การพัฒนาเขตเศรษฐกิจพิเศษ พื้นที่นี้เพื่อใคร?

การที่โลกมีการกล่าวถึงเรื่องภาวะโลกร้อน มีการนำเสนอให้มีการลดภาวะโลกร้อนเพื่อก้าวสู่การพัฒนาอุตสาหกรรมสะอาดที่ลดมลพิษต่อโลก หรือแม้กระทั้งการใช้คำรณรงค์ให้ “หยุดทำร้ายโลก” หรือ กระทั่งว่า “ไม่มีการจ้างงานบนดาวเคราะห์ที่ตายแล้ว” jobs and clean energy  งานที่ใช้พลังงานสะอาด นำไปสู่การเคลื่อนไหวขององค์กรแรงงานทั่วโลกเรื่อง Just Trasition เพื่อให้มีการเปลี่ยนผ่านที่เป็นธรรม

“ในประเทศไทยกับการปรับตัวด้วยการเปลี่ยนผ่าน เท่าที่เห็นในนโยบายได้มีการกำหนดยุทธศาสตร์ชาติ 20 ปีที่จะพัฒนาไปข้างหน้า คือ ไทยแลนด์ 4.0 ที่ต้องการสร้างความมั่นคงให้กับประเทศ มั่นคงทางด้านเศรษฐกิจ มั่นคงทางด้านสิ่งแวดล้อม การพัฒนาเศรษฐกิจสีเขียว ที่ต้องมีความมั่งคั่งยั่งยืน คนมีรายได้สูง คุณภาพชีวิตดี ในส่วนของกระทรวงแรงงานดูเรื่องของงานที่มีคุณค่า แรงงานต้องมีผลิตภาพ เป็นแนวคิดในการพัฒนาเพื่อการก้าวพ้นประเทศที่มีรายได้ปานกลางไปสู่ประเทศที่มีรายได้สูง เป็นประเทศที่พัฒนาแล้ว มีการจ้างงานเต็มศักยภาพที่มีปัญหาคนว่างงานน้อย เป้าหมายที่จะเดินไปสู่ยุค 4.0 อุตสาหกรรมแรก คือ ยานยนต์ เรื่องท่องเที่ยวเชิงสุขภาพ เรื่องของเกษตร เทคโนโลยี่ด้านสุขภาพการแปรรูปอาหาร แผนแม่บท ระยะปฏิรูปขั้นที่หนึ่งต้องมีการอัพเกรดแรงงาน ทั้งภาครัฐ ภาคเอกชน และแรงงาน เพื่อทำงานร่วมกันในการเพิ่มความรู้ วิทยาการ และทักษะให้กับแรงงาน หน่วยงานหลักที่ทำคือกรมพัฒนาฝีมือแรงงาน ต้องมีการปรับ และปฏิรูปองค์กร”

นี่คือคำกล่าวบางส่วนโดย นางเพชรรัตน์ สินอวย ผู้ช่วยปลัดกระทรวงแรงงานได้นำเสนอไว้ในงานสัมมนาวิชาการ “สู่เศรษฐกิจสีเขียว – การเปลี่ยนผ่านที่เป็นธรรมต่อแรงงาน (Green Economy : A Just Transition)” วันที่ 21 ตุลาคม 2559 ที่โรงแรมเซ็นจูรี่ พาร์ค กรุงเทพฯ จัดโดย มูลนิธิฟรีดริค เอแบร์ท (FES) ซึ่งเห็นว่าเป็นหลักการสำคัญในการที่จะเปลี่ยนผ่านเพื่อความเป็นธรรมต่อทั้งด้านคุณภาพชีวิตแรงงาน และในส่วนของการพัฒนาอุตสาหกรรมให้เข้าสู่ความทันยุคทันสมัย

แต่เมื่อแนวทางการพัฒนามีความชัดเจนขึ้นในเชิงพื้นที่อุตสาหกรรมด้วยร่างพระราชบัญญัติเขตเศรษฐกิจพิเศษภาคตะวันออก (อีอีซี) นโยบายระเบียงเขตเศรษฐกิจภาคตะวันออก มีเป้าหมายเพื่อที่จะดึงดูดนักลงทุนหน้าใหม่ให้เข้ามาลงทุนใน 10 อุตสาหกรรมแห่งอนาคต โดยรัฐบาลได้เตรียมความพร้อมในเรื่องโครงสร้างพื้นฐานทางกายภาพ โครงสร้างพื้นฐานด้านกฎหมายกฎระเบียบ และสิทธิประโยชน์ที่ให้แก่นักลงทุน ซึ่งในระยะสั้นถึงปานกลาง ศูนย์วิจัยกสิกรไทยคาดว่า EEC จะให้ประโยชน์แก่นักลงทุนเดิม โดยเป็นการลงทุนต่อยอดในอุตสาหกรรมเดิมไปสู่อุตสาหกรรมกลุ่ม First S-curve (อุตสาหกรรมเดิมที่มีศักยภาพ) ส่วนการลงทุนของนักลงทุนรายใหม่ในอุตสาหกรรม New S-curve (อุตสาหกรรมแห่งอนาคต) จะยังมีไม่มากนัก โดยในระยะยาว การดึงดูดเม็ดเงินลงทุนในอุตสาหกรรมแห่งอนาคตจำเป็นต้องคำนึงถึงปัจจัยอื่น ๆ ประกอบด้วย อาทิ ปัจจัยด้านแรงงาน ความต่อเนื่องของนโยบายภาครัฐ ระดับการพัฒนาด้านวิจัยและพัฒนา (R&D) ของประเทศ ความพร้อมของโครงสร้างพื้นฐานด้านเทคโนโลยีสารสนเทศ (IT) และนวัตกรรม ก่อนที่จะมีแนวทางการใช้คำสั่งคณะรักษาความสงบแห่งชาติออกคำสั่งมาตรา 44 เพิ่มข้อกำหนดการใช้ประโยชน์พื้นที่ระเบียงเศรษฐกิจภาคตะวันออก เพื่อเร่งทำผังเมืองเขตเศรษฐกิจพิเศษเพิ่มความมั่นใจให้นักลงทุน โดยไม่ต้องรอกฎหมายอีอีซีประกาศใช้ เมื่อวันที่ 24 ตุลาคม 2560 เพราะต้องใช้เวลาอีกนานกว่าร่างพระราชบัญญัติเขตเศรษฐกิจพิเศษภาคตะวันออก (อีอีซี) ที่อยู่ระหว่างการพิจารณาของสภานิติบัญญัติแห่งชาติ (สนช.) จะมีผลบังคับใช้

โดยเริ่มต้นจากคณะกรรมการบริหารการพัฒนาระเบียบเศรษฐกิจพิเศษภาคตะวันออก (กรศ.) จัดทำผังเมืองเพื่อใช้ประโยชน์พื้นที่ของอีอีซี คือ จ.ฉะเชิงเทรา, ชลบุรี และระยอง ว่าจะใช้ประโยชน์อย่างไร จากนั้น นำเสนอขอบเขตของแผนคร่าวๆ ต่อคณะกรรมการนโยบายการพัฒนาระเบียงเขตเศรษฐกิจภาคตะวันออก เพื่อให้ความเห็นชอบ ก่อนส่งให้สำนักงานเพื่อการพัฒนาระเบียงเศรษฐกิจพิเศษภาคตะวันออก (สกรศ.) เพื่อดำเนินการกับภาครัฐที่เกี่ยวข้อง เช่น กรมโยธาธิการและผังเมือง จัดทำแผนการใช้ประโยชน์พื้นที่ให้ละเอียดมากขึ้น โดยเฉพาะระบบสาธารณูปโภค ระบบขนส่งมวลชน ระบบเทคโนโลยีสารสนเทศในการสื่อสาร ระบบนิเวศสิ่งแวดล้อม ที่อยู่อาศัย การบริหารจัดการน้ำ การควบคุมขจัดมลพิษ โดยมีกรอบระยะเวลาดำเนินการให้แล้วเสร็จภายใน 6 เดือน จากนั้นเสนอให้ สกรศ.รับทราบอีกครั้งหนึ่ง ก่อนส่งให้คณะรัฐมนตรีเห็นชอบ จากนั้นส่งต่อให้กรมโยธาธิการและผังเมืองจัดทำรายละเอียดแผนดังกล่าว โดยไม่ต้องคำนึงว่ากฎหมายผังเมืองจะเป็นอย่างไร ซึ่งจะทำให้ในอนาคต ประเทศไทยมีผังเมือง 2 รูปแบบ ได้แก่ ผังเมืองรวมโดยทั่วไป และผังเมืองที่ใช้เฉพาะกับจังหวัดที่เป็นเขตเศรษฐกิจพิเศษเท่านั้น ได้แก่ จ.ฉะเชิงเทรา, ระยอง, ชลบุรี

แน่นอนว่าเสียงแห่งความไม่เห็นด้วยกับวิธีการออกคำสั่งคณะรักษาความสงบแห่งชาติ(คสช.)ออกคำสั่งมาตรา 44 เพิ่มข้อกำหนดการใช้ประโยชน์พื้นที่ระเบียงเศรษฐกิจภาคตะวันออกดังขึ้น ด้วยภาคประชาชนมองว่า การที่คสช.ออกคำสั่งเพื่อยกเลิกกฎหมายผังเมืองสามจังหวัดภาคตะวันออก คือการซ้ำเติมชาวบ้านรอบเขตอุตสาหกรรมที่เคยเผชิญภาวะมลพิษ ในขณะที่ รัฐบาลและภาคธุรกิจอธิบายว่า นี่คือส่วนหนึ่งของมาตรการดึงดูดนักลงทุนเข้ามาเพื่อสร้างการเติบโตทางเศรษฐกิจของประเทศรอบใหม่

ด้านผู้ใช้แรงงาน นายยงยุทธ เม่นตะเภา ประธานสมาพันธ์แรงงานอุตสาหกรรมแห่งประเทศ มองการปรับเปลี่ยนและพัฒนาแรงงานภายใต้อุตสาหกรรมใหม่ว่า

“เทคโนโลยี 4.0 การพัฒนาเขตเศรษฐกิจพิเศษที่จะเกิดขึ้น ที่ท่านผู้นำประเทศใช้วาทกรรม “ไม่ทิ้งใครไว้ข้างหลัง” ในขณะที่ช่องว่างระหว่างคนจน คนรวยหากดูตัวเลขสถิติก็ชัดเจนอยู่แล้วว่า “ประเทศไทยมีความเหลื่อมล้ำเป็นอันดับ 3 ของโลก” ยังนึกไม่ออกว่าจะเดินไปอย่างไร ในขณะที่กลไกกฎหมายเรื่องของสิทธิเสรีภาพยังไม่มี เรื่องการส่งเสริมอำนาจการต่อรอง กระบวนการมีส่วนร่วมแสดงความคิดเห็นต่อแนวคิดการพัฒนาก็ไม่มี และในส่วนของนายจ้างเองก็ไม่ปฏิบัติตามกฎหมาย ภายใต้การพัฒนาเศรษฐกิจพิเศษค่าจ้างจะเป็นอย่างไรในเขตพื้นที่เศรษฐกิจพิเศษ การดูแลการคุ้มครองสิทธิ นายจ้างสามารถจ่ายต่ำกว่ากฎหมายกำหนดได้ใช่หรือไม่ เพราะพื้นที่พิเศษนั้นเป็นพื้นที่บริหารแบบยืดหยุ่นได้ กฎหมายไม่เกี่ยวข้องใช่หรือไม่ ซึ่งสร้างความกังวลใจมากและเฝ้าจับตามองกันอยู่ว่าทิศทางจะเป็นอย่างไร เพราะทุกวันปัญหาก็คงยังรุมเร้ากันอยู่”

คำถามเรื่องการพัฒนาที่กล่าวถึงเทคโนโลยีสะอาดนำไปสู่สิ่งแวดล้อมที่ดีขึ้น เช่นเทคโนโลยีที่เข้ามาจะเกิดการจ้างงานจริงไหม

“คงต้องย้อนไปดูตัวเลขว่ามีคนตกงานมากขึ้นจริงหรือไม่ จากตัวเลขเดิมคนตกงาน 1 แสนกว่าคน เป็น 4-5 แสนคนแล้ว แค่เริ่มต้นนายกรัฐมนตรีประกาศเป็นนโยบายเอง ตามที่บอกว่าแรงงานเป็นคนส่วนใหญ่ของประเทศ นโยบายการพัฒนาที่จะต้องมีแผนรองรับคนเหล่านี้จะทำอย่างไร คนที่มีSkill (ความเชี่ยวชาญ) ไม่ต้องเป็นห่วง คนที่ไม่มี Skill ที่มีวุฒิการศึกษาเพียงมัธยม 3 หรือต่ำกว่า เพราะทุกวันนี้การจ้างงานส่วนใหญ่คือคนกลุ่มนี้  รัฐบาลวางแผนในการพัฒนาเขาอย่างไรบ้าง ให้มีความสอดคล้องกับเทคโนโลยีใหม่ได้อย่างไร อยากเห็นแผนการดำเนินงานเหมือนกัน”

แน่นอนว่าการพัฒนามีความสำคัญ แต่ต้องมีความพร้อมในหลายส่วนเพื่อการรองรับในการพัฒนาไม่ใช่มองเฉพาะผลประโยชน์ในการจูงใจนายทุนมาลงทุนเท่านั้น เอาเครื่องจักรมาทดแทนคน แล้วผู้ใช้แรงงานคนส่วนนี้จะไปอยู่ส่วนไหน ทั้งค่าจ้าง สวัสดิการแรงงานจะอยู่ได้อย่างไร ซึ่งในส่วนของทักษะก็ต้องมาดูว่ามีสักกี่คนที่ได้ค่าจ้างตามทักษะฝีมือ ตอนนี้ก็อ้างว่า นำเครื่องจักรมาแทนคนในประเภทงานที่ไม่ปลอดภัย จากเดิมเคยใช้คนพ่นสี มีความเป็นอันตรายเลยนำเครื่องจักรมาทำแทน ซึ่งจริงๆแล้วไม่ใช่เพียงจุดนี้ แต่มีหลายตำแหน่งที่นำเครื่องจักรมาแทนคน ในต่างประเทศที่มีสื่อมาเผยแพร่ว่า บางบริษัทไม่มีคนทำงานเลย บางประเภทในกิจการยานยนต์ประเทศเยอรมันมีคนงานทำงานน้อยมาก

ท่ามกลางขณะที่ประเทศไทยยังใช้แรงงานเข้มข้นอยู่ คนกลุ่มนี้จะไปอยู่ตรงจุดไหน รัฐบาลต้องมีแผนรองรับที่ชัดเจนในการพัฒนา ผู้นำแรงงานยังกล่าวอีกว่า ภาพที่ตนมองเห็นคือคนตกงานแน่ แต่มาตรการที่รัฐบาลใช้เป็นนโยบายคืออ้าแขนรับ เตรียมลดภาษีในการนำเครื่องจักรเข้ามา แต่แผนในการพัฒนาคนยังไม่ชัดเจน ภายใต้คนตกงานที่เพิ่มขึ้นแบบก้าวกระโดดในปัจจุบัน

คำถามสุดท้ายคือ การพัฒนาระเบียงเขตเศรษฐกิจภาคตะวันออก จะยังคงเป็นความไม่เชื่อมั่นในการพัฒนาอุตสาหกรรมสะอาด หรือว่าสุดท้ายแล้วคือเพื่อดึงดูดการลงทุนเพียงอย่างเดียว ซึ่งกระบวนการเปลี่ยนแปลงที่ใช้คำว่าการพัฒนา ควรต้องให้ผู้ที่ได้รับผลกระทบจากแผนพัฒนา เช่น ภาคผู้ใช้แรงงาน ภาคประชาชน ภาคชุมชนนั้นๆ มีส่วนในการแสดงความต้องการหรือข้อเสนอต่อการเปลี่ยนผ่านที่เป็นธรรม(Just Trasition)ด้วยหรือไม่