คนไทยกับแรงงานข้ามชาติ การอยู่ร่วมกันอย่างมีจริยธรรม

“คนไทยกับแรงงานข้ามชาติ การอยู่ร่วมกันอย่างมีจริยธรรม” ภายใต้หัวข้อ “การอยู่ร่วมกันในสังคมพหุวัฒนธรรม” ในการสัมมนาผลงานวิจัย วิทยาลัยพัฒนศาสตร์ ป๋วย อึ้งภากรณ์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ เรื่อง “พัฒนศาสตร์ กับการอยู่ร่วมกันในสังคมที่ (ไม่) เป็นธรรม”

วันที่ 10 กุมภาพันธ์ 2560 ได้มีการนำเสนอผลงานวิจัย วิทยาลัยพัฒนศาสตร์ ป๋วย อึ้งภากรณ์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ท่าพระจันทร์ กรุงเทพฯ เรื่อง “พัฒนศาสตร์ กับการอยู่ร่วมกันในสังคมที่ (ไม่) เป็นธรรม” ณ ห้องประชุมบุญชู โรจนเสถียร อาคารอเนกประสงค์1 ชั้น 3 มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ท่าพระจันทร์ ซึ่งมีชุดโครงการวิจัย เรื่อง”คนไทยกับแรงงานข้ามชาติ การอยู่ร่วมกันอย่างมีจริยธรรม” ภายใต้หัวข้อ “การอยู่ร่วมกันในสังคมพหุวัฒนธรรม”

รศ.ดร.นภาพร อติวานิชยพงศ์ วิทยาลัยพัฒนศาสตร์ ป๋วย อึ้งภากรณ์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ นำเสนอผลการวิจัย “การอยู่ร่วมกันระหว่างแรงงานข้ามชาติ และบทบาทของสหภาพแรงงานว่า งานวิจัยชิ้นนี้นั้น อธิบายการอยู่ร่วมกันระหว่างแรงงานข้ามชาติกับแรงงานไทยผ่านมุมมองของของผู้นำสหภาพแรงงาน และชี้ให้เห็นว่ามีความเปลี่ยนแปลงทางทัศนคติและบทบาทของสหภาพแรงงานที่มีต่อแรงงานข้ามชาติเป็นปัจจัยสำคัญประการหนึ่งที่ทำให้เกิดจริยธรรมในการอยู่ร่วมกัน ซึ่งกรณีศึกษาเป็นธุรกิจขนาดใหญ่ 3 แห่ง ที่มีสหภาพแรงงาน ตั้งอยู่ในเขตปริมณฑล 3 จังหวัด คือสมุทรสาคร สมุทปราการ และนนทบุรี แม้ว่าจะเป็นบริษัทขนาดใหญ่ และมีสหภาพแรงงาน แต่ก็พบว่ามีเหตุการที่แรงงานข้ามชาติถูกละเมิดสิทธิ ซึ่งทั้ง 3 แห่งเป็นตัวอย่างสำหรับการแสดงให้เห็นบทบาทของสหภาพแรงงานที่สนับสนุนการอยู่ร่วมกันระหว่างแรงงานข้ามชาติกับแรงงานไทยอย่างมีจริยธรรมในระดับที่ดีกว่ากฎหมายกำหนด ได้แก่ การสนับสนุนให้แรงงานข้ามชาติมีสถานภาพเป็นลูกจ้างที่เท่ากับแรงงานไทย อยู่ภายใต้รูปแบบสภาพการจ้างงานเดียวกัน ไม่ใช่สถานการณ์แรงงานเหมาค่าแรงที่ได้รับสวัสดิการต่างกัน หรือน้อยกว่า เมื่อสหภาพแรงงานมีการยื่นข้อเรียกร้องปรับปรุงสภาพการจ้างแรงงานข้ามชาติก็จะได้รับด้วยเช่นกัน

การปฏิบัติต่อแรงงานข้ามชาติในฐานะพวกเดียวกันไม่ใช่คนอื่น เป็นบทบาทสำคัญของสหภาพแรงงาน ระดับกลุ่มสหภาพแรงงานและองค์กรแรงงานระดับชาติ แสดงให้เห็นถึงจริยธรรมของการอยู่ร่วมกัน เช่นสหภาพแรงงานมีการแก้ข้อบังคับเปิดให้แรงงานข้ามชาติสมัครเป็นสมาชิกได้ ซึ่งเดิมอาจมีเพียงแรงงานไทยที่เป็นสมาชิกได้เท่านั้น ซึ่งทำให้แรงงานข้ามชาติได้รับการดูแลเมื่อถูกละเมิดสิทธิแรงงาน นอกจากนี้แรงงานข้ามชาติยังได้เข้าร่วมกิจกรรมต่างๆที่สหภาพแรงงานจัดให้กับสมาชิก หรือเข้าร่วมกิจกรรมกับองค์กรระดับชาติด้วย แสดงให้เห็นถึงการยอมรับแรงงานข้ามชาติว่า เป็นพวกเดียวกัน ไม่ใช่เป็นคนอื่น

บทบาทของสหภาพแรงงานที่กล่าวมาเป็นการปฏิบัติต่อแรงงานข้ามชาติ ยังมีระดับชาติอย่างกลุ่มสหภาพแรงงาน และองค์กรระดับชาติที่มีการปกป้องสิทธิแรงงานข้ามชาติผ่านการผลักดันในระดับนโยบาย

นอกจากนี้ ยังพบว่า ในระหว่างแรงงานด้วยกันเองเมื่อทำงานอยู่ด้วยกันไประยะหนึ่งก็เกิดความเห็นอกเห็นใจ ความเอ็นดูต่อกันระหว่างแรงงานไทยรุ่นอาวุโสกับแรงงานข้ามชาติรุ่นลูก รุ่นหลานจนลดอคติที่มีต่อกัน กลายเป็นมิตร เมื่อปราศจากอคติด้านชาติพันธุ์สามารถเกิดความสัมพันธ์แบบเพื่อน พี่น้องถึงขนาดออกมาปกป้องกัน

ผลการศึกษาสามารถสรุปได้ว่า การเกิดจริยธรรมในการอยู่ร่วมกันระหว่างแรงงานไทยกับแรงงานข้ามชาติจำเป็นต้องมีเงื่อนไขสำคัญ คือ

1. การได้รับประโยชน์ร่วมกันทั้งสองฝ่าย จริยธรรมในการอยู่ร่วมกันของคน 2 กลุ่ม ไม่สามารถสร้างขึ้นได้หากฝ่ายหนึ่งได้ประโยชน์บนความสูญเสียของอีกฝ่าย

2.การมีพื้นที่สำหรับสร้างความสัมพันธ์ทางสังคม ในระดับของแรงงานทั่วไป ความรู้สึกที่ดีต่อกันเกิดจากการมีความสัมพันธ์ทางสังคม หลังจากที่ได้ทำงายร่วมกันนานๆ และมีกิจกรรมทางสังคมบางด้านร่วมกันซึ่งสามารถเปลี่ยนแปลงอคติของแรงงานไทยมีต่อแรงงานข้ามชาติมาสู่ความเห็นใจ ทั้งในฐานะของการเป็นเพื่อนมนุษย์ด้วยกัน และการเป็นแรงงานที่ต้องเผชิญปัญหาลางอย่างร่วมกัน

3 การมีกฎหมายที่เป็นธรรม และมีการบังคับใช้กฎหมายอย่างมีประสิทธิภาพ

สำหรับแนวทางในการส่งเสริมจริยธรรมเพื่อการอยู่ร่วมกันอย่างเป็นมิตร มีข้อเสนอที่สำคัญดังนี่ คือ

1.ควรมีการสร้างความรู้ความเข้าใจเพื่อลดอคติด้านชาติพันธุ์ผ่านสื่อต่างๆ เวทีการแลกเปลี่ยนของสหภาพแรงงานและพื้นที่สำหรับสร้างความสัมพันธ์ทางสังคม

2. การกฎหมายหรือกฎกติกาที่เป็นธรรมและบังคับใช้อย่างมีประสิทธิภาพ ซึ่งหมายถึงการบอมรับกฎกติกาในระดับสากล และการพัฒนากฏหมายภายในประเทศให้มีความเป็นธรรมสำหรับการอยู่ร่วมกันในสังคมพหุวัฒนธรรม โดยที่สหภาพแรงงานควรทำหน้าที่เป็นกลไกในการตรวจสอบเพื่อให้เกิดการบังคับใช้กฎหมายอย่างมีประสิทธิภาพ

3. การสร้างความรู้ความเข้าใจต่อกฎหมายที่เกี่ยวข้อง ซึ่งกลุ่มคนที่จะต้องมีความรู้ความเข้าใจต่อกฎหมายที่เกี่ยวข้องกับแรงงานข้ามชาติ คือแรงงานข้ามชาติ แรงงานไทย นายจ้างและสหภาพแรงงาน โดยผ่านเวทีการจัดกลุ่มซึกษาหรือการจัดอบรมสัมมนาต่างๆ

ดร.สร้อยมาศ รุ่งมณี วิทยาลัยพัฒนศาสตร์ ป๋วย อึ้งภากรณ์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ กล่าวว่า ได้ทำงานวิจัยเรื่อง “เหตุผลศีลธรรมการอยู่ร่วมกันและการจ้างงานแรงงานเพื่อนบ้านของผู้ประกอบการขนาดเล็ก-กลาง ในชุมชนริมน้ำแม่กลอง” ซึ่งเป็นการศึกษาเหตุผลเชิงศีลธรรมของผู้ประกอบการในการปฏิบัติตามกฎหมายการจ้างงาน ซึ่งเป็นพื้นฐานของการอยู่ร่วมกันในสังคมพหุวัฒนธรรม และทำความเข้าใจข้อจำกัดในการพัฒนาจริยธรรมของการอยู่ร่วมกันของผู้ประกอบการและแรงงานเพื่อนบ้าน เพื่อสร้างข้อเสนอแนะเชิงนโยบายที่จะบรรเทาความขัดแย้งในการอยู่ร่วมกัน คำจำกัดความของการใช้เหตุผลเชิงจริยธรรมของงานวิจัยได้แก่ การที่บุคคลใช้เหตุผลในการเลือกที่จะกระทำหรือเลือกที่จะไม่ทำพฤติกรรมอย่างใดอย่างหนึ่งโดยมีแรงจูงใจที่จะอยู่เบื้องหลังการกระทำในกรณีผู้ประกอบการไทยกับแรงงานเพื่อนบ้าน จริยธรรมเบื้องต้นของผู้ประกอบการถูกกำกับไว้ด้วยกฎหมายการจ้างงานและแนวทางการปฏิบัติที่ดี อย่างไรก็ตาม งานวิจัยนี้ตั้งคำถามถึงข้อจำกัดของการบังคับใช้กฎหมายดังกล่าว และพิจารณาคำว่า “จริยธรรม” กว้างขึ้นกว่าจริยธรรมเบื้องต้นของผู้ประกอบการที่ถูกกำหนด โดยกฎหมายแรงงาน หรือ “จริยธรรมที่เหนือกว่ากฎหมายกำหนด” งานวิจัยชี้ให้เห็นว่า ขณะที่ผู้ประกอบการต้องการแรงงาน ส่วนแรงงานเพื่อนบ้านต้องการรายได้ ความสัมพันธ์ทางสังคมที่วางอยู่บนพื้นฐานการแลกเปลี่ยนด้วยเงินตราก็ดูสมเหตุ สมผลดีแล้ว แต่ในความจริง พฤติกรรมการเลือกที่จะทำหรือไม่กระทำการใดๆของมนุษย์มีความซับซ้อนและอาจผสมผสานกันระหว่างความต้องการลงมือทำเพราะเห็นว่า สิ่งนั้นเป็นสิ่งดีหรือเกิดจากความปรารถนาดีต่อเพื่อนมนุษย์ หรือลงมือทำเพราะสิ่งนั้นสร้างประโยชน์ตอบแทนให้กับตนเองไม่มากก็น้อยก็ได้

จากการเก็บข้อมูลผู้ประกอบการจำนวน 4 กิจการ แสดงให้เห็นว่า ผู้ประกอบการมีความพยายามจะปฏิบัติตามกฎหมายแต่ทำไม่ได้ตามข้อจำกัดในเรื่องลักษณะกิจการตนเอง ระบบการจัดการลงทะเบียนแรงงานของรัฐ และปัจจัยเรื่องการเคลื่อนย้ายแรงงานเข้าสู่ประเทศไทยที่มีลักษณะผสมผสานทั้งแรงงานที่มาแบบถูกกฎหมายและแรงงานที่ลักลอบเข้าเมืองซึ่งตัวผู้ประกอบการตระหนักถึงปัจจัยเหล่านี้ และพยายามสร้างสวัสดิการที่นอกเหนือไปจากที่กฎหมายกำหนด เช่น ที่อยู่อาศัยฟรี การดูแลบุตรหลานด้านการศึกษา การคลอดบุตร การให้รางวัลช่วงเทศกาลเหมือนกับครอบครัวเดียวกัน กินอาหารร่วมกัน มีความยืดหยุ่นในการทำงาน สามารถพักได้เป็นช่วงเพื่อทำภารกิจ สูบบุหรี่ ดูแลลูก จากการสัมภาษณ์เชิงลึกผู้ประกอบการบางรายมีความคิดที่จะพัฒนาระบบสวัสดิการให้แรงงานเพื่อนบ้าน ที่มาของความคิดดังกล่าวผ่านการเรียนรู้จากการจ้างแรงงานพม่ามาเป็นระยะเวลานานเป็นสิบปี บางรายเน้นจ้างแรงงานที่มาทั้งครอบครัว เพื่อการอยู่นานไม่ย้ายออก และบางรายมีเด็กมาอยู่ด้วยและเด็กบางรายสามารถทำงานได้ ผู้ประกอบการก็ให้ทำงานและจ่ายค่าจ้างให้วันละ 200 บาท ซึ่งผู้ประกอบการก็ทราบว่า เป็นการผิดกฎหมายแต่ก็มองว่า เป็นการให้โอกาสเด็กในการทำงาน ความสัมพันธ์ที่ดีทำให้เปลี่ยนความเชื่อ ความเกรงกลัวจากข่าวเรื่องความขัดแย้ง ความโหดร้ายของแรงงาน การอยู่ด้วยกันนานๆนำไปสู่ความเข้าใจ มีประสบการณ์ดีๆต่อกัน แต่ไม่สามารถลดอคติทางชาติพันธ์ ไม่สามารถมองผ่านแรงงานมีสถานะเท่าเทียม เพราะอย่างไรก็ไม่ใช่คนไทย อุปสรรค์ด้านภาษาไม่มีผู้ประกอบการรายใดพูดภาษาแรงงานเพื่อนบ้านได้ในขณะที่แรงงานเพื่อนบ้านมีความพยายามเรียนรู้ภาษาไทยและปัญหาความแต่ต่างทางวัฒนธรรมในเรื่องความเป็นอยู่และสุขลักษณะ

 

ทั้งนี้ ผู้วิจัยมีข้อเสนอทั้งในส่วนของผู้ประกอบการที่ฝากมา และในส่วนของแรงงานเพื่อนบ้าน ได้แก่ 1 ประเด็นทางกฎหมาย ข้อค้นพบของงานวิจัยชิ้นนี้แสดงให้เห็นมุมของนายจ้างในเรื่องการปฏิบัติตามกฎหมายและแนวปฏิบัติที่ดี นายจ้างไม่ได้ละเมิดกฎหมายเพราะทำให้เสียโอกาสและก่อให้เกิดความยุ่งยาก แต่การปฏิบัติตามกฎหมายควรจะต้องมีการอำนวยความสะดวกโดยภาครัฐควรมีระบบจัดการเรื่องการขึ้นทะเบียน การเข้า การออก ของแรงงานที่มีความยืดหยุ่นขึ้น มีการลดขั้นตอนที่มีความยุ่งยากในการขอใบอนุญาต เข้มงวดกับการทุจริตคอรัปชั่นในผู้บังคับใช้กฎหมาย ควรมีระเบียบที่เอื้อต่อผู้ประกอบการขนาดเล็กและขนาดกลาง เพราะระเบียบบางอย่างอาจทำได้ยากและเป็นระเบียบสำหรับผู้ประกอบการขนาดใหญ่

ประเด็นต่อมาอคติทางชาติพันธ์ ภาษา และความขัดแย้งทางวัฒนธรรม ควรเริ่มจากการแก้ปัญหาที่ต้นเหตุ เช่นปัญหาทางวัฒนธรรมรัฐควรให้ความรู้ทั้งสองฝ่าย นอกจากหเรื่องจริยธรรมทางกฎหมายแล้ว กระทรวงแรงงาน และสวัสดิการสังคมน่าจะต้องมีการให้ความรู้กับนายจ้างเรื่องวัฒนธรรมเบื้องต้นนอกจากเรื่องสิทธิแรงงาน การป้องกันการค้ามนุษย์ที่มีการจัดอบรม การพัฒนาฝีมือแรงงานก่อนเข้ามาทำงานในประเทศไทย การปรับสถานภาพให้แรงงานถูกกฎหมาย เรื่องการใช้ห้องน้ำ ความสะอาด เรื่องมารยาทในการอยู่ร่วมกันและภาษาที่ใช้ในชีวิตประจำวัน เรื่องสวัสดิการการศึกษาสำหรับเด็ก เนื่องจากงานวิจัยนี้แสดงให้เห็นข้อจำกัดของนโยบายด้านสิทธิเด็ก และการศึกษาของเด็กแม้ว่าผู้ประกอบการบางรายจะมีการดูแลให้ลูกแรงงานได้เรียนหนังสือ และนโยบายด้านสิทธิเด้กต้องได้รับการศึกษา และบริบทที่ทำให้เด็กต้องเลือกที่จะทำงานแทนการไปเรียนดังนั้นแทนที่จะผลักดันเด็กทุกคนให้เข้าสู่ระบบการศึกษาภาคปกติ อาจต้องดูเรื่องการศึกษานอกนอกโรงเรียน การศึกษาออนไลน์ เป็นต้น

นางสาวกิตติกาญจน์ หาญกุล นักวิจัย กล่าวถึงงานวิจัย เรื่องจริยธรรมการอยู่ร่วมกันของชุมชนพหุวัฒนธรรม กรณีศึกษาปฏิบัติการทางสังคมของชุมชนคลองหก ในเขตชลประทานทุ่งรังสิต จังหวัดปทุมธานี ว่า ได้ศึกษาการปรับตัวของชุมชนท่านกลางการเปลี่ยนแปลงทางสังคมและเสรษฐกิจ การสร้างข้อตกลงเพื่อการอยู่ร่วมกันในชุมชน และการศึกษาเงื่อนไขความเป็นไปได้ของการสร้างสังคมพหุวัฒนธรรม โดยให้คำจำกัดความ “จริยธรรมการอยู่ร่วมกัน คือการสร้างคุณค่า กฎ กติกา บรรทัดฐาน ข้อตกลงร่วมกันของสมาชิกในกลุ่ม หรือชุมชนโดยสมาชิกของชุมชนยินยอมพร้อมใจปฏิบัติตามกฎนั้น และกฎ กติกาที่กำหนดร่วมกัน เพื่อจัดการข้อขัดแย้งหรือปัญหาที่เกิดขึ้นภายในกลุ่มหรือชุมชน” การศึกษาครั้งนี้ต้องการสร้างความเข้าใจปฏิบัตการของชุมชนในพื้นที่ชานเมืองที่มีวิถีชีวิตที่สลับซับซ้อนไม่ได้เป็นหนึ่งเดียว เป็นพื้นที่ผสมผสานทั้งเกษตรกรรม อุตสาหกรรม มีความหลากหลายของคนที่แตกต่างกันทั้งวิถีชีวิต ชาติพันธ์ กลุ่มเป้าหมายของการศึกษาประกอบด้วย กลุ่มผู้นำชุมชน นายกองค์การบริหารส่วนตำ เจ้าของหอพัก ผู้ดูแลหอพัก เยาวชน กลุ่มแรงงานเพื่อนบ้าน ชาวบ้านที่เคยทำงานในโรงงาน แลเจ้าของร้านค้าในชุมชน ซึ่งผลการศึกษาพบว่า การสร้างข้อตกลงในการอยุ่ร่วมกันระหว่างชุมชนดั่งเดิมกับกลุ่มแรงงานเพื่อบ้าน ซึ่งมีทั้งแรงงานพม่า และกัมพูชา แบ่งออกเป็น 1 ข้อตกลงที่ไม่ได้เป็นลายลักษณ์อักษร เป็นเพียงกติกาที่รับรู้ร่วมกัน 2. ข้อตกลงในระดับหอพัก มีลักษณะที่เป็นรูปธรรมที่ชัดเจนมากกว่า โดยนอกจากบางหอพักจะมีเป็นลายลักษณ์อักษรแล้ว ยังมีหัวหน้าคนงานที่เป็นตัวกลางสื่อสารระหว่างแม่บ้านหอพักกับแรงงานเพื่อนบ้านในหอพัก ซึ่งมีข้อตกลงทั้งสองแบบช่วยคลี่คลายสถานการณืความขัดแย้งที่เกิดขึ้นระหว่างชาวบ้านกับแรงงานเพื่อนบ้านได้ ซึ่งเคยมีกรณีที่แรงงานเพื่อนบ้านทำร้ายคนในชุมชน แล้วมีการนำกฎนี้มาใช้ในการจัดการ ซึ่งก็ตกลงกันให้ส่งแรงงานเพื่อนบ้านกลับประเทศโดยไม่ได้มีการดำเนินคดี

โดยเงื่อนไขของความเป็นไปได้ในการการสร้างสังคมพหุวัฒนธรรมในชุมชนชานเมื่อที่อยู่ท่ามกลางการขยายตัวของการพัฒฯาเสรษฐกิจและอุตสาหกรรม 1. มีการอดกลั้นในระดับปัจเจก มากกว่าการเคารพหรือเข้าใจวัฒนธรรมแรงงานเพื่อนบ้าน 2. ความเข้มข้นของอคติทางชาติพันธุ์ 3. มีตัวกลางประสานความสัมพันธ์ 4. การมีพื้นที่สาธารณะของชุมชน ตลาด วัด และสวนสาธารณะขององค์การบริหารส่วนตำบลเพื่อเป็นพื้นที่การเรียนรู้ระหว่างกันของชาวบ้านกับกลุ่มแรงงานเพื่อนบ้าน เพราะมีการใช้พื้นที่ร่วมกันทุกกลุ่ม 5. การมีนโยบายสนับสนุนให้เกิดสังคมที่มีลักษณะพหุวัฒนธรรม งานวิจัยได้มีข้อเสนอในเชิงนโยบายดังนี้ 1. ผลจากการศึกษาพบว่า มีนโยบายที่สนับสนุนให้เกิดสังคมพหุวัฒนธรรม ในหลายระดับทั้งในระดับกระทรวง หรือระดับจังหวัด เพื่อสนับสนุนการสร้างสังคมที่เป็นธรรม และเคารพความแตกต่าง หลากหลายฝ่ายกฎหมาย หรือระเบียบต่างๆ แต่ไม่มีกระบวนการหรือปฏิบัติการเพื่อสร้างความเข้าใจในระดับปัจเจกบุคคล เพื่อถอดรื้ออคติทางชาติพันธ์ ทำให้เกิดความย้อนแย้งระหว่างนโยบายกับการปฏิบัติในหลายระดับ ดังนั้นสิ่งที่ควรเพิ่มเติมนอกเหนือจากการกำหนดนโยบาย คือ การมีปฏิบัติการเพื่อถอดรื้ออคติระหว่างชาติพันธ์ุและสร้างความเข้าใจระหว่างกันให้มากขึ้น 2. ความซ้อนทับกันของการบริหารงาน ระหว่างหน่วยงานรัฐต่างๆ ที่ส่งผลให้องค์การบริหารส่วนท้องถิ่น ไม่สามารถจัดการบริหารด้วยตนเองได้ ด้วยข้อจำกัดทางกฎหมาย องค์การบริหารส่วนตำบล จึงเป็นเพียงพื้นที่ปลายทางเพื่อรองรับนโยบายการพัฒนาต่างๆ แต่ไม่สามารถกำหนดนโยบายของตนเองได้ โดยเฉพาะการกำหนดผังมือง ที่ถูกกำหนดจากส่วนกลาง ส่งผลให้พื้นที่ต้องเตรียมรับมือกับผลกระทบที่เกิดขึ้น นอกจากนี้ยังพบว่า นโยบายการจัดการกลุ่มแรงงานเพื่อนบ้าน องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นไม่มีส่วนร่วมในการกำกับดูแล หรือการจัดการในเชิงข้อมูล  ไม่สามารถระบุจำนวนแรงงานอพยพในพื้นที่รับผิดชอบของตนเองได้ ซึ่งเป็นข้อมูลเบื้องต้นที่สำคัญต่ดฃอการวางแผนการพัฒนาในระดับท้องถิ่น

นักสื่อสารแรงงาน รายงาน