คสรท.เร่งกระทรวงแรงงานแก้ไขปัญหานายจ้างละเมิดสิทธิเลิกจ้างตัวแทนเจรจาต่อรอง

คณะกรรมการสมานฉันท์แรงงานไทย (คสรท.) ยื่นหนังสือกระทรวงแรงงาน เรื่องให้แก้ปัญหานายจ้างจังหวัดปราจีนบุรีละเมิดสิทธิการรวมตัวเจรจาต่อรอง 

วันนี้ (10 กุมภาพันธ์ 2560) เวลา 10.00 น.ที่ห้องประชุมสำนักงานแรงงานสัมพันธ์ กรมสวัสดิการและคุ้มครองแรงงาน กระทรวงแรงงาน นำโดย นายสาวิทย์  แก้วหวาน ประธานคณะกรรมการสมานฉันท์แรงงานไทย(คสรท.) นายชาลี ลอยสูง รองประธานคสรท. นายยงยุทธ เม่นตะเภา ประธานสมาพันธ์แรงงานไฟฟ้า อิเล็กทรอนิกส์ ยานยนต์โลหะแห่งประเทศไทย ตัวแทนสมาพันธ์แรงงานรัฐวิสาหกิจสัมพันธ์ (สรส.) เครือข่ายนักจัดตั้ง พร้อมด้วยตัวแทนคนงานวาย-เทคคนงานได้เข้ายื่นหนังสือให้กับอธิบดีกรมสวัสดการคุ้มครองแรงงานในเรื่อง ขอให้เร่งแก้ไขปัญหากรณีการละเมิดสิทธิการรวมตัวและการเจรจาต่อรอง โดยมีนายอนันตฺ บวรเนาวรักษ์ ผู้อำนวยการสำนักงานแรงงานสัมพันธ์ เป็นผู้รับหนังสือแทน 

นายสาวิทย์กล่าวว่า สืบเนื่องจากการที่คณะกรรมการสมานฉันท์แรงงานไทย ได้ยื่นข้อเสนอต่อรัฐบาลไทยให้รับรองอนุสัญญา ILO ฉบับที่ 87 และ 98 ว่าด้วยการคุ้มครองสิทธิการรวมตัวและเจรจาต่อรองร่วม รวมถึงได้ติดตามสถานการณ์ปัญหาการละเมิดสิทธิการรวมตัวและการเจรจาต่อรองของลูกจ้างที่เกิดจากปัญหาการที่ฝ่ายนายจ้างไม่ยอมรับสิทธิการรวมตัวและสิทธิการเจรจาต่อรองร่วมของลูกจ้าง รวมถึงช่องว่างทางการบังคับใช้กฎหมาย เช่นกรณีปัญหาในพื้นที่ จ.ปราจีนบุรี ที่สมาพันธ์แรงงานอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย (CILT) ซึ่งเป็นภาคีเครือข่ายที่สำคัญของคณะกรรมการสมานฉันท์แรงงานไทย ได้รายงานกรณีบริษัทวาย-เทค จำกัด ได้มีการเลิกจ้างผู้แทนเจรจาของฝ่ายลูกจ้างทั้งหมด รวมถึงผู้ชุมนุม จากเหตุการณ์ชุมนุมในวันที่ 1 ธันวาคม 2559 ทั้งที่มีการทำบันทึกข้อตกลงร่วมกันว่าทางฝ่ายนายจ้างจะไม่ติดใจเอาเรื่องผู้ชุมนุมซึ่งก่อนหน้าการเกิดเหตุการณ์การชุมนุม ทางสมาพันธ์แรงงานอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย (CILT) ได้ประสานกับทางสำนักงานสวัสดิการและคุ้มครองแรงงานจังหวัดปราจีนบุรี เพื่อให้เฝ้าระวังและติดตามสถานการณ์อย่างใกล้ชิด แต่ในที่สุดก็เกิดเหตุการณ์ชุมนุมขึ้น โดยสาเหตุแท้จริงของการชุมนุมที่เกิดขึ้น สืบเนื่องมาจากมีผู้บริหารของบริษัทกระชากคอเสื้อของพนักงาน จนเหตุการณ์บานปลายกลายเป็นการชุมนุม เป็นเหตุให้ทางบริษัทวาย-เทคอ จำกัด หาเหตุในการเลิกจ้าง 
นายสาวิทย์ กล่าวอีกว่า โดยภาพรวมต่อสถานการณ์ต่างของประเทศไทยได้ถูกนานาชาติได้ติดตามตรวจสอบอย่างต่อเนื่องทั้งเรื่องที่เกี่ยวข้องกับการทุจริตคอรัปชั่นที่ปรากฏเป็นข่าวไปทั่วทั้งในประเทศและทั่วทั้งโลกสร้างความเสียหายและอับอายให้แก่ประชาชนคนไทยและชื่อเสียงของประเทศ รวมทั้งเรื่องเดิมที่ยังไม่สามารถแก้ไขปัญหาให้ลุล่วงไปได้คือประเด็น การละเมิดสิทธิแรงงาน เช่นการใช้แรงงานบังคับ แรงงานทาส การค้ามนุษย์ ทั้งที่อยู่บนพื้นดินและในทะเล และแนวโน้มสถานการณ์มีความรุนแรงและแพร่กระจายมากขึ้น การละเมิดและเพิกเฉยต่อกฎหมายกฎหมาย การไม่เคารพสิทธิขั้นพื้นฐานของคนงานล้วนแต่เป็นประเด็นที่ท้าทายในการแก้ไขปัญหาของประเทศไทยในสายตานานาชาติ
“เพื่อเป็นการแสวงหาแนวทางในการแก้ไขปัญหา จึงขอเสนอต่อกระทรวงแรงงาน โดยอธิบดีกรมสวัสดิการและคุ้มครองแรงงาน ให้ถือว่าเรื่องดังกล่าวเป็นเรื่องสำคัญเร่งด่วนที่จะต้องดำเนินการแก้ไขจึงขอให้ท่านหาแนวทางที่เหมาะสมในการแก้ไขปัญหาดังกล่าวต่อไป และ คสรท.ก็พร้อมในการให้ความร่วมมือในการร่วมแก้ไขปัญหาหากอธิบดีและกระทรวงแรงงานมีความประสงค์ ซึ่งสถานการณ์ประเทศไทยในสายตานานาชาติอยู่ในภาวะน่ากังวล ดังนั้นอยากให้กระทรวงแรงงาน แก้ไขปัญหาเรื่องนี้โดยเร่งด่วนเพราะเป็นปัญหาเรื่องสิทธิขั้นพื้นฐาน เป็นปัญหาเมื่อยุค 0.4 แต่วันนี้โลกและประเทศไทยกำลังจะก้าวเข้าสู่ยุค 4.0 คงจะยากหากปัญหาเดิมๆยังไม่ได้รับการแก้ไข ” นายสาวิทย์ กล่าว

โดยมีนายอนันต์ บวรเนาวรักษ์ ผู้อำนวยการสำนักงานแรงงานสัมพันธ์ กล่าวว่า จะพยายามหาแนวทางในการคลี่คลายปัญหาโดยเร็ว โดยจะส่งเจ้าหน้าที่ไปตรวจสอบให้ได้ข้อเท็จจริงก่อน