คสรท.จับมือสรส.จัดงานวันDecent Workกำหนดทิศทางขบวนการแรงงาน

20141007_102821แฉการละเมิดสิทธิคนงานยังมีอย่างต่อเนื่อง แถลงข่าวกดดันรัฐบาลต้องรับรองอนุสัญญา87,98 ขบวนการแรงงานเตรียมเสนอแนวทางปฏิรูปยื่นสปช.

เมื่อวันที่ 7 ตุลาคม 2557คณะกรรมการสมานฉันท์แรงงานไทย(คสรท.)จับมือกับสมาพันธ์แรงงานรัฐวิสาหกิจสัมพันธ์(สรส.)ได้จัดงานวันงานที่มีคุณค่า(Decent Work) ภายใต้ชื่อ “งานที่มีคุณค่า-วาระประเทศไทย โดยมีทั้งเวทีเสวนา การบรรยาย การแถลงข่าวและการระดมสมองเพื่อกำหนดรูปแบบการขับเคลื่อนเพื่อการปฏิรูปประเทศไทย

เวลาประมาณ09.20 น.นายชาลี ลอยสูง ประธานคณะกรรมการสมานฉันท์แรงงานไทยได้กล่าวเปิดงานและเชิญนายฮองซูอานตัวแทนจากองค์การแรงงานระหว่างประเทศ(ILO)ขึ้นกล่าวเป็นเกียรติ ก่อนที่จะมีเวทีเสวนา “Decent Work” ดำเนินการเสวนาโดยนางสาววิไลวรรณ แซ่เตีย ซึ่งมีผู้ร่วมเสวนา

นางสาวดาวเรือง ชานก จากกลุ่มสหภาพแรงงานอ้อมน้อย-อ้อมใหญ่ ได้นำเสนอประเด็นการมีโอกาสและรายได้ ซึ่งได้สะท้อนผ่านคนงานในอุตสาหกรรมสิ่งทอ ที่ยังขาดอำนาจต่อรองแม้จะมีสหภาพแรงงานก็ต่อรองได้ไม่มาก ค่าจ้างที่ได้รับจึงยังอิงอยู่กับค่าจ้างขั้นต่ำแม้คณะกรรมการค่าจ้างจะกำหนดค่าจ้างตามฝีมือแรงงานแต่นายจ้างไม่เคยส่งลูกจ้างไปพัฒนาฝีมือแรงงานเพราะกลัวที่จะต้องปรับค่าจ้าง รายได้จึงต้องพึ่งการทำงานล่วงเวลา อีกทั้งยังมีการละเมิดสิทธิทั้งการจ่ายค่าจ้างไม่ครบ จ่ายค่าล่วงเวลาไม่ครบ แต่ลูกจ้างเองก็ยังไม่กล้าเรียกร้องเพราะกลัวไม่มีงานทำมากกว่า

นายไพฑูรย์ บางหรง จากกลุ่มสหภาพแรงงานภาคตะวันออกได้นำเสนอประเด็นในเรื่องสิทธิ ซึ่งได้เสนอกรณีการถูกกำจัดสิทธิในการใช้พื้นที่ชุมนุมซึ่งทางนิคมอุตสาหกรรมไม่อนุญาตให้ใช้ อีกทั้งสถานการณ์บ้านเมืองในปัจจุบันก็ยังไม่อนุญาตให้ชุมนุม ซึ่งเป็นอุปสรรคต่ออำนาจต่อรองถือเป็นจำกัดสิทธิลูกจ้าง และการยื่นข้อเรียกร้องแม้กฎหมายให้สิทธิทั้งลูกจ้างและนายจ้างแต่นายจ้างกลับเลือกที่จะจ้างลูกจ้างเหมาค่าแรงมาเพื่อลดอำนาจต่อรอง ใช้สิทธิในการเลิกจ้าง ปลดออก กดดันตัวแทนลูกจ้าง โดยให้ลูกจ้างไปใช้สิทธิในชั้นศาลเอาเอง หรือแม้แต่การใช้มาตรการข่มขู่ ทำร้ายร่างกาย

นายธนกร สมสิน ประธานสหภาพแรงงานมิชลิน ประเทศไทยได้นำเสนอการแสดงออกตามสิทธิที่ลูกจ้างและสมาชิกสหภาพแรงงานสามารถทำได้ตามกฎหมาย แต่กลับถูกนายจ้างแทรกแซงกดดันไม่ให้มาร่วมชุมนุมนัดหยุดงาน มีตำรวจมาตั้งด่านหากใส่เสื้อบริษัทฯจะเรียกตรวจสอบเป็นพิเศษ ทำให้คนงานไม่กล้ามาร่วมชุมนุม และสถานที่ชุมนุมก็ไม่มี จึงจำเป็นต้องใช้พื้นที่ทางหลวง แต่ก็ยังถูกอันธพาลใช้อาวุธปืนยิงข่มขู่ทั้งในที่ชุมนุมและที่บ้านพัก จนต้องไปชุมนุมกันที่กระทรวงแรงงานและได้กลิ้งล้อรถไปที่สำนักงานใหญ่ เพื่อกดดันให้นายจ้างมาเจรจาด้วย เพราะสาเหตุที่พิพาทกันก็เป็นแค่เรื่องอายุข้อตกลงทั้งที่ยังไม่ได้คุยรายละเอียดในข้อเรียกร้องอื่นๆเลย

นายองจอ จากกลุ่มแรงงานข้ามชาติได้นำเสนอในประเด็นการได้รับความยอมรับ ซึ่งอ่องจอกล่าวว่าแรงงานข้ามชาติอยากจะมีสหภาพแรงงานแต่กฎหมายยังไม่อนุญาต รับบาลมีข้อตกลงร่วมกัน แรงงานมีพาสปอร์ต ใบอนุญาตทำงานทุกอย่าง นายจ้างสามารถรับโดยตรงได้ แต่ก็ยังต้องรับผ่านนายหน้าซึ่งคอยหักค่าจ้างไปอีกครั้งละ30-50 บาท ค่าจ้างขั้นต่ำก็ยังได้ไม่ครบโดยเฉพาะแรงงานในแถบชายแดนได้วันละ120-150 บาทส่วนประกันสังคมแรงงานข้ามชาติก็ยังไม่สามารถเข้าถึง เจ็บป่วยก็ต้องจ่ายเงินเอง

นางสาวธนัญภรณ์ สมบรม จากกลุ่มผู้ใช้แรงงานสระบุรีและใกล้เคียงได้นำเสนอประเด็นความมั่นคงในครอบครัว ซึ่งการที่ไม่มีความมั่นคงในการทำงานส่งผลสำคัญ ทั้งที่คนงานรวมตัวกันอย่างเข้มแข็งมีสหภาพแรงงานที่เข้มแข็ง แต่นายจ้างก็เลือกที่จะทำลายสหภาพแรงงาน ลดอำนาจต่อรองของสหภาพแรงงานโดยไม่คิดถึงคนงานที่ทำงานมาหลายปี โดยเลิกจ้างลูกจ้างที่มีอายุงานและค่าจ้างสูงๆ ถึง 600 คนโดยจ่ายทุกอย่างให้ตามกฎหมาย และรับกลับมาเป็นลูกจ้างสัญญาจ้าง แต่เงินที่ได้มาใช้มานานก็หมดเพราะหางานใหม่ทำยาก ภาระบ้าน รถที่ต้องส่ง ปัญหาหนี้สิน ค่าใช้จ่าย ส่งผลกระทบถึงครอบครัว บางคนไม่สามารถส่งลูกเรียนหนังสือได้ทำให้ต้องออกเรียนกลางคัน บางคนผูกคอตาย เมื่อไปใช้สิทธิตามกฎหมายเจ้าหน้าที่กลับบอกว่านายจ้างมีสิทธิเลิกจ้างและให้ขอบคุณนายจ้าง ใช้สิทธิว่างงานเจ้าหน้าที่ก็ถามว่าทำไมไม่ไปหางานทั้งที่ลูกจ้างส่วนใหญ่ก็อายุมากแล้วไม่มีที่ไหนอยากจะรับ

นายวันชัย ม่วงดี ตัวแทนคนงานเหมาค่าแรงได้นำเสนอประเด็นการได้รับความยุติธรรมว่า พนักงานเหมาค่าแรง ทำงานเหมือนกับพนักงานประจำ แต่ได้ค่าจ้าง สวัสดิการไม่เท่ากัน เมื่อเรียกร้องก็ถูกกดดัน ย้ายงาน ให้ทำไปเรื่อยๆ ไม่มีงานประจำ เมื่อไม่อยากให้ทำงานก็ส่งตัวกลับให้เงินชดเชยเพียง 15 วัน ลูกจ้างทุกคนอยากได้งานที่มั่นคง ได้รับความเสมอภาค ได้รับความยุติธรรม

คุณวนิช พิพัฒจักราภรณ์ จากกลุ่มแรงงานนอกระบบได้นำเสนอประเด็นเรื่องความเท่าเทียมทางเพศ ซึ่งส่วนใหญ่ไม่ค่อยมีเวทีที่ให้เพศที่สามได้แสดงออกทางความคิดมากนัก ซึ่งเพศที่สามส่วนใหญ่มีความสามารถสูง แต่พอมาทำงานในระบบ กลับไม่ค่อยมีความก้าวหน้าในหน้าที่การงาน จึงทำให้ส่วนใหญ่มาทำงานอิสระเมื่อพอที่จะประสบความสำเร็จก็ได้ส่วนเหลือสังคมแต่หลายครั้งที่สังคมกลับไม่เหลียวแล และขอคัดค้านการที่บริษัทตรวจเลือดลูกจ้างหาเชื้อเอช.ไอ.วี เมื่อพบก็จะถูกบีบให้ออก จึงอยากสนับสนุให้มีกฎหมายเพื่อคุ้มครองลูกจ้างเหล่านี้
หลังจากที่เวทีเสวนาสิ้นสุดลง เวลาประมาณ11.00 น.ได้มีการบรรยายเรื่อง รัฐสวัสดิการ โดย

นายสมศักดิ์ โกศัยสุข ที่ปรึกษาสมาพันธ์แรงงานรัฐวิสาหกิจสัมพันธ์ นายสมศักดิ์ ได้ให้ความเห็นต่อกรณีการละเมิดสิทธิว่าต้องเรียกว่านายจ้างจงใจกดขี่ขูดรีดอย่างบรรจงจึงจะถูกต้องกว่า และงานที่มีคุณค่า คืองานที่ทำให้คนงานมีสิทธิความเป็นมนุษย์ ไม่ใช่กลายเป็นปัจจัยทางการผลิต ถูกมองเป็นเครื่องมือทางการผลิตเหมือนไม่ใช่คน จึงอยากนำเสนอเรื่องรัฐสวัสดิการ ซึ่งคิดว่าน่าจะเป็นหนทางที่ ขบวนการแรงงานในประเทศไทยต้องผลักดันให้เป็นรูปธรรมให้ได้ เพราะจะมีแนวร่วมจากทุกภาคส่วนเพราะมันเป็นประโยชน์กับทุกภาคส่วน

รัฐสวัสดิการแปลว่ารัฐต้องจัดสวัสดิการให้กับคนทุกคนในรัฐอย่างเท่าเทียมโดยไม่เลือกปฏิบัติเช่นสวัสดิการด้านสุขภาพ ด้านการศึกษา สวัสดิการการมีงานทำ สวัสดิการในช่วงเกษียณอายุฯลฯส่วนประกันสังคมนั้นเป็นสวัสดิการทางสังคมที่ประชาชนมีส่วนร่วมจ่ายไม่ใช่รัฐสวัสดิการ ซึ่งต่างจากประชานิยมที่มุ่งเอาใจคนบางส่วนโดยหวังประโยชน์ทางการเมือง ไม่มั่นคง ไม่เท่าเทียม แต่ทั้งรัฐสวัสดิการและสวัสดิการทางสังคมจะเป็นเครื่องมือที่จะลดความเหลื่อมล้ำทางสังคม

ในประเทศที่เป็นรัฐสวัสดิการนั้นส่วนใหญ่เป็นสมาชิกสหภาพแรงงาน70-80% รัฐสวัสดิการจึงก่อกำเนิดมาจากคนงานเป็นขบวนการแรงงานรวมตัวกันตั้งพรรคการเมืองสร้างอำนาจต่อรองทางการเมือง ควบคุมทางการเมือง ออกกฎหมายจนในที่สุดก็สามารถเป็นรัฐสวัสดิการในที่สุด โดยยืดหลักว่าประเทศต้องไม่มีการคอรัปชั่น รัฐวิสาหกิจต้องเป็นของชาติ ต้องเก็บภาษีแบบก้าวหน้า เช่นภาษีทรัพย์สิน ภาษีที่ดิน ภาษีในตลาดหลักทรัพย์ เพื่อนำรายได้มาจัดสรรคืนสู่สังคม ลักษณะทั่วไปของรัฐสวัสดิการ คือรัฐต้องประกันรายได้ขั้นต่ำของทุกคนในสังคม สร้างความมั่นคงในชีวิต ได้รับบริการทางสังคมอย่างเสมอภาคด้วยมาตรฐานที่ดีที่สุด ซึ่งรัฐสวัสดิการก็เป็นระบบทุนนิยมประเภทหนึ่งแต่เป็นทุนนิยมที่ประนีประนอมและเพื่อสังคม

เวลาประมาณ 12.00น.นายชาลี ลอยสูงและผู้นำแรงงานหลายท่านร่วมกันแถลงข่าวซึ่งได้กล่าวถึงสถานการณ์การละเมิดสิทธิแรงงาน การรวมตัวจัดตั้งสหภาพแรงงานก็ยังไม่ได้รับการคุ้มครอง กฎหมายแรงงานที่มีก็ไม่เอื้อต่อสิทธิการรวมตัวและการเจรจาต่อรอง สถานการณ์การปลดออก เลิกจ้างผู้นำแรงงานรวมถึงการขมขู่ คุกคามและทำร้ายร่างกายผู้นำสหภาพแรงงาน จนเป็นประเด็นที่ต่างประเทศต่างจับตามองว่าประเทศไทยเพิกเฉยต่อการละเมิดสิทธิแรงงาน ในส่วนขององค์กรที่ร่วมเคลื่อนไหวผลักดันได้แก่ คณะกรรมการสมานฉันท์แรงงานไทย สมาพันธ์แรงงานรัฐวิสาหกิจสัมพันธ์ เครือข่ายแรงงานข้ามชาติ เครือข่ายแรงงานนอกระบบ และสภาองค์การลูกจ้างต่างๆ จะต้องร่วมมือกันสำแดงพลังให้เข้มแข็งเพื่อผลักดันจนกว่ารัฐบาลจะรับรองอนุสัญญาฉบับที่87และ98 สู่เป้าหมายแห่งงานที่มีคุณค่าได้อย่างแท้จริง

จากนั้นในช่วงบ่ายเป็นการระดมสมองขบวนการแรงงานเพื่อร่วมกันนำเสนอประเด็นที่จะปฏิรูปที่จะเสนอต่อสภาปฏิรูปแห่งชาติและขบวนการขับเคลื่อนเพื่อให้บรรลุเป้าหมาย ซึ่งดำเนินกิจกรรมโดย นายสาวิทย์ แก้วหวาน ที่ปรึกษาสมาพันธ์แรงงานรัฐวิสาหกิจสัมพันธ์ จนในที่สุดได้มีการจัดตั้งคณะทำงานในการขับเคลื่อนในประเด็นที่จะปฏิรูป จนเวลาประมาณ15.00น.นายชาลี ลอยสูงได้กล่าวปิดเวทีการจัดกิจกรรมวันงานที่มีคุณค่า-วาระประเทศไทย

นักสื่อสารแรงงานกลุ่มสหภาพแรงงานภาคตะวันออก รายงาน