คปค.รุกหารือยื่นข้อเสนอเพิ่มการส่งเสริมสุขภาพผู้ประกันตน

เมื่อวันที่ 25 กรกฎาคม 2560 ผู้แทนเครือข่ายประกันสังคมคนทำงาน (คปค.) 8 คน เข้าพบคณะอนุกรรมการพัฒนาระบบบริการทางการแพทย์ คณะกรรมการการแพทย์ ที่อาคารอำนวยการชั้น 6 สำนักงานใหญ่ สปส. จ.นนทบุรี โดยได้ยื่นข้อเสนอการปรับปรุงสิทธิประโยชน์และการเข้าถึงบริการส่งเสริมสุขภาพป้องกันโรค ตามม.63 (2) แห่งพ.ร.บ.ประกันสังคม (ฉบับที่ 4) พ.ศ. 2558

ด้วยได้มีประกาศคณะกรรมการการแพทย์ เรื่อง หลักเกณฑ์และอัตราค่าส่งเสริมสุขภาพและป้องกันโรค ที่บังคับใช้ตั้งแต่ 1 มกราคม 2560 เป็นต้นไป เน้นการตรวจสุขภาพที่จำเป็นและเหมาะสม ตามช่วงอายุ และรายการ-อัตราที่สปส.กำหนด โดยผู้ประกันตนสามารถเข้ารับบริการได้ที่สถานพยาบาลตามบัตรรับรองสิทธิ

แต่ผู้ประกันตนจำนวนมากขาดความเข้าใจเข้าไม่ถึงบริการ และสถานพยาบาลจำนวนมากขาดความพร้อมรองรับผู้มาใช้บริการ ทำให้คปค.ต้องจัดเวทีสาธารณะรับฟังความคิดเห็นจากผู้ประกันตนในพื้นที่อุตสาหกรรมต่างๆ รวมทั้งภาคีองค์กรพัฒนาเอกชน องค์กรนายจ้าง กับนักวิชาการที่เกี่ยวข้องรวมกว่า 300 คน ที่กระทรวงแรงงาน เมื่อวันอาทิตย์ที่ 28 พฤษภาคม2560 และรวบรวมข้อเสนอเกี่ยวกับสิทธิประโยชน์ การบริหารและบริการการส่งเสริมสุขภาพและป้องกันโรค เพื่อเสนอต่อคณะกรรมการประกันสังคม แล้วส่งผลให้คณะกรรมการการแพทย์ได้เสนอต่อคณะอนุกรรมการพัฒนาการส่งเสริมสุขภาพและป้องกันโรค เพื่อศึกษาปรับปรุงชุดสิทธิประโยชน์และการบริการให้มีประสิทธิภาพ คุ้มค่า และสอดคล้องกับความต้องการของผู้ประกันตนมากที่สุด

ภาคีเครือข่าย คปค.ได้เข้าพบหารือกับคณะอนุกรรมการจัดระบบบริการทางการแพทย์ สรุปข้อเสนอได้ดังนี้

1) ขอเพิ่มสิทธิการตรวจสุขภาพช่องปาก 1 ครั้งต่อปี และการตรวจมะเร็งต่อมลูกหมากสำหรับผู้ประกันตนที่มีอายุตั้งแต่ 50 ปีขึ้นไป

2) ขอเพิ่มสิทธิประโยชน์การฝากครรภ์จนถึงการคลอดบุตร โดยผู้ประกันตนไม่ต้องจ่ายค่าบริการ เช่นเดียวกันกับการรักษาพยาบาลตามบัตรรับรองสิทธิ โดยยังคงสิทธิรับเงินเหมาจ่ายค่าคลอดบุตรเหมือนเดิม เพื่อเป็นเงินขวัญถุงช่วยเหลือครอบครัวผู้คลอดบุตร

3) การตรวจสุขภาพกับการส่งเสริมสุขภาพและป้องกันโรคไมใช่เรื่องเดียวกันไม่ใช่ตรวจสุขภาพเสร็จแล้ว ไม่รู่ว่าผลการตรวจสุขภาพจะจัดการอย่างไรต่อไป ควรมีความเชื่อมโยงระหว่าง การตรวจสุขภาพที่จำเป็นและเหมาะสมตามช่วงวัย กับการตรวจสุขภาพตามความเสียงจากการทำงานในสถานประกอบการตามหน้าที่ของนายจ้าง เมื่อได้ผลการตรวจสุขภาพแล้ว ต้องมีระบบส่งต่อสถานพยาบาล รวมทั้งจัดให้มีโครงการ-กิจกรรมรณรงค์ส่งเสริมสุขภาพที่จำเป็นต่อไปด้วย

4) จัดให้มีบริการเชิงรุกให้ผู้ประกันตนเข้าถึงบริการ-กิจกรรมส่งเสริมสุขภาพที่สามารถดำเนินการได้ในสถานประกอบการ หรือโดยองค์กรลูกจ้าง โดยไม่ต้องพึ่งหน่วยบริการเท่านั้น  ซึ่งอาจจัดบริการนอกเวลาทำงานปกติหรือในวันหยุด และพัฒนาหน่วยงานให้บริการปฐมภูมิในสถานที่ทำงาน

อนุกรรมการบางท่าน และผู้แทนสำนักงานประกันสังคม ได้มีคำชี้แจงต่อคปค. สรุปได้ดังนี้

1) สปส.ให้ค่าบริการสถานพยาบาลเมื่อผู้ประกันตนไปรับการตรวจสุขภาพรายครั้งตามประกาศที่กำหนดไม่ได้จ่ายเงินแบบเหมาจ่ายให้หน่วยงานบริการ

2) สปส.มีโครงการส่งเสริมให้เกิดสถานพยาบาลต้นแบบ การส่งเสริมสุขภาพและป้องกันโรค จำนวน 40 แห่ง เพื่อให้ผู้ประกันตนเข้าถึงบริการตรวจสุขภาพและการรักษาต่อเนื่องได้อย่างมีประสิทธิภาพ

3) สปส.มีแนวทางจะเชื่อมโยงการส่งเสริมสุขภาพและป้องกันโรคระหว่างหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง เพื่อให้เกิดการปรับพฤติกรรมสุขภาพลูกจ้างให้เหมาะสม เช่น สำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ (สปสช.) สถาบันส่งเสริมความปลอดภัย อาชีวอนามัย และสภาพแวดล้อมในการทำงาน (สสปท.)

4) เรื่องการตรวจสุขภาพช่องปาก ไม่อยู่ในบริการสิทธิประโยชน์ตั้งแต่ต้น และการตรวจครรภ์ ที่จะระบุให้อยู่ในบริการส่งเสริมสุขภาพ จำเป็นต้องแก้ไขกฎหมาย

5) การป้องกันโรค-ส่งเสริมสุขภาพต้องเริ่มปฐมภูมิที่สถานประกอบการ และชุมชน แต่ตามกฎหมายประกันสังคม กำหนดให้คณะกรรมการการแพทย์ต้องเริ่มที่บุคคลที่เป็นผู้ประกันตนรายคน โดยคณะกรรมการการแพทย์ได้พิจารณาให้มีรายการตรวจสุขภาพเพื่อคัดกรองเป็นมาตรฐานขั้นต่ำ โดยเป็นรายการที่พบเป็นอุบัติการณ์สูง

6) มะเร็งต่อมลูกหมาก มีโอกาสเกิดในผู้ชายที่อายุมากกว่า 60 ปีจำนวนไม่เกิน 30% ซึ่งการตรวจจะมีค่าใช้จ่ายค่อนข้างสูง หากตรวจมะเร็งลำไส้จะใช้ต้นทุนต่ำกว่า และคุ้มค่ามากกว่า

 บัณฑิตย์ ธนชัยเศรษฐวุฒิ รายงาน