เผยปัญหาสิ่งแวดล้อมมลพิษอุตสาหกรรมกับชุมชน

3041

การขยายตัวและการพัฒนาพื้นที่อุตสาหกรรมในประเทศไทยเป็นไปอย่างต่อเนื่องยาวนานมากว่า40 ปี เกิดพื้นที่สำหรับกิจการอุตสาหกรรมหลากหลายรูปแบบ เฉพาะรูปแบบนิคมอุตสาหกรรมก็มีมากกว่า 60 แห่ง ครอบคลุม 18 จังหวัด ทั่วประเทศ และการนิคมฯก็ตั้งเป้าหมายในการขยายพื้นที่อุตสาหกรรมในปี 2558 ประมาณ 4,000 ไร่ จากพื้นที่ที่การนิคมฯมีอยู่ 14,333 ไร่ โดยในส่วนของนิคมฯเหมราชอีสเทิร์นซีบอร์ด แห่งที่2 จ.ชลบุรี ขอขยายพื้นที่ประมาณ 631 ไร่ นิคมฯเหมราชระยอง 36  ขยาย 49ไร่ นิคมฯเอเชีย จ.ระยอง 31 ไร่ นิคมฯอีสเทิร์นซีบอร์ด จ.ระยอง 704 ไร่ นิคมฯอมตะซิตี้ 2,524 ไร่  และนิคมฯสินสาคร จ.สมุทรสาคร 83 ไร่

แน่นอนว่า การพัฒนาพื้นที่อุตสาหกรรมมักส่งผลกระทบด้านสิ่งแวดล้อม ซึ่งส่งผลโดยตรงต่อประชาชนในชุมชนโดยรอบ จึงมักเห็นข่าวชาวบ้านคัดค้านการสร้างนิคมฯ ร้องเรียนโรงงานเรื่องการปล่อยน้ำเสีย ทิ้งขยะอุตสาหกรรมรวมทั้งผลกระทบต่อสุขภาพจากฝุ่นควันสารพิษที่ออกมาจากโรงงานอุตสาหกรรม เมื่อเกิดข่าวคราวทำนองนี้ ก็จะเห็นภาครัฐออกมาแสดงบทบาทดุดันเป็นพักๆแล้วก็เงียบหายไป ทั้งที่เรามีกฎหมายควบคุมอยู่หลายฉบับทั้ง พ.ร.บ.ส่งเสริมการลงทุน พ.ศ. 2520 พ.ร.บ.การนิคมอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย พ.ศ.2522 พ.ร.บ.โรงงาน พ.ศ.2535 ที่บังคับให้ผู้ประกอบธุรกิจอุตสาหกรรมต้องวางระบบสาธารณูปโภคและระบบบำบัดของเสียจากโรงงาน การควบคุมสารเคมีต่างๆ ก่อนมีการให้ใบอนุญาตโดยเฉพาะพ.ร.บ.ส่งเสริมและรักษาคุณภาพสิ่งแวดล้อม พ.ศ.2535 และรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พ.ศ.2540 ที่ได้กำหนดให้มีการทำรายงานการวิเคราะห์ผลกระทบสิ่งแวดล้อมหรือการทำEIA แต่ก็ไม่รู้ว่าเพราะความล้มเหลวในระบบการตรวจสอบจากภาครัฐหรือความไม่รับผิดชอบของผู้ประกอบการ จึงทำให้การทำEIA ผ่านทุกครั้งและก็สร้างปัญหาตามมาทุกครั้ง

เช่นเดียวกับที่ จ.ปราจีนบุรี ที่กำลังเกิดผลกระทบจากการพัฒนาอุตสาหกรรม ทำให้มูลนิธิบูรณะนิเวศและกลุ่มเพื่อนตะวันออก จัดโครงการสัมมนาเพื่อส่งเสริมสิทธิการเข้าถึงข้อมูลมลพิษ กรณีสารปรอทและมลพิษอุตสาหกรรมจังหวัดปราจีนบุรี ซึ่งจัดขึ้นที่โรงแรมวังสำราญ อ.ศรีมหาโพธิ์ จ.ปราจีนบุรี  เพื่อให้เกิดการแลกเปลี่ยนข้อมูล ความเห็นในการแก้ปัญหามลพิษอุตสาหกรรมในจังหวัดปราจีนบุรี มาตรการฟื้นฟูคูคลองสาธารณะที่ถูกลุกล้ำโดยผู้ประกอบธุรกิจอุตสาหกรรมอีกทั้งการปนเปื้อนสารปรอทในน้ำและเนื้อปลาโดยเฉพาะที่คลองชลองแวง และยังส่งผลกระทบไปถึงพืชผลของชาวบ้านที่ต้องอาศัยน้ำในลำคลองปลูก

สำหรับจังหวัดปราจีนบุรีมีการพัฒนาอุตสาหกรรมมาตั้งแต่ปี2527โดยบริษัทสวนกิตติที่มาซื้อที่ดินใน ต.ท่าตูมปลูกต้นยูคาลิปตัส ต่อมามีการสร้างโรงงานเยื่อกระดาษและโรงไฟฟ้าถ่านหินในปี2538 และเริ่มส่งผลกระทบต่อชุมชนเรื่อยมาตั้งแต่ปี2545  เกิดกลิ่นเหม็นจากโรงงานเยื่อกระดาษ   เสียงที่ดังจากโรงไฟฟ้า ขี้เถ้าจากถ่านหินส่งผลกระทบต่อผิวหนังและระบบหายใจของชาวบ้าน ส่งผลกระทบต่อพืชผลของชาวบ้าน เกิดน้ำเสียปลาตายในคลองชะลองแวงและแม่น้ำปราจีน จนในเดือนมกราคมปี 2556มูลนิธิบูรณนิเวศและเครือข่ายภาคประชาชนใน จ.ปราจีนบุรี ได้แถลงข่าวการค้นพบสารปรอทในปลาช่อนและเส้นผมของคนใน ต.ท่าตูม พบบ่อฝังกลบที่โรงงานนำขี้เถ้าจากพื้นที่อื่นมาทิ้งที่ต.ท่าตูมและพื้นที่ใกล้เคียง ซึ่งหลังจากการแถลงข่าวเพียงวันเดียวหน่วยงานที่เกี่ยวข้องทั้งกรมโรงงานและกรมควบคุมมลพิษรวมถึงกรมสอบสวนคดีพิเศษต่างรีบออกมาตรวจสอบหาข้อเท็จจริงและมีคำสั่งให้บริษัทดับเบิ้ลเอ เอทานอลหยุดกิจการชั่วคราวเนื่องจากพบว่าระบบบำบัดน้ำเสียไมสามารถใช้การได้แต่มีการปล่อยน้ำทิ้งถึงวันละ1,000ลูกบาศก์เมตร  และหนึ่งเดือนหลังจากแถลงข่าวทางกระทรวงอุตสาหกรรมได้จัดตั้งคณะทำงานไตรภาคีขึ้นมาเพื่อแก้ปัญหาด้านมลพิษและสารปรอท บริเวณสวนอุตสาหกรรม304 แต่น่าขันที่คณะทำงานชุดนี้มีการประชุมเพียง๔ครั้งในระยะเวลา๒ปี ซึ่งในวันที่ 7- 9 เมษายนนี้ชาวบ้านและสามพันธ์แรงงานอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทยจะร่วมกันฟื้นฟูคลองชะลองแวง ตามข้อสรุปร่วมกันในการประชุมเมื่อวันที่ 21 มีนาคมที่ผ่านมา

ในขณะที่กระทรวงอุตสาหกรรมก็มีการรณรงค์เรื่องอุตสาหกรรมเชิงนิเวศ ที่มุ่งเน้นการสร้างระบบอุตสาหกรรมที่เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม ด้วยวิสัยทัศน์การเป็นเมืองอุตสาหกรรมเชิงนิเวศ มีโครงการอุตสาหกรรมสีเขียวที่เปิดให้โรงงานอุตสาหกรรมสมัครเข้าร่วมโครงการ โดยแบ่งการพัฒนาเป็น 5 ระดับ คือในระดับ 1.ความมุ่งมั่นสีเขียว ระดับ 2.ปฏิบัติการสีเขียว ระดับ 3.ระบบสีเขียว ระดับ 4.วัฒนธรรมสีเขียว ระดับ 5. และสร้างแรงจูงใจด้วยการมาตรการลดหย่อนค่าบริการการต่อใบอนุญาตโรงงาน 3 ปี ในโรงงานที่ได้ระดับ 3 จำนวน 5,000 บาท ระดับ4 และ 5 จำนวน 10,000 บาท พร้อมทั้งจัดทำแผนยุทธศาสตร์ ปี 2557-2559 และตั้งเป้าไว้ในปี 2558 ให้มีการรับรองอุตสาหกรรมสีเขียวจำนวน 465 โรงงาน จาก 3,100 โรงงาน

การเปลี่ยนผ่านจากวิถีชีวิตแบบชนบทมาสู่การพัฒนาอุตสาหกรรม คนงานในชนบทได้เปลี่ยนสถานะเป็นลูกจ้างไปทำงานในโรงงาน ได้รับมลพิษจากในรั้วโรงงาน เลิกงานออกมาก็มารับมลพิษในชุมชน กินอาหารที่ปนเปื้อนสารพิษ แล้วก็กลับมาทำงานในรั้วโรงงาน วนเวียนอยู่เช่นนี้ วิถีชีวิตแบบใหม่นี้สร้างบาดแผลพอสมควรกับชาวบ้านที่ต้องอยู่ร่วมกับระบบอุตสาหกรรมที่ไร้สำนึกความรับผิดชอบและต้องพึ่งพาความล้มเหลวของหน่วยงานราชการที่ไม่อาจบังคับใช้กฎหมายที่มีอยู่ได้อย่างมีประสิทธิภาพ ทำให้ชาวบ้านมีทางเลือกเพียงอย่างเดียวคือการลุกขึ้นมาปกป้องชีวิตและวิถีชีวิตของคนในชุมชนด้วยตัวของตัวเอง ซึ่งจริงๆแล้วหากทางผู้ประกอบการมีสำนึกความรับผิดชอบต่อส่วนรวมไม่ต้องทำอะไรมากแค่ทำตามกฎหมายและระเบียบที่มีอยู่อย่างเคร่งครัด เคารพและให้เกียรติต่อวิถีชีวิตของชุมชน ปัญหาที่มีอยู่คงจบลงได้ แม้จะปฏิเสธไม่ได้ว่าอุตสาหกรรมก็ได้สร้างผลประโยชน์ไม่น้อยต่อชุมชน แต่หากย้อนเวลากลับไปได้ผมคิดว่าชาวบ้านที่นี่คงเลือกที่จะไม่ให้มีอุตสาหกรรมเกิดขึ้นในพื้นที่[i]แน่นอน

////////////////////////////////////

เอกสารประกอบโครงการสัมมนาเพื่อส่งเสริมสิทธิการเข้าถึงข้อมูลมลพิษ กรณีสารปรอทและมลพิษอุตสาหกรรมจังหวัดปราจีนบุรี สำนักข่าวอินโฟเควส วันพฤหัสบดี ที่ 5 มีนาคม 2558