ก.แรงงาน ลุยแก้ค้ามนุษย์ เพิ่มโทษผู้ใช้แรงงานเด็ก – คุมเข้มนายหน้าเถื่อน เตรียมชงเรื่องเข้า ครม.

2015-12-03 15.42.52

‘รองปลัดแรงงาน’ เผย ‘รัฐมนตรีแรงงาน’กำชับ ขรก.เป็นนักประชาสัมพันธ์ เร่งสร้างการรับรู้ บูรณาการร่วมทุกภาคส่วน เดินหน้าแก้ไขปัญหาการค้ามนุษย์ด้านแรงงานในทุกมิติ เพิ่มโทษผู้ใช้แรงงานเด็ก – คุมเข้มนายหน้าเถื่อนเรียกเก็บค่าธรรมเนียมเกินจริง เตรียมชงเรื่องเข้า ครม.ต้นเดือนเมษายนนี้

เมื่อวันที่ 29 มีนาคม ที่ผ่านมา นายสุวิทย์ สุมาลา รองปลัดกระทรวงแรงงาน กล่าวในโอกาสเป็นประธานการประชุม Teleconference เพื่อสร้างการรับรู้และติดตามสถานการณ์เพื่อป้องกันปัญหาการค้ามนุษย์ด้านแรงงานกับหน่วยงานในสังกัดกระทรวงแรงงานระดับภูมิภาค ในพื้นที่ 20 จังหวัดภาคตะวันออกเฉียงเหนือ ณ ห้องประชุม Executive Operation Room ชั้น 5 อาคารกระทรวงแรงงาน ว่า พลเอก ศิริชัย ดิษฐกุล รัฐมนตรีว่าการกระทรวงแรงงาน ได้มอบหมายให้สร้างการรับรู้และทำความเข้าใจให้แก่หัวหน้าส่วนราชการเพื่อให้ผู้ปฏิบัติงานเกี่ยวกับการป้องกันปัญหาการค้ามนุษย์ด้านแรงงานทั่วประเทศได้เข้าใจไปในทิศทางเดียวกัน เนื่องจากเจ้าหน้าที่ต้องตรวจและคุ้มครองดูแลในทุกมิติ

ทั้งนี้ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงแรงงานได้กำชับให้ข้าราชการของกระทรวงแรงงานต้องเป็นนักประชาสัมพันธ์ สร้างความเข้าใจให้ประชาชนหรือผู้ที่เกี่ยวข้องได้รับรู้รับทราบถึงเรื่องที่ควรหรือไม่ควรปฏิบัติเพื่อไม่ให้เกิดความคลาดเคลื่อน โดยให้ข้าราชการทำงานในลักษณะบูรณาการร่วมกันทั้งหน่วยงานภายในกระทรวงแรงงาน และหน่วยงานอื่นที่เกี่ยวข้องด้วย ซึ่งจะทำให้งานในมิติการป้องกันปัญหาการค้ามนุษย์ด้านแรงงานสามารถเดินหน้าและแก้ไขปัญหาได้เร็วขึ้น

รองปลัดกระทรวงแรงงาน กล่าวต่อว่า ประเด็นการเพิ่มโทษ พ.ร.บ.คุ้มครองแรงงาน ในกรณีพบว่ามีการใช้แรงงานเด็กผิดกฎหมายนั้น ขณะนี้กระทรวงแรงงานอยู่ระหว่างแก้ไขเพิ่มเติมร่างพระราชบัญญัติคุ้มครองแรงงาน (ฉบับที่ …) พ.ศ. …. แก้ไขเพิ่มเติมพระราชบัญญัติคุ้มครองแรงงาน พ.ศ.2541 เกี่ยวกับโทษในความผิดต่อแรงงานเด็ก จำนวน 3 ฐานความผิด ในเรื่องของงานอันตรายสำหรับเด็ก สถานที่ห้ามทำงานสำหรับเด็ก และอายุขั้นต่ำ สำหรับสาระสำคัญของ พ.ร.บ. ดังกล่าวจะมีการเพิ่มโทษในกรณีที่นายจ้างจ้างเด็กอายุต่ำกว่า 18 ปีเข้าทำงานหรือให้ทำงานในสถานที่ต้องห้าม จากเดิมจำคุก 1 ปี ปรับไม่เกิน 2 แสนบาทเป็นจำคุกไม่เกิน 2 ปี หรือปรับไม่น้อยกว่า 4 แสนบาทหรือทั้งจำทั้งปรับ กรณีนายจ้างจ้างเด็กอายุต่ำกว่า 18 ปีเข้าทำงานหรือให้ทำงานในสถานที่ต้องห้าม เป็นเหตุให้ลูกจ้างได้รับอันตรายแก่กายหรือจิตใจหรือถึงแก่ความตาย ต้องระวางโทษจำคุกไม่เกิน 4 ปี หรือปรับไม่น้อยกว่า 8 แสนบาท หรือทั้งจำทั้งปรับ เพิ่มโทษในกรณีนายจ้างจ้างเด็กอายุต่ำกว่า 15 ปี ในงานทั่วไป หรือกฎกระทรวงที่ออกตามมาตรา 22 ที่เกี่ยวกับอายุของเด็กในงานเกษตรกรรมและงานประมงทะเล ต้องระวางโทษจำคุกไม่เกิน 2 ปี หรือปรับไม่น้อยกว่า 4 แสนบาท หรือทั้งจำทั้งปรับ คาดว่าจะเสนอเข้าสู่ที่ประชุมคณะรัฐมนตรีภายในต้นเดือนเมษายนนี้

ส่วนการแก้ไขปัญหานายหน้าเถื่อนซึ่งเป็นตัวกลางในการจัดหาแรงงานต่างด้าวส่งผลให้แรงงานต่างด้าวมีค่าใช้จ่ายสูงและอาจขยายไปสู่การค้ามนุษย์นั้น กระทรวงแรงงานร่วมกับ ILO ได้ยกร่าง พ.ร.ก.การนำคนต่างด้าวเข้ามาทำงานกับนายจ้างในประเทศ พ.ศ. …. ซึ่งได้นำอนุสัญญา ฉบับที่ 181 ว่าด้วยการทำงานในภาคประมงมาประกอบด้วย โดยมีสาระสำคัญ คือ การนำเข้าแรงงานตาม MOU ผ่านผู้รับใบอนุญาตที่ถูกต้องตามกฎหมาย และเรียกเก็บค่าใช้จ่ายและค่าบริการจากนายจ้างเท่านั้น ผู้รับใบอนุญาตต้องเป็นนิติบุคคลประเภทบริษัทจำกัด หรือบริษัท มหาชน จำกัด ที่มีทุนจดทะเบียนไม่น้อยกว่า 1 ล้านบาท และมีหลักประกันไม่น้อยกว่า 5 ล้านบาท ซึ่งมีโทษตั้งแต่จำคุก 3-10 ปี ปรับ 6 หมื่นถึง 2 แสนบาท หรือทั้งจำทั้งปรับ ซึ่งขณะนี้ได้ส่งเรื่องเพื่อเตรียมเสนอเข้าที่ประชุมคณะรัฐมนตรีพิจารณาแล้ว

——————————-

กลุ่มงานเผยแพร่ประชาสัมพันธ์/