กลางเมืองไม่ได้มีแค่โปเกม่อน ซอกหลืบมีแรงงานข้ามชาติ-นอกระบบให้จับ

20160909_1800321

ตัวแทนแรงงานข้ามชาติ -นอกระบบ มองรัฐไม่ดูแล คุ้มครอง แต่จ้องจับเหมือนโปเกม่อน ด้านสื่อชายขอบ เสนอปัญหาแรงงานต้องแก้ด้วยการสร้างเอกภาพ หยุดแบ่งแยกตามกฎหมายที่รัฐกำหนด

เมื่อวันที่ 9 กันยายน 2559 ได้จัดเสวนาเรื่อง “กลางเมืองไม่ได้มีแค่โปเกม่อน: ซอกหลืบของแรงงานที่ไม่มีใครออกตามหา”  จัดโดย สถานีโทรทัศน์ไทยพีบีเอส หอศิลปวัฒนธรรมแห่งกรุงเทพ มูลนิธิหอศิลปวัฒนธรรมแห่งกรุงเทพ วิทยาลัยพัฒนาศาสตร์ป๋วย อึ้งภากรณ์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ มูลนิธิพิพิธภัณฑ์แรงงานแห่งประเทศไทย ร่วมกับมูลนิธิฟรีดริค เอแบร์ท (FES)

นายอดิศร เกิดมงคล เครือข่ายแรงงานข้ามชาติกล่าวว่า แรงงานข้ามชาติถือว่าเป็นแรงงานที่ทำงานอยู่ในทุกซอกทุกมุมของเมืองใหญ่ เมื่อหิวเดินเข้าไปในร้านอาหารเขาแรงงานข้ามชาติอยู่ตรงนั้น ซึ่งปัญหาคือแรงงานข้ามชาติถูกมองว่าเป็นคนอื่นในสังคม มองว่าไม่ใช่พวกเรา แบ่งแยกออกไปจากแรงงานกลุ่มอื่นๆในสังคม ตามหัวข้อเสวนาที่ว่า กลางเมืองไม่ได้มีแค่โปเกม่อน: ซอกหลืบของแรงงานที่ไม่มีใครออกตามหา ซึ่งแรงงานข้ามชาติมีคนคอยค้นหาเหมือนหรือยิ่งกว่าโปเกม่อนแต่คนละวัตถุประสงค์ต่างที่เรียกว่าไล่ล่าปราบปรามจับกุม ซึ่งแรงงานนอกระบบก็โดนด้วย

“แรงงานข้ามชาติไม่ถูกมองว่าเป็นแรงงานที่ต้องได้รับการดูแลหรือต้องคุ้มครองเป็นแรงงานที่ถูกลืมไปแล้วว่า แรงงานข้ามชาติเป็นแรงงานกลุ่มแรกที่เข้ามาพัฒนาเศรษฐกิจ ทำงานในอุตสาหกรรมให้กับประเทศไทย ซึ่งช่วงเปิดประเทศครั้งแรกคือแรงงานจีน ซึ่งตอนนี้อาจไม่ใช่แรงงานแล้ว ซึ่งแรงงานพม่าที่เข้ามาในประเทศไทยปัจจุบันก็เหมือนกับแรงงานจีนในอดีต และถูกมองข้ามเหมือนกัน ซึ่งในความหมายทางชนชั้นผู้ใช้แรงงานยังคงแบ่งว่า เป็นแรงงานข้ามชาติ แรงงานนอกระบบ แรงงานในระบบ และแรงงานรัฐวิสาหกิจ มีการดูแลและคุ้มครองที่ต่างกัน” นายอดิศรกล่าว

นายอดิศรยังกล่าวอีกว่า มุมการสื่อสารของแรงงาน สื่อมวลชนมักสนใจประเด็นแรงงานข้ามชาติ ในปัญหาการค้ามนุษย์ การถูกละเมิดสิทธิมนุษยชน แต่มิติการสื่อสารเรื่องกฎหมายการคุ้มครองดูแลแรงงานนั้นน้อย หรือเกือบไม่มี ซึ่งแรงงานข้ามชาตินั้นมีปัญหาทั้งนายจ้างไม่ปฏิบัติตามกฎหมายแรงงาน รัฐไม่ตามหาเพื่อคุ้มครองดูแล ปล่อยให้มีการละเมิดสิทธิเพราะแรงงานไม่รู้เรื่องกฎหมาย นายจ้างก็ไม่ทราบเลยไม่ปฏิบัติ ทางออกของแรงงานข้ามชาติมีความพยายามที่จะสื่อสารกันเองในหลายภาษา เนื่องจากแรงงานข้ามชาติไม่ใช่แต่พม่า ยังมีชาวไทยใหญ่ กระเหรี่ยง มอญ ฯลฯ มีการสื่อสารผ่านสื่อโซเซียมีเดีย เป็นต้น

20160909_1800471

ด้านนางพูลทรัพย์ สวนเมือง ตุลาพันธ์ มูลนิธิเพื่อการพัฒนาแรงงานและอาชีพ กล่าวถึงประเด็นแรงงานนอกระบบว่า ยังคงเป็นปัญหาใหญ่ในสังคมด้วยแรงงานนอกระบบเป็นคนกลุ่มใหญ่ในประเทศไทยมีถึง 24 ล้านคน แต่เป็นแรงงานที่ไม่ได้รับการคุ้มครอง และเป็นแรงงานที่ถูกมองว่าไม่เป็นแรงงานเลยไม่ได้รับการดูแล คนในสังคมเองที่เป็นผู้ประกอบอาชีพอิสระทั้งค้าขาย คนขับมอเตอร์ไซค์รับจ้าง คนขับรถแท็กซี่ ขับสามล้อ รับจ้างทั่วไป ตัดเย็บเสื้อผ้า ตัดผม รับงานไปทำที่บ้าน ฯลฯ เขาเหล่านี้คือ แรงงานนอกระบบ แต่กลับไม่มีใครกล่าวถึงการดูแลคุ้มครองในฐานะแรงงาน ในด้านการคุ้มครองแม้รัฐจะมีการออกกฎหมายคุ้มครองคนทำงานบ้าน กฎหมายคุ้มครองผู้รับงานไปทำที่บ้าน แต่ในทางปฏิบัติแรงงานนอกระบบก็ยังไม่ได้รับการดูแลให้มีการคุ้มครองอย่างแท้จริง เช่นแรงงานทำงานตามบ้านนายจ้างยังคงใช้งานโดยไม่กำหนดวันหยุด เพราะเป็นแรงงานที่อยู่ในบ้านการตรวจสอบของรัฐทำได้ยาก นายจ้างก็ไม่ทราบเรื่องคุ้มครองแรงงานก็ไม่ปฏิบัติ ซึ่งการทำงานด้านการทำความเข้าใจอาจต้องใช้หลายด้านร่วมมือกันเช่นการสื่อสารทำความเข้าใจให้กับทั้งนายจ้างและแรงงานนอกระบบด้วย ซึ่งตรงนี้บทบาทสื่อมวลชนมีความสำคัญมากในการสร้างความตระหนักและสร้างความเข้าใจ ถึงกฎหมายและความเป็นแรงงานที่มีคุณค่า

ส่วนนายภาสกร จำลองราช สื่อมวลชนคนชายขอบ กล่าวถึงการทำหน้าที่สื่อมวลชนว่า ปัญหาของแรงงานคือไม่รู้ว่าเป็นแรงงาน สื่อมวลชนก็เช่นกันไม่รู้ว่าตัวเองเป็นแรงงานการสื่อสารตามประเด็นปัญหาไม่ค่อยทำงานเจาะลึกว่าต้องคุ้มครองดูแลกะนอย่างไรแรงงานนอกระบบ คืออะไร แรงงานในระบบคืออะไรแบ่งแยกกันด้วยอาชีพหรือลักษณะงาน หรือการจ้างงาน ค่าจ้างหรือการจัดสวัสดิการ

“สิ่งที่ต้องลุกขึ้นมาทำคือการสื่อสารทำความเข้าใจในส่วนของแรงงานก่อน ต้องสื่อสารให้สื่อสนใจที่จะทำหน้าที่ ซึ่งตอนนี้สื่อมวลชนก็ต้องต่อสู้กับสื่อใหม่ที่เกิดขึ้นในโซเซียลมีเดียจำนวนมาก เพราะตามไม่ทันเช่นประเด็นการสื่อสารของแรงงานข้ามชาติที่ใช้การสื่อสารในกลุ่มตนเองแล้วสร้างเครือข่าย สร้างความรู้ข่าวสารต่างๆจนเป็นประเด็นที่สื่อต้องไปทำ เพราะไม่ทำก็ตามข่าวไม่ทันเป็นต้น สื่อของแรงงานข้ามชาติไปไกลมาก” นายภาสกรกล่าว

นายภาสกรกล่าวอีกว่า ประเด็นต่อมาแรงงานนอกระบบและแรงงานข้ามชาติมองตัวเองว่าเป็นส่วนหนึ่งของขบวนการแรงงานหรือไม่ และจะขับเคลื่อนประเด็นอย่างเป็นขบวน ต้องร่วมกันสร้างเอกภาพในขบวนการแรงงาน เพื่อให้รัฐมองว่าแรงงานคือคนส่วนใหญ่ของประเทศที่ต้องให้ความสำคัญและเข้ามาดูแล ปัญหาใหญ่คือแรงงานไม่กล้าบอกว่าตัวเองเป็นแรงงาน ไม่เห็นคุณค่าและไม่ภาคภูมิใจในชนชั้นของตนเอง จึงกลายเป็นกลุ่มคนที่ถูกลืมและไม่ถูกกล่าวถึงในฐานะผู้สร้างเศรษฐกิจ รัฐเป็นคนเขียนกฎหมาย และก็ไม่บังคับใช้ แรงงานก็ไม่ได้สนใจที่จะรักษาสิทธิในฐานะผู้มีสิทธิเพราะไม่คิดว่าตนเองเป็นแรงงาน ฉะนั้นการแบ่งแรงงานในระบบ แรงงานนอกระบบ และแรงงานข้ามชาตินั้นให้เป็นเพียงรัฐและกฎหมายแต่แรงงานอย่างแบ่งแยกกันเองต้องร่วมกันสร้างขบวนที่เป็นเอกภาพและเข้มแข็งด้วยกัน