คคปส.ค้านนำเงินสปส.จ่ายโครงการจำนำข้าว

สปส.โปร่งใส

เครือข่ายแรงงานคัดค้านปกป้องกองทุนประกันสังคม (คคปส.) รวม 25 องค์กร ร่วมแถลงคัดค้านการนำเงินกองทุนประกันสังคม 1 แสนล้านบาท มาจ่ายในโครงการจำนำข้าว พร้อมเดินขบวนบุกสำนักงานความปลอดภัย กรมสวัสดิการและคุ้มครองแรงงาน ตลิ่งชัน กรุงเทพมหานคร ผอ.ความปลอดภัยยันไม่มีการประชุมเรื่องกองทุนประกันสังคม พร้อมทำหนังสือชี้แจงกลับไป ข่าวแจ้งประชุมแน่ 28 ม.ค.นี้ที่กระทรวงแรงงาน

เมื่อวันที่ 24 ม.ค. 57 นายชาลี ลอยสูง ประธานคณะกรรมการสมานฉันท์แรงงานไทย (คสรท.) กล่าวว่า การที่คคปส.นัดกันมาที่สำนักงานความปลอดภัย ตลิ่งชัน เพราะมีการจัดประชุมของผุ้บริหารกระทรวงแรงงาน และทราบมาว่าใช้เป็นที่ทำงานแทนที่กระทรวงแรงงาน ซึ่งทางผู้อำนวยการสำนักงานความปลอดภัยอกมาชี้แจงว่ามีการประชุม 2 ครั้งเรื่องงานบริหาร และเรื่องความปลอดภัยเท่านั้น และขอให้มีการเปิดทำงาน เพราะปัญหาคนงานมีมากที่ต้องแก้ไข “เราก็ไม่ได้ติดใจเมื่อผอ.ออกมาชี้แจง แต่อย่างไรให้ทางผอ.ทำเป็นเอกสารชี้แจงทางกลุ่มด้วย และก็ขอให้พี่น้องเปิดให้ทางข้าราชการทำงานต่อเพราะประเด็นปัญหาแรงงานตอน และเรื่องความปลอดภัยถือเป็นเรื่องสำคัญ จึงไม่มีการปิดกั้นอะไร และทราบมาว่าวันที่ 28 ม.ค.นี้ทางกระทรวงแรงงานจะมีการประชุม เราจึงนัดที่จะไปยื่นหนังสืออีกครั้งเวลา 10.00 น.ที่กระทรวงฯ” นายชาลี กล่าว

ทั้งนี้ทาง เครือข่ายแรงงานคัดค้านปกป้องกองทุนประกันสังคม (คคปส.) ได้แถลงเพื่อคัดค้านการนำเงินกองทุนประกันสังคม 1 แสนล้านบาท มาจ่ายในโครงการจำนำข้าว ดังนี้

สืบเนื่องจากที่รัฐบาลได้มอบหมายให้ร้อยตำรวจเอกเฉลิม อยู่บำรุง รัฐมนตรีว่าการกระทรวงแรงงาน หารือกับนายจีรศักดิ์ สุคนธชาติ ปลัดกระทรวงแรงงาน ในฐานะประธานคณะกรรมการประกันสังคม (บอร์ด สปส.) เพื่อขอกู้เงินจากกองทุนประกันสังคมจำนวน 1 แสนล้านบาท นำมาใช้จ่ายในโครงการจำนำข้าวให้แก่เกษตรกรนั้น

P5010449

เครือข่ายแรงงานคัดค้านปกป้องกองทุนประกันสังคม (คคปส.) 25 องค์กร เป็นการรวมตัวขององค์กรแรงงานซึ่งมีจุดยืนเรื่อง “การสร้างให้เกิดธรรมาภิบาลต่อการใช้จ่ายเงินในกองทุนประกันสังคม” ขอคัดค้านอย่างถึงที่สุดต่อกรณีดังกล่าว ด้วยเหตุผลสำคัญ ดังนี้

(1) การที่รัฐมนตรีว่าการกระทรวงแรงงาน ซึ่งเป็นนักการเมืองเข้ามาแทรกแซงการบริหารจัดการกองทุนประกันสังคมเช่นนี้ ยิ่งทำให้กองทุนประกันสังคมขาดความเป็นอิสระ ไม่มีการถ่วงดุล ไม่มีการตรวจสอบ ไม่มีความโปร่งใส และทำให้เกิดปัญหาเรื่องของผลประโยชน์ทับซ้อน

(2) อำนาจการตัดสินใจในการนำเงินกองทุนประกันสังคมไปใช้ ขึ้นอยู่กับอำนาจการตัดสินใจของคณะกรรมการประกันสังคม(บอร์ด สปส.) แต่ที่ผ่านมาการได้มาซึ่งบอร์ด สปส.มีความไม่โปร่งใส ไม่เป็นธรรมมาโดยตลอด โอกาสที่จะนำเงินไปใช้จ่ายแบบไม่โปร่งใสก็จะมีสูง และยิ่งเป็นช่องว่างให้เกิดการทุจริตคอรัปชั่น

(3) เงินกองทุนประกันสังคมเป็นเงินของผู้ประกันตน รวม 12,433,412 คน แต่การตัดสินใจต่างๆ ผู้ประกันตนไม่เคยได้รับรู้ข้อมูล ไม่มีส่วนร่วมในการตัดสินใจ และขอประชามติจากผู้ประกันตน กล่าวได้ว่าสำนักงานประกันสังคมเป็นสำนักงานที่ขาดการมีส่วนร่วมจากผู้ประกันตนมากที่สุด

(4) ในปี 2557 เป็นปีแรกที่ต้องมีการจ่ายเงินบำนาญชราภาพให้กับผู้ประกันตนตามมาตรา 33 จำนวน 126,110 คน รวมเป็นเงินทั้งสิ้น 8,270 ล้านบาท และในสัดส่วนที่เพิ่มขึ้นในปีต่อๆมา ดังนั้นการที่รัฐบาลยิ่งนำเงินจากกองทุนประกันสังคมไปใช้และอาจไม่ได้คืนกลับมา ยิ่งจะสร้างความเสียหายและสร้างความเสี่ยงต่อการทำให้กองทุนอาจล้มได้ในอนาคต และไม่สามารถจัดสิทธิประโยชน์ให้กับผู้ประกันตนได้อย่างครบถ้วน

PA070460PA070480

(5) กองทุนประกันสังคมมาจากการสมทบเงิน 3 ฝ่าย คือ ลูกจ้าง นายจ้าง รัฐบาล อย่างไรก็ตามตั้งแต่ปี 2553-2556 รัฐบาลได้ค้างจ่ายเงินสมทบเข้ากองทุนประกันสังคม รวมกว่า 63,200 ล้านบาทเศษ และจนบัดนี้รัฐบาลยังไม่มีการดำเนินการใดๆ ยิ่งเป็นการสะท้อนถึงการให้อำนาจบุคคลเพียงบางคน บางกลุ่มในการนำเงินของผู้ประกันตนไปใช้ โดยขาดความรอบคอบและความโปร่งใสอย่างแท้จริง ทั้งที่ผู้ประกันตนซึ่งเป็นเจ้าของเงินกลับไม่มีส่วนตัดสินใจ แต่กลับต้องเป็นผู้แบกรับความเสี่ยงเพียงฝ่ายเดียว

ดังนั้นเครือข่ายแรงงานคัดค้านปกป้องกองทุนประกันสังคม (คคปส.)จึงขอเรียกร้องให้คณะกรรมการประกันสังคม (บอร์ด สปส.) ต้องยุติการดำเนินการดังกล่าวโดยทันที อีกทั้งสำนักงานประกันสังคมควรจะต้องยึดหลักการในเจตนารมณ์ของการประกันสังคมในการคุ้มครองแรงงาน มิใช่สนองเจตนารมณ์ของนักการเมือง ที่หวังแต่จะแสวงหาผลประโยชน์จากผู้ประกันตนเสมอมา หากคณะกรรมการประกันสังคมยังคงดื้อดึง ทางเครือข่ายจะเคลื่อนไหวอย่างถึงที่สุดในทุกกรณีเพื่อยับยั้งเรื่องดังกล่าวนี้

เครือข่ายแรงงานคัดค้านปกป้องกองทุนประกันสังคม (คคปส.) ประกอบด้วย

1. สภาองค์การลูกจ้างสภาแรงงานแห่งประเทศไทย
2. สภาองค์การลูกจ้างองค์การแรงงานแห่งประเทศไทย
3. สมัชชาแรงงานแห่งชาติ
4. สมาพันธ์แรงงานอุตสาหกรรม (CILT)
5. สภาองค์การลูกจ้างแรงงานยานยนต์แห่งประเทศไทย
6. สหพันธ์แรงงานยานยนต์แห่งประเทศไทย
7. สหพันธ์แรงงานเครื่องใช้ไฟฟ้าและอิเล็คทรอนิคส์แห่งประเทศไทย
8. กลุ่มสหภาพแรงงานภาคตะวันออก
9. กลุ่มสหภาพแรงงานบ่อวินสัมพันธ์
10. กลุ่มสหภาพแรงงานอมตะ
11. กลุ่มสหภาพแรงงานแหลมฉบัง
12. กลุ่มพัฒนาแรงงานสัมพันธ์ย่านเวลล์โกรว์
13. กลุ่มสหภาพแรงงานอ้อมน้อย-อ้อมใหญ่
14. กลุ่มสหภาพแรงงานผู้ใช้แรงงานอยุธยาและใกล้เคียง
15. กลุ่มผู้ใช้แรงงานสระบุรีและใกล้เคียง
16. สมาคมส่งเสริมสิทธิชุมชนเพื่อการพัฒนา
17. สมาคมเครือข่ายแรงงานนอกระบบ
18. สภาเครือข่ายกลุ่มผู้ป่วยจากการทำงานและสิ่งแวดล้อมแห่งประเทศไทย
19. สหพันธ์แรงงานปิโตรเลียมและเคมีภัณฑ์แห่งประเทศไทย
20. ภาคีเครือข่ายนักศึกษา
21. สมาพันธ์แรงงานเครื่องใช้ไฟฟ้า อิเล็กทรอนิคส์ ยานยนต์ และโลหะแห่งประเทศไทย (TEAM)
22. เครือข่ายปฏิบัติการแรงงานข้ามชาติ
23. ศูนย์ประสานงานแรงงานนอกระบบระดับชาติ
24. คณะกรรมการสมานฉันท์แรงงานไทย
25. สภาองค์การลูกจ้างสภาแรงงานอุตสาหกรรมเอกชนแห่งประเทศไทย

นักสื่อสารแรงงาน รายงาน