กระเป๋ารถเมล์เผย ชีวิตไร้คุณภาพ รถติดเครียดป่วย

20140221_104914

เปิดเวทีเผยวิกฤตพนักงานกระเป๋ารถเมล์หญิง สุขภาพแย่โรคภัยรุมเร้า สุดเครียดรถติด กลั้นปัสสาวะ ใส่แพมเพิสทำงาน ชี้ห้องน้ำไม่เพียงพอ ไม่มีบริการในอู่ ร้องผู้เกี่ยวข้องช่วยดูเรื่องสวัสดิการ หวั่นผู้บริหารเปลี่ยนระบบจ้างงานที่ไม่หมั่นคงส่งผลไม่มีคนใหม่มาช่วยทำงาน

วันที่ 21กุมภาพันธ์ 2557 สหภาพแรงงานรัฐวิสาหกิจองค์การขนส่งมวลชนกรุงเทพ (ขสมก.)ร่วมกับมูลนิธิหญิงชายก้าวไกล ได้จัดเสวนา “ตีแผ่วิกฤติการทำงาน พนักงานหญิง ขสมก.” ที่โรงแรมเอบีน่าเฮ้าส์

นางชุติมา บุญจ่าย เลขาธิการสหภาพแรงงานรัฐวิสาหกิจขสมก.กล่าวว่า จากการสำรวจเรื่องคุณภาพชีวิตพนักงานหญิงในองค์การขนส่งมวลชน (ขสมก.)จำนวน 761 คนตั้งแต่วันที่ 1 ธันวาคม2556 ถึง วันที่ 31 มกราคม 2557 อายุ 20 ปีขึ้นไป พบว่า ส่วนใหญ่ทำหน้าที่เป็นพนักงานเก็บค่าโดยสาร และพนักงานขับรถ ประมาณร้อยละ 43.3 ต้องทำงานล่วงเวลาเกินวันละ 2 ชั่วโมง และพบอีกว่ามีการใช้ความรุนแรงทะเลาะวิวาท ปัญหาความรุนแรงในครอบครัว และการรับภาระดูแลครอบครัวเพียงลำพัง
ยังพบกลุ่มตัวอย่างกว่าร้อยละ 94.3 เกิดความเครียดจากปัญหารถติดต้องอยู่บนรถเมล์เป็นเวลานานบนท้องถนน รองลงมาร้อยละ 93.3 เหนื่อยจากการทำงานหรือเดินทางร้อยละ 90.9 มีปัญหากล้ามเนื้ออ่อนแรงร้อยละ 90.3 ชั่วโมงการทำงานที่ยาวนานไม่มีเวลาพักผ่อน นอกจากนี้ยังพบปัญหาด้านสุขภาพร้อยละ 8.8 เป็นโรคกระเพาะร้อยละ 79.6 เป็นโรคเกี่ยวกับระบบทางเดินปัสสาวะเพราะกลั้นปัสสาวะบ่อยๆร้อยละ 72.8 ระบบขับถ่ายมีปัญหา ขณะที่ 1 ใน 4 หรือร้อยละ 28.4 ต้องใส่ผ้าอ้อมสำเร็จรูประหว่างทำงานเพราะไม่มีเวลาเข้าห้องน้ำ นอกจากนี้ยังมีปัญหาอื่นๆ คือถูกเลือกปฏิบัติจากหัวหน้างาน ถูกกดดันจากการทำงาน และมีปัญหากับเพื่อนร่วมงาน

20140221_10485720140221_112008

จากปัญหาทั้งเรื่องงาน ครอบครัว และแรงกดดันต่างๆทำให้พนักงานเกิดความเครียดไม่มีพื้นที่ระบายทุกข์ และไมได้รับการแก้ปัญหา หลายรายหาทางออกด้วยการดื่มสุรา โดยพบว่าร้อยละ 20.1 ดื่มบ่อย และร้อยละ 22.5 ดื่มเพราะเครียดต้องการคลายความทุกข์ สำหรับข้อเสนอเพื่อยกระดับคุณภาพชีวิตกลุ่มตัวอย่างระบุว่าต้องการให้จัดสวัสดิการให้แก่พนักงาน โดยเฉพาะห้องน้ำสะอาด มีการจัดตารางเวลางานที่เหมาะสม ให้ความใส่ใจด้านสุขภาพ และส่งเสริมให้พนักงานมีเวลาดูแลตัวเอง

“การเกิดปัญหาด้านสุขภาพของพนักงานกระเป๋ารถเมล์เกิดจากความเครียดสะสม การที่ต้องอยู่บนรถนานๆ อยากเข้าห้องน้ำก็เข้าไม่ได้ ทำให้เกิดปัญหาด้านสุขภาพ ป่วยเป็นกระเพาะปัสสาวะอักเสบ โรคกระเพาะเพราะทานข้าวไม่ตรงเวลา ความเครียดก็ส่งผลกระทบต่อการบริการ บางครั้งโดยผู้โดยสารร้องเรียน ซึ่งอยากให้ผู้โดยสารเข้าใจพนักงานอย่างเราด้วยว่าทำงานตั้งแต่ตีหนึ่งผจญกับปัญหามากมายแต่ก็พยายามที่จะให้บริการให้ดีที่สุด พนักงานก็ต้องการการดูแลด้านสวัสดิการเพื่อให้เกิดคุณภาพชีวิตที่ดี เช่นคนที่ใช้ชีวิตปกติ คือมีห้องน้ำสะอาดพอเพียง มีเวลาพักผ่อน มีเวลากินอาหารแบบปกติ เพราะพวกเรากินอาหารและเข้าห้องน้ำใช้เวลา 2 นาที เพราะว่ารถไม่เพียงพอในการให้บริการ พนักงานก็มีน้อย เพราะนโยบายการบริหารการจ้างงานเปลี่ยนไป เช่นกระเป่ารถตอนนี้มีการจ้างแบบลูกจ้างชั่วคราวไม่มีสวัสดิการอื่นๆเหมือนพนักงานรัฐวิสาหกิจเดิม ทำให้คนไม่สนใจที่จะเข้ามาทำงานตรงนี้ พนักงานจึงน้อยไม่เพียงพอในการให้บริการ ชีวิตของพนักงานขสมก.จึงรีบเร่งมากในการใช้ชีวิตและทำงานในชั่วโมงงานที่ยาวนานด้วย” นางชุติมา กล่าว

20140221_11203120140221_105715

นางสาววัชรี วิริยะ พนักงานเก็บค่าโดยสารขสมก.อายุ 54 ปี กล่าวว่า ทำงานมาเป็นเวลา 22 ปี ในวันหนึ่งต้องเก็บค่าโดยสารวันละ 2 รอบทำงานวันละ 13-16 ชั่วโมง ทำงานอยู่ที่อู่แพรกษา สมุทรปราการ ปลายทางสนามหลวงตลอดเส้นทางเจอกับปัญหารถติดมาก และปลายทางไม่มีห้องน้ำบริการให้พนักงานทำให้ต้องกลั่นปัสสาวะไว้จนเกิดท่อปัสสาวะอักเสบ ตอนนี้ต้องใส่ผ้าอ้อมสำเร็จรูปทำงาน วันไหนมีรอบเดือนจะปวดท้องทรมานมาก และเมื่อปี 2547 เคยประสบอุบัติเหตุขณะปฏิบัติหน้าที่ คือมีรถตัดหน้า พนักงานขับรถเบรกกะทันหัน ส่งผลให้มีปัญหาเรื่องหมอนรองกระดูกช่วงหัวเข่าฉีก ข้อต่อร้าวต้องผ่าตัดใส่เหล็ก และสะโพกเคลื่อน

ล่าสุดแพทย์เพิ่งพบว่าตนมีเนื้องอกที่มดลูกจึงตัดสินใจผ่าตัด เมื่อพักรักษาตัวดีแล้ว จึงกลับเข้าทำงานเก็บค่าโดยสารเหมือนเดิมเพราะไม่มีทางเลือกแม้แพทย์จะแนะนำไม่ให้ทำงานหนัก ทั้งนี้อยากให้กระทรวงคมนาคมเล็งเห็นปัญหาด้านสุขภาพของพนักงานและร่วมกันแก้ปัญหาอย่างจริงจัง และอยากให้มีนโยบายในการปรับเปลี่ยนตำแหน่งตามความเหมาะสม มีสวัสดิการที่เพียงพอด้วย

นายวีระพงษ์ วงศ์แหวน ประธานสหภาพแรงงานฯกล่าวว่า สหภาพแรงงานได้มีการนำเสนอปัญหา และแนวทางแก้ไขปัญหาเรื่องสุขภาพ สวัสดิการเพื่อให้เกิดคุณภาพชีวิตที่ดีต่อพนักงานมาโดยตลอด แต่ยังไม่ได้รับการแก้ไขเท่าที่ควร การสำรวจพบปัญหาว่าพนักงานมีปัญหาด้านสุขภาพซึ่งส่วนใหญ่เป็นผู้หญิง ที่ได้รับผลกระทบ เช่นโรคทางเดินปัสสาวะมากกว่าผู้ชาย เพราะผู้ชายปวดปัสสาวะก็วิ่งหาพื้นที่หลับตาปล่อยได้ แต่ผู้หญิงต้องเข้าห้องน้ำ ซึ่งเวลารถติดๆนั้นทรมานมาก และบางพื้นที่แม้ว่าจะขับรถถึงปลายทางก็ต้องรีบวกรถกลับทันที่เพราะไม่มีพื้นที่จอดรถ คือ ขสมก.ไม่มีพื้นที่สถานที่จอดรถ และไม่มีห้องน้ำต้องกลับมาเข้าที่อู่รถ และในสภาพรถที่ติดมากบนถนน การทำงานที่มากกว่า 8 ชั่วโมง อีกปัญหาคือ รถก็เก่ามาก และไม่เพียงพอต่อการให้บริการ และพนักงานตอนนี้มีน้อย มีการเปิดรับสมัครพนักงานขับรถ และกระเป๋าเพิ่ม ซึ่งพนักงานขับรถจะมีการบรรจุเป็นพนักงานประจำของขสมก. แต่ส่วนกระเป๋ารถเมล์นั้นจะรับเป็นพนักงานชั่วคราวซึ่งมีความไม่มั่นคงในการมีงานทำส่งผลให้มีคนสมัครน้อยมาก และอยากให้มีการสนับสนุนการซื้อรถขสมก.ใหม่มาเปลี่ยนรถเก่า ด้วยรถเก่าหมดสภาพ รถเก่าเสียบ่อยทำให้เพื่อนที่ทำงานต้องแบกภาระวิ่งรถหลายรอบหากรถอีกคันเสียเป็นต้น

20140221_10571520140221_112017

นางพิชญ์สินี เทพรส หนึ่งในพนักงานเก็บค่าโดยสารขสมก.สาย 142 เล่าว่า ทำงานมาตั้งแต่ปี 2549 ปัจจุบันระบบการจ้างงานเปลี่ยนเป็นจ้างงานไม่ประจำทำให้ไม่มีคนสมัครเข้ามาเป็นพนักงานเก็บค่าโดยสาร และในขสมก.ก็มีการเปิดให้มีการสมัครงานภายในเปลี่ยนตำแหน่งจากกระเป๋ารถเมล์เป็นพนักงานขับรถ และตำแหน่งอื่นๆ ทุกคนต้องการความก้าวหน้าการทำงานก็สอบไปรับตำแหน่งใหม่ ส่วนการเปิดรับคนใหม่ก็มีปัญหาเมื่อสวัสดิการการจ้างงานไม่เหมือนเดิมก็ไม่มีคนสนใจเข้ามาทำ

“กระเป๋ารถเมล์ต้องมีการเข้างานเป็นรอบงานวิ่งวันละ 2 รอบเริ่มรอบแรกตอน 02.00 น.และทำงานวันละ 8 ชั่วโมง แต่จริงแล้วรถติดก็เกินเวลาการกินอยู่ก็ต้องซื้อขนมปังติดตัวไปเพราะจะไม่ได้กินเป็นเวลา ดื่มน้ำก็น้อย เพราะกลัวต้องเข้าห้องน้ำ ซึ่งมีไม่เพียงพอ และบางครั้งก็ต้องเร่งรีบ พอถึงปลายทางก็รีบกลับ เพราะรถมีไม่พอ เป็นกระเป๋ารถเมล์ต้องมีเงินติดตัวไว้ทุกวันเพื่อแลกเหรียญไว้ทอนอย่างน้อย 1 พันบาท จะต้องซื้อกระบอกเก็บเงิน ชุดฟอร์มทำงานเอง ที่ทำงานกันแบบอดทนเพราะว่ารัฐวิสาหกิจมีสวัสดิการให้ครอบครัวด้วย จึงคิดว่าการไม่มีสวัสดิการให้กับพนักงานใหม่ที่จะเข้ามาเทียบเท่าเดิมคงหาคนมาทำงานยาก และการทำงานขสมก.ก็ต้องเสี่ยงต่อครอบครัวแตกแยก เลิกกันเพราะเวลาไม่ตรงกัน แต่หากทำงานที่เดียวกันก็ไม่ค่อยมีปัญหา ตอนนี้ตนเองก็ต้องเลี้ยงลูกคนเดียว ” นางพิชญ์สินี กล่าว

นักสื่อสารแรงงาน รายงาน