ค่าจ้างขั้นต่ำกับแรงงานข้ามชาติ

โดย มงคล ยางงาม นักสื่อสารแรงงาน ศูนย์ข่าวแรงงานอ้อมน้อย-อ้อมใหญ่

ผู้เขียนได้มีโอกาสรับชมการแถลงนโยบายของรัฐบาล และการอภิปรายจากท่านสมาชิกรัฐสภาอันประกอบด้วยสมาชิกวุฒิสภา และสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรทั้งฝ่ายค้านและฝ่ายรัฐบาล โดยเฉพาะนโยบายที่เกี่ยวข้องกับแรงงานทั้ง เรื่องค่าจ้างขั้นต่ำ 300 บาท และเงินเดือนสำหรับปริญญาตรี 15,000 บาท/เดือน แต่ที่แถลงเป็นนโยบายกับใช้คำว่า รายได้ซึ่งเป็นประเด็นที่ฝ่ายค้านต้องตั้งกระทู้ถามให้แน่ใจว่า “คำว่ารายได้กับค่าจ้างขั้นต่ำ” เป็นอย่างเดียวกันหรือไม่สุดท้ายก็ได้รับการยืนยันจากท่านนายกรัฐมนตรีว่า มีความหมายตามที่หาเสียงไว้พร้อมทั้งบอกด้วยว่า ไม่ได้ให้ความสำคัญกับตัวหนังสือแต่ให้ความสำคัญกับการปฏิบัติกับผลงานที่ปรากฏจะดีกว่า

ประเด็นที่ผู้เขียนเห็นว่า ท่านสมาชิกรัฐสภารวมทั้งท่านนายกรัฐมนตรี ยังไม่มีความเข้าใจในมิติของแรงงานมากนัก โดยเฉพาะประเด็นของแรงงานต่างด้าวที่หมายถึงแรงงานจากต่างประเทศที่เข้ามาทำงานในประเทศไทยไม่ว่า จะเป็นแรงงานจาก ลาว กัมพูชา พม่าหรือจากประเทศอื่นๆ แต่ผู้เขียนจะขอใช้คำว่าแรงงานข้ามชาติแทนคำว่าแรงงานต่างด้าว

โดยเริ่มจากท่านนายกที่ได้ให้สัมภาษณ์กับสื่อมวลชนก่อนที่จะรับตำแหน่งอย่างเป็นทางการว่า การปรับค่าจ้างขั้นต่ำ 300 บาทนั้น จะให้สิทธิเฉพาะแรงงานไทยเท่านั้น ต่อมาเมื่อมีการแถลงนโยบายของรัฐบาลท่านสมาชิกรัฐสภาได้อภิปรายในนโยบายค่าจ้างขั้นต่ำ 300 บาท โดยได้แสดงความวิตกกังวลว่าแรงงานข้ามชาติจะเข้ามาแย่งงานแรงงานไทยทำ และจะสร้างปัญหาด้านความมั่นคง เพราะจะทำให้แรงงานจากประเทศเพื่อนบ้านลักลอบเข้ามาทำงานในประเทศไทยโดยขาดการควบคุมจนอาจเกิดปัญหาหลายอย่างตามมา

ผู้เขียนจึงขอแสดงความเห็นแย้ง และขอทำความเข้าใจต่อท่านสมาชิกรัฐสภา และท่านนายกรัฐมนตรีต่อประเด็นแรงงานข้ามชาติ ว่า ตามพระราชบัญญัติ(พ.ร.บ.)คุ้มครองแรงงาน พ.ศ. 2541ในมาตรา 5 ในนิยามคำว่า “ลูกจ้าง” หมายถึง ผู้ซึ่งตกลงทำงานให้นายจ้าง โดยได้รับค่าจ้างไม่ว่าจะเรียกชื่อว่าอย่างไร และมาตรา 89  ก็ได้ระบุว่า การประกาศอัตราค่าจ้างขั้นต่ำ หรืออัตราค่าจ้างตามฝีมือแรงงาน  ให้ใช้บังคับแก่นายจ้างและลูกจ้างทุกคนโดยไม่เลือกปฏิบัติ  ดังนั้น  แรงงานข้ามชาติจึงมีสิทธิได้รับอัตราค่าจ้างขั้นต่ำและอัตราค่าจ้างตามฝีมือแรงงาน  เทียบเท่ากับลูกจ้างไทย  การที่นายกรัฐมนตรีได้เคยกล่าวไว้  จึงเป็นการกล่าวที่ปราศจากความเข้าใจในมิติของแรงงานอย่างชัดเจน  และในประเด็นที่ท่านสมาชิกรัฐสภาเป็นกังวลว่า  นายจ้างจะเลือกจ้างแรงงานข้ามชาติเพราะมีค่าแรงถูกกว่าจึงเป็นการเข้าใจผิดเช่นกัน  ส่วนปัญหาเรื่องการแย่งงานไม่ใช่อยู่ที่การขึ้นค่าจ้างขั้นต่ำ  300  บาท  แต่อยู่ที่กระบวนการคอรัปชั่นของหน่วยงานราชการที่ปล่อยปละละเลยให้แรงงานข้ามชาติเข้าเมืองโดยผิดกฎหมาย และขั้นตอนในทางกฎหมายก็มีการ  เรียกเก็บเงินค่าธรรมเนียมซ้ำซ้อน ประกอบกับนโยบายด้านแรงงานข้ามชาติของกระทรวงแรงงานก็ไม่มีความชัดเจนทั้งที่ข้อตกลงเศรษฐกิจประชาคมอาเชี่ยนจะมีผลบังคับใช้ในปีพ.ศ.2558 ที่จะถึงนี้มีผลให้มีการเคลื่อนย้ายแรงงานอย่างเสรี

หากผู้ประกอบการยังมัวแต่คิดจะแข่งขันในเรื่องราคาถูกเพียงอย่างเดียว โดยไม่คำนึงถึงเรื่องคุณภาพย่อมจะสู้ประเทศที่มีค่าจ้างถูกอย่างประเทศจีนไม่ได้ ดังนั้นผู้เขียนคิดว่า การจ้างแรงงานควรมุ่งไปสู่การพัฒนาประสิทธิภาพแรงงาน เพื่อยกระดับผลิตภาพสินค้าแข่งขันกันที่คุณภาพซึ่งแรงงานไทยมีฝีมือไม่ด้อยไปกว่าชาติใดๆหากได้รับการพัฒนาอย่างถูกต้องเป็นระบบ ปัญหาเรื่องที่แรงงานชาติอื่นจะมาแย่งงานแรงงานไทยคงเป็นไปไม่ได้อีกทั้งควรจะพัฒนาแรงงานไทยเพื่อการส่งออกไปด้วยจะได้รองรับการเคลื่อนย้ายแรงงานอย่างเสรีได้โดยไม่เป็นรองชาติอื่นๆ

///////////////////////////////////////////