คนงานรถไฟ ยื่นนายกให้ยุติกระบวนการพิจารณา ร่างพ.ร.บ.การขนส่งทางราง

สมาพันธ์คนงานรถไฟยื่นหนังสือถึง นายกรัฐมนตรี ติดตามเรื่องการเสนอข้อมูลเพื่อการปฏิรูปการรถไฟแห่งประเทศไทยและระบบขนส่งทางราง พร้อมให้ยุติกระบวนการพิจารณา ร่างพ.ร.บ.การขนส่งทางราง

วันที่ 13 กรกฎาคม 2560  สมาพันธ์คนงานรถไฟ(สพ.รฟ.)ได้ยื่นหนังสือถึง นายกรัฐมนตรี พลเอกประยุทธ์   จันทร์โอชาเรื่อง ติดตามเรื่องการเสนอข้อมูลเพื่อการปฏิรูปการรถไฟแห่งประเทศไทยและระบบขนส่งทางราง โดยมี นายพันศักดิ์ เจริญ นักวิเคราะห์นโยบายและแผนชำนาญการพิเศษ ผู้อำนวยการส่วนประสานมวลชนและองค์กรประชาชน (สปอ.) เป็นผู้รับหนังสือ ทั้งนี้ยังได้เดินทางไปยังกระทรวงการคลัง กระทรวงคมนาคม และคณะกรรมการกฤษฎีกาอีกด้วย

ตามที่ สมาพันธ์คนงานรถไฟ(สพ.รฟ.)ได้มีหนังสือถึงนายกรัฐมนตรี โดยมีข้อเสนอ “ 1.ในเรื่องของการออก ร่าง พ.ร.บ.การขนส่งทางราง พ.ศ…..ขอเสนอให้รัฐบาลชะลอกระบวนการไว้ก่อน แล้วนำกลับเข้ามาให้ผู้มีส่วนเกี่ยวข้องพิจารณาทบทวนอีกครั้ง โดยให้มีกระบวนการในการมีส่วนร่วมทุกภาคส่วนตามรัฐธรรมนูญ แห่งราชอาณาจักรไทย พ.ศ.2560 มาตรา 77 ” และตามที่ได้เสนอสำนักงานนโยบายและแผนการขนส่งและจราจร(สนข.) ได้มีหนังสือตอบกรณีการออกร่างพระราชบัญญัติการขนส่งทางราง พ.ศ…. โดยแจ้งว่า “2. กระทรวงคมนาคม และ สนข.ได้จัดให้มีการรับฟังความคิดเห็นเกี่ยวกับการจัดตั้งกรมการขนส่งทางราง และร่างพระราชบัญญัติการขนส่งทางราง พ.ศ. ….จำนวน 5 ครั้ง…..” นั้น

นายสุวิช  ศุมานนท์ ประธานสมาพันธ์คนงานรถไฟ (สพ.รฟ.)กล่าวว่า ทาง สพ.รฟ.ขอเรียนว่า เนื้อหาสาระในกระบวนการจัดให้มีการรับฟังความคิดเห็น ตามรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พ.ศ.2560 มาตรา 77 วรรคสองนั้น บัญญัติว่า “ ก่อนการตรากฎหมายทุกฉบับ รัฐพึงจัดให้มีการรับฟังความคิดเห็นของผู้เกี่ยวข้อง วิเคราะห์ ผลกระทบที่อาจเกิดขึ้นจากกฎหมายอย่างรอบด้านและเป็นระบบ รวมทั้งเปิดเผยผลการรับฟังความคิดเห็น และการวิเคราะห์นั้นต่อประชาชน และนํามาประกอบการพิจารณาในกระบวนการตรากฎหมายทุกขั้นตอน …” เพื่อให้เกิดความเข้าใจและแก้ไขปัญหาได้ถูกต้องตามกระบวนการทาง สพ.รฟ.ขอชี้แจงดังนี้

  1. ตามหนังสือชี้แจงของ สนข. ข้อ 2.,2.1-2.3 ชี้แจงว่า ได้จัดให้มีการรับฟังความคิดเห็นเกี่ยวกับการจัดตั้งกรมการขนส่งทางราง และร่างพระราชบัญญัติการขนส่งทางราง พ.ศ. …. มาแล้ว 3 ครั้ง ตามสถานที่ที่อ้างมานั้น แม้จะทำจริงแต่ก็ไม่ได้เป็นไปตามหลักการที่สำคัญของการรับฟังความคิดเห็นในข้อที่ 7 และ 8 ตามระเบียบ สํานักนายกรัฐมนตรี ว่าด้วยการรับฟังความคิดเห็นของประชาชน พ.ศ. 2548 และเมื่อรับฟังความคิดเห็นไปแล้วก็ไม่ได้นำเอาข้อเสนอจากการรับฟังความคิดเห็นไปปรับปรุง เปลี่ยนแปลงในสาระของร่างกฎหมาย และเมื่อร่างเสร็จแล้วก็ไม่ได้นำกลับมาให้ผู้มีส่วนได้ส่วนเสีย รวมทั้งประชาชนทั่วไปทราบแต่อย่างใด เสมือนว่าการ    รับฟังความคิดเห็นเป็นเพียงพิธีกรรมเพื่อบรรลุความต้องการเท่านั้น คือมีคำตอบอยู่แล้ว ซึ่งถือเป็นการไม่เคารพต่อความคิดเห็นของประชาชนและผู้มีส่วนได้ส่วนเสีย
  2. ตามหนังสือชี้แจงของ สนข. ชี้แจงว่า

ข้อ 2.4 กระทรวงคมนาคม และ สนข.ได้ร่วมจัดให้มีการรับฟังความคิดเห็นตามมาตรา 77 ของรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย ต่อร่างพระราชบัญญัติปรับปรุงกระทรวง ทบวง กรม (ฉบับที่..) พ.ศ. …. (การจัดตั้งกรมการขนส่งทางราง) และร่างพระราชบัญญัติการขนส่งทางราง พ.ศ. ….ผ่านทางเว็บไซต์ของกระทรวงคมนาคม (www.mot.go.th) และ เว็บไซด์ของ สนข.(www.otp.go.th) ระหว่างวันที่ 17-31 พฤษภาคม 2560 โดยมีผู้แสดงความคิดเห็น 4 คน

ข้อ 2.5 สนข.ได้ร่วมจัดให้มีการรับฟังความคิดเห็นตามมาตรา 77 ของรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย ต่อร่างพระราชบัญญัติการขนส่งทางราง พ.ศ. ….ผ่านทางเว็บไซต์รับฟังความคิดเห็นด้านกฎหมายไทย (www.lawamendment.go.th)  ระหว่างวันที่ 8-22 มิถุนายน 2560 ขณะนี้อยู่ระหว่างรวบรวมข้อคิดเห็น

ในความเป็นจริงแล้วทาง สพ.รฟ. และภาคประชาชน หรือผู้มีส่วนได้ส่วนเสียไม่ได้รับทราบมาก่อนหน้านี้ โดยเพิ่งมาทราบเมื่อเห็นและอ่านเอกสารของ สนข.ฉบับวันที่ 23 พฤษภาคม 2560 และหนังสือวันที่ 23 มิถุนายน 2560 ซึ่งระยะเวลาการรับฟังความคิดเห็นเพียงแค่ภายในวันที่ 17 – 31 พฤษภาคม 2560  และ 8-22 มิถุนายน 2560 ถือว่า สั้นและเร็วมาก  และเอกสารของ สนข.ฉบับวันที่ 23 พฤษภาคม 2560 มีการกล่าวถึงมติคณะรัฐมนตรีเมื่อวันที่ 4 เมษายน 2560 ซึ่งคณะรัฐมนตรีได้พิจารณาเรื่องนี้เป็นเรื่องที่ 16 “เรื่อง แนวทางการจัดทำและการเสนอร่างกฎหมายตามบทบัญญัติมาตรา 77 ของรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย” แต่การพิจารณาก็ยังเป็นไปตามกรอบ มาตรา 77 แห่งรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พ.ศ.2560 กล่าวคือ “คณะรัฐมนตรีมีมติเห็นชอบตามที่สำนักเลขาธิการคณะรัฐมนตรี (สลค.) เสนอ ดังนี้

 

  1. สลค. และ สำนักงานคณะกรรมการกฤษฎีกา(สคก.) ได้ร่วมกันพิจารณาเกี่ยวกับบทบัญญัติของรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทยซึ่งอยู่ระหว่างดำเนินการเพื่อเตรียมประกาศใช้บังคับ เห็นว่า บทบัญญัติของรัฐธรรมนูญในส่วนของการตรากฎหมายในระดับพระราชบัญญัติได้บัญญัติเพิ่มเติมหรือแตกต่างจากที่เคยบัญญัติไว้ในรัฐธรรมนูญฉบับที่ผ่านมาหลายประการ ซึ่งหน่วยงานของรัฐต้องเตรียมความพร้อมในการดำเนินการเพื่อให้การตรากฎหมายภายหลังรัฐธรรมนูญประกาศใช้บังคับแล้วเป็นไปอย่างราบรื่นและเป็นไปตามที่รัฐธรรมนูญบัญญัติไว้ ซึ่งในหมวด 3 สิทธิและเสรีภาพของปวงชนชาวไทย และหมวด 6 แนวนโยบายแห่งรัฐ มาตรา 77 ของรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทยได้บัญญัติเกี่ยวกับการตรากฎหมายไว้ สรุปเป็นมาตราในการตรากฎหมายไว้ 4 มาตรการ คือ 1) มาตรการทั่วไป 2) มาตรการก่อนการตรากฎหมาย 3) มาตรการภายหลังการตรากฎหมาย และ 4) มาตรการควบคุมเนื้อหาของกฎหมาย
  2. เพื่อให้การตรากฎหมายของหน่วยงานของรัฐเป็นไปตามบทบัญญัติของรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทยข้างต้น สลค. ร่วมกับ สคก. จัดทำแนวทางการจัดทำและการเสนอร่างกฎหมายตามบทบัญญัติมาตรา 77 ของรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย โดยกำหนดหลักเกณฑ์และแนวทางเกี่ยวกับการร่างกฎหมาย การตรวจพิจารณาร่างกฎหมาย และแนวทางการรับฟังความคิดเห็นประกอบการจัดทำร่างกฎหมาย รวมทั้งการวิเคราะห์ผลกระทบที่อาจเกิดขึ้นจากกฎหมาย เพื่อให้หน่วยงานของรัฐใช้เป็นกรอบหรือแนวทางการดำเนินการในการจัดทำร่างกฎหมายในระดับพระราชบัญญัติ เพื่อให้เป็นไปตามบทบัญญัติมาตรา 77  ของรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย ประกอบด้วย 2 ส่วน คือ ส่วนที่ 1 หลักเกณฑ์การร่างกฎหมายและการตรวจพิจารณาร่างกฎหมายของหน่วยงานรัฐ ส่วนที่ 2 แนวทางการรับฟังความคิดเห็นประกอบการจัดทำร่างกฎหมาย และการวิเคราะห์ผลกระทบที่อาจเกิดขึ้นจากกฎหมาย ซึ่งประกอบด้วย  หลักเกณฑ์และแนวทางการพิจารณาในแต่ละขั้นตอน ดังนี้ 1) การจัดทำร่างกฎหมายของหน่วยงานรัฐ ซึ่งรวมถึงขั้นตอนการดำเนินการของ สลค. เมื่อร่างกฎหมายของหน่วยของรัฐเสนอมายังคณะรัฐมนตรีและขั้นตอนในชั้นการตรวจพิจารณาของ สคก. 2) การดำเนินการกรณีร่างกฎหมายที่อยู่ระหว่าง สลค. ดำเนินการเสนอเรื่องต่อคณะรัฐมนตรี 3) การดำเนินการกรณีร่างกฎหมายที่อยู่ระหว่างการตรวจพิจารณาของ สคก. และ 4) การดำเนินการกรณีร่างกฎหมายที่ผ่านการตรวจพิจารณาของ สคก. และอยู่ระหว่างการดำเนินการของ สลค.”

เป็นเนื้อความบางส่วนของมติ ครม.เมื่อวันที่ 4 เมษายน 2560ที่คัดมา โดยสรุปคือขั้นตอนต่างๆในการตรากฎหมายเพื่อให้เป็นไปตามเจตนารมณ์ของรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย หมวด 6 แนวนโยบายพื้นฐานแห่งรัฐมาตรา 77 อยู่ระหว่างการดำเนินการวางแนวทางการร่างกฎหมายซึ่งยังไม่แล้วเสร็จ และประชาชนยังไม่ทราบถึงรายละเอียดในขั้นตอนและวิธีการซึ่งอาจจะทำให้สังคมเข้าใจได้ว่า สนข. กำลังบิดเบือนเจตนารมณ์ของรัฐธรรมนูญ และยังมีรัฐธรรมนูญในบางหมวด บางมาตราที่จะต้องนำมาประกอบในการร่างพระราชบัญญัติปรับปรุงกระทรวง ทบวง กรม (ฉบับที่..) พ.ศ. … (การจัดตั้งกรมการขนส่งทางราง) และร่างพระราชบัญญัติการขนส่งทางราง พ.ศ….เช่น หมวด 5 ว่าด้วยหน้าที่ของรัฐ มาตรา 58 , 59 เป็นต้น

นายสุวิช  กล่าวอีกว่า สมาพันธ์คนงานรถไฟ(สพ.รฟ.) ซึ่งเกิดขึ้นจากการรวมตัวของคนงานรถไฟทุกภาคส่วน เห็นด้วยอย่างยิ่งกับแนวทางการปฏิรูปกิจการรถไฟ โดยมีเป้าหมายเพื่อให้เกิดประโยชน์สูงสุดต่อประเทศชาติและประชาชน และคงไว้ซึ่งความเป็นหน่วยงานของรัฐเพื่อสร้างระบบการขนส่งทางรางให้เกิดความมั่นคงและยั่งยืน อย่างไรก็ตามเพื่อความโปร่งใสตามหลักการธรรมาภิบาล ควรให้ผู้เกี่ยวข้องได้วิเคราะห์ผลกระทบที่เกิดขึ้นจากกฎหมายอย่างรอบด้าน และเป็นระบบ

“จึงขอเสนอให้ยุติกระบวนการพิจารณา ร่างพระราชบัญญัติการขนส่งทางราง พ.ศ. ….ไว้ก่อน แล้วนำกลับเข้ามาให้ผู้มีส่วนเกี่ยวข้องได้พิจารณาทบทวนอีกครั้ง โดยให้มีกระบวนการมีส่วนร่วมในการรับฟังความคิดเห็น วิเคราะห์ผลกระทบที่อาจเกิดขึ้นจากกฎหมายอย่างรอบด้านและเป็นระบบของผู้เกี่ยวข้องทุกภาคส่วน รวมทั้งเปิดเผยผลการรับฟังความคิดเห็น และการวิเคราะห์นั้นต่อประชาชน ตามรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พ.ศ.2560 มาตรา 77 ต่อไป  และตามที่สมาพันธ์ฯได้ยื่นข้อเสนอต่อรัฐบาลตามหนังสืออ้างถึง 1. เมื่อวันที่  22 พฤษภาคม 2560 นั้น จนถึงบัดนี้ยังไม่ได้รับคำตอบจากรัฐบาลแต่อย่างใด ซึ่งหากการพิจารณามีผลเป็นประการใดโปรดแจ้งให้กับทางสมาพันธ์ฯทราบด้วย” นายสุวิช กล่าว