ครม.มีมติเพิ่มสิทธิประกันสังคม ดึงแรงงานนอกระบบเป็นผู้ประกันตน

มติคณะรัฐมนตรี (ครม.) วันที่ 25 เมษายน 2560  เรื่อง ร่างกฎหมายลำดับรองที่ออกตามพระราชบัญญัติประกันสังคม (ฉบับที่ 4) พ.ศ. 2558 จำนวน 3 ฉบับ

คณะรัฐมนตรีมีมติอนุมัติหลักการร่างพระราชกฤษฎีกาและร่างกฎกระทรวงรวม 3 ฉบับ ประกอบด้วย

1. ร่างพระราชกฤษฎีกากำหนดคุณสมบัติของบุคคลซึ่งอาจสมัครเข้าเป็นผู้ประกันตน พ.ศ. …. เพื่อกำหนดคุณสมบัติของบุคคลซึ่งอาจสมัครเข้าเป็นผู้ประกันตนตามมาตรา 40

2. ร่างพระราชกฤษฎีกากำหนดหลักเกณฑ์และอัตราการจ่ายเงินสมทบ ประเภทของประโยชน์ทดแทน ตลอดจนหลักเกณฑ์และเงื่อนไขแห่งสิทธิในการรับประโยชน์ทดแทน พ.ศ. …. เพื่อกำหนดหลักเกณฑ์และอัตราการจ่ายเงินสมทบ ประเภทของประโยชน์ทดแทน ตลอดจนหลักเกณฑ์และเงื่อนไขแห่งสิทธิในการรับประโยชน์ทดแทน

3. ร่างกฎกระทรวงกำหนดอัตราเงินสมทบที่รัฐบาลจ่ายเข้ากองทุนประกันสังคมสำหรับบุคคลซึ่งสมัครเข้าเป็นผู้ประกันตน พ.ศ. …. เพื่อกำหนดอัตราเงินสมทบที่รัฐบาลต้องจ่ายเข้ากองทุนประกันสังคมสำหรับบุคคลซึ่งสมัครเข้าเป็นผู้ประกันตน รวม 3 ฉบับ ตามที่กระทรวงแรงงานเสนอ และให้ส่งสำนักงานคณะกรรมการกฤษฎีกาตรวจพิจารณา โดยให้รับความเห็นของกระทรวงสาธารณสุขไปประกอบการพิจารณาด้วย แล้วดำเนินการต่อไปได้

สาระสำคัญของร่างพระราชกฤษฎีกาฯ และร่างกฎกระทรวงฯ

1. ร่างพระราชกฤษฎีกากำหนดคุณสมบัติของบุคคลซึ่งอาจสมัครเข้าเป็นผู้ประกันตน พ.ศ. …. เพื่อกำหนดคุณสมบัติของบุคคลซึ่งอาจสมัครเข้าเป็นผู้ประกันตนตามมาตรา 40 และ ร่างพระราชกฤษฎีกากำหนดหลักเกณฑ์และอัตราการจ่ายเงินสมทบ ประเภทของประโยชน์ทดแทน ตลอดจนหลักเกณฑ์และเงื่อนไขแห่งสิทธิในการรับประโยชน์ทดแทน พ.ศ. …. เพื่อกำหนดหลักเกณฑ์และอัตราการจ่ายเงินสมทบ ประเภทของประโยชน์ทดแทน ตลอดจนหลักเกณฑ์และเงื่อนไขแห่งสิทธิในการรับประโยชน์ทดแทน เป็นการปรับปรุงพระราชกฤษฎีกากำหนดหลักเกณฑ์และอัตราการจ่ายเงินสมทบ ประเภทของประโยชน์ทดแทน ตลอดจนหลักเกณฑ์ และเงื่อนไขแห่งสิทธิในการรับประโยชน์ทดแทนของบุคคลซึ่งสมัครเป็นผู้ประกันตน พ.ศ. 2554 โดยเพิ่มเติมคุณสมบัติของบุคคลซึ่งมิใช่ลูกจ้างที่จะสมัครเป็นผู้ประกันตน จากเดิมกำหนดไว้เพียง “มีอายุไม่ต่ำกว่า 15 ปีบริบูรณ์และไม่เกิน 60 ปีบริบูรณ์เป็น “มีสัญชาติไทย หรือเป็นชนกลุ่มน้อยที่อพยพเข้ามาอาศัยอยู่ในประเทศไทย โดยมีมติคณะรัฐมนตรีผ่อนผันให้อาศัยอยู่ในประเทศเป็นการชั่วคราวเป็นกรณีพิเศษ หรือเป็นบุคคลที่ไม่มีสถานะทางทะเบียนที่ได้รับการผ่อนผันให้อาศัยอยู่ในประเทศไทยได้เป็นการชั่วคราวเพื่อรอการส่งกลับ มีอายุไม่ต่ำกว่า 15 ปีบริบูรณ์ และไม่เกิน 60 ปีบริบูรณ์ และไม่เป็นผู้ประกันตนตามมาตรา 39 (ลูกจ้างที่เคยเป็นผู้ประกันตน) และไม่เป็นสมาชิกกองทุนบำเหน็จบำนาญของข้าราชการ ข้าราชการกรุงเทพมหานคร ข้าราชการส่วนท้องถิ่น หรือของรัฐวิสาหกิจ 

 

2. นอกจากนั้นยังได้แก้ไขอัตราเงินสมทบที่ผู้ประกันตนต้องจ่ายเข้ากองทุนโดยการจ่ายเงินสมทบในอัตราเดือนละ 70 บาท (เดิมเดือนละ 100 บาท) จะมีสิทธิได้รับประโยชน์ทดแทนกรณีประสบอันตรายหรือเจ็บป่วย กรณีทุพพลภาพ และกรณีตาย หากจ่ายเงินสมทบเป็นอัตราเดือนละ 100 บาท (เดิมเดือนละ 150 บาท) จะครอบคลุมกรณีชราภาพ ด้วย และได้เพิ่มสิทธิที่จะได้รับประโยชน์ทดแทนเป็นประเภทที่ 3 โดยหากจ่ายเงินสมทบในอัตราเดือนละ 300 บาท จะมีสิทธิได้รับประโยชน์ทดแทนในกรณีสงเคราะห์บุตรด้วย นอกจากนี้ยังแก้ไขอัตราเงินทดแทนการขาดรายได้กรณีประสบอันตรายหรือเจ็บป่วยจากวันละ 200 บาท เป็นวันละ 300 บาท ปีละไม่เกิน 30 วัน เว้นแต่เป็นผู้ประกันตน (ประเภทที่ 3) จะมีสิทธิปีละไม่เกิน 90 วัน และเพิ่มสิทธิการได้รับเงินทดแทนการขาดรายได้แม้จะมิใช่เป็นผู้ป่วยใน แต่ให้ได้รับในอัตราวันละ 200 บาท ปีละไม่เกิน 30 วัน รวมทั้งยังได้เพิ่มสิทธิการได้รับประโยชน์ทดแทนการขาดรายได้ เงินสงเคราะห์บุตรและเงินค่าทำศพ ให้สอดคล้องกับการเพิ่มสิทธิของประโยชน์ทดแทนประเภทที่ 3 ดังกล่าว

3. สำหรับร่างกฎกระทรวงกำหนดอัตราเงินสมทบที่รัฐบาลจ่ายเข้ากองทุนประกันสังคมสำหรับบุคคลซึ่งสมัครเข้าเป็นผู้ประกันตน พ.ศ. …. เพื่อกำหนดอัตราเงินสมทบที่รัฐบาลต้องจ่ายเข้ากองทุนประกันสังคมสำหรับบุคคลซึ่งสมัครเข้าเป็นผู้ประกันตน เป็นการกำหนดอัตราเงินสมทบที่รัฐบาลต้องจ่ายเข้ากองทุนประกันสังคม โดยมีอัตราที่แตกต่างกันตามประเภทประโยชน์ทดแทน ซึ่งไม่เกินกึ่งหนึ่งที่ผู้ประกันตนได้จ่ายเงินสมทบเข้ากองทุนประกันสังคม

“โดยเพิ่มเติมคุณสมบัติของบุคคลซึ่งมิใช่ลูกจ้างที่จะสมัครเป็นผู้ประกันตน จากเดิมกำหนดไว้เพียง “มีอายุไม่ต่ำกว่า 15 ปีบริบูรณ์และไม่เกิน 60 ปีบริบูรณ์” เป็น “มีสัญชาติไทย หรือเป็นชนกลุ่มน้อยที่อพยพเข้ามาอาศัยอยู่ในประเทศไทย โดยมีมติคณะรัฐมนตรีผ่อนผันให้อาศัยอยู่ในประเทศเป็นการชั่วคราวเป็นกรณีพิเศษ หรือเป็นบุคคลที่ไม่มีสถานะทางทะเบียนที่ได้รับการผ่อนผันให้อาศัยอยู่ในประเทศไทยได้เป็นการชั่วคราวเพื่อรอการส่งกลับ มีอายุไม่ต่ำกว่า 15 ปีบริบูรณ์ และไม่เกิน 60 ปีบริบูรณ์ และไม่เป็นผู้ประกันตนตามมาตรา 39 (ลูกจ้างที่เคยเป็นผู้ประกันตน) และไม่เป็นสมาชิกกองทุนบำเหน็จบำนาญของข้าราชการ”

( รายงานโดย อดิศร เกิดมงคล)