แรงงานย้ำค่าจ้าง 360บาทอัตราเดียว

2015-06-25 14.00.59

เครือข่ายแรงงานเสนอปรับค่าจ้างอัตราเดียวทั้งประเทศ ยันอย่าลดต้นทุนด้วยค่าแรงต่ำ
วันที่ 25 มิถุนายน 2558 คณะกรรมการสมานฉันท์แรงงานไทย (คสรท.) สมาพันธ์แรงงานรัฐวิสาหกิจสัมพันธ์ (สรส.) ได้ร่วมกันประกาศเจตนารมณ์ และเดิรรณรงค์ไปยังกองอำนวยการรับเรื่องราวร้องทุกข์ นายกรัฐมนตรีที่ตั้งอยู่ที่ชั้นล่างสำนักข้าราชการพลเรือน ตรงข้ามทำเนียบรัฐบาลเพื่อยื่นหนังสือต่อถึงนายกรัฐมนตรี โดยมีนายกมล สุขสมบูรณ์ ที่ปรึกษานายกรัฐมนตรีเป็นผู้มารับหนังสือดังกล่าว

2015-06-25 14.02.30

นางสาววิไลวรรณ แซ่เตียได้ประกาศจุดยืนต่อการปรับค่าจ้าง ว่าที่ผ่านมา ประเด็นการปรับค่าจ้างเป็นประเด็นที่มีข้อถกเถียงกันอย่างกว้างขวางในสังคม ประเด็นแรกคือ ความพยายามที่จะให้ลอยตัวค่าจ้างแทนค่าจ้างราคาเดียวทั้งประเทศ ประเด็นที่สองเรื่องการปรับค่าจ้างจาก 300 บาทที่ถูกแช่แข็งมาตั้งแต่ปี 2554 จนถึงปี 2558 ซึ่งขบวนการแรงงานขอปรับเป็น 360 บาท ทั้ง 2 ประเด็น โดยมีจุดยืนดังนี้

1. เราไม่เห็นด้วยต่อความพยายามในการที่จะปล่อยให้ค่าจ้างแบบลอยตัวในแต่ละจังหวัดแต่ละเขต เพราะจะทำให้คนงานย้ายถิ่นสู่พื้นที่ค่าจ้างที่สูงกว่า ทำให้ชยบทถูกทิ้งร้างถึงขั้นล่มสลาย เกิดการกระจุกตัวของประชาชนในเขตเมือง ก่อให้เกิดปัญหาความแออัด ปัญหาการเข้าถึงการบริการสาธารณะ ปัญหาสังคมด้านต่างๆ รัฐต้องลงทุนอย่างมหาศาลต่อการแก้ไขปัญหาความแออัดในเขตเมือง แทนที่จะนำงบประมาณไปลงทุนสนับสนุนเรื่องการศึกษา การป้องกันสุขภาพ และพัฒนาคุณภาพชีวิต

2015-06-25 14.03.48

ประเด็นค่าครองชีพ ราคาสินค้าที่อ้างว่าต่างจังหวัดถูกกว่าในเขตเมืองวันนี้ไม่เป็นความจริงอีกต่อไป พิสูจน์ได้จากราคาสินค้าอุปโภคบริโภค ในร้านสะดวกซื้อ หรือห้างสรรพสินค้าราคาเท่ากัน บางรายการแพงกว่าในเขตเมืองหรือกรุงเทพฯด้วย เราจึงขอสนับสนุนจะผลักดันทุกวิถีทางเพื่อให้มีค่าจ้างอัตราเดียวเท่ากันทั้งประเทศ

2. เราขอให้รัฐบาลปรับค่าจ้างขั้นต่ำจากวันละ 300 บาทเป็น 360 บาทเท่ากันทั้งประเทศ เพราะค่าจ้าง 300 บาทถูกแช่แข็งไม่มีการปรับมาตั้งแต่ปี 2554 ในขณะที่ราคาสินค้าปรับราคาสูงขึ้นอย่างต่อเนื่อง และผลสำรวจค่าครองชีพจากผู้ใช้แรงงานและสำนักโพลต์ต่างๆก็ยืนยันว่าค่าจ้าง 300 บาทไม่เพียงพอต่อการยังชีพประกอบกับก่อนหน้านี้รัฐบาลได้ตรากฎหมายให้ข้าราชการทุกประเภทปรับขึ้นเงินเดือนไปกว่าร้อยละ 10 ดังนั้น รัฐบาลไม่ควรเลือกปฏิบัติต่อคนงานเอกชน และภาครัฐวิสาหกิจ ส่วนคำกล่าวอ้างว่าจะกระทบต่อเศรษฐกิจโดยรวมซึ่งก็เป็นหน้าที่ของรัฐบาลที่เข้ามาบริหารประเทศจะหามาตรการและวิธีการแก้ไข ที่สำคัญยามที่เศษรฐกิจทั่วโลกต่างมีปัญหาถดถอย การกระตุ้นการบริโภคภายในประเทศด้วยการปรับขึ้นค่าจ้างควบคู่กับการควบคุมราคาสินค้าไม่ให้ปรับราคาสูงเกินไปก็จะเป็นการแกไขปัญหาที่เน้นการเติบโตและพึ่งพาตนเอง

2015-06-25 14.04.18

ดังนั้น คสรท. และสรส.จึงขอให้มีการปรับขึ้นค่าจ้างขั้นต่ำเป้นวันละ 360 บาทอัตราเดียวเท่ากันทั้งประเทศอันจะเป็นเหตุผลในการแก้ไขปัญหาความเหลื่อมล้ำ และสร้างความเป็นธรรมให้เแก่สังคมอย่างแท้จริง ดังนโยบายของรัฐบาลที่ได้ประกาศก่อนหน้านี้ ซึ่งคงจะได้เห็นถึงความจริงใจ และความกล้าหาญของรัฐบาลที่จะรักษาผลประดยชน์ของคนส่วนใหญ่หรือไม่เพราะผู้ใช้แรงงานซึ่งเป็นคนกลุ่มใหญ่ของประเทศ

นายสาวิทย์ แก้วหวาน เลขาธิการสมาพันธ์แรงงานรัฐวิสาหกิจ กล่าวว่า  การที่ผู้ใช้แรงงานเสนอปรับค่าจ้างขั้นต่ำเป็น 360 บาท เท่ากันทั้งประเทศ นั้นก็เพื่อให้เกิดความเท่าเทียมเป็นธรรม ด้วยค่าครองชีพในชนบทกับในเมืองไม่มีความแตกต่างกัน ส่วนเรื่องของข้ออ้างประเด็นผู้ประกอบการขนาดเล็ก อย่างSMEนั้นตนเคยเสนอต่อรัฐบาลแล้วว่าให้หาวิธีการลดต้นทุนด้านอื่นๆเช่นสำนักงานคณะกรรมการส่งเสริมการลงทุน(BOI)ให้มาช่วยส่งเสริมตรงนี้

“ผมไม่เห็นด้วยกับการลดต้นทุนด้านค่าแรง เป็นการเอาเปรียบผู้ใช้แรงงานเกินไป คนทำงานก็ต้องการคุณภาพชีวิตที่ดี ไม่ใช่ทำงานมา 30 กว่าปี ได้รับค่าจ้างขั้นต่ำ 300 บาทเท่านั้น นี่คือคำยืนยันว่าแรงงานไทยได้ประโยชน์จากการปรับขึ้นค่าจ้าง 300 บาทแน่นอน หากนายกประกาศปรับขึ้นค่าจ้าง 360 บาทแรงงานไทยได้ประโยชน์แน่นอน”

เว็บไซต์transbordernewsรายงานว่า พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี กล่าวภายหลังการประชุมคณะกรรมการนโยบายเขตพัฒนาเศรษฐกิจพิเศษ ถึงกรณีที่แรงงานเรียกร้องขอปรับขึ้นค่าแรงว่า ยังไม่สามารถขึ้นได้ แต่สื่อก็ไปเขียนให้เป็นประเด็น ตนเคยบอกแล้วว่าแรงงานต้องผ่านการคัดกรองที่กระทรวงแรงงาน ผ่านการประเมินความสามารถ ที่แรงงาน ไม่ได้ใช้แรงงานอย่างเดียว ซึ่งจะมีค่าแรงตามขั้นตอนให้อยู่แล้ว แต่ก็ไม่ทำกัน

“ผมถามหน่อยว่าแรงงานทั้งประเทศมีเท่าไหร่ ถ้าขึ้นค่าแรงจะต้องใช้อีกเท่าไหร่ ต้องช่วยผมบ้าง ช่วยกันทำความเข้าใจ ไม่ใช่เอาข้อเรียกร้องมากดดัน พอผมไม่ให้ก็ไปกดดันแรงงาน สุดท้ายก็ตีกันอยู่อย่างนี้ จะทำอย่างอื่นหรือไม่ ถ้าขึ้นค่าแรงแล้วอย่างอื่นก็เลิกไม่ต้องทำ เอาไหม แล้วก็มาบอกว่าไม่เห็นใจเขา ที่ทำทุกวันนี้เพราะเห็นใจ ทุกเรื่องจะต้องสร้างกรอบให้เข้มแข็งถึงจะขึ้นกรอบในได้ ไม่ใช่กรอบทำไปส่งเดชใช้เงินเท่าไหร่ก็ช่างมัน แล้ววันหน้าจะทำอะไรได้หรือไม่ ถามว่าวันนี้ความเข้มแข็งเกิดหรือไม่ ลงทุนอะไรได้บ้าง ความเข้มแข็งของประเทศมีไหม แล้วมาโวยวายกันว่ารายได้ตกต่ำ การเกษตรขายไม่ออก ถามว่าเพราะอะไร เพราะเราไม่ได้ทำโครงการเหล่านี้มาก่อน ที่ผ่านมาแก้ปัญหาเฉพาะกาล เฉพาะฤดู เฉพาะเรื่อง ผมไม่ได้โทษใคร เดี๋ยวจะหาว่าไปว่าคนโน้นคนนี้อีกรำคาญ”

ด้านนางสาวสงวน ขุนทรง ผู้ประสานงานกลุ่มสหภาพอ้อมน้อย-อ้อมใหญ่ กล่าวว่า ทุกวันนี้คนงานต่างปัญหาค่าครองชีพสูงขึ้นมาก ทำให้ต้องทำโอทีมากขึ้นและไม่มีเวลาดูครอบครัว แม้ค่าจ้างขั้นต่ำ 300 บาทจะพอเลี้ยงตัวเอง แต่ก็ไม่พอจุนเจือครอบครัว หากไม่ทำโอทีก็ไม่มีเงินส่งไปดูแลทางบ้าน

“หลังกลับจากยื่นหนังสือ ช่วงค่ำพอมาดูข่าวที่บ้าน ได้ยินนายกรัฐมนตรีพูดแล้วไม่สบายใจ ท่านบอกว่าไม่รู้เอาเงินที่ไหนจ่ายค่าจ้างเพิ่ม ท่านพูดเหมือนตัวเองเป็นนายจ้างเลย ทั้งๆ ที่เห็นกันอยู่ว่ามีความเหลื่อมล้ำ ทั้งข้าราชการ และพนักงานรัฐวิสาหกิจ ต่างไปปรับกันถ้วนหน้า คนงานก็เป็นคนเหมือนกัน สร้างผลผลิตเข้าประเทศจำนวนมาก แต่ท่านกลับไม่เห็นความสำคัญและคุณค่าคนที่ทำงาน ท่านเห็นคนงานเป็นทาสหรืออย่างไร อยากให้รับข้อมูลจากฝั่งคนงานบ้าง ท่านรู้บ้างมั้ย นายจ้างเขาขยายโรงงานกันอีกกี่แห่งแล้ว แต่พวกเรายังอยู่กันอย่างยากลำบากเหมือนเดิม”นางสาวสงวน กล่าว

นางสาวสงวนกล่าวว่า นายกรัฐมนตรีให้สัมภาษณ์ว่าช่วงนี้ปรับไม่ได้ ซึ่งตนก็ไม่แน่ใจว่าจะปรับให้ช่วงไหน ท่านอาจมีเรื่องยุ่งหลายอย่าง และมักพูดเรื่องการพัฒนาฝีมือ จะให้เราพัฒนาฝีมืออะไรอีก เรารู้หมดทุกอย่างในโรงงาน แต่ยังได้แค่ค่าจ้างต่ำ ทั้งๆ ที่ค่าจ้างขั่นต่ำคือค่าจ้างแรกเข้าทำงาน

“ป้าทำงานมาตั้งแต่อายุ 17 ปี จนตอนนี้อายุ 62 ปี ทำงานอยู่ในโรงงานมาเกือบ 50 ปีแล้ว ขณะนี้ได้ค่าจ้างวันละ 316 บาท เกินค่าจ้างขั้นต่ำมา 16 บาท ป้าอยากถามท่านเหมือนกันว่า หากมีลูกมีหลานแล้วได้รับค่าจ้างแบบนี้ ท่านจะยอมมั้ย ตอนเข้ามาทำงานแรกๆ เรายังศรัทธาท่านอยู่ แต่ตอนนี้ท่านเล่นไม่ฟังแรงงานไทยบ้างเลย” นางสาวสงวนกล่าว และว่าการเปรียบเทียบค่าจ้างขั้นต่ำกับต่างประเทศก็ควรดูประเทศที่มีมาตรฐานสูง ไม่ใช่เปรียบเทียบกับประเทศที่มีมาตรฐานต่ำ

นักสื่อสารแรงงาน รายงาน