“ความเหมือนที่แตกต่าง” : มองผ่าน “กองทุนการออมแห่งชาติ” กับ “ประกันสังคมมาตรา 40″

 

บำนาญ

บุษยรัตน์ กาญจนดิษฐ์
ฝ่ายวิชาการ คณะกรรมการสมานฉันท์แรงงานไทย
19 ธันวาคม 2557

จากรายงานข่าวของสื่อมวลชนหลายสำนักโดยอ้างถึงผลการประชุมคณะรัฐมนตรีวันที่ 16 ธันวาคม 2557 ที่นายสมหมาย ภาษี รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง ได้ขอถอนเรื่อง “แนวทางการจัดตั้งกองทุนการออมแห่งชาติ (กอช.) ตาม พ.ร.บ.กองทุนการออมแห่งชาติ พ.ศ.2554” ออกจากการพิจารณาของคณะรัฐมนตรี (ครม.) โดยกล่าวว่า “ขณะนี้ได้มีพ.ร.บ.ประกันสังคม มาตรา 40 คอยดูแลผู้สูงอายุอยู่แล้ว ซึ่งมีความซ้ำซ้อนกันอยู่ กระทรวงการคลังจึงขอถอนเรื่องออกจากวาระ ครม. ออกไปอย่างไม่มีกำหนด เพื่อกลับไปศึกษาให้รอบคอบว่าจะเดินหน้าจัดตั้งกองทุน กอช. ต่อไปหรือไม่ อย่างไร”

เพื่อให้เกิดความเข้าใจอย่างกระจ่างในเรื่องนี้ จึงขออธิบายความแตกต่างของกฎหมายทั้ง 2 ฉบับในแต่ละเรื่องที่เกี่ยวข้อง ดังนี้

(1) วัตถุประสงค์ของการก่อตั้ง

– พ.ร.บ. ประกันสังคม พ.ศ. 2533 มาตรา 40 หรือเรียกสั้นๆว่า “ประกันสังคมมาตรา 40” มีวัตถุประสงค์เพื่อเป็นสวัสดิการหรือเป็นทุนใช้จ่ายให้ผู้ประกันตนได้รับประโยชน์ทดแทนกรณีชราภาพ

– พ.ร.บ.กองทุนการออมแห่งชาติ พ.ศ.2554 หรือเรียกสั้นๆว่า “กองทุนการออม หรือ กอช.” มีวัตถุประสงค์เพื่อส่งเสริมการออมเพื่อการชราภาพ และเป็นหลักประกันการจ่ายบำนาญและให้ประโยชน์ตอบแทนแก่สมาชิก

ดังนั้นจึงเห็นได้ว่ากฎหมายทั้ง 2 ฉบับ มีวัตถุประสงค์ที่เหมือนกัน กล่าวคือ เป็นการส่งเสริมการออมของประชาชนที่ประกอบอาชีพอิสระซึ่งไม่อยู่ในระบบการออมภาคบังคับ เพื่อเป็นหลักประกันรายได้ยามชรา โดยกอช. ให้ประโยชน์ทดแทนในรูปของบำนาญเท่านั้น ในขณะที่ประกันสังคมมาตรา 40 ผู้ประกันตนมีสิทธิได้รับบำเหน็จหรือบำนาญ โดยพิจารณาจากระยะเวลาที่ส่งเงินออมหรือจำนวนเงินออม ทั้งนี้สมาชิกทั้ง 2 กองทุนที่มีสิทธิได้รับเบี้ยยังชีพผู้สูงอายุอยู่แล้ว ก็ยังคงมีสิทธิได้รับเบี้ยยังชีพผู้สูงอายุอยู่เช่นเดิม

DSC0824620120904_140048

(2) การจัดตั้ง สถานะของกองทุน และการบริหารจัดการกองทุน

– พ.ร.บ. ประกันสังคม พ.ศ. 2533 มาตรา 40 เป็นกองทุนในสำนักงานประกันสังคม มีฐานะเป็นส่วนราชการ อยู่ภายใต้กระทรวงแรงงาน บริหารโดยคณะกรรมการประกันสังคม คณะอนุกรรมการพัฒนาระบบบริหารมาตรา 40 และมีคณะอนุกรรมการบริหารการลงทุนให้คำปรึกษาด้านการลงทุน

– พ.ร.บ.กองทุนการออมแห่งชาติ พ.ศ.2554 เป็นหน่วยงานของรัฐและมีฐานะเป็นนิติบุคคลที่ไม่เป็นส่วนราชการหรือรัฐวิสาหกิจ อยู่ภายใต้สังกัดกระทรวงการคลัง บริหารโดยคณะกรรมการกองทุนการออมแห่งชาติ และมีคณะอนุกรรมการการลงทุนให้คำปรึกษาด้านการลงทุน

ทั้งนี้ กอช. เป็นหน่วยงานที่ต้องจัดตั้งขึ้นมาใหม่ เมื่อเทียบกับประกันสังคมมาตรา 40 ที่มีการบริหารจัดการผ่านคณะกรรมการฯที่มีประสบการณ์และสามารถดำเนินการได้ทันที เพราะกองทุนประกันสังคมมีการจัดตั้งขึ้นมานาน มีประสบการณ์ในการดำเนินงาน และมีผู้ประกันตนตามมาตรา 40 ภายใต้กองทุนอยู่แล้ว

(3) คุณสมบัติสมาชิก

– พ.ร.บ. ประกันสังคม พ.ศ. 2533 มาตรา 40 ผู้สมัครต้องอายุ 15 – 60 ปี (ไม่จำเป็นต้องเป็นบุคคลสัญชาติไทยเท่านั้น) และไม่เป็นผู้ประกันตนตามมาตรา 33 (เช่น ลูกจ้างของสถานประกอบการ พนักงานบริษัทเอกชน) และมาตรา 39 (ผู้ที่พ้นสภาพการเป็นผู้ประกันตนตามมาตรา 33 แต่ประสงค์ที่จะส่งเงินต่อ) และตามข้อยกเว้นของ พ.ร.บ.ประกันสังคม พ.ศ.2533 เช่น ข้าราชการ รัฐวิสาหกิจ ครูโรงเรียนเอกชน คนทำงานองค์การระหว่างประเทศ รวมถึงองค์การมหาชนต่างๆ เป็นต้น

โดยเปิดโอกาสให้ผู้สมัครที่มีอายุ 60-65 ปี สมัครเป็นผู้ประกันตนตามมาตรา 40 ได้ทุกทางเลือก แต่สำหรับผู้สมัครที่มีอายุเกินกว่า 65 ปี สามารถสมัครเป็นผู้ประกันตนตามมาตรา 40 ได้เฉพาะทางเลือก 3 เท่านั้นและไม่มีสิทธิเปลี่ยนทางเลือก ทั้งนี้เฉพาะการสมัครในช่วงระหว่างวันที่ 9 ธันวาคม 2556 – วันที่ 8 ธันวาคม 2557 เท่านั้น

– พ.ร.บ.กองทุนการออมแห่งชาติ พ.ศ.2554 ผู้สมัครต้องเป็นบุคคลสัญชาติไทยอายุ 15-60 ปี และไม่อยู่ในระบบบำเหน็จบำนาญที่มีการสมทบเงินจากรัฐหรือนายจ้าง เช่น กองทุนประกันสังคม , กองทุนบำเหน็จบำนาญข้าราชการ , กองทุนสำรองเลี้ยงชีพ , กองทุนสงเคราะห์ตามกฎหมายว่าด้วยโรงเรียนเอกชน เป็นต้น

โดยตามบทเฉพาะกาลของ กอช. กำหนดให้ภายใน 1 ปีแรกที่เปิดรับสมาชิก (ซึ่งขณะนี้ไม่รู้ว่าจะมีโอกาสเมื่อใด) เปิดโอกาสให้ผู้สูงอายุที่มีอายุ 50 ปีขึ้นไป สามารถออมต่อไปได้อีก 10 ปี โดยมีสิทธิขอรับบำนาญได้เมื่ออายุครบ 60 ปี เป็นต้นไป

รวมถึงข้าราชการบำนาญที่เกษียณอายุราชการแล้วและได้รับบำนาญอยู่ทุกเดือน ก็สามารถสมัคร กอช. ได้แต่เฉพาะในปีแรกที่เปิดรับสมัครสมาชิกเท่านั้น กล่าวได้ว่าทั้ง 2 กองทุน เป็นช่องทางการออมสำหรับแรงงานนอกระบบที่มีอายุ 15-60 ปีเหมือนกัน อย่างไรก็ดีจะมีข้อแตกต่างกันในเรื่องของสิทธิการออมตามอายุ กล่าวคือ แม้ประกันสังคมมาตรา 40 จะกำหนดเรื่องการสิ้นสุดการเป็นผู้ประกันตนเมื่ออายุครบ 60 ปี กับได้แจ้งยุติการเป็นผู้ประกันตน แต่สำหรับในทางเลือกที่ 3 ของมาตรา 40 นั้น ผู้ประกันตนที่อายุเกิน 60 ปี จะยังมีสิทธิส่งเงินออมต่อไปได้เรื่อยๆจนกว่าจะแจ้งยุติการเป็นผู้ประกันตนหรือเสียชีวิตลง
แต่สำหรับ กอช. จะอนุญาตให้สมาชิกออมได้ถึงอายุ 60 ปีเท่านั้น โดยมีข้อยกเว้นในบทเฉพาะกาลให้แก่สมาชิกที่อายุ 50 ปี ขึ้นไปที่สมัครเข้าเป็นสมาชิกภายใน 1 ปีแรกนับแต่วันที่เปิดรับสมาชิก จะมีสิทธิในการออมเงินต่อไปได้อีก 10 ปี เช่น อายุ 58 ปี จะสามารถออมเงินได้จนถึงอายุ 68 ปีหากสมัครในปีที่ 1 ที่กองทุนเปิดรับสมัคร แต่หากสมาชิกมีอายุมากใกล้ 60 ปี แต่สมัครเข้าเป็นสมาชิก กอช. ในปีที่ 2 เป็นต้นไป สมาชิกคนดังกล่าวจะมีสิทธิออมเงินได้จนถึงอายุ 60 เท่านั้น เช่น อายุ 58 ปี จะสามารถออมเงินได้จนถึงอายุ 60 ปี คือ เพียง 2 ปีเท่านั้น

Untitled-7

(4) สิทธิประโยชน์ที่จะได้รับ เงื่อนไข อัตราเงินสมทบที่สมาชิกแต่ละคนต้องจ่าย และอัตราเงินสมทบจากรัฐ

– พ.ร.บ. ประกันสังคม พ.ศ. 2533 มาตรา 40 ครอบคลุม 4 สิทธิประโยชน์ได้แก่ กรณีประสบอันตราย/เจ็บป่วย กรณีทุพพลภาพ กรณีเสียชีวิต กรณีชราภาพ (แบ่งเป็นเงินบำเหน็จ กับ เงินบำนาญ)

โดยอัตราเงินสมทบที่สมาชิกแต่ละคนต้องจ่าย ขึ้นอยู่กับสิทธิประโยชน์ที่เลือก ซึ่งมีทั้งสิ้นรวม 5 ทางเลือก คือ

♥ ทางเลือกที่ 1 (จ่ายเงินสมทบ 70 บาท/เดือน, รัฐสนับสนุน 30 บาท) คุ้มครอง 3 กรณี คือ กรณีประสบอันตราย/เจ็บป่วย กรณีทุพพลภาพ กรณีเสียชีวิต

♥ ทางเลือกที่ 2 (จ่ายเงินสมทบ 100 บาท/เดือน, รัฐสนับสนุน 50 บาท) คุ้มครอง 4 กรณี คือ กรณีประสบอันตราย/เจ็บป่วย กรณีทุพพลภาพ กรณีเสียชีวิต กรณีชราภาพเงินบำเหน็จ (หมายถึง จ่ายเป็นเงินก้อน)

♥ ทางเลือกที่ 3 (จ่ายเงินสมทบ 100 บาท/เดือน, รัฐสนับสนุน 100 บาท) คุ้มครอง 1 กรณี คือ กรณีชราภาพเงินบำนาญ (จ่ายเป็นรายเดือนทุกเดือนจนกว่าจะเสียชีวิต)

♥ ทางเลือกที่ 4 (จ่ายเงินสมทบ 170 บาท/เดือน, รัฐสนับสนุน 130 บาท) คุ้มครอง 4 กรณี คือ กรณีประสบอันตราย/เจ็บป่วย กรณีทุพพลภาพ กรณีเสียชีวิต กรณีชราภาพ (เงินบำนาญ)

♥ ทางเลือกที่ 5 (จ่ายเงินสมทบ 200 บาท/เดือน, รัฐสนับสนุน 150 บาท) คุ้มครอง 5 กรณี คือ กรณีประสบอันตราย/เจ็บป่วยกรณีทุพพลภาพ กรณีเสียชีวิต กรณีชราภาพ (เงินบำเหน็จ) กรณีชราภาพ (เงินบำนาญ)

ทั้งนี้สมาชิกต้องจ่ายเงินเป็นรายเดือนๆ ละ 1 ครั้ง และจ่ายเงินสมทบล่วงหน้าได้ครั้งละไม่เกิน 12 เดือน แต่ไม่สามารถจ่ายเงินสมทบย้อนหลังได้ ซึ่งหากสมาชิกไม่จ่ายเงินเพียง 1 เดือน จะพ้นจากการเป็นผู้ประกันตนทันที จนกว่าจะมีการจ่ายเงินอีกครั้ง จึงจะกลับมามีสถานะเป็นผู้ประกันตนอีกครั้งหนึ่ง ซึ่งจะส่งผลกระทบต่อการรับสิทธิประโยชน์ เนื่องจากเงื่อนไขสำคัญของมาตรา 40 คือ ต้องมีการจ่ายเงินต่อเนื่องจนถึงระยะเวลาที่ได้รับสิทธินั้นๆ

Untitled-1

โดยมีเงื่อนไขการได้รับสิทธิประโยชน์แต่ละกรณี ดังนี้

≠ กรณีประสบอันตราย/เจ็บป่วย จะได้รับก็ต่อเมื่อนอนโรงพยาบาลเป็นผู้ป่วยในตั้งแต่ 1 วันขึ้นไป จะได้รับเงินทดแทนการขาดรายได้จำนวน 200 บาทต่อวัน ไม่เกิน 30 วันต่อปี หรือไม่เกิน 6,000 บาทต่อปี แต่ต้องจ่ายเงินสมทบครบ 3 เดือน ภายในระยะเวลา 4 เดือน

≠ กรณีทุพพลภาพ จะได้รับก็ต่อเมื่อมีคำวินิจฉัยของคณะกรรมการการแพทย์ ว่าเป็นผู้ทุพพลภาพหรือทุพพลภาพเพิ่มขึ้น ทั้งนี้จะได้รับเงินทดแทนการขาดรายได้จำนวน 500 – 1,000 บาทต่อเดือน เป็นเวลา 15 ปี แต่ต้องจ่ายเงินสมทบ 6 เดือนขึ้นไป

≠ กรณีเสียชีวิต จะได้รับค่าทำศพจำนวน 20,000 บาท ทั้งนี้จะได้รับเงินค่าทำศพก็ต่อเมื่อต้องจ่ายเงินมาแล้ว 6 เดือน ภายในระยะเวลา 1 ปี ก่อนเสียชีวิต ยกเว้นเสียชีวิตด้วยกรณีอุบัติเหตุ จะต้องจ่ายเงินสมทบครบ 1 เดือน ภายในระยะเวลา 6 เดือนก่อนเสียชีวิต

≠ กรณีชราภาพ (เงินบำเหน็จ) จะได้รับก็ต่อเมื่อมีอายุครบ 60 ปีบริบูรณ์ และแจ้งยุติความเป็นผู้ประกันตน

≠ กรณีชราภาพ (เงินบำนาญ) จะได้รับก็ต่อเมื่อต่อเมื่อมีอายุครบ 60 ปีบริบูรณ์ และแจ้งยุติความเป็นผู้ประกันตน รวมทั้งได้จ่ายเงินสมทบมาแล้วไม่น้อยกว่า 420 เดือน (35 ปี) หรือได้จ่ายเงินสมทบจนครบจำนวนที่จะได้รับเงินบำนาญขั้นต่ำตามที่สำนักงานประกันสังคมกำหนด โดยจะได้รับเงินบำนาญชราภาพขั้นต่ำ คือ เดือนละ 600 บาทจนกว่าจะเสียชีวิต

– พ.ร.บ.กองทุนการออมแห่งชาติ พ.ศ.2554 ครอบคลุม 1 สิทธิประโยชน์ได้แก่ กรณีชราภาพ (เงินบำนาญ) เท่านั้น

โดยอัตราเงินสมทบที่สมาชิกแต่ละคนต้องจ่าย คือ ไม่น้อยกว่าครั้งละ 50 บาท แต่เมื่อรวมกันแล้วต้องไม่เกินกว่า 13,200 บาทต่อปี

ทั้งนี้สมาชิกไม่จำเป็นต้องส่งเงินสะสมทุกเดือน และไม่จำเป็นต้องส่งเงินจำนวนเท่ากันทุกเดือนนอกจากนี้หากในปีใดสมาชิกไม่สามารถส่งเงินสะสมได้ กอช.จะยังคงสิทธิความเป็นสมาชิกแต่รัฐบาลจะไม่ส่งเงินสมทบให้เท่านั้น (ซึ่งนี้อาจคือจุดเด่นมากของ กอช. คือ ความยืดหยุ่นของเงื่อนไขการส่งเงินสะสมและการคงเงินของสมาชิกเมื่อเทียบกับกองทุนประกันสังคม ที่ กอช. ได้จัดทำขึ้นมาเพื่อรองรับกลุ่มแรงงานนอกระบบที่มีรายได้ในแต่ละเดือนที่ไม่แน่นอน เช่น กลุ่มแท็กซี่ มอเตอร์ไซค์รับจ้าง แม่ค้าพ่อค้า ซึ่งนับได้ว่าจะเป็นกลุ่มแรงงานเป้าหมายที่ได้รับสิทธิประโยชน์ตรงนี้อย่างแท้จริง)

 

Untitled-1

โดยรัฐบาลจะจ่ายเงินสมทบสัมพันธ์กับอายุของสมาชิกในขณะที่ส่งเงินสะสมนั้น กล่าวคือ

♥ อายุสมาชิกตั้งแต่ 15 ปีแต่ไม่เกิน 30 ปี รัฐบาลจะสมทบให้ 50 % ของเงินสะสม แต่ไม่เกิน 600 บาท/ปี

♥ อายุสมาชิกตั้งแต่ 30 ปีแต่ไม่เกิน 50 ปี รัฐบาลจะสมทบให้ 80 % ของเงินสะสม แต่ไม่เกิน 960 บาท/ปี

♥ อายุสมาชิกตั้งแต่ 50 ปีขึ้นไป รัฐบาลจะสมทบให้ 100 % ของเงินสะสม แต่ไม่เกิน 1,200 บาท/ปี

P4240229

โดยมีเงื่อนไขการได้รับสิทธิประโยชน์ ดังนี้

≠ จะได้รับบำนาญเมื่ออายุครบ 60 ปี หรือหากออมน้อยจนทำให้บำนาญที่คำนวณได้ มีจำนวนน้อยกว่าเงินดำรงชีพ (จำนวนเงินดำรงชีพกำหนดในกฎกระทรวง) สมาชิกจะได้รับเงินดำรงชีพเป็นรายเดือน จนกว่าเงินในบัญชีจะหมดไป

≠ กรณีทุพพลภาพก่อนอายุครบ 60 ปี มีสิทธิขอรับเงินสะสมของตนเองและดอกผลของเงินสะสมทั้งหมดหรือบางส่วน สำหรับเงินสมทบและดอกผลของเงินสมทบจากรัฐบาลให้จ่ายเป็นบำนาญเมื่อสมาชิกอายุครบ 60 ปี

≠ กรณีลาออกจากกองทุนก่อนอายุครบ 60 ปี ได้รับเงินสะสมของตนเองของตนเองและดอกผลของเงินสะสมเท่านั้น ส่วนเงินสมทบและดอกผลของเงินสมทบจากรัฐบาลให้ตกเป็นของกองทุน

≠ กรณีเสียชีวิต ทายาทหรือผู้ที่แจ้งชื่อไว้รับเงินทั้งหมดในบัญชี คือ ทั้งเงินสะสมของตนเองและเงินสมทบจากรัฐ

กล่าวโดยง่ายประกันสังคมจะรับสิทธิประโยชน์ชราภาพได้ทั้งเงินบำเหน็จและเงินบำนาญ แต่ กอช. จะได้รับเงินบำนาญเท่านั้น (อย่างไรก็ตามมีข้อสังเกตสำคัญในเรื่องนี้ คือ สวัสดิการสำหรับผู้สูงอายุควรจะออกมาในรูปแบบของ “บำนาญ” รายเดือนเท่านั้น เพราะมีตัวอย่างสำคัญจากกลุ่มข้าราชการที่รับเงินเกษียณเป็นบำเหน็จก้อนเดียว มักพบว่าเงินก้อนที่ได้รับมาตกไปอยู่กับบุตรหลานมากกว่าเป็นเงินรายได้ในการดำรงชีพ ซึ่งไม่เป็นผลดีต่อตัวผู้สูงอายุเองแต่อย่างใด)

ในกรณีลาออก ประกันสังคมมาตรา 40 สมาชิกจะได้รับเงินทั้งหมดในบัญชี คือ เงินสะสมของตนเองและเงินสมทบจากรัฐเมื่ออายุครบ 60 ปี แต่ กอช. สมาชิกจะได้รับเงินเฉพาะในส่วนของตนเท่านั้น ส่วนเงินสมทบจากรัฐจะตกเป็นของกองทุน

ในกรณีเสียชีวิต ประกันสังคมมาตรา 40 จะจ่ายในกรณีที่ผู้รับบำนาญตายภายใน 60 เดือน (5 ปี) นับจากเดือนที่รับบำนาญชราภาพ โดยจ่ายบำเหน็จชราภาพเป็นจำนวน 10 เท่าของเงินบำนาญชราภาพรายเดือน ให้แก่ทายาทหรือผู้ที่ผู้ประกันตนแจ้งชื่อไว้ ส่วน กอช. จะจ่ายเงินทั้งหมดในบัญชีให้แก่ทายาทหรือผู้ที่สมาชิกแจ้งชื่อไว้

จากความแตกต่างของทั้ง 2 กองทุน ที่ได้แจกแจงอย่างละเอียดในข้างต้นแล้ว ถึงแม้ว่าจะเห็นความซ้ำซ้อนในบางประเด็นโดยเฉพาะในกลุ่มเป้าหมายของกองทุนทั้ง 2 กองทุน ก็คือ กลุ่มแรงงานนอกระบบที่ไม่มีหลักประกันทางสังคมและสมัครใจเข้าสูระบบการออม กล่าวได้ว่า ต่างเป็นผู้ประกันตนโดยอิสระทั้ง 2 กองทุน (ไม่ใช่ผู้ประกันตนภาคบังคับแบบมาตรา 33 ในพ.ร.บ.ประกันสังคม พ.ศ.2533)

แต่อย่างไรก็ตามในช่วงที่ผ่านมาจะเห็นได้ว่าองค์กรด้านแรงงานโดยเฉพาะการนำโดยคณะกรรมการสมานฉันท์แรงงานไทย (คสรท.) ที่มีวิไลวรรณ แซ่เตีย , ชาลี ลอยสูง และทวีป กาญจนวงศ์ กับเครือข่ายแรงงานนอกระบบ ที่มีสุจิน รุ่งสว่าง อรุณี ศรีโต และสมคิด ด้วงเงิน เป็นผู้ขับเคลื่อนสำคัญ ได้ชี้เห็นปัญหาจากการบริหารงานของสำนักงานประกันสังคมเสมอมาว่า สำนักงานประกันสังคมขาดธรรมาภิบาลในการบริหารกองทุนประกันสังคม เมื่อเปรียบเทียบกับคณะกรรมการกอช.ที่มีส่วนร่วมของสมาชิกกองทุนที่เป็นแรงงานนอกระบบโดยตรง อีกทั้งเลขาธิการคณะกรรมการกอช.ยังมาจากกระบวนการสรรหา ซึ่งต่างจากเลขาธิการประกันสังคมที่ต้องอยู่ภายใต้การควบคุมบังคับบัญชาของรัฐบาล

P7290119Untitled-8

ในกฎหมาย กอช. ยังได้กำหนดไว้อย่างชัดเจนอีกว่า กรรมการ กอช. ประกอบด้วย 4 ฝ่าย คือ โดยตำแหน่งราชการ กรรมการเลือกจากสมาชิก 6 คน ผู้รับบำนาญ 1 คน ผู้ทรงวุฒิ 4 คน คือ ด้านกฎหมาย บัญชี การเงินและการลงทุน และด้านสวัสดิการชุมชน ขณะที่คณะกรรมการกองทุนประกันสังคม ประกอบด้วย ผู้แทนฝ่ายรัฐบาล ฝ่ายนายจ้าง ฝ่ายลูกจ้างและที่ปรึกษาเท่านั้น โดยกลุ่มแรงงานนอกระบบตามมาตรา 39 และ 40 ไม่มีส่วนร่วมแต่อย่างใด อีกทั้งผู้ประกันตนที่เป็นลูกจ้างส่วนใหญ่ตามมาตรา 33 ก็ไม่มีสิทธิเลือกกรรมการตัวแทนฝ่ายลูกจ้าง มีเพียงผู้แทนสหภาพแรงงานจำนวนน้อยจากสภาองค์การลูกจ้าง 14 แห่งเท่านั้นที่มีสิทธิลงสมัครรับเลือกตั้ง กับผู้แทนสหภาพแรงงาน 1,000 กว่าแห่ง แห่งละ 1 คน ที่มีสิทธิเลือกตั้งกรรมการฝ่ายลูกจ้างเท่านั้น

กล่าวโดยสรุป แม้ “กองทุนการออมแห่งชาติ” กับ “ประกันสังคมมาตรา 40”จะเป็น“ความเหมือนที่แตกต่าง” แต่สำหรับจุดเด่นมากของกองทุนการออม ก็คือ บทบาทการมีส่วนร่วมของสมาชิกกองทุนที่ส่วนใหญ่เป็นแรงงานนอกระบบ และยังกำหนดให้กองทุนเป็นหน่วยงานของรัฐและมีฐานะเป็นนิติบุคคล ที่ไม่เป็นส่วนราชการหรือรัฐวิสาหกิจ โดยมีเลขาธิการมาจากการสรรหา ซึ่งเป็นภาพสะท้อนความโปร่งใสในการบริหารที่มากกว่ากองทุนประกันสังคม

การยุบเลิกกองทุนการออมแห่งชาติและนำไปอยู่ในกองทุนประกันสังคม ที่มีภารกิจต่อผู้ประกันตนที่เป็นลูกจ้างนับสิบล้านคนและกำลังจะขยายความครอบคลุมเพิ่มขึ้น ประกอบกับกองทุนประกันสังคมยังมีปัญหาหลายประการที่ถูกวิจารณ์กว้างขวางจากองค์กรแรงงานมาโดยตลอด เช่น ความไม่เป็นอิสระของสำนักงานประกันสังคม คณะกรรมการกองทุนประกันสังคมที่อยู่ในวงจำกัด ขาดความคล่องตัวและคณะกรรมการสปส.เมื่อบริหารงานผิดพลาดก็ไม่ต้องรับผิดชอบ และใช้เงินกองทุนประกันสังคมอย่างไม่มีประสิทธิภาพ เช่น การศึกษาดูงานต่างประเทศซึ่งไม่เกี่ยวข้องกับการนำความรู้กลับมาพัฒนาระบบประกันสังคม ความไม่โปร่งใสในการซื้อตึกอาคารต่างๆเพื่อจัดเก็บเอกสาร รวมถึงในเรื่องของการมีส่วนร่วมของผู้ประกันตนที่ยังยึดหลักการบริหารแบบไตรภาคีโดยตัวแทนรัฐ ลูกจ้าง และนายจ้าง ซึ่งเป็นระบบของแรงงานในสถานประกอบการหรือเหมาะสมกับแรงงานในระบบตามมาตรา 33 เท่านั้น

ดังนั้น การโอนภารกิจกองทุนการออมแห่งชาติไปให้กองทุนประกันสังคมรับผิดชอบ ซึ่งจะมีสมาชิกและเงินทุนจำนวนมากขึ้น จะยิ่งเป็นการเพิ่มภาระ เพิ่มความเสี่ยง และอาจจะก่อให้เกิดปัญหาเรื่องประสิทธิภาพและการมีส่วนร่วมของสมาชิกกองทุน รวมทั้งภาครัฐเองก็ยังมีภาระหนี้ต่อเงินสมทบของรัฐบาลในกองทุนประกันสังคมอยู่ในปัจจุบัน ซึ่งยังไม่มีการจัดการให้ดีขึ้นแต่อย่างใดร่วมด้วย

***************************