คสรท.ร่วมภาควิชาการ ถกร่างรัฐธรรมนูญก่อนประชามติ

20160501_112346
นักวิชาการชี้ ร่างรัฐธรรมนูญก่อนลงประชามติไร้ข้อเสนอของเครือข่ายแรงงาน แถมตัดสิ่งที่ดีๆในปี 50 ออก ด้านคสรท.ตั้งข้อสังเกตุหลายมาตราไม่สะท้อนความต้องการของแรงงาน

เมื่อวันที่ 6 กรกฎาคม 2559 คณะกรรมการสมานฉันท์แรงงานไทย (คสรท.) ร่วมกับศูนย์ส่งเสริมความเสมอภาคและความเป็นธรรม วิทยาลัยนวัตกรรม มหาวิทยาลัยรังสิต จัดเสวนาเรื่อง “ร่างรัฐธรรมนูญฉบับประชามติกับอนาคตการปฏิรูปด้านแรงงาน” โดยผู้เข้าร่วมประกอบด้วยผู้นำสหภาพแรงงาน นักศึกษา และประชาชนทั่วไปราว 100 คนการจัดครั้งนี้ เพื่อให้ผู้เข้าร่วมเสวนา ได้นำเนื้อหาในร่างรัฐธรรมนูญประเด็นต่าง ๆที่ได้รับรู้ไปเผยแพร่ต่อสมาชิก หรือคนที่รู้จัก อาทิ สิทธิเสรีภาพ ความเสมอภาคศักดิ์ศรีความเป็นมนุษย์ มาตรการกลไกการตรวจสอบการใช้อำนาจรัฐ และสถาบันการเมือง ตลอดจนการเรียนรู้ วิเคราะห์ เพื่อประกอบการตัดสินใจการลงประชามติอย่างมีคุณภาพ

นายวิทยากร เชียงกูล คณบดีกิตติคุณ วิทยาลัยนวัตกรรม มหาวิทยาลัยรังสิต กล่าวว่า อยากให้มองปัญหาแรงงานที่กว้างขึ้น เพราะแรงงานเป็นคนส่วนใหญ่ของประเทศ แต่กลับต้องยอมจำนนต่อการครอบงำของฝ่ายการเมือง ระบบอุปถัมภ์ ทั้งนี้ เมื่อร่างรัฐธรรมนูญผ่านแล้ว ต้องรอดูการเปลี่ยนแปลงด้านปฏิรูปแรงงานหรือไม่

ด้านนายปริญญา เทวานฤมิตรกุล รองอธิการบดี มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ กล่าวว่า เหตุผลที่คณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) ใช้การลงประชามติร่างรัฐธรรมนูญฉบับใหม่เพื่อสร้างความชอบธรรมต่อการมีอยู่ของรัฐธรรมนูญฉบับใหม่ แต่ในกระบวนการก่อนการออกเสียงประชามติกับการแสดงออกของประชาชน ควรมีการรับฟังความเห็นที่รอบด้าน ไม่ปิดและขอประเมินว่า แม้ร่างรัฐธรรมนูญจะผ่านประชามติ อาจมีปัญหาด้านความชอบธรรม หากภายใน 1 เดือนคสช.ยังไม่เปิดกว้างในการแสดงออกตามขอบเขตของกฎหมาย อาทิ ไม่สร้างความวุ่นวาย แสดงความเห็นอย่างสันติ ชะตากรรมร่างรัฐธรรมนูญฉบับใหม่อาจซ้ำรอยกับชะตากรรมของรัฐธรรมนูญ พ.ศ.2534 ทั้งนี้ในการลงประชามติร่างรัฐธรรมนูญฉบับใหม่ หากผู้มาออกเสียงน้อยไม่ถึงร้อยละ 50 ดังนั้นในการเชิญชวนให้ประชาชนออกเสียงที่คณะกรรมการการเลือกตั้ง (กกต.) ตั้งเป้าไว้ร้อยละ80 ควรเปิดพื้นที่ให้มีการแสดงความเห็นได้ทั้งฝ่ายที่สนับสนุนและไม่สนับสนุนร่างรัฐธรรมนูญด้วย

ส่วนนายไพโรจน์ พลเพชร ที่ปรึกษาสภาประชาชนปฏิรูปประเทศ (สชป.) กล่าวว่า การลงประชามติร่างรัฐธรรมนูญฉบับใหม่ วันที่ 7 ส.ค. ซึ่งเหลือเวลาเพียง 30 วัน ซึ่งตนมองว่ากระบวนการที่นำไปสู่การตัดสินใจของประชาชนก่อนการออกเสียงประชามติมีอยู่จำกัด และมีความแปลก แตกต่างจากการลงประชามติรัฐธรรมนูญ พ.ศ.2550 โดยเฉพาะกรณีกฎหมายให้อำนาจคณะกรรมการร่างรัฐธรรมนูญ (กรธ.) สามารถสร้างเครือข่ายเพื่อประชาสัมพันธ์เนื้อหาร่างฯ หรือข้อดีของร่างรัฐธรรมนูญได้ โดยการกระทำดังกล่าวถูกยกเว้นการกระทำที่เข้าข่ายจูงใจให้ประชาชนออกเสียงประชามติอย่างใดอย่างหนึ่ง ขณะที่กลุ่มที่ต้องการรณรงค์เนื้อหาร่างรัฐธรรมนูญในอีกมุมมองกลับถูกห้ามกระทำ ทำให้ระยะเวลาที่ประชาชนจะพิจารณาข้อมูลก่อนการออกเสียงตัดสินต่อชะตาชีวิตของตนเองมีอยู่อย่างจำกัด ซึ่งน่ากังวลว่าร่างรัฐธรรมนูญผ่านประชามติ อาจเกิดการเผชิญหน้าและความขัดแย้งรอบใหม่ เพราะในช่วงระยะเปลี่ยนผ่าน 5 ปีที่กำหนดไว้ ไม่สามารถตอบโจทย์การแก้ปัญหาหรือความต้องการของทุกฝ่ายได้ ดังนั้นขอให้ผู้ใช้แรงงานไตร่ตรองและพิจารณาข้อมูลให้รอบด้านก่อนการออกเสียงประชามติร่างรัฐธรรมนูญฉบับใหม่

12717935_239269949742508_5090303963776113063_n

นางสุนี ไชยรส ผู้อำนวยการส่งเสริมความเสมอภาคและความเป็นธรรม วิทยาลัยนวัตกรรมสังคม มหาวิทยาลัยรังสิต กล่าวว่า การออกแบบร่างรัฐธรรมนูญที่ดีต้องกำหนดรายละเอียดทุกมิติที่ประชาชนต้องการ นอกจากสิทธิที่มีของประชาชนแล้ว ควรกำหนดองค์ประกอบอื่นๆ ด้วย เช่น มาตรการคุ้มครองบุคคล ทุกเพศ ให้ได้รับความเท่าเทียมอย่างเสมอภาค เป็นต้น สำหรับร่างรัฐธรรมนูญฉบับลงประชามตินั้น มีหลายประเด็นที่ไม่ได้บัญญัติไว้ตามข้อเรียกร้องของเครือข่ายแรงงาน เช่น กระบวนการคุ้มครองสิทธิสตรี เด็ก ผู้สูงอายุในกระบวนการยุติธรรม สิทธิที่มีอยู่จริงในการรวมตัวเป็นสหภาพ หรือสมาพันธ์แรงงาน โดยไม่ถูกกีดกัน กลั่นแกล้ง หรือเลิกจ้างจากนายจ้าง นอกจากนั้นร่างรัฐธรรมนูญฉบับนี้ยังลดทอนสิทธิที่เคยมี เช่น สิทธิการเข้าชื่อเพื่อเสนอกฎหมาย ซึ่งกำหนดให้ทำได้เฉพาะกฎหมายที่อยู่ในหมวดสิทธิเสรีภาพเท่านั้น จึงยังขาดหลักประกันเรื่องของการมีส่วนร่วมของประชาชนในการพิจารณาร่างกฎหมายในสภาผู้แทนราษฎร ทั้งนี้ในประเด็นสิทธิแรงงาน ที่กำหนดไว้ ถูกเปลี่ยนแปลงไปจากรัฐธรรมนูญ พ.ศ.2550 ซึ่งมีหลายประเด็นที่ดี แต่ถูกตัดออกไป ขณะที่มาตรการที่เครือข่ายแรงงานเรียกร้อง คือการคุ้มครองสิทธิ พบว่าไม่มี เช่น องค์กรอิสระว่าด้วยสิ่งแวดล้อม องค์กรอิสระเพื่อคุ้มครองผู้บริโภค ที่จะเป็นองค์กรที่ประชาชนใช้สิทธิเรียกร้องได้โดยตรง แม้จะมีองค์กรอิสระอื่นๆ เช่น ผู้ตรวจการแผ่นดิน แต่ไม่เป็นประเด็นที่เกี่ยวเนื่องกับปัญหาประชาชนโดยตรง

ทั้งนี้ด้านคณะกรรมการสมานฉันท์แรงงานไทยได้มีข้อสังเกตเป็นเอกสารต่อร่างรัฐธรรมนูญฉบับลงประชามติ ดังนี้ ในมาตราที่เกี่ยวกับประเด็นแรงงานกับอนาคตปฏิรูปแรงงาน ที่ไม่สะท้อนความต้องการที่แท้จริงของประเด็นแรงงาน ต่อประเด็นศักดิ์ศรีแรงงานที่ต้องได้รับความเคารพ ซึ่งมีสาระสำคัญ คือ

1. มาตรา 41 ว่าด้วยสิทธิของบุคคลในการเข้าถึงข้อมูลข่าวสารสาธารณะ การร้องทุกข์ต่อหน่วยงานรัฐ และการฟ้องร้องรัฐให้รับผิดชอบเนื่องจากการละเว้นการกระทำของข้าราชการ พนักงานหรือลูกจ้างของหน่วยงานรัฐ เมื่อเปรียบเทียบกับรัฐธรรมนูญ พ.ศ.2540 และรัฐธรรมนูญ พ.ศ.2550 ในบทบัญญัติเดียวกันพบว่า กรธ. ได้ตัดสิทธิบุคคลในการมีส่วนร่วมในกระบวนการพิจารณาของเจ้าหน้าที่รัฐในการปฏิบัติราชการทางปกครอง ซึ่งมีผลกระทบต่อสิทธิและเสรีภาพของตน ออก อาจทำให้เกิดผลกระทบกับประชาชนที่สามารถเข้าถึงกระบวนการพิจารณาอย่างเป็นธรรมได้ เพราะมีกรณีที่ คสรท. ฟ้องร้องศาลปกครองกรณีสำนักงานประกันสังคมไม่ทำตามเจตนารมณ์ที่กำหนดไว้ในพระราชบัญญัติประกันสังคม พ.ศ. 2533 จึงจำเป็นอย่างยิ่งที่ผู้ร้องต้องเข้าไปมีส่วนร่วมในกระบวนการพิจารณาของเจ้าหน้าที่รัฐ เพื่อให้ได้ข้อมูลที่รอบด้านและเป็นธรรม

2. มาตรา 42 ว่าด้วยเสรีภาพของบุคคลในการรวมกันเป็นสมาคม สหกรณ์ สหภาพ องค์กรชุมชน หรือหมู่คณะอื่น ตามข้อสังเกต ของ คสรท. มองว่าอาจก่อให้เกิดผลกระทบต่อการรวมตัวกันของกลุ่มผู้ใช้แรงงานที่รวมตัวในนามสหพันธ์, สมาพันธ์, คณะกรรมการ เพราะร่างรัฐธรรมนูญฉบับลงประชามติ มาตรา 42 ตัดถ้อยคำดังกล่าวออกไปจากบทบัญญัติ ทั้งที่กฎหมายระดับรอง หรือระเบียบสำนักนายกรัฐมนตรี ได้กำหนดคำนิยามของคำที่ไม่มีในร่างรัฐธรรมนูญไว้แล้ว ทั้งนี้ร่างรัฐธรรมนูญยังตัดสิทธิเสรีภาพในการรวมตัวของกลุ่มข้าราชการและพนักงานของรัฐออกไป อาจทำให้กลายเป็นปัญหาได้ในอนาคต

3. มาตรา 44 ว่าด้วยเสรีภาพในการชุมนุมโดยสงบและปราศจากอาวุธ ซึ่งอาจถูกจำกัดได้โดยกฎหมายเพื่อรักษาความมั่นคงของรัฐ ความปลอดภัยสาธารณะ ความสงบเรียบร้อยหรือศีลธรรมอันดีของประชาชนและคุ้มครองเสรีภาพของบุคคลอื่น ซึ่งเนื้อหาของการจำกัดเสรีภาพดังกล่าวที่ระบุถึงเพื่อรักษาความมั่นคงของรัฐนั้น แสดงถึงขอบเขตของอำนาจที่กว้างขวางมากกว่ากำหนดไว้กฎหมายว่าด้วยการชุมนุมในที่สาธารณะ พ.ศ.2558 ซึ่งจะทำให้สิทธิการชุมนุมของประชาชนถูกจำกัดมากขึ้น และอาจส่งผลต่อความไม่ได้รับความเป็นธรรมของกลุ่มผู้ใช้แรงงานที่ถูกกลไกของรัฐและกลุ่มทุนละเมิดสิทธิแรงงาน

4. มาตรา 47 ว่าด้วยสิทธิได้รับบริการสาธารณสุขจากรัฐ โดยกำหนดให้ผู้ยากไร้ได้สิทธิรับบริการสาธารณสุขของรัฐโดยไม่เสียค่าใช้จ่ายตามที่กฎหมายบัญญัติ ทำให้มีข้อกังวลว่าการให้บริการของรัฐด้านสุขภาพโดยไม่เสียค่าใช้จ่ายสำหรับคนยากจนเท่านั้น และรัฐไม่ต้องมีพันธะผูกพันในการจัดบริการรักษาพยาบาลให้กับประชาชนทุกคน และอาจนำไปสู่การเรียกเก็บเงินจากผู้รับบริการในอนาคตได้ ทั้งนี้ระบบการรักษาพยาบาลใจปัจจุบันเป็นแบบหลักประกันสุขภาพถ้วนหน้าและครอบคลุมถึงประชาชนทุกกลุ่มของประเทศ

5. มาตรา 48 วรรคแรก ที่ให้สิทธิของมารดาระหว่างก่อนและหลังคลอดบุตรต้องได้รับความคุ้มครองและช่วยเหลือ ถือเป็นบทบัญญัติที่มีความก้าวหน้าและเป็นมาตรการใหม่ให้เด็กเกิดใหม่มีคุณภาพ เนื่องจากมาตรการนี้สามารถลาคลอดและเลี้ยงดูบุตรได้อย่างเหมาะสม รวมถึงมีการจัดสวัสดิการที่เหมาะสม

6. มาตรา 74 ว่าด้วยการให้รัฐส่งเสริมประชาชนให้มีความสามารถทำงานที่เหมาะสมกับศักยภาพและวัย รวมถึงคุ้มครองวัยแรงงานให้ได้รับสุขภาพอนามัยที่ดีในการทำงาน รวมถึงได้รับรายได้ สวัสดิการ ประกันสังคมที่เหมาะสมแก่การดำรงชีพ พร้อมกับกำหนดให้รัฐจัดระบบแรงงานสัมพันธ์ที่ทุกฝ่ายสามารถเข้าไปมีส่วนร่วมได้ ในข้อสังเกตของ ครสท. พบว่าไม่ได้ระบุประเด็นของค่าจ้างที่เป็นธรรม ทำให้การกำหนดรายละเอียดของรายได้ที่เหมาะสมแก่การดำรงชีพ อาจทำเกิความไม่เป็นธรรมต่อการกำหนดอัตราค่าจ้างขั้นต่ำของผู้ใช้แรงงานแต่ละพื้นที่

7. มาตรา 133 ว่าด้วยการเสนอร่างกฎหมายต่อสภาผู้แทนราษฎร ที่ให้สิทธิผู้มีสิทธิเลือกตั้งไม่น้อยกว่า 1หมื่นคนเจ้าชื่อเสนอกฎหมายได้เฉพาะกฎหมายในหมวดสิทธิและเสรีภาพ และหมวดหน้าที่ของรัฐทั้งนี้ตามที่กฎหมายว่าด้วยการเข้าชื่อเสนอกฎหมายกำหนด ตามความเห็นของคสรท. กังวลต่อสิทธิของประชาชนในการเข้าไปเป็นกรรมาธิการพิจารณาร่างกฎหมายที่เสนอโดยประชาชน ที่ไม่ถูกบัญญัติไว้ในร่างรัฐธรรมนูญ ทำให้ขาดหลักประกันว่าร่างกฎหมายของประชาชนจะได้รับการพิจารณาจากสภาฯ และมีผลใช้เป็นกฎหมายได้

8. มาตรา 178 ว่าด้วยการตรากฎหมายที่มีบทเปลี่ยนแปลงอาณาเขตไทย หรือเขตพื้นที่นอกอาณาเขตที่ประเทศไทยมีสิทธิอธิปไตยหรือมีเขตอำนาจตามหนังสือสัญญาหรือตามกฎหมายระหว่าปงระเทศ ทั้งนี้ในบทบัญญัติดังกล่าวไม่มีเนื้อหากำหนดให้คณะรัฐมนตรีให้ข้อมูลหรือจัดการรับฟังความเห็นของประชาชนต่อการจัดทำกรอบการเจรจา ซึ่งเสี่ยงต่อความไม่โปร่งใส และขาดการมีส่วนร่วมของประชาชน

นักสื่อสารแรงงาน รายงาน