คดีกรณีจันทร์มณี กลิ่นถนอม สาวโรงงานเย็บเสื้อผ้า

ความคืบหน้าคดีกรณีจันทร์มณี กลิ่นถนอม สาวโรงงานเย็บเสื้อผ้าส่งนอกเจ็บป่วยสืบเนื่องจากการทำงานเป็นโรคกล้ามเนื้ออักเสบและกระดูกจากการทำงาน

โดย สมบุญ สีคำดอกแค ประธานสภาเครือข่ายกลุ่มผู้ป่วยจากการทำงานและสิ่งแวดล้อมแห่งประเทศไทย (27 สิงหาคม 2554)

จันมณี  กลิ่นถนอม อายุ 45 ปี ทำงานอยู่ที่โรงงานตัดเย็บเสื้อผ้าส่งนอก  ในโรงงานของเธอมีพนักงานกว่า 1,500 คน จันมณีเป็นคนจังหวัดอำนาจเจริญ  ปัจจุบันอาศัยอยู่ที่ ต.บางตลาด อ.ปากเกร็ด จ.นนทบุรี  ได้เขามาสมัครสมาชิกสภาเครือข่ายกลุ่มผู้ป่วยตั้งแต่วันที่ 13 มิถุนายน 2550

จันมณี  เริ่มเข้าทำงานที่โรงงานเย็บผ้าซึ่งตั้งอยู่แถวแจ้งวัฒนะ อ.ปากเกร็ด จ.นนทบุรี  เมื่อปี 2531 เป็นลูกจ้างฝ่ายผลิต โดยทำงานในแผนกรีดเสื้อผ้าเป็นตัวที่เสร็จแล้วโดยจะต้องยืนรีด ทำงานมานานถึง 19 ปี โดยลักษณะงาน จะต้องเอี้ยวตัวรีดเสื้อผ้าซึ่งก่อนหน้าไม่มีปัญหาอะไรแต่ต่อ 2-3 ปี มาการรีดเสื้อจะต้องรีดตามแบบ ซึ่งต้องยืนเอี้ยวตัวเอื้อมมือรีดผ้าในท่าทางลักษณะเดิมๆซ้ำๆกันเป็นเวลานาน บางครั้งก็ต้องปีนขึ้นไปแขวนผ้าบนรถ ซึ่งมีราวแขวนผ้าขนาดใหญ่  เป็นเวลานานหลายชั่วโมง

ต้นปี 2549 จันมณีเล่าว่า ตนเองเริ่มมีอาการเจ็บปวดปลายเท้าถึงหัวเข้า และได้ขอยาที่ห้องพยาบาลเรื่อยมา พฤษภาคม 2549 เข้ารักษาตัวที่ โรงพยาบาล(รพ.)แม่น้ำ แพทย์วินิจฉัยว่า  ปวดกล้ามเนื้อ ข้อเข่าซ้ายอักเสบเสื่อมรักษาโดยการให้ยา มาตลอด 7 สิงหาคม 2550 ย้ายไปรักษาที่ รพ.รามาธิบดีแพทย์วินิจฉัยว่าพบกระดูกคอ กระดูกสันหลังเสื่อมและกล้ามเนื้ออักเสบให้ยาและนัดฟังผล  ต่อมาวันที่ 1 กรกฎาคม 2551 ย้ายไปรักษาที่รพ.นพรัตน์ราชธานี แพทย์ที่รักษาให้ทำกายภาพบำบัด ต่อเนื่องจนถึงกันยายน 2552

เธอเริ่มมีอาการปวดซีกซ้ายครึ่งตัว ตั้งแต่คอลงไปยังไหล่แขน  และสันหลังแถมมีอาการชาลงขา จะนั่งจะยืนเดินหรือนอนก็ปวดเจ็บทรมาน จันมณีต้องทนทุกข์ทรมานมากในการมีชีวิตอยู่ไปวันหนึ่งๆ เมื่อป่วยไปยื่นใบรับรองแพทย์ลางานที่นายจ้าง นายจ้างกับไม่ได้ยื่นเรื่องการเจ็บป่วยประสบอันตรายจากากรทำงานของเธอเข้ากองทุนเงินทดแทน 

จากการติดต่อแนะนำของสหภาพแรงงาน  จันมณีจึงได้มาขอปรึกษาที่สภาเครือข่ายกลุ่มผู้ป่วยจากการทำงาน  รวมทั้งเพื่อนในที่ทำงานเดียวกัน 6 คน  ที่มีอาการป่วยเหมือนๆกัน เพื่อขอให้ ช่วยดำเนินการช่วยเหลือให้ยื่นเรื่องการเจ็บป่วย  เข้ากองทุนเงินทดแทนตามสิทธิขั้นพื้นฐานตามกฏหมาย 

ผลจากการแนะนำจนทำให้จันมณีได้ยื่นเรื่องเข้ากองทุนเงินทดแทน ต่อมากองทุนเงินทดแทนประมาณปี 50 กองทุนเงินทดแทนวินิจฉัยมาว่า  จันมณีกับเพื่อนๆ เจ็บป่วยดังกล่าวไม่เนื่องจากการทำงาน จันมณีกับเพื่อนๆ ยื่นอุทธรณ์ต่อกองทุนเงินทดแทน 16 มิถุนายน 2551 กองทุนเงินทดแทนได้ได้วินิจฉัยว่าที่ 117/51ลงวันที่ 11เมษายน 2551มีมติกลับคำวินิจฉัยของสำนักงานกองทุนเงินทดแทนจังหวัดนนทบุรีว่าอาการป่วยของจันมณีกับเพื่อนๆสืบเนื่องมาจากากรทำงานโดยได้รับสิทธิเงินทดแทนแต่เป็นกล้ามเนื้ออักเสบจ่ายได้ไม่เกิน 14 วันให้การรักษาได้ไม่เกิน 10   ครั้ง  มีสิทธิได้รับค่ารักษาพยาบาลได้ไม่เกิน 35,000 บาท ***:ซึ่งตอนกองทุนเงินทดแทนส่งคำอุทธรณ์มานั้น  ตัวจันมณีกับเพื่อนๆ มิได้เฉลียวใจในคำวินิจฉัยของกองทุนเงินทดแทนเลย รวมทั้งสหภาพแรงงาน ซึ่งเข้าใจไปว่า จะเอาอย่างไงอีกเขาวินิจฉัยมาใหม่ว่า เนื่องจากการทำงานให้แล้วนี่นา  แท้ที่จริงแล้วโรคที่จันมณีและเพื่อนๆเจ็บป่วยจากการทำงานนั้นด้วยโรคกล้ามเนื้ออักเสบและโรคกระดูกที่เกิดจากการทำงานด้วยท่าทางซ้ำซากแบบรีบเร่งเป็นระยะเวลานาน แต่ตอนนั้นไม่ได้มาแจ้งรายละเอียดให้สภาเครือข่ายกลุ่มผู้ป่วยฯ ทราบ มาทราบทีหลังก็เกินกฎหมายกำหนดให้อุทธรณ์ภายใน 30วันไปแล้ว

จันมณีเธอรักษาตัวเรื่อยมา ปี 2551 จันมณี ยังได้ไปทำการรักษาที่ รพ.นพรัตน์ราชธานีกับ  นพ.กิติพงษ์ พนมยงค์  ส่งไปทำกายภาพบำบัดข้างล่างและต่อมากองทุนเงินทดแทนก็แจ้งว่างบจะหมดให้กายภาพบำบัดไม่เกิน 14 ครั้ง ก็ไปหาแพทย์และทำกายภาพบำบัด ที่ รพ.นพรัตน์ราชธานี แต่จันมณีมารู้ว่าทำเกินไปแล้วแต่จันมณี  ทำกายภาพเกินไปแล้วประมาณ 30-40 ครั้งจนงบหมดไปแล้ว 35,000 บาท  และไม่สามารถเบิกงบได้แล้ว

จนกองทุนเงินทดแทนแจ้งว่างบหมด  จันมณีจึงไปอุทธรณ์กองทุนใหม่อีกครั้ง เป็นครั้งที่ 2  ในวันที่ 8 มีนาคม 2552 ให้ทบทวนการวินิจฉัยตามมติสรุปว่าผลการอุทธรณ์คำสั่งที่ 8/52เมื่อ 19 ส.ค. 52 ว่าการประสบอันตรายสมควรจ่ายได้ไม่เกิน 14 วันให้การรักษาได้ไม่เกิน 10   ครั้ง  มีสิทธิได้รับค่ารักษาพยาบาลได้ไม่เกิน 35000 นั้นสำนักงานประกันสังคม (กองทุนเงินทดแทน) มีมติว่าการประสบอันตรายของท่านมีสิทธิได้รับค่ารักษาพยาบาลเท่าที่จ่ายจริงแต่ไม่เกินความจำเป็นในวงเงิน 35,000 บาท ตามเลขประสบอันตรายที่ 120050/02647/02สำนักงานประกันสังคมจ่ายค่ารักษาพยาบาล รพ.แม่น้ำไปแล้ว 7819 บาท จ่าย รพ.นพรัตน์ 21431 บาทรวมเงิน 29, 250บาท คงเหลือค่ารักษาพยาบาลที่สำนักงานประกันสังคม จ.นนทบุรี จะพิจารณาจ่ายสั่งเพิ่มให้กับ รพ.นพรัตน์ราชธานี ได้อีกจำนวน 5,750 บาท

ต่อมาคณะกรรมการกองทุนได้มีคำวินิจฉัยที่ 4712/2553 ลงวันที่ 8 ตุลาคม 2553 มีมติแก้คำวินิจฉัยให้สามารถเบิก ค่ากายภาพบำบัดได้ ไม่เกิน 30 ครั้ง   อนึ่งไม่พอใจคำสั่งของคณะกรรมการแพทย์กองทุนเงินทดแทนให้นำคดีขึ้นสู่ศาลแรงงานภายใน 30 วัน นับจากแจ้งคำวินิจฉัยแต่ถ้าไม่นำคดีขึ้นสู่ศาลภายใน 30 วันให้ถือคำวินิจฉัยคณะกรรมการกองทุนเงินทดแทนถือเป็นที่สิ้นสุด   

จันมณี  ต้องลาออกจากงานตั้งแต่เดือนมีนาคม พ.ศ. 2552 แล้ว  อาการจันทร์มณี  กลิ่นถนอม ก็ยังเจ็บป่วยปวดขาแถบซ้ายขึ้น ถึงช่วงแขนและหลังคอศีรษะทั้งแถบ เหมือนดั่งเป็นคนพิการแล้ว   แต่หมดสิทธิรักษาผลที่จันมณีท้อแท้เหนื่อยหน่าย  เพราะเพื่อนๆอีกห้าคนเกิดความท้อแท้เบื่อหน่าย ก็แยกย้ายไปแล้วโดยไม่ติดใจจะสู้ต่อสิทธิอีกต่อไป  จันมณีคิดว่าจะสู้ต่อไปหรือไม่สู้นั้น ทำให้เหลือระยะเวลา การฟ้องเพิกถอนคำวินิจฉัยภายใน 2 วันนี้เท่านั้น พึ่งมาปรึกษาคุณสมบุญ สีคำดอกแค ที่สภาเครือข่ายกลุ่มผู้ป่วยฯ ก็จะหมดอายุความในการฟ้องศาล  คือ 13-14 มกราคม2554 สภาเครือข่ายฯให้กำลังใจและได้คำแนะนำจากทนายความ ให้ไปขอยื่นฟ้องกับนิติกรที่ศาลแรงงานกลางก่อนโดยที่ไม่เสียค่าใช้จ่ายอะไรเพื่อให้ทันฟ้อง  จันมณีเธอทำตามคำแนะนำ จนสามารถยื่นฟ้องได้สำเร็จในวันที่ 13 มกราคม 2554  เธออยากขอให้ศาลที่เป็นที่พึ่งสุดท้ายได้ช่วยเพิกถอนคำวินิจฉัยของสำนักงานกองทุนเงินทดแทนประกันสังคมที่ไม่เป็นธรรมนี้ด้วย  เพราะเรื่องราวของจันมณีกลิ่นถนอม ป่วยเรื้อรังต้องทุกข์กายและใจ แบบนี้มานานถึง  4 -5 ปีแล้ว  ตอนนี้จันมณี เธอทำอะไรไม่ได้ต้องใช้เงินส่วนตัวรักษาอาการเจ็บปวดและทำกายภาพบำบัดรักษาตนเองกว่า 100 ครั้ง แต่เธอก็ต่อสู้เพื่อสิทธิของเธอเอง   และเพื่อคนงานทุกๆอุตสาหกรรมที่เป็นโรคโครงสร้างกระดูกแบบนี้แล้วไม่ได้สิทธิเงินทดแทน  แล้วทางกองทุนเงินทดแทนก็ได้วินิจฉัยเช่นนี้ คือกำหนดให้รักษา..กี่ครั้ง กายภาพบำบัด..กี่ครั้ง   แล้วที่เหลือเล่าชีวิตจะเป็นไปอย่างไร ? อยากให้กองทุนเงินทดแทนและนายจ้างรับผิดชอบกับชีวิตเธอและคนงานคนอื่นๆมากกว่านี้

ชีวิตจันมณีกับขบวนการศาลที่เธอไม่เคยรู้เรื่องอะไรเลยรู้สึกขาดกลัวไม่มั่นใจ  ความรู้สึกนึกคิดก็คือรู้ตัวเองแต่ว่าเธอยังป่วยยังต้องการรักษาตัวต่อเนื่อง ทำไม่กองทุนถึงยุติการช่วยเหลือ  ด้วยสุขภาพและสังขารที่คล้ายคนที่พิการของจันมณีด้วยกระดูกข้อเสื่อมเจ็บปวดตลอดเวลาเธอต้องนั่งรถเมล์มาที่ศาลนนทบุรี ถนนรัตนาธิเบศร์ ด้วยหัวใจที่เหนื่อยอ่อน แรงงานกายที่อ่อนล้า  แต่มีเป้าหมายในจิตใจว่าจะต้องสู้เพื่อความจริงที่เธอทำงานจนเป็นแบบนี้

โดยนัดแรกวันที่ 17 กุมภาพันธ์ 2554 กองทุนขอเลื่อนเนื่องจากอยู่ระหว่างรวบรวมเอกสาร นัดต่อมาวันที่ 9 พฤษภาคม 2554  ศาลไกล่เกลี่ยคู่ความแต่ตกลงกันไม่ได้ศาลนัดสืบครั้งต่อไป วันที่  8มิถุนายน 2554  วันที่ 28 กรกฎาคม 2554สืบ นพ.กิติพงษ์ พนมยงค์ แพทย์ผู้รักษา เป็นแพทย์ผู้เชี่ยวชาญด้านโรคจากการทำงาน  รพ.นพรัตน์ราชธานี  ได้มาให้การว่า การเจ็บป่วยของจันมณีกลิ่นถนอม น่าจะเป็นการปวดกล้ามเนื้อเรื้อรัง ปวดสะบักหลังปวดต้นคอซีกซ้าย น่าจะเกิดจากการทำงาน  ให้ยารักษาและให้การกายภาพบำบัดซึ่งจะทำให้โจทก์บรรเทาอาการปวดได้     

วันที่ 24สิงหาคม 2554  นัดสืบแพทย์กองทุนเงินทดแทนนายแพทย์ไกรจักร แก้วนิล เป็นข้าราชการบำนาญ เป็นคณะกรรกมารกองทุน (พยานฝ่ายจำเลยกองทุนเงินทดแทน  ให้การว่าคนไข้เป็นกล้ามเนื้ออักเสบ การอักเสบจะมี 1 ให้พัก 2 ให้พักและให้ยา 3ให้พักและฉีดยา 4 ให้พักและผ่าตัด กล้ามเนื้ออักเสบมีอาการปวดหลังประจำนั้นนอกจากให้ยาฉีดแล้ว ร่วมกันแพทย์สามารถสั่งให้กายภาพบำบัดเพื่อลดอาการปวดได้ ซึ่งการสั่งจ่ายเงินส่วนกายภาพบำบัดแบ่งเป็น 3ระดับ คือระดับเฉียบพลัน จะให้กายภาพบำบัดได้ไม่เกิน 10 ครั้ง ระดับรองเฉียบพลันจะได้ไม่เกิน 20 ครั้งส่วนระดับเรื้อรังจะให้ได้ไม่เกิน 30 ครั้ง

สำหรับผู้ป่วยรายนี้ จะแยกเป็น 2กรณีถ้าหากเป็นกล้ามเนื้ออักเสบการรักษาจะต้องหายจากการปวดและกรณีอย่างนี้จะไม่ถือว่าปวดเรื้อรัง กรณีของโจทก์ก็จะมีเรื่องกระดูกสันหลังเสื่อม ซึ่งถ้าปวดอย่างนี้เกิดจากพยาธิสภาพของตัวผู้ป่วยเองและอย่างนี้จะถือว่าเป็นอาการเรื้อรัง กรณีโรคกล้ามเนื้ออักเสบซึ่งมีคำวินิจฉัยว่าเกิดจากการทำงานนั้น จะต้องเบิกจากกองทุนเงินทดแทน ส่วนกรณีกระดูกสันหลังเสื่อมถือว่าไม่เกิดจากการทำงานจึงต้องไปใช้กองทุนประกันสังคม( จากรายงานพิจารณาคดีดำที่ นบ.13/25 54 วันที่ 24 สค54 หน้า 2

อยากเล่าสถานการณ์ที่ทำงานตรงนี้ ให้พี่น้องผู้ใช้แรงงานที่มีอาการปวดกระดูกและกล้ามเนื้อทราบว่าจากการที่ได้พบเห็นคนงานที่ปวดหลัง  ปวดกระดูกส่วนมากจะได้รับการวินิจฉัยไปทางกล้ามเนื้ออักเสบเสียส่วนใหญ่  คือ  กองทุนเงินทดแทนจะเลือกวินิจฉัยโรคที่เบาๆเช่นกล้ามเนื้ออักเสบ  โรคกระดูกไม่ยอมวินิจฉัย แล้วก็จะกำหนดสิทธิเรื่องเพดานการรักษาพยาบาลตามระเบียบเงื่อนไขที่กองทุนเงินทดแทนกำหนดไว้  ทำให้คนงานที่ป่วยไม่สามารถรักษาตัวต่อไปได้ไม่สามารถ ทนทำงานต่อไปไหวจำเป็นต้องลาออกจากงานไปจำนวนมากโดยไม่ได้รับสิทธิการประเมินการสูญเสียอวัยวะ และแพทย์บางคนก็จะวินิจฉัยว่าที่คนงานกระดูกเสื่อมอักเสบเป็นเพราะพยาธิสภาพร่างกาย

การเขียนรายงานกรณีศึกษาเรื่องนี้   เพื่ออยากเผยแพร่ข้อเท็จจริงให้สังคมรับรู้เข้าใจ รวมถึงแพทย์สถานประกอบการและหน่วยงานภารัฐที่มีหน้าที่รับผิดชอบดูแลสำนักงานกองทุนเงินทดแทน ให้ช่วยดูแลวินิจฉัยให้ถี่ถ้วนคนงานอายุเพียง 20-30กว่าๆที่เป็นโรคกระดูกทับเส้นจะเป็นเพราะพยาธิสภาพได้อย่างไร ? ถ้าแพทย์หรือกองทุนวินิจฉัยผิดพลาดความทุกข์จะตกอยู่ที่ตัวคนงานอย่างมากคือเขาจะกลายเป็นคนพิการ นายจ้างจะเพ่งเล็งว่าคนงานแกล้งป่วย ไม่ได้รับการดูแลรักษาที่ถูกต้อง แถมยังถูกปลดออกจากงานอีก หมดอนาคต ..รายของจันมณีกลิ่นถนอมคงจะเป็นรายแรกของเมืองไทยที่ลุกขึ้นมาต่อสู้เพื่อตัวเธอเองและเพื่อพี่น้องคนงานคนอื่นๆ เราก็หวังแต่เพียงว่าเธอคงจะได้รับความเป็นธรรมจากศาลในการตัดสินพิพากษาคดีนี้

ศาลนัดสืบพยานต่อไปวันที่ 22  กันยายน 2554 บ่ายครึ่งหรือาจจะพิพากษาคดีเลยก็ได้ จึงขอเชิญชวนพี่น้องที่สนใจเข้าร่วมฟังการพิจารณาคดีได้ที่ศาล จังหวัดนนทบุรี

///////////////////////////////////////////////////