนังสือ ศิลปะเพื่อชีวิตและศิลปะเพื่อประชาชน ว่า “ศิลปะเพื่อชีวิตคือ ศิลปะที่รับใช้ชีวิตของมวลประชาชนส่วนข้างมากผู้ทำงานผลิตสิ่งมีคุณค่าออกเลี้ยงสังคม” และ “ศิลปะเพื่อประชาชนก็คือ ศิลปะที่ซื่อสัตย์ต่อสภาพความเป็นจริงแห่งชีวิตของมวลชนผู้ทุกข์ทรมานในสังคมอันอยุติธรรม ศิลปะเพื่อประชาชนไม่เพียงแต่จะเปิดโปงความเลวร้ายของชีวิต… ไม่เพียงแต่จะศึกษาโลกและชีวิตตามที่มันเป็นจริงและสะท้อนถ่ายทอดออกอย่างซื่อสัตย์… ไม่เพียงแต่จะเป็นเสมือนหอกอันแหลมคมที่จะทะลวงแทง ศัตรูแห่งประชาชนเท่านั้น

หากจักต้องเป็นเหมือนโคมไฟอันจ้าสว่างที่ส่องนำแนวทางให้ประชาชนมองเห็นมรรคาอันจักนำไปสู่ สภาพชีวิตที่ดีกว่า และเป็นเหมือนเชื้อเพลิงที่จี้จุดลงในกลางดวงใจของประชาชน เพื่อให้เขาตื่นขึ้นด้วยความสำนึก ในอันที่จะเปลี่ยนแปลงโลกและชีวิตให้ดำเนินไปสู่ความผาสุข และความดีงามอันสมบูรณ์แท้จริง”

แนวคิดทฤษฎีในหนังสือเล่มลือลั่นข้างต้น เป็นทั้งคำเรียกร้องถึงเหล่าผองเพื่อนศิลปิน และเป็นเหมือนธงนำในการทำงานศิลปะของตัวเองซึ่งเขายึดถือจนชั่วชีวิต

ก่อนจะเดินทางไปสู่วาระสุดท้ายที่ชายป่าหมู่บ้านหนองกุง จังหวัดสกลนคร จิตรถูกจับเข้าคุกเป็นนักโทษการเมืองอยู่นานกว่า ๖ ปี

ทองใบ ทองเปาด์ อดีตเพื่อร่วมงานและเพื่อนร่วมคุก บันทึกภาพของ จิตร ภูมิศักดิ์ ในวันที่เขาเดินเข้าคุก เอาไว้ด้วยตัวอักษร “ไอ้ที่พวกเราเรียกว่า จะเข้ เมื่อเขาเข้าลาดยาว เขาแบกเข้าไปด้วย ตัวเบ่อเริ่มเทิ่ม ทุกวันกินข้าวเสร็จหรือยามเขาต้องการพักผ่อน เขาจะดีดจะเข้อย่างเพลิดเพลิน”

ภาพที่เห็นนี้

“อย่าคิดว่า เขาดื่มด่ำกับเสียงอันกังวานของมันเท่านั้น หากเขาดีดไปค้นคิดไป ผมมารู้ระยะหลังว่า เขาแต่งเพลงและคิดทำนองเพลงต่างหาก ดังนั้นเพลงที่เขาเล่นจึงมักเป็นการซ้อมเพลงที่เขาแต่งเสร็จแล้วเพื่อแก้ไขและปรับปรุงให้ดีขึ้น”

แล้วเวลาก็เป็นข้อพิสูจน์ว่าแต่ละบทเพลงของเขาล้วนหนักแน่นไปด้วยพลังปลุกเร้า มีเป้าหมาย และเป็นอมตะ

ความคิดเพ้อฝันหรือมอมเมาคน ไม่เคยปรากฎในงานของเขา

ใครหนอเหยียดหยามหมิ่นว่างานแสนทราม มองเห็นเงินรุ้งอร่ามเลอเลิศพิไล แต่เงินนั้นมาจากคน-จากงานน้ำแรงเหงื่อไคล เมื่อเงินเปื้อนเหงื่อแล้วใย ใช้หมิ่นหัวใจของคนรักงาน

คนใช้แรงแม้นหมดจากโลกนี้ไป มีผู้ใดหาญแบกภาระของงาน จะมีผู้ใดสร้างเงินให้คนชื่นชมเบิกบาน โลกนี้ที่สุขสำราญล้วนแต่ผลงานของคนยากจน ……

บางท่อนของบทเพลง ศักดิ์ศรีแรงงาน ที่เขาแต่งเพื่อสะท้อนความซาบซึ้งในคุณค่าของแรงงาน

เพลง รำวงวันเมย์เดย์ หรือวันกรรมกรสากล ๑ พฤษภาคม ที่นอกจากแสดงออกถึงความรื่นเริงในวันกรรมกรสากลที่ยิ่งใหญ่ ยังสรรเสริญแรงงานด้วยความสำนึกอันล้ำลึก ท่ามกลางยุคสมัยที่การเชิดชูและให้เกียรติแก่คนงานเป็นเรื่องต้องห้าม

รวมทั้งเพลง แสงดาวแห่งศรัทธา ที่ยังคงขับขานปลุกหัวใจคนมาจนตราบถึงทุกวันนี้

ฯลฯ

สำหรับมวลชนคนใช้แรงงาน จิตร ภูมิศักดิ์ เป็นเหมือนจอมทัพผู้เปิดแนวรบทางวัฒนธรรมให้กับชนชั้นกรรมาชีพ

เมื่อพิพิธภัณฑ์แรงงานไทยถูกก่อตั้งขึ้น ที่ถนนนิคมรถไฟมักกะสัน กรุงเทพฯ ในอาคารที่เคยเป็นสถานีตำรวจรถไฟ นามของจิตร ภูมิศักดิ์ จึงได้รับการยกย่องไว้เป็นห้องหนึ่งในพิพิธภัณฑ์

ภาพรวมของเนื้อหานิทรรศการที่จัดแสดงทั้งหมด ไล่เรียงมาตั้งแต่ยุคไพร่ทาสในสมัยสังคมศักดินา – แรงงานรับจ้างรุ่นแรก – แรงงานในกระบวนการปฏิรูปประเทศสมัยรัชกาลที่ 5 – ยุคเปลี่ยนแปลงการปกครอง 2475 – สมัยสงครามโลกจนถึงสงครามเย็น โดยมีช่วงชีวิตของจิตร ภูมิศักดิ์ เชื่อมต่อไปสู่การปะทุในเหตุการณ์ 14 ตุลาคม 2516

ห้องจัดแสดงแต่ละช่วงยุคเรียงต่อกันไปตามลำดับเวลา วิชัย นราไพบูลย์ เจ้าหน้าที่ประจำพิพิธภัณฑ์ ไขข้อสงสัยปลีกย่อยเกี่ยวกับสถานที่ว่า เป็นเรื่องบังเอิญที่ห้องศิลปวัฒนธรรมฯ จิตร ภูมิศักดิ์ มาอยู่ตรงส่วนที่เคยเป็นห้องขังของสถานีตำรวจรถไฟ

ถึงวันที่อาคารไม้ชั้นเดียวหลังเก่าถูกปรับเปลี่ยนมาใช้เป็นสถานที่บอกเล่าเรื่องของผู้ใช้แรงงาน-เป็นแห่งแรกในเอเชีย บานประตูทางเข้าห้องศิลปวัฒนธรรมฯ จิตร ภูมิศักดิ์ ยังคงเป็นรั้วลูกกรง ที่ดูขลังและชวนให้คิดไปไกล คิดไปถึงวันที่วันเจ้าของและจะเข้ยังมีชีวิต

และเป็นข้อคิดที่ตอกย้ำสัจจะให้กับคนที่ได้มาเห็น

จะยุคสมัยไหนก็ตาม ซี่กรงตะรางหรือกำแพงคุกกักขังคนได้แต่ร่างกายเท่านั้น ทิพย์แห่งศิลป์และอุดมคติ อันดีงามในหัวใจเขา ไม่มีโซ่ตรวนใดฉุดรั้งได้

แม้แต่ปราการแห่งกาลเวลา

………………………………………