ค่าจ้างตามมาตรฐานฝีมือ … ก้าวใหม่ของนโยบายค่าจ้าง โดยรัฐ ??

กำหนดค่าจ้างตามมาตรฐานฝีมือ … ก้าวใหม่ของนโยบายค่าจ้างโดยรัฐ ??

โดย บัณฑิตย์  ธนชัยเศรษฐวุฒิ

นักวิชาการมูลนิธิอารมณ์ พงศ์พงัน

กล่าวนำ

          การยกระดับรายได้ของมนุษย์ค่าจ้างย่อมสัมพันธ์อย่างแนบแน่นกับต้นทุนการผลิตของโรงงานและสถานประกอบการต่างๆ  สิ่งที่จะทำให้โรงงานและสถานประกอบการต่างๆดำรงอยู่ได้และเติบโตได้ภายใต้ภาวะค่าจ้างสูงก็คือ  การเพิ่มประสิทธิภาพการผลิต  เพิ่มผลิตภาพของแรงงาน (labour productivity)เราจะเห็นได้ชัดว่า  แรงงานที่เคยทำงานมีรายได้เดือนละ 4,000 –5,000 บาทในสังคมไทย  แต่เมื่อไปทำงานในฮ่องกง  ไต้หวันจะได้รายได้หรือค่าจ้างตั้งแต่เดือนละ 25,000 บาทขึ้นไป  และเป็นที่น่าสังเกตว่า  ผลผลิตจากแรงงานเหล่านี้ก็สามารถเข้าสู่ตลาดแข่งขันกับการผลิต “จากไทย”ที่มีค่าแรงต่ำกว่ากันมากได้  เพราะอะไร ? ก็เพราะผลิตภาพของแรงงานในระบบการผลิตของฮ่องกงและไต้หวันสูงกว่านั่นเอง

          จากนี้จึงเห็นได้ว่า  การแก้ปัญหาเกษตรกร  ปัญหาแรงงาน  เพื่อให้พวกเขามีภาวการณ์กินดีอยู่ดี  ขึ้นนั้น  ไม่สามารถพิจารณาปัญหาอย่างแยกส่วน  ต้องพิจารณาเชื่อมโยงกันทั้งระบบ  โดยเฉพาะการเชื่อมโยงกันทั้งระบบ  ระหว่างเกษตรกร –มนุษย์ค่าจ้าง  ภาคเกษตร –ภาคการค้าและอุตสาหกรรม  ในความเชื่อมโยงนี้ “ค่าจ้าง”จึงเป็นห่วงโซ่หลักที่สำคัญที่สุด “ค่าจ้าง”ไม่ว่าจะเป็นค่าจ้างถาวรหรือค่าจ้างชั่วคราว  จะต้องมีความสอดคล้องกับความต้องการหรือกำลังซื้อของตลาดภายใน  สอดคล้องกับความต้องการยกระดับราคาสินค้าเกษตรในประเทศ  และสังคมต้องเข้าใจและยอมรับความจริงในปัจจุบันว่า ค่าจ้างคือปัจจัยหลักที่ทำให้ครอบครัวเกษตรกรส่วนใหญ่และครอบครัวมนุษย์ค่าจ้างดำรงชีพอยู่ได้  สังคมและรัฐบาลจะต้องให้ความสำคัญกับนโยบายค่าจ้างให้มากกว่าที่เป็นอยู่  ควบคู่กับนโยบายเพิ่มผลิตภาพแรงงาน (labour productivity)

                   ณรงค์  เพช็รประเสริฐ

                        บางตอนใน สวัสดิการสังคม  ในมิติกินดีอยู่ดีมีสุขมีสิทธิ์ (2549:น.28)

                        จัดพิมพ์โดยศูนย์ศึกษาเศรษฐศาสตร์การเมือง  คณะเศรษฐศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย


           เนื่องจากสถานประกอบการจำนวนมหาศาลไม่มีหลักเกณฑ์การปรับค่าจ้างประจำปีที่โปร่งใสเป็นธรรมและมีส่วนร่วมจากฝ่ายลูกจ้าง  ทำให้ “ค่าจ้างขั้นต่ำ”ที่กระทรวงแรงงานประกาศบังคับใช้ในแต่ละปี  กลายเป็นฐานค่าจ้างที่นายจ้างหลายแห่งนำไปใช้เป็นค่าจ้างของลูกจ้างหรือเกณฑ์การปรับค่าจ้าง  โดยไม่คำนึงถึงภาวะเงินเฟ้อ-ค่าครองชีพ, ทักษะฝีมือและการแบ่งปันกำไรจากผลประกอบการอย่างแท้จริง  หลายโรงงานที่ไม่มีสหภาพแรงงานหรือมีสหภาพแรงงานไม่เข้มแข็ง  ค่าจ้างของคนงานจำนวนมากจะใกล้เคียงค่าจ้างขั้นต่ำหรืออ้างอิงค่าจ้างขั้นต่ำมาตลอด  ส่งผลให้คนงานต้องทำงานล่วงเวลาเป็นประจำ  ทำงานในวันหยุดหรือควงกะ  อาจต้องทำงานแบบเหมางานรายชิ้นปริมาณมากตามคำสั่งซื้อของลูกค้าและความต้องการของนายจ้าง  เพื่อให้มีรายได้มากเพียงพอแก่การเลี้ยงชีพตนเองและครอบครัว

          การเรียกร้องให้ปรับอัตราค่าจ้างขั้นต่ำทุกปีของขบวนการสหภาพแรงงาน  คือสัญญาณบ่งชี้อัตราค่าจ้างที่ไม่เป็นธรรมสำหรับลูกจ้างส่วนใหญ่ในภาคเอกชนตลอดมา  และจะมีเสียงคัดค้านไม่พอใจการเรียกร้องปรับค่าจ้างจากฝ่ายนายจ้างและองค์กรธุรกิจเสมอมา 

          ระหว่างการประชุมคณะรัฐมนตรีเมื่อวันที่ 16 สิงหาคม 2553 รัฐมนตรีว่าการกระทรวงแรงงานได้หารือเกี่ยวกับการปรับค่าจ้างขั้นต่ำต่อที่ประชุมซึ่งในเบื้องต้นนายกรัฐมนตรียืนยันว่าจะมีปรับแน่นอนก่อน เมษายน 2554  โดยประมาณการอยู่ที่ 250 บาทต่อวัน  และมอบหมายให้กระทรวงแรงงานกับกระทรวงการคลังไปหารือรายละเอียดอีก (มติชน,17 ส.ค.53 น.5) นับเป็นสัญญาณบวกครั้งแรกที่นายกรัฐมนตรีสนับสนุนการขึ้นค่าแรงขั้นค่าแรงขั้นต่ำชัดเจน 

          คณะกรรมการค่าจ้าง  กระทรวงแรงงานมีข้อสรุปว่า  ควรมีการกำหนดอัตราค่าจ้างที่เหมาะสมและเป็นธรรมแก่แรงงานกึ่งฝีมือและมีฝีมือ  โดยนำเอามาตรฐานฝีมือแรงงานเข้ามาเป็นองค์ประกอบสำคัญในการพิจารณาด้วย  จึงเป็นที่มาของการกำหนดอัตราค่าจ้างตามมาตรฐานฝีมือแรงงานใน 30 สาขาอาชีพกลุ่มอุตสาหกรรมที่มีความสำคัญต่อการสนับสนุนการปรับโครงสร้างการผลิตและภาคบริการของระบบเศรษฐกิจไทย  โดยได้ออกประกาศกระทรวงแรงงาน เรื่อง อัตราค่าจ้างตามระดับมาตรฐานฝีมือแรงงาน (ลงวันที่ 23 มกราคม 2549) เพื่อส่งเสริมภาคเอกชนใช้เป็นเกณฑ์อ้างอิงในการกำหนดค่าจ้างแก่ลูกจ้างที่เหมาะสมและเป็นธรรมสำกรับลูกจ้างที่ผ่านการทดสอบมาตรฐานฝีมือแรงงานในระดับต่างๆ โดยการทดสอบมาตรฐานฝีมือแรงงานเป็นการดำเนินการตามที่คณะกรรมการส่งเสริมการพัฒนาฝีมือแรงงานประกาศกำหนดตาม พ.ร.บ.ส่งเสริมการพัฒนาฝีมือแรงงาน พ.ศ.2545  เพื่อส่งเสริมสถานประกอบใช้ประโยชน์จากมาตรฐานฝีมือแรงงานในการพัฒนากำลัง

คนและการจ้างงานให้ได้บุคลากรที่มีความรู้  ความสามารถ  ทักษะฝีมือ  และทัศนคติที่ดีต่อการทำงาน

          ต่อมา  กระทรวงแรงงานได้ปรับปรุงหมวด 6  คณะกรรมการค่าจ้างพระราชบัญญัติคุ้มครองแรงงาน พ.ศ.2541 โดยตราเป็นพระราชบัญญัติคุ้มครองแรงงาน (ฉบับที่ 3) พ.ศ.2551 ใช้บังคับตั้งแต่ 28 กุมภาพันธ์ 2551 เพื่อแก้ไขอำนาจคณะกรรมการค่าจ้างให้  มีอำนาจกำหนดอัตราค่าจ้างตามมาตรฐานฝีมือเพิ่มขึ้นนอกเหนือจากการกำหนดค่าจ้างขั้นต่ำ  กำหนดแนวทางพิจารณาของนายจ้างในการปรับค่าจ้าง, การปรึกษาแนะนำต่อคณะรัฐมนตรีเกี่ยวกับนโยบายพัฒนาค่าจ้างและรายได้  คณะกรรมการค่าจ้างในปี 2552  จึงได้แต่งตั้งคณะอนุกรรมการ      จำนวน 6 คณะเพื่อพิจารณาจัดทำอัตราค่าจ้างตามมาตรฐานฝีมือใน 6 กลุ่มสาขาอาชีพ คือ

          1.  กลุ่มสาขาอาชีพช่างไฟฟ้า  อิเลคทรอนิกส์  และคอมพิวเตอร์ 

          2.  กลุ่มสาขาอาชีพช่างอุตสาหการ

          3.  กลุ่มสาขาอาชีพช่างเครื่องกล

          4.  กลุ่มสาขาอาชีพช่างอุตสาหกรรมศิลป์

          5.  กลุ่มสาขาอาชีพช่างก่อสร้าง

          6.  กลุ่มสาขาอาชีพภาคบริการ

          กระทรวงแรงงานได้จัดสัมมนาระดมความคิดเห็น เรื่อง การกำหนดอัตราค่าจ้างตามมาตรฐานฝีมือ 6 กลุ่มสาขาอา

 จำนวน 5 รุ่นระหว่างเดือนมิถุนายน-กรกฎาคม 2552  โดยมีผู้ประกอบการการจากสภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย  สภาหอการค้าแห่งประเทศไทย  สมาคมวิชาชีพ  ผู้แทนองค์การลูกจ้างองค์กรพัฒนาเอกชน  หน่วยงานภาครัฐและเอกชนที่เกี่ยวข้อง  สรุปข้อคิดเห็นและข้อเสนอได้ดังนี้

          ผู้ประกอบกิจการ

          1.  เห็นว่าการกำหนดอัตราค่าจ้างตามมาตรฐานฝีมือควรเป็นการกำหนดอัตราค่าจ้างต่ำสุดของช่างฝีมือแต่ละระดับ  ยึดหยุ่นแตกต่างกันแต่ละอาชีพตามสภาพเศรษฐกิจและสังคมของแต่ละจังหวัด  เช่นค่าจ้างขั้นต่ำ+ค่าวิชาชีพ (คิดเป็นเปอร์เซ็นต์)

          2.  ค่าจ้างตามมาตาฐานฝีมือ  หากมีการบังคับใช้ทุกสถานประกอบกิจการ  ทุกขนาด  จะเกิดปัญหาการหลีกเลี่ยงปฏิบัติตาม  จึงควรกำหนดเป็นแนวทางปฏิบัติจะดีกว่า  โดยเน้นการพัฒนาฝีมือตามระดับให้มีคุณวุฒิวิชาชีพเพื่อปรับค่าจ้าง 

          3.  กลไกตลาดจะเป็นตัวกำหนดค่าจ้างของช่างฝีมือเหล่านั้น  การจ้างงานควรเป็นเรื่องข้อตกลงระหว่างนายจ้างกับลูกจ้างที่จะต่อรองกัน  หากค่าจ้างน้อยเกินไป  ลูกจ้างย่อมไปทำงานที่สถานประกอบการอื่นได้และไม่แน่ใจว่าผู้ผ่านการทดสอบมาตรฐานฝีมือแรงงานจะมีคุ

ณสมบัติและมาตรฐานตามระดับนั้นจริง

          ฝ่ายลูกจ้าง

          1.  นายจ้างอาจไม่ปรับค่าจ้างลูกจ้างที่ผ่านการทดสอบตามมาตรฐานฝีมือถ้าลูกจ้างได้รับค่าจ้างสูงกว่าอัตราค่าจ้างขั้นต่ำอยู่แล้ว

          2.  สภาพเศรษฐกิจในแต่ละจังหวัดแตกต่างกัน  และความสามารถในการจ่ายของนายจ้างไม่เท่ากัน  ธุรกิจขนาดเล็กอาจไม่สามารจ่ายได้

          3.  ถ้ามีปรับค่าจ้างขั้นต่ำไปชนกับฐานอัตราค่าจ้างตามมาตรฐานฝีมือ  ต้องมีการปรับอัตราใหม่

          4.  อัตราค่าจ้างตามมาตรฐานฝีมือควรเท่ากันทุกจังหวัดหรือให้มีโครงสร้างค่าจ้างภายในสถานประกอบกิจการโดยอาจมีอัตราค่าจ้างขั้นต่ำ+ค่าวิชาชีพ

          5.  กรณีมีการปรับขึ้นค่าจ้างขั้นต่ำ  ต้องมีการอัตราค่าจ้างตามมาตรฐานฝีมือด้วยโดยอัตโนมัติ

          ผลการพิจารณาของ 6 คณะอนุกรรมการฯดังกล่าว  ได้พิจารณาถึงสาขาอาชีพที่มีความสำคัญต่อการเพิ่มขีดความสามารถในการแข่งขันของประเทศ  ลักษณะงานและทักษะความสามารถในแต่ละสาขาอาชีพที่ใช้ในการกำหนดงาน  และประมาณการแรงงานที่ผ่านการทดสอบมาตรฐานฝีมือแรงงานแห่งชาติจำนวนประมาณ 2-4 แสนคนหรือร้อยละ 63.19 ของผู้เข้ารับการทดสอบฯ ได้ข้อสรุปว่า  ในระยะแรกควร

กำหนดอัตราค่าจ้างตามมาตรฐานฝีมือแรงงานใน 22 สาขาอาชีพ ได้แก่

          1.  ช่างซ่อมไมโครคอมพิวเตอร์

          2.  ช่างไฟฟ้าภายในอาคาร

          3.  ช่างไฟฟ้าอุตสาหกรรม

          4.  ช่างเครื่องปรับอากาศในบ้านและการพาณิชย์ขนาดเล็ก

          5.  ช่างอิเล็กทรอนิกส์ (โทรทัศน์)

          6.  ช่างสีรถยนต์

          7.  ช่างซ่อมรถยนต์

          8.  ช่างเคาะตังถังรถยนต์

          9.  ช่างไม้ก่อสร้าง

          10.  ช่างก่ออิฐ

          11.  ช่างฉาบปูน

          12.  ช่างอลูมิเนียมก่อสร้าง

          13.  ช่างเขียนแบบกลด้วยคอมพิวเตอร์

          14.  ช่างเชื่อมเหล็ก

          15.  ช่างเชื่อมทิก

          16.  พนักงานนวดแผนไทย

          17.  นักส่งเสริมสุขภาพแบบองค์รวมสปาตะวันออก (หัตถบำบัด)

          18.  ผู้ประกอบการอาหารไทย

          19.  ช่างเครื่องประดับ (ประดับอัญมณี)

          20.  ช่างบุครุภัณฑ์

          21.  ช่างเครื่องเรือนไม้

          22.  ช่างเย็บ

          สำนักงานปลัดกระทรวงแรงงาน  กำลังประมวลผลและวิเคราะห์ข้อมูลทั้งหมดที่ขอความร่วมมือสำนักงานแรงงานจังหวัด 75 จังหวัดสำรวจข้อมูลจากสถานประกอบการและลูกจ้าง  และข้อมูลการสัมมนาระดมความคิดเห็นทั้งในส่วนกลางและภูมิภาค  นำเสนอคณะกรรมการค่าจ้าง  เพื่อประกาศกำหนดอัตราค่าจ้างตามมาตรฐานฝีมือใช้บังคับเป็นกฎหมายต่อไปภายในระยะใกล้นี้  โดยหากนายจ้างใดไม่ปฏิบัติตามจะถูกลงโทษได้

          กล่าวได้ว่า  การออกประกาศกระทรวงแรงงานเรื่องกำหนดอัตราค่าจ้างตามมาตรฐานฝีมือในอนาคต  จะเป็นบทท้าทายทดสอบประสิทธิการบังคับใช้กฎหมายค่าจ้างอีกครั้งของหน่วยงานรัฐว่าจะประสบความสำเร็จหรือล้มเหลว  อย่างไรต่อไปหรือไม่ ?