การเปลี่ยนผ่านที่เป็นธรรม: บทเรียนของการลดโลกร้อนจากประเทศเยอรมนี และข้อคิดสำหรับประเทศไทย

การเปลี่ยนผ่านที่เป็นธรรม: บทเรียนของการลดโลกร้อนจากประเทศเยอรมนี และข้อคิดสำหรับประเทศไทย

รองศาสตราจารย์ ดร.กิริยา กุลกลการ

คณะเศรษฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์

ภาวะโลกร้อนและการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศเป็นประเด็นร่วมสมัยที่สำคัญของทุกประเทศทั่วโลก นานาประเทศต่างเห็นพ้องกันว่า จะต้องช่วยกันแก้ไขปัญหาวิกฤตโลกร้อน โดยกำหนดไว้ในเป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืน (SDGs) ขององค์การสหประชาชาติปี พ.ศ. 2558 และข้อตกลงปารีสว่าด้วยสภาพภูมิอากาศ ปี พ.ศ. 2558 และในส่วนของประเทศไทยได้ให้การสนับสนุนข้อตกลงทั้งสอง และให้ความสำคัญต่อการพัฒนาอย่างยั่งยืน โดยบรรจุไว้ในแผนพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ ฉบับที่ 11 (พ.ศ. 2555-2559) และมีแผนแม่บทรองรับการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ (พ.ศ. 2558-2593)

เมื่อวันที่ 8 ตุลาคม 2561 ที่ผ่านมา คณะกรรมการระหว่างรัฐบาลว่าด้วยการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ (Intergovernmental Panel on Climate Change: IPCC) ประกอบด้วยนักวิทยาศาสตร์ภายใต้การสนับสนุนของสหประชาชาติ ได้ออกรายงานสำคัญว่า สังคมทั่วโลกจะต้องยอมเปลี่ยนแปลงอย่างรุนแรง ทั้งในวิธีการใช้พลังงาน การคมนาคมขนส่ง และการก่อสร้าง เพื่อหลีกหนีให้พ้นผลอันเลวร้ายที่สุดของภาวะโลกร้อน โดยเตือนให้ทั่วโลกช่วยกันปกป้องไม่ให้โลกร้อนขึ้นเกิน 1.5 องศาเซลเซียส จากเดิมที่กำหนดไว้ 2 องศาเซลเซียส หลังจากนั้นไม่กี่ชั่วโมง มีการประกาศรางวัลโนโบลสาขาเศรษฐศาสตร์ประจำปีพ.ศ. 2561 ผลปรากฏว่า วิลเลียม นอร์ดเฮาส์ (William Nordhaus) นักเศรษฐศาสตร์ที่มีผลงานด้านการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ เป็นหนึ่งในสองของผู้ได้รับคัดเลือกให้รับรางวัลดังกล่าว จึงเป็นการตอกย้ำให้เห็นว่า การเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศเป็นเรื่องสำคัญอย่างแท้จริง

ในส่วนของขบวนการแรงงานในระดับสากลได้ตระหนักถึงความสำคัญของการแก้ไขปัญหาโลกร้อน แต่มีความกังวลว่า การเปลี่ยนแปลงอย่างรุนแรง ทั้งในวิธีการใช้พลังงาน การคมนาคมขนส่ง และการก่อสร้าง เพื่อหลีกหนีปัญหาโลกร้อนดังกล่าว จะส่งผลกระทบต่อการจ้างงาน จึงได้ร่วมกันพัฒนากรอบแนวคิด การเปลี่ยนผ่านที่เป็นธรรมหรือ Just transition ขึ้น และประสบความสำเร็จเบื้องต้นในการรณรงค์ให้ข้อตกลงปารีสว่าด้วยสภาพภูมิอากาศ ยอมรับว่า จะต้องคำนึงถึงประเด็นนี้

บทความนี้จึงจะพยายามอธิบายถึงกรอบแนวคิด “การเปลี่ยนผ่านที่เป็นธรรม” โดยในส่วนแรกจะได้กล่าวถึงความหมายของแนวคิดดังกล่าว และเพื่อให้เห็นภาพที่ชัดเจนขึ้น ในส่วนที่สองจะได้กล่าวถึงสิ่งที่เกิดขึ้นในประเทศเยอรมนีในประเด็นดังกล่าว ซึ่งเป็นข้อมูลที่ได้จากการไปดูงานที่ประเทศเยอรมนีในระหว่างวันที่ 7-13 ตุลาคม พ.ศ. 2561[1] และในส่วนสุดท้ายจะได้นำเสนอข้อคิดในประเด็นดังกล่าวสำหรับประเทศไทย

ส่วนที่ 1: การเปลี่ยนผ่านที่เป็นธรรม (Just transition) คืออะไร

การเปลี่ยนผ่าน (Transition) ในที่นี้ หมายถึง การเปลี่ยนแปลงโครงสร้าง (Structural change) ทางเศรษฐกิจและสังคม จากโครงสร้างปัจจุบันไปสู่โครงสร้างใหม่ โดยการเปลี่ยนแปลงโครงสร้างอาจเกิดขึ้นเองตามธรรมชาติหรือจากนโยบายของภาครัฐ เช่น การเปลี่ยนผ่านจากประเทศเกษตรกรรมไปเป็นประเทศอุตสาหกรรม การค้นพบแหล่งก๊าซธรรมชาติในประเทศเนเธอแลนด์เมื่อปีพ.ศ. 2502 ส่งผลให้ภาคพลังงานขยายตัว ในขณะที่ภาคอุตสาหกรรมการผลิตอื่นๆได้หดตัวลงอย่างมาก หรือนโยบายเปิดเสรีทางการค้าหรือโลกาภิวัตน์ทำให้การค้าขายระหว่างประเทศง่ายขึ้น การนำเข้าส่งออกระหว่างประเทศส่งผลให้ภาคการผลิตที่สามารถผลิตสินค้าได้ถูกกว่าคู่แข่งต่างชาติสามารถขยายขนาดการผลิต ในขณะที่ภาคการผลิตที่มีต้นทุนสูงเมื่อเทียบกับคู่แข่งต่างชาติมีขนาดเล็กลง

โดยการเปลี่ยนผ่านในบทความนี้ จะหมายถึง การเปลี่ยนผ่านจากเศรษฐกิจที่ใช้เทคโนโลยีคาร์บอนเข้มข้นมาเป็นคาร์บอนต่ำ หรือการเปลี่ยนผ่านสู่เศรษฐกิจสีเขียวเพื่อแก้ไขปัญหาโลกร้อน สืบเนื่องมาจากการตระหนักถึงการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศของนานาประเทศส่งผลให้ประเทศต่างๆคำนึงถึงผลกระทบของการผลิตและการบริโภคต่อสิ่งแวดล้อม และกำหนดมาตรฐานที่เข้มงวดขึ้นในสินค้าที่ถูกผลิตและส่งออก

วิธีการเปลี่ยนผ่านเพื่อรักษาสิ่งแวดล้อม ได้แก่ การลดการพึ่งพิงการผลิตกระแสไฟฟ้าจากถ่านหินลิกไนต์มาเป็นพลังงานหมุนเวียน เช่น พลังงานน้ำ พลังงานลม พลังงานแสงอาทิตย์ เป็นต้น ซึ่งจะส่งผลให้เหมืองและโรงงานไฟฟ้าถ่านหินต้องปิดตัวลง แรงงานในเหมือง โรงงานไฟฟ้า และอุตสาหกรรมต่อเนื่องต้องตกงานหรือหางานทำใหม่ ในขณะเดียวกันก็จะเกิดโอกาสทางธุรกิจและการจ้างงานขึ้นในภาคพลังงานหมุนเวียน หรือการเปลี่ยนแปลงในภาคการคมนาคมขนส่งมวลชนและรถยนต์ส่วนบุคคลจากที่ใช้น้ำมันมาเป็นรถไฟฟ้า การเปลี่ยนแปลงดังกล่าว จะส่งผลต่อผู้ผลิตและแรงงานที่ผลิตรถยนต์ที่ใช้น้ำมัน แต่ก็เป็นโอกาสของธุรกิจและการจ้างงานในอุตสาหกรรมรถยนต์ไฟฟ้า

จะเห็นว่า การเปลี่ยนผ่านจากเศรษฐกิจที่ใช้เทคโนโลยีคาร์บอนเข้มข้นมาเป็นคาร์บอนต่ำเพื่อแก้ไขปัญหาโลกร้อนดังกล่าว มีความเป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม ช่วยแก้ไขปัญหาโลกร้อนได้ แต่มีผลกระทบทางเศรษฐกิจและสังคมเกิดขึ้นด้วย โดยจะมีผู้เสียประโยชน์และผู้ได้รับประโยชน์จากการเปลี่ยนแปลงดังกล่าว ซึ่งส่งผลต่อการกระจายรายได้ ความเหลื่อมล้ำทางเศรษฐกิจ และวิถีชีวิตของคนในสังคม การเปลี่ยนผ่านดังกล่าว ในด้านหนึ่งจึงส่งผลดีในแง่สิ่งแวดล้อม เกิดโอกาสทางธุรกิจใหม่ๆและเป็นโอกาสสำหรับการจ้างงาน แต่ในอีกด้านหนึ่งก็ส่งผลกระทบต่ออุตสาหกรรมจำนวนมากที่ใช้เทคโนโลยีคาร์บอนเข้มข้น และเป็นแหล่งจ้างงานของแรงงานจำนวนมาก โดยเฉพาะสถานประกอบการขนาดเล็กและกลางและแรงงานที่ยังไม่มีความพร้อมในด้านทักษะแรงงานและการเงินในการพัฒนาไปสู่การผลิตที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม จะมีความเสี่ยงที่จะว่างงานหรือมีรายได้น้อยลง

ความเป็นธรรม (Justice)

อมาตยา เซน (2011) ผู้ได้รับรางวัลโนเบลสาขาเศรษฐศาสตร์ในปีพ.ศ. 2541 กล่าวว่า การค้นหาความเป็นธรรมที่สมบูรณ์เป็นเรื่องลำบาก ความไม่เป็นธรรมเป็นสิ่งที่ชัดเจนกว่า เราจึงควรค้นหาความไม่เป็นธรรมที่รุนแรง แล้วไปแก้ไขเสีย

คึกฤทธิ์ ปราโมช[2]  กล่าวว่า ความเป็นธรรมนั้นเกิดขึ้นได้ยาก หรือเกิดขึ้นไม่ได้เลย เพราะความเป็นธรรมเป็นความเห็นในเรื่องประโยชน์ของตนเอง เป็นประโยชน์ที่เห็นว่าตนพึงมีพึงได้ ซึ่งไม่ตรงกับของคนอื่น เพราะคนอื่นก็ย่อมมีความเห็นในเรื่องประโยชน์ของเขา และเมื่อเกิดความเป็นธรรมสำหรับคนใดคนหนึ่งแล้ว คนอื่นก็อาจต้องเสียประโยชน์ จึงไม่เป็นธรรมสำหรับคนอื่น เมื่อคนมารวมกันอยู่เป็นสังคม และต่างคนต่างถือเอาประโยชน์ของตนเป็นมาตรวัดความเที่ยงธรรมแล้ว ก็จะเกิดกรณีพิพาทระหว่างบุคคล หรือระหว่างกลุ่มขึ้นเสมอ ไม่มีทางจะตกลงกันได้ เช่น นายจ้างก็มีความเห็นอย่างหนึ่ง ลูกจ้างก็มีความเห็นอีกอย่างหนึ่ง จึงต้องหาทางระงับหรือยุติข้อพิพาทให้ได้ จึงเกิดยุติธรรมขึ้น ซึ่งเป็นความเป็นธรรมที่ทำให้ยุติกรณีพิพาท ไม่ใช่ความเป็นธรรมดั่งตราชั่ง ด้วยเหตุนี้ความยุติธรรมจึงไม่ได้ขึ้นอยู่กับใจแต่ละคน แต่ขึ้นอยู่กับตัวบทกฎหมายทั้งปวงที่กำหนดประโยชน์ที่แต่ละคนพึงมีพึงได้

ไพบูลย์ วัฒนศิริธรรม[3] กล่าวว่า ความเป็นธรรมที่แท้จริงไม่มีในโลกนี้ ความเป็นธรรมเป็นนามธรรม ส่วนความเป็นธรรมที่เป็นรูปธรรมนั้นไม่มีใครตอบได้ สิ่งที่ตอบได้เป็นความเห็นของคนๆหนึ่ง ซึ่งมีความเป็นไปได้สูงมากที่จะไม่ตรงกับความเห็นของคนอื่น ฉะนั้น ความเป็นธรรมจึงเป็นความเห็น ไม่ใช่ความจริง การค้นหาความเป็นธรรมนั้นยากมาก เช่น ค่าจ้างขั้นต่ำ 300 บาททั่วประเทศ มีความเป็นธรรมหรือไม่ ลูกจ้างอาจจะเห็นว่าต่ำไปไม่พอกับการยังชีพ ในขณะที่นายจ้างอาจจะเห็นว่าหากสูงกว่านี้ จะมีกำไรลดลงและแข่งขันกับคู่แข่งไม่ได้ ซึ่งไพบูลย์ วัฒนศิริธรรม มองว่า ความเป็นธรรมหากเกิดขึ้นได้มีหนทางเดียว คือ ต้องอาศัยการมีส่วนร่วมของทุกฝ่ายที่เกี่ยวข้อง มาเจรจาหารือ ศึกษาพิจารณาร่วมกัน ในรูปแบบของการสานเสวนา (Dialogue) ซึ่งถือเป็นส่วนสำคัญของระบอบประชาธิปไตยแบบร่วมไตร่ตรอง ร่วมคิด ร่วมทำ ร่วมจัดการ หากคนที่เกี่ยวข้องได้เข้ามาศึกษาพิจารณา แลกเปลี่ยนความคิดเห็น ปรึกษาหารือกัน จนได้ความคิดเห็นร่วมกันในการกำหนดทิศทาง นโยบาย มาตรการ วิธีการ ระยะเวลา และกลไกกำกับดูแลเพื่อให้เกิดผลจริง จึงจะใกล้เคียงกับความเป็นธรรมที่สุด เพราะผู้ที่เกี่ยวข้องทุกฝ่ายเข้าไปมีส่วนร่วมอย่างเท่าเทียมทั่วถึง ทุกภาคส่วนเห็นว่าทำแบบนี้จึงจะดี ซึ่งไพบูลย์ วัฒนศิริธรรม  เห็นว่า นอกจากเศรษฐกิจแล้ว ยังมีเรื่องของสังคม เช่น  วัฒนธรรม ความเมตตาเอื้อเฟื้อเผื่อแผ่ และเรื่องสิ่งแวดล้อมและทรัพยากรธรรมชาติ ด้วย โดยการมีส่วนร่วมต้องมีเทคนิค มีประสิทธิภาพ มีธรรมาภิบาล จึงจะสามารถหาความเห็นร่วมกันได้ว่า ประเทศที่พึงปรารถนาควรเป็นอย่างไร แล้วจึงมาร่วมกันคิดว่ายุทธศาสตร์อันจะนำไปสู่ประเทศที่พึงปรารถนาจะเป็นอย่างไร

ดังนั้น การเปลี่ยนผ่านที่เป็นธรรม จึงหมายถึง การเปลี่ยนแปลงเชิงโครงสร้างสู่เศรษฐกิจที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม ที่ทุกฝ่าย ทั้งนายจ้าง แรงงาน ผู้บริโภค ประชาชนทั่วไป และภาครัฐ ได้มีส่วนร่วมในการคัดสรรเทคโนโลยี และเจรจาจัดสรรผลประโยชน์ร่วมกัน

ส่วนที่ 2: บทเรียนจากประเทศเยอรมนี

    จากการศึกษาดูงานในประเทศเยอรมนี ทั้งในส่วนภาครัฐ ได้แก่ กระทรวงแรงงานและสวัสดิการสังคม ภาคการเมือง ได้แก่ สมาชิกรัฐสภาของพรรคประชาธิปไตยสังคมแห่งเยอรมนี (Social Democratic Party of Germany: SDP) สถาบันคลังสมอง (Think tank)จำนวน 7 แห่ง ได้แก่ มูลนิธิฟรีดริค เอแบร์ท (FES), Spree Academy, Future Lab Lausitz, สถาบัน E3G (สถาบันอิสระด้านการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ), องค์กร Bread for the World, Dena (สำนักงานพลังงานเยอรมัน), Wuppertal Institute for Climate, Environment and Energy สหภาพแรงงาน 3 แห่ง ได้แก่ Ver.di (สหภาพแรงงานด้านบริการ), สมาพันธ์สหภาพแรงงานเยอรมัน (DGB), IG Metal (สหภาพแรงงานคนงานในอุตสาหกรรมโลหะ) และภาคประชาสังคม 2 แห่ง ได้แก่ Lausitzer Perspectives และ หมู่บ้านพลังงานหมุนเวียน Feldheim สรุปสาระสำคัญของการดูงานไว้ 4 ข้อ ดังนี้

2.1 การเปลี่ยนผ่านด้านพลังงานของประเทศเยอรมนี

ประเทศเยอรมนีให้ความสำคัญในเรื่องพลังงานมาตั้งแต่ยุควิกฤตน้ำมันที่เกิดขึ้นในปีค.ศ. 1977 ซึ่งในขณะนั้นเป็นเหตุผลทางด้านเศรษฐกิจที่ต้องการลดภาระการพึ่งพิงน้ำมันที่มีราคาแพง ไม่ใช่เพื่อรักษาสิ่งแวดล้อม ต่อมาในปีค.ศ. 2011 เกิดโรงงานไฟฟ้านิวเคลียร์ที่ฟูกูชิมะในประเทศญี่ปุ่นระเบิดขึ้น  ประเทศเยอรมนีจึงตัดสินใจที่จะเปลี่ยนผ่านด้านพลังงาน โดยปิดโรงงานไฟฟ้านิวเคลียร์ภายในปีค.ศ. 2020 ในขณะที่อุตสาหกรรมเหมืองแร่ถ่านหินมีขนาดและความสำคัญต่อประเทศลดลงมาโดยตลอด เพราะไม่สามารถแข่งขันราคากับต่างประเทศได้ โดยเฉพาะประเทศสหรัฐอเมริกา แม้ในช่วงเริ่มต้นรัฐบาลจะยังพยายามให้การอุดหนุนและมีความหวังว่า อุตสาหกรรมเหมืองแร่ของเยอรมนีจะสามารถกลับมาเจริญเฟื่องฟูได้อีกก็ตาม การเปลี่ยนแปลงในภาคพลังงานถ่านหินจึงเกิดขึ้นจากปัจจัยด้านโลกาภิวัตน์

ต่อมาเมื่อประเทศเยอรมนีได้ตระหนักถึงปัญหาโลกร้อนมากขึ้น จึงได้ดำเนินการตามข้อตกลงปารีสว่าด้วยเรื่องการแก้ไขปัญหาสภาพอากาศเปลี่ยนแปลงที่ได้กำหนดเป้าหมายว่าทั่วโลกจะต้องช่วยกันควบคุมอุณหภูมิโลกไม่ให้สูงขึ้นเกิน 2 องศาเซลเซียสอย่างจริงจัง โดยตั้งเป้ายุติการปล่อยก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ขึ้นสู่ชั้นบรรยากาศ และยุติการใช้พลังงานถ่านหินลงในที่สุดภายในปีค.ศ. 2050 โดยหันไปผลิตพลังงานไฟฟ้าจากพลังงานหมุนเวียน และเพิ่มพื้นที่การทำสวนพลังงานหมุนเวียน ปัจจุบันสัดส่วนไฟฟ้าจากพลังงานหมุนเวียนคิดเป็นร้อยละ 35 และมีเป้าหมายจะเพิ่มสูงขึ้นเป็นร้อยละ 80 ภายในปี 2050 รองลงมาเป็นพลังงานจากถ่านหินลิกไนต์ ร้อยละ 23 โดยลิกไนต์มีปริมาณคงเหลือในปัจจุบัน 6.1 พ้นล้านตัน ซึ่งจะมีพอใช้ไปได้อีกประมาณ 30 ปี

ทั้งนี้ ทัศนคติด้านสิ่งแวดล้อมของคนเยอรมัน มีวิวัฒนาการแบ่งได้เป็น 4 ลำดับ ดังนี้

  1. ไม่ยอมรับว่า สิ่งแวดล้อมเป็นปัญหา
  2. สิ่งแวดล้อมไม่ใช่ปัญหาหลัก เพราะต้องให้ความสำคัญด้านเศรษฐกิจก่อน
  3. ยอมรับว่า เป็นปัญหา แต่แก้ไขอะไรไม่ได้ และ
  4. เห็นพ้องกันว่า เป็นปัญหาที่จำเป็นต้องแก้ไข

โดยการเปลี่ยนผ่านไปสู่เศรษฐกิจเทคโนโลยีคาร์บอนต่ำนั้นเกี่ยวข้องกับทั้งภาคพลังงาน การคมนาคมขนส่ง เกษตรกรรม และก่อสร้าง แต่ภาคที่ประสบความสำเร็จและโดดเด่นมากที่สุดในเยอรมนี ได้แก่ ภาคพลังงาน ในขณะที่ภาคอื่นๆ โดยเฉพาะอย่างยิ่ง การคมนาคมขนส่งยังพัฒนาช้ามากเมื่อเทียบกับประเทศอื่นๆ รถยนต์ที่ใช้ในประเทศเยอรมนียังคงใช้น้ำมันในการขับเคลื่อนเป็นหลัก

2.2 ประเด็นถกเถียงในเรื่องการคุ้มครองภูมิอากาศและความเป็นธรรม

เมื่อ 5 ปีก่อน ประเด็นการเปลี่ยนผ่านด้านพลังงานได้สร้างความกังวลใจเป็นอย่างมากว่าจะทำให้เกิดผลกระทบอย่างรุนแรง ทั้งในเรื่องราคาพลังงานที่จะเพิ่มสูงขึ้น พลังงานจะมีไม่เพียงพอและไม่เสถียร และการจ้างงานจะลดลง แต่ปัจจุบันความกังวลดังกล่าวได้คลี่คลายลงไปอย่างมาก ประเทศเยอรมนีสามารถลดปริมาณก๊าซเรือนกระจกลงได้ร้อยละ 28 จากเป้าที่ตั้งไว้ร้อยละ 50-95% ภายในปีค.ศ. 2050 ในขณะที่ต้นทุนค่าพลังงานไม่ได้แพงขึ้น เยอรมนีสามารถผลิตพลังงานไว้ใช้ในประเทศได้เพียงพอ และมีเหลือสำหรับส่งออกด้วย จากเดิมที่เคยเป็นประเทศผู้นำเข้า นอกจากนี้ ได้แก้ไขปัญหาความไม่สม่ำเสมอของพลังงานลมและแสงอาทิตย์ ด้วยการใช้แบตตารี่เก็บกักพลังงานไฟฟ้า ซึ่งแม้แบตตารี่จะมีราคาแพง แต่ก็มีความคุ้มค่า การจ้างงานในภาคพลังงานหมุนเวียนได้เพิ่มสูงขึ้นเป็น 330,000 งานในปีค.ศ. 2015 ยกเว้น พลังงานไฟฟ้าจากแสงอาทิตย์ที่ยังไม่สามารถแข่งขันราคากับต่างประเทศได้ โดยเฉพาะประเทศจีน นอกจากนี้ พลังงานหมุนเวียนยังทำให้เกิดนวัตกรรม และทำให้จำนวนการจดสิทธิบัตรของเยอรมนีเพิ่มสูงขึ้นอีกด้วย

ภาคพลังงานถ่านหินได้มีบทบาทน้อยลงในภาพรวมระดับประเทศ ทั้งในแง่การเป็นแหล่งรายได้และการจ้างงาน กล่าวคือ แรงงานที่ทำงานอยู่ในโรงงานไฟฟ้าถ่านหินมีจำนวนประมาณ 20,000 คน และในกิจกรรมที่เกี่ยวข้องอีกประมาณ 36,000 คน รวมเป็น 56,000 คน คิดเป็นเพียงร้อยละ 0.2 ของผู้มีงานทำและอยู่ในระบบประกันสังคม แต่อุตสาหกรรมนี้มีความสำคัญกับภูมิภาคที่เป็นแหล่งผลิตอยู่มากพอควร เพราะเหมืองถ่านหินลิกไนต์ในประเทศเยอรมนีกระจุกตัวอยู่ใน 3 ภูมิภาคเท่านั้น ได้แก่ เลาซิทซ์ ซึ่งมีแรงงานอยู่ในโรงงานไฟฟ้าถ่านหิน 8,300 คน และในกิจกรรมเกี่ยวข้อง 13,000 คน รวมคิดเป็นร้อยละ 17.5 ของผู้มีงานทำในอุตสาหกรรมการผลิตของภูมิภาค ลุ่มแม่น้ำไรน์ ซึ่งมีแรงงานอยู่ในโรงงานไฟฟ้าถ่านหิน 9,300 คน และในกิจกรรมเกี่ยวข้อง 14,000 คน รวมคิดเป็นร้อยละ 10.2 ของผู้มีงานทำในอุตสาหกรรมการผลิตของภูมิภาค และ โคโลญจน์ ซึ่งมีแรงงานอยู่ในโรงงานไฟฟ้าถ่านหิน 2,400 คน และในกิจกรรมเกี่ยวข้อง 4,000 คน รวมคิดเป็นร้อยละ 3.5 ของผู้มีงานทำในอุตสาหกรรมการผลิตของภูมิภาค นอกจากนี้ ภูมิภาคที่ผลิตถ่านหิน 3 แห่งนี้ ได้รับผลกระทบจากการเปลี่ยนผ่านพลังงานไม่เหมือนกัน เช่น บางภูมิภาคอาจสามารถปรับตัวได้ง่ายกว่า เพราะมีภาคการผลิตอื่นรองรับ หรืออยู่ใกล้กับเมืองใหญ่ จึงจะได้รับผลกระทบน้อยกว่า

การเปลี่ยนผ่านด้านพลังงานของประเทศเยอรมนีที่ผ่านมาได้ค่อยๆเกิดขึ้นโดยเริ่มต้นจากเหตุผลอื่นที่ไม่ใช่เพื่อแก้ปัญหาโลกร้อน และเกิดขึ้นในช่วงที่เศรษฐกิจของเยอรมนีเข้มแข็ง ส่งผลให้ประชาชนปรับตัวได้ง่ายขึ้นและมีระยะเวลาเพียงพอ อย่างไรก็ดี สำหรับการเปลี่ยนผ่านด้วยเหตุผลด้านสิ่งแวดล้อมครั้งนี้ แม้ว่าประชาชนเกือบทั้งประเทศจะเห็นพ้องต้องกันแล้วว่า พลังงานหมุนเวียนเป็นสิ่งจำเป็น และแม้ไม่มีผลต่อการจ้างงานในเชิงปริมาณ แต่มีผลเชิงคุณภาพของการจ้างงาน และเพื่อให้บรรลุเป้าหมายสิ่งแวดล้อมที่ตั้งไว้สูงมาก การเปลี่ยนผ่านจะต้องครอบคลุมในทุกส่วน ทั้งการคมนาคมขนส่ง การเกษตรและก่อสร้าง  ซึ่งจะกระทบคนจำนวนมาก เช่น หากเปลี่ยนจากรถยนต์ที่ใช้น้ำมันเป็นรถยนต์ไฟฟ้า จะกระทบแรงงานจำนวน 1 ใน 7 ของแรงงานทั้งประเทศ ซึ่งการเปลี่ยนผ่านนี้จำเป็นต้องนำเรื่องความยุติธรรม ทั้งทางด้านสังคม เศรษฐกิจ และสิ่งแวดล้อม เข้ามาร่วมพิจารณาด้วย ซึ่งเครื่องมือสำคัญที่ใช้เพื่อได้มาซึ่งความเป็นธรรมคือ ทุกฝ่ายต้องเข้ามามีส่วนร่วมถกเถียงแสดงความคิดเห็นกัน ซึ่งแม้จะเป็นเรื่องยากที่จะเอาทุกฝ่ายมาพูดคุยและหาทางออกร่วมกัน แต่จำเป็นต้องทำ เพราะถ้าหากไม่ทำอะไรเลย จะเกิดหายนะขึ้นกับโลกได้ และไม่ว่าจะสามารถคิดหานโยบายที่ดีมากเพียงไรก็ตาม ย่อมต้องมีผู้ที่ถูกทิ้งไว้ข้างหลัง จึงจำเป็นต้องมีสวัสดิการมารองรับ

ประเทศเยอรมนีได้มีการจัดตั้งคณะกรรมการว่าด้วยการเจริญเติบโต การเปลี่ยนแปลงโครงสร้างเศรษฐกิจและการจ้างงาน (Growth, Structural Change and Employment)หรือที่เรียกกันว่า คณะกรรมการถ่านหิน ประกอบด้วย กรรมการจากหลายๆฝ่ายจำนวน 28 คน ในจำนวนนี้มีตัวแทนจาก 4 กระทรวง ได้แก่ กระทรวงเศรษฐกิจและพลังงาน กระทรวงสิ่งแวดล้อม กระทรวงมหาดไทย และกระทรวงแรงงานและสวัสดิการสังคม นักวิชาการด้านต่างๆ และตัวแทนสหภาพแรงงาน 3 คน เป็นคณะกรรมการที่เป็นอิสระจากรัฐบาล มีการถกเถียงกันในประเด็นเรื่องเป้าหมายที่จะลดก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ลงในแต่ละปี ราคาพลังงานที่เหมาะสมควรจะเป็นเท่าไร ภาคเศรษฐกิจใหม่จะมีลักษณะอย่างไรในแต่ภูมิภาค ประชาชนจะได้รับผลกระทบอย่างไร จะมีมาตรการหรือสวัสดิการชดเชยผู้ได้รับผลกระทบทางลบและครอบครัวอย่างไรบ้าง ซึ่งคณะกรรมการชุดนี้ได้เริ่มทำงานตั้งแต่เดือนกรกฎาคม ปีค.ศ. 2018 และจะได้ข้อสรุปภายในสิ้นเดือนตุลาคม ปีค.ศ. 2018 นี้ นอกจากการจัดตั้งคณะกรรมการถ่านหินแล้ว ยังมีการรวมตัวกันเป็นเครือข่ายพันธมิตรภาคประชาสังคมด้านภูมิอากาศ เพื่อแลกเปลี่ยนความรู้ข้อมูลข่าวสารความคิดเห็น และตรวจสอบการทำงานของภาครัฐ และมีองค์กรคลังสมองหลายแห่งมาช่วยกันศึกษาค้นคว้าวิจัยเพื่อให้ข้อมูลและข้อเท็จจริงอีกด้วย

สำหรับสวัสดิการรองรับกรณีว่างงานเนื่องจากการเปลี่ยนผ่านด้านพลังงานนั้น คาดว่า จะประกอบด้วย เงินจากประกันการว่างงานที่จ่ายร้อยละ 80 ของเงินเดือนที่เคยได้รับเป็นระยะเวลา 1 ปี ซึ่งเป็นเงินที่ได้จากระบบประกันสังคม หลังจาก 1 ปีจะได้รับเงินสงเคราะห์ค่าครองชีพ นอกจากนี้ จะยังมีเงินจากกองทุนที่ได้รับจากสหภาพยุโรป (EU) เงินช่วยเหลือจากภาครัฐกรณีปิดกิจการที่ไม่ได้เกิดจากความผิดพลาดของบริษัทและลูกจ้าง และเงินชดเชยกรณีถูกลดชั่วโมงทำงานลง โดยต้องเพิ่มชั่วโมงฝึกอบรมทดแทน ซึ่งน่าจะมีการจัดตั้งกองทุนใหม่เพื่อใช้สำหรับเรื่องนี้เป็นการเฉพาะต่อไป นอกจากนี้ ยังมีแนวคิดจะแจกเงิน 20,000 ยูโรให้ประชาชนทุกคนได้เอาไปใช้ปรับทักษะและคุณวุฒิด้านการศึกษาเพื่อรับมือกับการเปลี่ยนผ่านเชิงโครงสร้างอีกด้วย

2.3   บทบาทของสหภาพแรงงานในช่วงการเปลี่ยนผ่าน

สหภาพแรงงานส่วนใหญ่ในประเทศมีความเห็นตรงกันว่า การคุ้มครองสิ่งแวดล้อมเป็นเรื่องจำเป็น เพราะ  “จะไม่มีการจ้างงานบนโลกที่ตายแล้ว”(จูดี้ บอนด์ส) โดยสิ่งแวดล้อมและการจ้างงานไม่จำเป็นต้องขัดแย้งกัน แต่สามารถไปด้วยกันได้ สหภาพแรงงานไม่ได้มองการคุ้มครองสิ่งแวดล้อมในด้านลบ แต่มองเห็นถึงโอกาสที่จะมีการจ้างงานใหม่ๆเกิดขึ้นภายใต้สภาพแวดล้อมที่ดีขึ้น เหมือนเช่นที่เกิดขึ้นในยุคที่มีการนำเครื่องจักรและคอมพิวเตอร์มาใช้มากขึ้น ก็ไม่ได้ทำให้การจ้างงานลดลง เพียงแต่เปลี่ยนแปลงรูปแบบการทำงาน มีคนเข้าไปนั่งทำงานในสำนักงานมากขึ้นและมีเครื่องทุ่นแรงช่วยให้การทำงานมีประสิทธิภาพมากขึ้น ภาคแรงงานได้เรียกร้องให้เกิดการเปลี่ยนผ่านอย่างเป็นธรรม กล่าวคือ ในขณะที่ต้องคุ้มครองสิ่งแวดล้อม ก็ต้องลดความเสี่ยงที่จะเกิดกับภาคแรงงานด้วย โดยได้มีการเสนอข้อเรียกร้อง 5 ข้อ ดังนี้

  1. เงื่อนไขการจ้างงานในภาคพลังงานหมุนเวียนจะต้องดีเหมือนภาคพลังงานถ่านหิน
  2. ต้องมีการประเมินผลกระทบที่จะเกิดขึ้นก่อน
  3. ต้องมีการสนทนาระหว่างภาครัฐ ภาคส่วนอื่นๆ และจะละเลยภาคแรงงานไม่ได้
  4. ต้องมีการอบรมทักษะใหม่ให้กับแรงงาน
  5. ต้องดูแลสวัสดิการให้กับแรงงานที่ไม่สามารถเปลี่ยนผ่านได้ เช่น แรงงานที่มีอายุมาก

ซึ่งแนวคิดเรื่องความเป็นธรรมนี้ได้รับการตอบรับโดยองค์การแรงงานระหว่างประเทศ (ILO)ที่ได้มีการกำหนดเป็นข้อแนะนำออกมา และในข้อตกลงปารีสก็ได้มีการนำเอาแนวคิดนี้ไปเป็นประเด็นพูดคุย แนวความคิดเรื่องการเปลี่ยนผ่านที่เป็นธรรมจึงเป็นเรื่องที่ทุกฝ่ายให้ความสนใจ และร่วมกันเป็นพันธมิตร

สิ่งที่สหภาพแรงงานกำลังประสบในปัจจุบันซึ่งเป็นยุคของการเปลี่ยนผ่านคือ แม้ว่าอัตราการว่างงานจะลดลง แต่สมาชิกสหภาพแรงงานมีจำนวนลดลงตั้งแต่ปีค.ศ. 2000 เป็นต้นมา โดยในปัจจุบันมีจำนวน 6 ล้านคนทั่วประเทศ (คิดเป็นร้อยละ 14 ของแรงงานทั้งหมด) แรงงานในภาคพลังงานหมุนเวียนยังมีสัดส่วนในสหภาพแรงงานน้อยเพียงร้อยละ 5 เท่านั้น นอกจากนี้ แม้จำนวนงานในภาคพลังงานหมุนเวียนจะเพิ่มขึ้น แต่คุณภาพการจ้างงานไม่ดีเท่ากับในภาคเศรษฐกิจเดิม ทั้งในแง่รายได้ การลาพักผ่อน ความมั่นคง สวัสดิการ และการมีส่วนร่วมของแรงงาน ซึ่งส่วนหนึ่งเป็นเพราะเป็นภาคเศรษฐกิจใหม่ บริษัทพลังงานหมุนเวียนจำนวนมากมีขนาดเล็กและยังไม่มั่นคง อีกทั้งความรู้ความเข้าใจในเรื่องสหภาพแรงงานของแรงงานยังมีไม่มาก สัญญาการจ้างงานจึงอาจยังไม่ได้มาตรฐาน และการที่แรงงานในภาคพลังงานหมุนเวียนยังมีสัดส่วนในสหภาพแรงงานน้อย ทำให้อำนาจการต่อรองต่ำ ดังจะเห็นว่า แรงงานในภาคถ่านหินที่เลาซิทส์มีอำนาจการต่อรองสูง ปัญหาการปิดเหมืองจึงได้รับความสนใจมาก ในขณะที่แรงงานในกลุ่มพลังงานแสงอาทิตย์ แม้ได้รับผลกระทบที่อุตสาหกรรมไม่สามารถแข่งขันกับคู่แข่งจากประเทศจีนได้ กลับไม่ได้รับความสนใจเท่าไรนัก

2.4 กรณีศึกษา

ภูมิภาคเขตเลาซิทซ์ (Lausitz)

เลาซิทซ์ เป็นภูมิภาคเขตตั้งอยู่ทางทิศตะวันตกเฉียงใต้ของเบอร์ลิน อยู่ติดกับประเทศโปแลนด์ ใช้เวลาเดินทางโดยรถยนต์ประมาณ 2 ชั่วโมง ปัจจุบันเลาซิทซ์มีประชากรอาศัยอยู่จำนวน 1.3 ล้านคน เดิมทีเคยเป็นเขตเหมืองแร่ถ่านหินลิกไนต์ขนาดใหญ่ที่สุดในเยอรมนีตะวันออก ในราวปีค.ศ. 1850 มีการใช้พลังงานไอน้ำเป็นครั้งแรก ลิกไนต์ในสมัยนั้นจึงเป็นเครื่องหมายของความก้าวหน้าทางเศรษฐกิจ ในช่วงปีค.ศ. 1920-1930 อุตสาหกรรมถ่านหินลิกไนต์จึงได้พัฒนาเฟื่องฟูขึ้นอย่างมาก จนกระทั่งเมื่อเกิดสงครามโลกครั้งที่ 2 เหมืองลิกไนต์จึงได้ซบเซาลง ต่อมาเมื่อมีการก่อตั้งสาธารณรัฐประชาธิปไตยเยอรมนี (เยอรมนีตะวันออก) ขึ้น อุตสาหกรรมถ่านหินลิกไนต์จึงกลับมาเฟื่องฟูขึ้นอีกครั้ง เพราะต้องใช้ในการผลิตไฟฟ้าเพื่อพัฒนาประเทศ เลาซิทซ์จึงกลายเป็นภูมิภาคที่ภาครัฐให้ความสำคัญ มีผู้คนอพยพเข้ามาอยู่เป็นจำนวนมาก เศรษฐกิจของภูมิภาคนี้จึงพึ่งพิงอุตสาหกรรมเหมืองแร่เป็นหลัก และละเลยการพัฒนาภาคการผลิตอื่นๆ

ต่อมาเมื่อเยอรมนีตะวันตกและตะวันออกรวมเป็นประเทศเดียวกันในปีค.ศ. 1990 ส่งผลให้ภูมิภาคเขตเลาซิทซ์สูญเสียความสามารถในการแข่งขัน ด้วยเทคโนโลยีที่ล้าสมัยเทียบไม่ได้กับภูมิภาคเขตอื่นในเยอรมนีตะวันตก ทำให้เหมืองแร่เลาซิทซ์ต้องลดขนาดการผลิตลงอย่างมาก ผู้คนอพยพออกจากพื้นที่เพื่อไปหางานทำที่อื่น เลาซิทซ์จึงมีสภาพเป็นชนบทที่มีเศรษฐกิจอ่อนแอตั้งแต่นั้นเป็นต้นมา ประชาชนที่นี่ซึ่งมีภาษาเป็นของตนเอง จึงมีความรู้สึกว่าเป็นพลเมืองชั้นสองที่ไม่ได้รับประโยชน์อะไรจากการรวมประเทศ การเปลี่ยนผ่านเพื่อควบรวมประเทศในครั้งนี้ไม่ได้การเตรียมการรองรับในเรื่องความเป็นธรรม

นโยบายด้านพลังงานของภาครัฐในปัจจุบันที่ต้องการลดการผลิตพลังงานไฟฟ้าจากถ่านหินลง จึงจะยิ่งส่งผลซ้ำเติมภูมิภาคนี้ โดยเฉพาะอย่างยิ่งแรงงานที่ทำงานในโรงงานไฟฟ้าลิกไนต์ ซึ่งมีอยู่ประมาณ 7,000-8,000 คน ซึ่งในปัจจุบันผลิตไฟฟ้าร้อยละ 10 ของประเทศ อย่างไรก็ดี มีการประเมินว่า ในปีค.ศ. 2030 จำนวนแรงงานกว่า 2 ใน 3 จะเกษียณอายุ จึงจะเหลือแรงงานที่จะได้รับผลกระทบเพียง  2,000-2,500 คน ที่จำเป็นจะต้องปรับทักษะเพื่อไปทำงานอื่น และมีความพยายามจะสร้างอุตสาหกรรมใหม่ในภูมิภาคนี้ เช่น พลังงานหมุนเวียน การวิจัยและการพัฒนา และการท่องเที่ยว แต่ก็ประสบปัญหาที่สำคัญคือ การขาดแคลนทรัพยากรมนุษย์ หรือ ปัญหาสมองไหล ปัญหาของภูมิภาคเลาซิทซ์จึงไม่ใช่ปัญหาเรื่องไม่มีการจ้างงาน แต่เป็นปัญหาที่ไม่สามารถรักษาทรัพยากรมนุษย์ที่มีคุณภาพไว้ในภูมิภาคได้ ทั้งนี้ สถาบันคลังสมอง Future Lab Lausitz กำลังพยายามค้นหาอัตลักษณ์และนำเสนอสิ่งที่เป็นไปได้สำหรับภูมิภาคนี้ ทั้งในเรื่องความสามารถในการแข่งขันและนวัตกรรม ประสิทธิภาพพลังงาน การคมนาคมและดิจิตัล สิ่งแวดล้อมและการท่องเที่ยว และอนาคตของการพัฒนาภูมิภาคนี้ ในขณะที่ภาคประชาสังคม Lausitzer Perspectives เป็นเวทีให้ประชาชน รวมถึงเด็กและเยาวชน ได้เข้ามามีส่วนร่วมตอบโจทย์ว่า อนาคตของเลาซิทซ์จะเป็นอย่างไร และพิจารณาว่าจะสามารถทำอะไรได้บ้าง โดยประชาชนส่วนใหญ่ของภูมิภาคเห็นด้วยกับการปิดเหมือง แม้สมาชิกบางส่วนของสหภาพแรงงานในภูมิภาคจะไม่เห็นด้วยก็ตาม ซึ่งสัดส่วนของแรงงานในเลาซิทส์ที่จะได้รับผลกระทบจากการปิดเหมืองคิดเป็นเพียงร้อยละ 3.84 ของเท่านั้น

หมู่บ้านพลังงานหมุนเวียนเฟลด์ไฮม (Feldheim)     

    เฟลด์ไฮม เป็นหมู่บ้านเล็กๆมีประชากรเพียง 130 คน ตั้งอยู่ห่างจากเบอร์ลิน 83 กิโลเมตรทางทิศตะวันตกเฉียงใต้ เป็นหมู่บ้านที่สามารถผลิตไฟฟ้าจากพลังงานหมุนเวียนใช้ได้อย่างเพียงพอภายในหมู่บ้านตั้งแต่ปีค.ศ. 2010 โดยพลังงานหมุนเวียนส่วนใหญ่เป็นพลังงานลม หมู่บ้านมีสวนพลังลมที่มีกังหันลมจำนวน 55 ตัว กังหันลมตัวแรกถูกสร้างขึ้นในปีค.ศ. 1995 นอกจากนี้ ยังมีสวนพลังงานแสงอาทิตย์อีกด้วย โดยชาวบ้าน สหกรณ์การเกษตร บริษัทพลังงานของเอกชน และภาครัฐได้ร่วมกันลงทุนตั้งโรงงานผลิตกระแสไฟฟ้าจากพลังงานหมุนเวียน ทั้งลมและแสงอาทิตย์ ภายในหมู่บ้าน นอกจากนี้ ยังมีพลังงานชีวมวล (biogass) ที่ใช้ผลิตความอุ่นเพื่อใช้ในอาคารบ้านเรือน โดยในช่วงปีค.ศ. 2003-2004 ที่ราคาสินค้าเกษตรโดยเฉพาะพืชไร่ตกต่ำ ในขณะที่ราคาไฟฟ้าสูงขึ้นอย่างมาก สหกรณ์การเกษตรได้อาศัยวิกฤตนี้ หันมาผลิตพลังงานชีวมวล จากผลิตผลทางการเกษตร เช่น ข้าวโพด ธัญพืช กิ่งไม้ และมูลสัตว์ โดยร่วมลงทุนกับบริษัทพลังงานของเอกชน ทั้งนี้ การที่หมู่บ้านเฟลด์ไฮมหันมาผลิตไฟฟ้าและความอุ่นด้วยพลังงานหมุนเวียนนี้ ทำให้หมู่บ้านไม่ต้องพึ่งพิงรายได้จากสินค้าเกษตรแต่เพียงอย่างเดียว เกิดการสร้างงานเพิ่มมากขึ้นในหมู่บ้าน สิ่งแวดล้อมสะอาดขึ้น ลดต้นทุนค่าไฟฟ้าและความอุ่นลงมาก และการที่มีบริษัทเอกชนเข้ามาตั้ง ทำให้มีเงินที่ได้จากการจัดเก็บภาษี นำมาใช้สร้างสาธารณูปโภคขั้นพื้นฐานภายในหมู่บ้าน

ส่วนที่ 3: ข้อคิดสำหรับประเทศไทย 9 ประการ

  1. คนไทยต้องตระหนักว่าโลกร้อนเป็นปัญหา และเป็นปัญหาใหญ่ ไม่แก้ไขไม่ได้ และต้องแก้ไขอย่างเร่งด่วน รอช้าไม่ได้ ต้องไม่ห่วงแต่ปัญหาเศรษฐกิจ แต่ต้องตระหนักถึงการเจริญเติบโตอย่างยั่งยืน ที่คำนึงถึงสิ่งแวดล้อมด้วย และโลกร้อนเป็นภัยคุกคามของโลก ไม่ใช่ของประเทศใดประเทศหนึ่ง ทุกประเทศรวมทั้งประเทศไทยต้องเข้าไปรับผิดชอบและร่วมกันแก้ไข โดยอาศัยโอกาสทางเทคโนโลยีใหม่ๆ เพื่อให้ภารกิจกอบกู้รักษาโลกสำเร็จได้อย่างทันเวลา
  2. ภาครัฐต้องแสดงเจตจำนงอันแน่วแน่ ภาครัฐต้องมีความกล้าหาญทางการเมืองที่จะออกนโยบายเพื่อขับเคลื่อนประเทศไปสู่เศรษฐกิจใหม่ที่ใช้เทคโนโลยีคาร์บอนต่ำอย่างเป็นรูปธรรม ที่ผ่านมา ภาครัฐไทยทำเพียงแค่ส่งเสริมรณรงค์ ยังไม่ได้มีนโยบายที่ส่งผลต่อการเปลี่ยนแปลงใดๆในเชิงโครงสร้าง เช่น มีการรณรงค์รักษาสิ่งแวดล้อมด้วยการลดการใช้ถุงพลาสติก ก็กระทำกันอย่างจำกัด ไม่แพร่หลายในสังคมไทยโดยทั่วไป ยังไม่มีการเก็บภาษีคาร์บอน แม้จะมีการผลิตพลังหมุนเวียนเพิ่มมากขึ้น แต่ยังไม่มีการลดการผลิตไฟฟ้าจากถ่านหิน ซ้ำร้ายยังอาจมีการก่อสร้างโรงไฟฟ้าถ่านหินแห่งใหม่ขึ้นอีก
  3. การเปลี่ยนผ่านต้องเป็นไปอย่างเป็นธรรม เมื่อภาครัฐมีนโยบายลดโลกร้อนอย่างเป็นรูปธรรมที่ก่อให้เกิดการเปลี่ยนแปลงเชิงโครงสร้างแล้ว ผู้เกี่ยวข้องทุกฝ่ายจำเป็นต้องเข้ามามีส่วนร่วมกำหนดวิธีการเปลี่ยนผ่าน และเจรจาประสานประโยชน์ เพื่อให้เกิดการเปลี่ยนผ่านที่เป็นธรรมขึ้นในสังคม
  4. การสื่อสารเป็นเรื่องสำคัญ จำเป็นอย่างยิ่งที่จะต้องสื่อสารให้สังคมได้มั่นใจ ไม่หวาดกลัว และเห็นภาพตรงกันว่า การเปลี่ยนผ่านจะนำมาซึ่งเศรษฐกิจใหม่ที่มีลักษณะเป็นอย่างไร ชีวิตของคนในสังคมจะเป็นอย่างไร จะต้องปรับตัวอย่างไรบ้าง และจะได้รับการชดเชยเยียวยาอย่างไรหากต้องได้รับผลกระทบทางลบ
  5. ข้อมูลและงานวิจัยมีความจำเป็น การเปลี่ยนผ่านจะมีผลกระทบแตกต่างกันไปตามพื้นที่ จึงจำเป็นต้องศึกษาหาข้อมูลเฉพาะของแต่ละพื้นที่ เพื่อหาทางออกที่เป็นไปได้และเหมาะสมกับพื้นที่หนึ่งๆ
  6. ภาคประชาสังคมต้องคิดก่อนการณ์ ประชาชนต้องรวมตัวกันสร้างเป็นเครือข่ายด้านภูมิอากาศ เพื่อแลกเปลี่ยนข้อมูล ข่าวสาร และความรู้ คิดนำคนอื่น คอยตรวจสอบการทำงานของภาครัฐ และประสานผลประโยชน์ของฝ่ายต่างๆ
  7. ความมั่นคงในการจ้างงานและสวัสดิการมีแนวโน้มลดลง มีความเป็นไปได้ว่า การเปลี่ยนผ่านไปสู่เศรษฐกิจที่ใช้พลังงานหมุนเวียนเข้มข้น จะส่งผลให้การแข่งขันในตลาดเพิ่มสูงขึ้น ผู้ประกอบการในตลาดอาจไม่ใช่ผู้ประกอบการรายใหญ่เพียงไม่กี่รายเหมือนก่อน แต่จะมีผู้ประกอบการรายใหม่ที่มีขนาดเล็กลงและจำนวนมากขึ้นเข้ามามีส่วนแบ่งในตลาด ซึ่งส่งผลดีในแง่การกระจายรายได้ แต่ในขณะเดียวกัน การจ้างงานจะมีความมั่นคงและสวัสดิการน้อยลง โดยเฉพาะในบริษัทใหม่ที่มีขนาดเล็กหรือเป็นบริษัทสตาร์ทอัพ จำนวนสมาชิกของสหภาพแรงงานก็มีแนวโน้มจะลดลงด้วยเช่นกัน
  8. พลังงานหมุนเวียนช่วยลดความจำกัดด้านพลังงาน ในบางพื้นที่ในประเทศไทยที่ไฟฟ้ายังมีไม่พอใช้ เช่น ทางภาคใต้ของไทย หรือยังไม่มีไฟฟ้าใช้ เช่น พื้นที่ห่างไกลบนดอยสูง ถือเป็นโอกาสอันดีที่พลังงานหมุนเวียนจะเข้าไปช่วยให้ประชาชนสามารถเข้าถึงพลังงานไฟฟ้าได้มากขึ้นด้วยการลงทุนด้านพลังงานหมุนเวียน แทนที่จะลงทุนสร้างโรงงานไฟฟ้าถ่านหินแห่งใหม่
  9. แนวคิดการเปลี่ยนผ่านที่เป็นธรรมสามารถนำมาประยุกต์ใช้ในบริบทของการเปลี่ยนผ่านสู่เทคโนโลยี 0 รวมถึงการเปลี่ยนแปลงนโยบายต่างๆของรัฐที่มีผลต่อการเปลี่ยนแปลงเชิงโครงสร้าง ไม่ว่าจะเป็นแผนยุทธศาสตร์ชาติ 20 ปี หรือโครงการเขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออก (EEC)เป็นต้น ที่จะมีผู้ได้ประโยชน์และผู้เสียประโยชน์ ซึ่งต้องมาร่วมพูดคุยประสานประโยชน์กันทุกฝ่าย เพื่อให้การเปลี่ยนผ่านไม่มีใครต้องถูกทิ้งไว้ข้างหลัง

เอกสารอ้างอิง

นิรมล สุธรรมกิจ และ กิริยา กุลกลการ (2560)การเปลี่ยนผ่านที่เป็นธรรม: การศึกษาเบื้องต้นถึงผลกระทบของการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศต่อแรงงานในประเทศไทย. มูลนิธิฟรีดริค เอแบร์ท.

Sen Amartya (2011)The Idea of Justice. Belknap Press. United States.

[1] การศึกษาดูงานที่ประเทศเยอรมนีได้รับทุนสนับสนุนจากมูลนิธิฟรีดริค เอแบร์ท ทั้งนี้ บทความนี้เป็นข้อคิดเห็นส่วนบุคคล จึงไม่จำเป็นต้องสอดคล้องกับความเห็นของมูลนิธิฟรีดริค เอแบร์ท และคณะเศรษฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์

[2] วิวาทะระหว่าง พุทธทาสภิกขุ และ มรว.คึกฤทธิ์ ปราโมช เรียบเรียงโดย วรทัศน์ วัชรวสี ในหนังสือ คึกฤทธิ์ กับ ศาสนา (2012)

[3] งานสัมมนาประจำปี 2554 คณะเศรษฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์