เปิดร่างรัฐธรรมนูญฉบับมีชัย : อะไรคงอยู่ อะไรหายไปในประเด็น “แรงงาน”

2016-02-13 15.07.08

เปิดร่างรัฐธรรมนูญฉบับมีชัย : อะไรคงอยู่ อะไรหายไปในประเด็น “แรงงาน”

บุษยรัตน์ กาญจนดิษฐ์

12 กุมภาพันธ์ 2559

กว่า 4 เดือนเต็มนับตั้งแต่วันที่ 6 กันยายน 2558 ที่สมาชิกสภาปฏิรูปแห่งชาติ (สปช.) ไม่เห็นชอบกับร่างรัฐธรรมนูญฉบับที่คณะกรรมาธิการยกร่างรัฐธรรมนูญ นำโดย ศ.ดร.บวรศักดิ์ อุวรรณโณ และคณะที่ได้ยกร่างขึ้นมา หลังจากนั้นทางคณะรักษาความสงบเรียบร้อยแห่งชาติจึงได้แต่งตั้งคณะกรรมการร่างรัฐธรรมนูญ มีนายมีชัย ฤชุพันธุ์ เป็นประธานเพื่อยกร่างรัฐธรรมนูญขึ้นมาใหม่ทั้งหมดอีกครั้งหนึ่ง และเผยแพร่ต่อสาธารณะเมื่อ 29 มกราคม 2559 ที่ผ่านมา ตามทราบแล้วนั้น

ต่อมาเมื่อวันที่ 10 กุมภาพันธ์ 2559 ได้มีจดหมายด่วนที่สุดเลขที่ รง 0204.4/5539 จากกระทรวงแรงงานถึงสำนักงานเลขาคณะรัฐมนตรี เรื่อง ร่างรัฐธรรมนูญ สาระสำคัญของจดหมายฉบับนี้เกี่ยวข้องกับเรื่องของการเสนอความเห็นต่อร่างรัฐธรรมนูญในประเด็นที่เกี่ยวข้องกับภารกิจของกระทรวงแรงงาน ต่อรองนายกรัฐมนตรี (นายวิษณุ เครืองาม) เพื่อพิจารณา ก่อนส่งให้คณะกรรมการร่างรัฐธรรมนูญต่อไปนั้น

พบว่า กระทรวงแรงงานได้มีความเห็นชอบต่อร่างรัฐธรรมนูญฉบับดังกล่าวนี้ โดยระบุว่า เนื่องจากส่วนใหญ่ยังคงหลักการเดิมตามรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พุทธศักราช 2550

แต่ได้ขอแก้ไขถ้อยคำจากเดิมที่ระบุไว้ในมาตรา 70 ว่า “รัฐพึงส่งเสริมให้ประชาชนมีความสามารถในการทำงานโดยเหมาะสมกับศักยภาพและวัย และพึงคุ้มครองผู้ใช้แรงงานให้ได้รับความปลอดภัยในการทำงาน โดยได้รับสวัสดิการ รายได้ และสิทธิประโยชน์อื่นที่เหมาะสมแก่การดำรงชีพ และพึงจัดให้มีหรือส่งเสริมการออมเพื่อการดำรงชีพเมื่อพ้นวัยทำงาน”

2016-02-13 15.10.04

ขอแก้ไขถ้อยคำใหม่เป็นดังนี้ “มาตรา 70 รัฐพึงส่งเสริมให้ประชาชนมีความสามารถในการทำงานโดยเหมาะสมกับศักยภาพและวัย และพึงคุ้มครองให้ได้รับความปลอดภัยในการทำงาน โดยได้รับสวัสดิการ รายได้ และสิทธิประโยชน์อื่นที่เหมาะสมแก่การดำรงชีพและเป็นธรรม รวมทั้งพึงจัดให้มีหรือส่งเสริมการออมเพื่อการดำรงชีพเมื่อพ้นภาวะการทำงาน”

โดยให้เหตุผลว่า (1) เพื่อให้ครอบคลุมภารกิจของกระทรวงแรงงานในทุกมิติทั้งแรงงานในระบบและนอกระบบ (2) ในปัจจุบันประเทศไทยจะมีผู้สูงอายุทำงานมากขึ้น จึงไม่ควรใช้คำว่า “วัยทำงาน”

          อย่างไรก็ตามจากการทบทวนสาระสำคัญที่ปรากฏในร่างรัฐธรรมนูญฉบับนี้ หรือเรียกว่า “ร่างรัฐธรรมนูญฉบับมีชัย” พบว่า ยังคงมีประเด็นต่างๆที่แตกต่างจากรัฐธรรมนูญฉบับ 2540, ฉบับ 2550 และร่างรัฐธรรมนูญฉบับ สปช. ที่เกี่ยวข้องกับ “ผู้ใช้แรงงาน” โดยตรงอีก 5 ประเด็น ดังนี้

          (1) มาตรา 4 ระบุว่า

ปวงชนชาวไทยย่อมได้รับความคุ้มครองตามรัฐธรรมนูญเสมอกัน

ข้อสังเกตต่อร่างรัฐธรรมนูญฉบับมีชัย พบว่า แตกต่างจากรัฐธรรมนูญฉบับปี 2540, 2550 และร่างรัฐธรรมนูญฉบับสปช.อย่างสิ้นเชิง ที่คุ้มครองคนทุกคนไม่ใช่เฉพาะคนที่มีสัญชาติไทยเท่านั้นที่อาศัยอยู่บนผืนแผ่นดินไทย แต่ร่างรัฐธรรมนูญฉบับมีชัยนี้ให้ความคุ้มครองเฉพาะปวงชนชาวไทยเท่านั้น โดยไม่ได้กล่าวถึงเรื่องศักดิ์ศรีความเป็นมนุษย์ สิทธิ เสรีภาพและความเสมอภาคเป็นการเฉพาะ คำถามสำคัญในเรื่องนี้ คือ การได้รับความคุ้มครองศักดิ์ศรีความเป็นมนุษย์ สิทธิเสรีภาพ จะยังคงมีอยู่หรือไม่ อย่างไร

2016-02-13 15.08.53

โดยรัฐธรรมนูญฉบับปี 2540 ระบุไว้ว่า “มาตรา 4 ศักดิ์ศรีความเป็นมนุษย์ สิทธิ และเสรีภาพของบุคคล ย่อมได้รับความคุ้มครอง”

ส่วนรัฐธรรมนูญฉบับปี 2550 และร่างรัฐธรรมนูญฉบับสปช.  ระบุไว้ว่า “มาตรา 4 ศักดิ์ศรีความเป็นมนุษย์ สิทธิ และเสรีภาพ และความเสมอภาคของบุคคล ย่อมได้รับความคุ้มครอง”

          (2) มาตรา 42 วรรคแรก ระบุว่า

บุคคลย่อมมีเสรีภาพในการรวมกันเป็นสมาคม สหกรณ์ สหภาพ องค์กร ชุมชน หรือหมู่คณะอื่น

ข้อสังเกตต่อร่างรัฐธรรมนูญฉบับมีชัย พบว่า ได้มีการคัดคำว่า “สหพันธ์” “กลุ่มเกษตรกร” และ “องค์การภาคเอกชน” ออกไป ทั้งๆที่คำว่า “สหพันธ์” มีปรากฏชัดเจนใน พ.ร.บ.แรงงานสัมพันธ์ พ.ศ.2518 ส่วนคำว่า “กลุ่มเกษตรกร” ก็ปรากฏในพระราชกฤษฎีกาว่าด้วยกลุ่มเกษตรกร พ.ศ. 2547 และคำว่า “องค์การภาคเอกชน” ก็ปรากฏในพระราชบัญญัติส่งเสริมการจัดสวัสดิการสังคมพ.ศ. 2546 กล่าวได้ว่ากฎหมายลำดับรองได้มีการระบุคำนี้ไว้ แต่กฎหมายรัฐธรรมนูญกลับไม่มี

รวมทั้งการตัดคำว่า “องค์การภาคประชาสังคม” ที่เพิ่มเติมเข้ามาในสมัยร่างรัฐธรรมนูญฉบับสปช.ออกไป เหล่านี้อาจจะส่งผลต่อการรวมตัวของผู้ใช้แรงงานกรณีของกลุ่มบุคคลที่รวมตัวในนามของสมาพันธ์ , คณะกรรมการ เช่น คณะกรรมการสมานฉันท์แรงงานไทย (คสรท.), สมาพันธ์แรงงานรัฐวิสาหกิจสัมพันธ์ (สรส.), สมาพันธ์แรงงานอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย (CILT), สมาพันธ์แรงงานเครื่องใช้ไฟฟ้า อิเลคทรอนิคส์ ยานยนต์และโลหะแห่งประเทศไทย (TEAM) หรือกลุ่มผู้ใช้แรงงานย่านอุตสาหกรรมต่างๆ เป็นต้น ทั้งๆที่เป็นการรวมตัวของภาคเอกชนเพื่อเป็นหุ้นส่วนในการพัฒนาประเทศควบคู่ไปกับภาครัฐ เพราะอาจไม่ถือว่าเป็นองค์กรที่เกิดขึ้นจากการรวมตัวของบุคคลต่างๆตามความหมายของร่างรัฐธรรมนูญฉบับนี้ อีกทั้งคำว่า “หมู่คณะอื่น” ก็ยังไม่ชัดเจนว่าหมายถึงกลุ่มใดบ้าง เฉพาะกลุ่มที่เป็นนิติบุคคลหรือไม่ อย่างไร ที่จักต้องมีการตีความต่อไป

โดยรัฐธรรมนูญฉบับ 2540 และฉบับ 2550 ได้มีการระบุเรื่องนี้ไว้อย่างชัดเจนว่า

“บุคคลย่อมมีเสรีภาพในการรวมกันเป็น สมาคม สหภาพ สหพันธ์ สหกรณ์ กลุ่มเกษตรกร องค์การภาคเอกชน หรือหมู่คณะอื่น”

สำหรับร่างรัฐธรรมนูญฉบับสปช. ได้เพิ่มคำว่า “องค์การภาคประชาสังคม” เข้ามาอีกคำหนึ่ง เพื่อให้ครอบคลุมการรวมตัวของประชาชนในทุกประเภท ทั้งที่เป็นนิติบุคคลและไม่ใช่นิติบุคคล

(3) มาตรา 44 ระบุว่า

บุคคลย่อมมีเสรีภาพในการชุมนุมโดยสงบและปราศจากอาวุธ

การจำกัดเสรีภาพตามวรรคหนึ่งจะกระทำมิได้ เว้นแต่โดยอาศัยอำนาจตามบทบัญญัติแห่งกฎหมาย ที่ตราขึ้นเพื่อการรักษามั่นคงของรัฐ ความปลอดภัยสาธารณะ ความสงบเรียบร้อยหรือศีลธรรมอันดีของประชาชน ความปลอดภัยด้านการสาธารณสุข หรือเพื่อคุ้มครองสิทธิหรือเสรีภาพของบุคคลอื่น

ข้อสังเกตต่อร่างรัฐธรรมนูญฉบับมีชัย พบว่า ได้มีการตัดคำว่า “เฉพาะในกรณีการชุมนุมในที่สาธารณะและเพียงเท่าที่จำเป็น” ออกไป ซึ่งการใช้คำว่า “กฎหมายที่ตราขึ้นเพื่อการรักษามั่นคงของรัฐ” ย่อมแสดงถึงขอบเขตของอำนาจที่กว้างกว่าที่ พ.ร.บ.การชุมนุมสาธารณะ พ.ศ.2558 กำหนดไว้อย่างแน่นอน ยิ่งจะเป็นการจำกัดสิทธิในการเข้าถึงความไม่เป็นธรรมของผู้ด้อยโอกาสในการส่งเสียงต่อรัฐมากยิ่งขึ้นไปกว่าเดิม

FB_IMG_1452600834474

ร่างรัฐธรรมนูญฉบับ สปช. ได้ระบุไว้ว่า

บุคคลย่อมมีเสรีภาพในการชุมนุมโดยสงบและปราศจากอาวุธ

การจำกัดเสรีภาพตามวรรคหนึ่ง จะกระทำมิได้ เว้นแต่โดยอาศัยอำนาจตามบทบัญญัติแห่งกฎหมาย เฉพาะในกรณีการชุมนุมในที่สาธารณะและเพียงเท่าที่จำเป็น เพื่อประโยชน์ในการรักษามั่นคงของรัฐ ความปลอดภัยสาธารณะ ความสงบเรียบร้อยหรือศีลธรรมอันดีของประชาชน ความปลอดภัยด้านการสาธารณสุข หรือการคุ้มครองสิทธิหรือเสรีภาพของบุคคลอื่น

ทั้งนี้รัฐธรรมนูญฉบับ 2540 และฉบับ 2550 ได้มีการระบุเรื่องนี้ไว้ว่า

บุคคลย่อมมีเสรีภาพในการชุมนุมโดยสงบและปราศจากอาวุธ

การจำกัดเสรีภาพตามวรรคหนึ่งจะกระทำมิได้ เว้นแต่โดยอาศัยอำนาจตามบทบัญญัติแห่งกฎหมาย เฉพาะในกรณีการชุมนุมสาธารณะ และเพื่อคุ้มครองความสะดวกของประชาชนที่จะใช้ที่สาธารณะ หรือเพื่อรักษาความสงบเรียบร้อยในระหว่างเวลาที่ประเทศอยู่ในภาวะการสงคราม หรือในระหว่างเวลาที่มีประกาศสถานการณ์ฉุกเฉินหรือประกาศใช้กฎอัยการศึก

(4) มาตรา 70 ระบุว่า

รัฐพึงส่งเสริมให้ประชาชนมีความสามารถในการทำงานโดยเหมาะสมกับศักยภาพและวัย และพึงคุ้มครองผู้ใช้แรงงานให้ได้รับความปลอดภัยในการทำงาน โดยได้รับสวัสดิการ รายได้ และสิทธิประโยชน์อื่นที่เหมาะสมแก่การดำรงชีพ และพึงจัดให้มีหรือส่งเสริมการออมเพื่อการดำรงชีพเมื่อพ้นวัยทำงาน

สำหรับในมาตรานี้ พบว่า รัฐธรรมนูญฉบับ 2540 ไม่มีการระบุเรื่องนี้ไว้

ส่วนรัฐธรรมนูญฉบับ 2550 ระบุไว้ในมาตรา 44 ว่า “บุคคลย่อมมีสิทธิได้รับหลักประกันความปลอดภัยและสวัสดิภาพในการทำงาน รวมทั้งหลักประกันในการดำรงชีพทั้งในระหว่างการทำงานและเมื่อพ้นภาวะการทำงาน ทั้งนี้ตามที่กฎหมายบัญญัติ” และยังมีการระบุในมาตรา 84 (7) ตอนหนึ่งว่า “….คุ้มครองให้ผู้ทำงานที่มีคุณค่าอย่างเดียวกันได้รับค่าตอบแทน สิทธิประโยชน์ และสวัสดิการที่เป็นธรรมโดยไม่เลือกปฏิบัติ”

สำหรับร่างรัฐธรรมนูญฉบับสปช. ได้เพิ่มเติมเรื่อง “การได้รับค่าจ้างที่เป็นธรรม” เข้ามา โดยระบุไว้ในมาตรา 57 ว่า

“บุคคลย่อมมีสิทธิได้รับค่าจ้างที่เป็นธรรม มีหลักประกันความปลอดภัย อาชีวอนามัย สวัสดิภาพ และสวัสดิการในการทำงาน ที่เหมาะสมและเป็นธรรม รวมทั้งมีหลักประกันในการดำรงชีวิต ทั้งในระหว่างการทำงานและเมื่อพ้นภาวะการทำงาน ทั้งนี้ตามที่กฎหมายบัญญัติ”

ข้อสังเกตต่อร่างรัฐธรรมนูญฉบับมีชัย พบว่า ไม่มีการระบุเรื่อง “ค่าจ้างที่เป็นธรรม” นี้ไว้ อีกทั้งการใช้คำว่า “ที่เหมาะสมแก่การดำรงชีพ” สุ่มเสี่ยงที่จะตีความได้ว่าการดำรงชีพในแต่ละพื้นที่มีค่าครองชีพที่ไม่เท่ากัน ดังนั้น “อัตราค่าจ้างขั้นต่ำ” ของผู้ใช้แรงงานแต่ละพื้นที่ก็ควรไม่เท่ากันด้วย ยิ่งจะสร้างความไม่เป็นธรรมให้ผู้ใช้แรงงานมากยิ่งขึ้น เนื่องจากโดยข้อเท็จจริงแล้วราคาสินค้าในทุกพื้นที่มีราคาไม่แตกต่างกัน เช่น สินค้าในร้าน 7-11 สินค้าในห้างสรรพสินค้าต่างๆ เช่น BIG C, LOTUS เป็นต้น ทำให้มูลค่าของค่าจ้างที่ได้รับจึงลดน้อยลงไป

(5) มาตรา 128 ระบุว่า

ผู้มีสิทธิเลือกตั้งจำนวนไม่น้อยกว่าหนึ่งหมื่นคนเข้าชื่อเสนอกฎหมายตามหมวด 3 หรือหมวด 6 ทั้งนี้ ตามกฎหมายว่าด้วยการเข้าชื่อเสนอกฎหมาย

ข้อสังเกตต่อร่างรัฐธรรมนูญฉบับมีชัย พบว่า ได้มีการตัดถ้อยคำในส่วนที่เอื้อต่อผู้เสนอกฎหมายออกไป คือ สัดส่วนการเป็นคณะกรรมาธิการในการพิจารณาร่างกฎหมายฉบับนั้นๆ ทั้งๆที่ในรัฐธรรมนูญฉบับ 2550 ได้ระบุไว้ชัดเจนในรัฐธรรมนูญว่า

“ในการพิจารณาร่างกฎหมายตามวรรคหนึ่ง สภาผู้แทนราษฎรและวุฒิสภาต้องให้ผู้แทนของผู้ที่เข้าชื่อเสนอร่างกฎหมายนั้นชี้แจงหลักการของร่างกฎหมาย และคณะกรรมาธิการวิสามัญหรือคณะกรรมาธิการร่วมกันที่พิจารณาร่างกฎหมายดังกล่าว จะต้องประกอบด้วยผู้แทนของผู้ที่เข้าชื่อเสนอร่างกฎหมายนั้นจำนวนไม่น้อยกว่าหนึ่งในสามของจำนวนกรรมาธิการด้วย”

โดยร่างรัฐธรรมนูญฉบับมีชัยใช้ถ้อยคำแทนว่า “ตามกฎหมายว่าด้วยการเข้าชื่อเสนอกฎหมาย” ซึ่งข้อสังเกตคือ ไม่มีหลักประกันใดๆว่าถ้อยคำเดิมนี้จะถูกระบุไว้ในกฎหมายเข้าชื่อฯเช่นเดียวกัน

พบว่ารัฐธรรมนูญฉบับ 2540 ระบุไว้ในมาตรา 170 แต่กำหนดว่า “ผู้มีสิทธิเลือกตั้งไม่น้อยกว่าห้าหมื่นคน มีสิทธิเข้าชื่อร้องขอต่อประธานรัฐสภาเพื่อให้รัฐสภาพิจารณากฎหมายตามที่กำหนดในหมวด 3 และหมวด 5 แห่งรัฐธรรมนูญนี้”

ส่วนรัฐธรรมนูญฉบับ 2550 ระบุไว้ในมาตรา 163 โดยแก้ไขเป็น “ประชาชนผู้มีสิทธิเลือกตั้งไม่น้อยกว่าหนึ่งหมื่นคน มีสิทธิเข้าชื่อร้องขอต่อประธานรัฐสภาเพื่อให้รัฐสภาพิจารณาร่างพระราชบัญญัติตามที่กำหนด ในหมวด 3 และหมวด 5 แห่งรัฐธรรมนูญนี้”

สำหรับร่างรัฐธรรมนูญฉบับสปช. ได้เพิ่มเรื่อง “หน่วยงานของรัฐที่เกี่ยวข้องกับการจัดทำและตรวจพิจารณาร่างกฎหมาย มีหน้าที่สนับสนุนการจัดทำและเสนอร่างกฎหมายของบุคคลตามที่กฎหมายบัญญัติ” เข้ามา ซึ่งในรัฐธรรมนูญฉบับ 2550 ไม่มีการระบุเรื่องนี้ไว้

นอกจากนั้นแล้วยังมีข้อสังเกตต่อร่างรัฐธรรมนูญฉบับมีชัยด้วยว่า ได้ตัดถ้อยคำที่ระบุอยู่ในร่างรัฐธรรมนูญฉบับสปช. มาตรา 142 วรรค 7 ออกไป คือ

“วรรค 7 ในกรณีที่ประชาชนผู้มีสิทธิเลือกตั้งได้เสนอร่างพระราชบัญญัติใดตาม (4) แล้ว ให้สภาผู้แทนราษฎรเริ่มพิจารณาภายในเวลาไม่เกิน 180 วัน นับแต่วันที่ได้รับร่างพระราชบัญญัตินั้น หรือวันที่นายกรัฐมนตรีส่งคำรับรองกลับคืนมา….”

วรรคนี้เป็นการเพิ่มเรื่องระยะเวลาที่ชัดเจนขึ้นมาว่า รัฐสภาต้องพิจารณาร่างกฎหมายที่เสนอโดยผู้มีสิทธิเลือกตั้งภายใน 180 วัน นับตั้งแต่วันที่ได้รับร่างกฎหมายนั้น ซึ่งรัฐธรรมนูญฉบับ 2550 ไม่มีการระบุเรื่องนี้ไว้ และในร่างรัฐธรรมนูญฉบับมีชัยก็ตัดมาตรานี้ออกไปเช่นเดียวกัน ทั้งๆที่ถือได้ว่าเป็นเรื่องที่ดีมาก

เพราะจากบทเรียนที่ผู้ใช้แรงงานเคยเข้าชื่อเสนอกฎหมาย เช่น ร่าง พ.ร.บ.ประกันสังคม ฉบับ 14,264 รายชื่อ ก็พบว่า ถูกรอการพิจารณาในสภาผู้แทนราษฎรกว่า 3 ปี และสุดท้ายก็ถูกลงมติไม่ให้ผ่านโดยสภาผู้แทนราษฎรเพียงวันเดียว หรือกรณีร่าง พ.ร.บ.แรงงานสัมพันธ์ ฉบับ 11,567 รายชื่อ ที่ผู้ใช้แรงงานได้เข้าชื่อกันเสนอไปนานแล้วกว่า 2 ปี แต่นายกรัฐมนตรีไม่ยอมลงนามรับรอง ร่างกฎหมายจึงตกไป ทำให้โอกาสที่ผู้ใช้แรงงานจะเสนอกฎหมายได้จริงนั้นยังอยู่ห่างไกล

อีกทั้งในร่างรัฐธรรมนูญฉบับสปช. ยังมีการระบุในมาตรา 154 (5) อีกด้วยว่า “หากรัฐสภาลงมติว่าร่างกฎหมายที่ประชาชนเสนอไม่ผ่านการพิจารณา สมาชิกรัฐสภาอาจเข้าชื่อกันจำนวน 1 ใน 10 ของสมาชิกที่มีอยู่ เพื่อขอให้เอาร่างกฎหมายฉบับนั้นไปให้ประชาชนทั้งประเทศทำประชามติก็ได้ หากผลการทำประชามติ คือ ผ่าน ก็ถือว่ากฎหมายนั้นผ่านการพิจารณา” นี้เป็นอีกประเด็นที่เอื้อต่อการเข้าถึงสิทธิของผู้ใช้แรงงานมากขึ้น ซึ่งรัฐธรรมนูญฉบับ 2540 และ 2550 ไม่มีการระบุไว้

OLYMPUS DIGITAL CAMERA
OLYMPUS DIGITAL CAMERA

ประการต่อมาเมื่อมาพิจารณาประเด็น “ผู้ใช้แรงงานที่หายไป” จากร่างรัฐธรรมนูญฉบับมีชัย พบว่ามี 6 ประเด็นที่แตกต่างจากร่างรัฐธรรมนูญฉบับ สปช. ดังนี้

(1) เดิมในฉบับ สปช. ระบุในมาตรา 45 ว่า

บุคคลซึ่งไม่มีสัญชาติไทยและมีถิ่นที่อยู่ในประเทศไทย จะมีสิทธิทางเศรษฐกิจ สังคม และวัฒนธรรมเพียงใด ให้เป็นไปตามที่กฎหมายบัญญัติหรือตามที่รัฐจัดให้

พบว่ารัฐธรรมนูญฉบับ 2540 และฉบับ 2550 ไม่มีการระบุเรื่องนี้ไว้ ถือได้ว่าเป็นการคุ้มครองคนทุกคนบนผืนแผ่นดินไทยที่ยังเข้าไม่ถึงการมีสถานะบุคคลตามที่กฎหมายบัญญัติไว้

(2) เดิมในฉบับ สปช. ระบุในมาตรา 46 วรรค 2 ว่า

มารดาย่อมมีสิทธิได้รับความคุ้มครองเป็นพิเศษและได้รับสวัสดิการตามควรจากรัฐและนายจ้างก่อนและหลังการให้กำเนิดบุตร ทั้งนี้ตามที่กฎหมายบัญญัติ

พบว่ารัฐธรรมนูญฉบับ 2540 และฉบับ 2550 ไม่มีการระบุเรื่องนี้ไว้ ทั้งที่มาตรานี้คือการทำให้เด็กเกิดใหม่มีคุณภาพ เนื่องจากแม่มีสิทธิลาคลอดและดูแลบุตรได้อย่างเหมาะสม และมีการจัดสวัสดิการที่เหมาะสมทั้งก่อนและหลังการคลอดบุตร ถือได้ว่าเป็นสิทธิของเด็กในการอยู่รอดและได้รับการพัฒนาที่เหมาะสมกับวัย

(3) เดิมในฉบับ สปช. ระบุในมาตรา 81 วงเล็บ 2 ว่า

รัฐต้องจัดระบบการบริหารราชการแผ่นดินและการบริหารงานของรัฐอย่างอื่น ดังต่อไปนี้

(2) พัฒนาและสร้างโอกาสเพื่อลดความเหลื่อมล้ำและสร้างความเป็นธรรมอย่างยั่งยืน

พบว่ารัฐธรรมนูญฉบับ 2540 และฉบับ 2550 ไม่มีการระบุเรื่องนี้ไว้

(4) เดิมในฉบับ สปช. ระบุในมาตรา 89 ว่า

รัฐต้องส่งเสริมให้ประชาชนวัยทำงานและสูงวัยมีงานทำที่เหมาะสม คุ้มครองแรงงาน เด็ก เยาวชน สตรี ผู้สูงอายุ ผู้พิการหรือทุพพลภาพ แรงงานซึ่งเป็นผู้ป่วยด้วยโรคต่างๆ และแรงงานที่มีปัญหาอื่นทำนองเดียวกัน มีหลักประกันความปลอดภัยในการทำงาน จัดระบบแรงงานสัมพันธ์และระบบไตรภาคี ผู้ที่ทำงานมีสิทธิเลือกผู้แทนของตน การประกันสังคม การพัฒนาสมรรถนะของแรงงาน รวมทั้งต้องให้ผู้ทำงานได้รับค่าตอบแทน สิทธิประโยชน์ และสวัสดิการที่เป็นธรรมโดยไม่เลือกปฏิบัติ

รัฐต้องจัดให้มีระบบบำนาญแห่งชาติที่มีความยั่งยืน เพื่อให้ครอบคลุมประชาชนทุกภาคส่วน โดยจัดให้มีระบบการออมเพื่อการดำรงชีพในยามชราภาพ รวมทั้งส่งเสริมให้ประชาชนทุกระดับมีความรู้ทางการเงินและสามารถบริหารการเงินของครัวเรือนได้อย่างเหมาะสม

โดยมีความคล้ายคลึงกับรัฐธรรมนูญฉบับ 2540 และ 2550 กล่าวคือ

รัฐธรรมนูญฉบับ 2540 ระบุไว้ในมาตรา 86 ว่า “รัฐต้องส่งเสริมให้ประชากรวัยทำงานมีงานทำ คุ้มครองแรงงานโดยเฉพาะแรงงานเด็กและแรงงานหญิง จัดระบบแรงงานสัมพันธ์ การประกันสังคม รวมทั้งค่าตอบแทนแรงงานให้เป็นธรรม”

รัฐธรรมนูญฉบับ 2550 ระบุในมาตรา 84 วงเล็บ 4 และวงเล็บ 7 ว่า “(4) จัดให้มีการออมเพื่อการดำรงชีพในยามชราแก่ประชาชนและเจ้าหน้าที่ของรัฐอย่างทั่วถึง (7) ส่งเสริมให้ประชากรวัยทำงานมีงานทำคุ้มครองแรงงานเด็กและสตรี จัดระบบแรงงานสัมพันธ์และระบบไตรภาคีที่ผู้ทำงานมีสิทธิเลือกผู้แทนของตน จัดระบบประกันสังคม รวมทั้งคุ้มครองให้ผู้ทำงานที่มีคุณค่าอย่างเดียวกันได้รับค่าตอบแทน สิทธิประโยชน์ และสวัสดิการที่เป็นธรรมโดยไม่เลือกปฏิบัติ”

สำหรับร่างรัฐธรรมนูญฉบับสปช. ได้มีการเพิ่มเติมกลุ่มเป้าหมายเฉพาะเข้ามา คือ “ผู้สูงอายุ ผู้พิการหรือทุพพลภาพ แรงงานซึ่งเป็นผู้ป่วยด้วยโรคต่างๆ และแรงงานที่มีปัญหาอื่นทำนองเดียวกัน มีหลักประกันความปลอดภัยในการทำงาน” และยังเพิ่มเรื่อง “การพัฒนาสมรรถนะของแรงงาน”

จะเห็นได้ว่าร่างรัฐธรรมนูญฉบับมีชัยได้ตัดถ้อยคำที่เกี่ยวข้องกับการเข้าถึงสิทธิแรงงานของผู้ใช้แรงงานออกไปทั้งหมด ทั้งเรื่องระบบแรงงานสัมพันธ์ ระบบไตรภาคีที่ผู้ทำงานมีสิทธิเลือกผู้แทนของตน ระบบประกันสังคม ตลอดจนการคุ้มครองให้ผู้ทำงานที่มีคุณค่าอย่างเดียวกันได้รับค่าตอบแทน สิทธิประโยชน์ และสวัสดิการที่เป็นธรรมโดยไม่เลือกปฏิบัติ

(5) เดิมในฉบับ สปช. ระบุในมาตรา 118 วงเล็บ 3 ว่า

วุฒิสภาประกอบด้วยสมาชิกจำนวนไม่เกิน 200 คน ซึ่งมาจากการเลือกตั้งในแต่ละจังหวัด 1 คน และมาจากการสรรหาเท่ากับจำนวนรวมข้างต้น หักด้วยจำนวนสมาชิกวุฒิสภาที่มาจากการเลือกตั้ง ดังต่อไปนี้

(3) ผู้แทนองค์กรที่เป็นนิติบุคคลหรือจัดตั้งขึ้นตามกฎหมาย ด้านเกษตรกรรม ด้านแรงงาน ด้านวิชาการและการศึกษา ด้านชุมชน และด้านท้องถิ่น ซึ่งมาจากการสรรหา จำนวนด้านละไม่เกิน 6 คน

หลักเกณฑ์ วิธีการ และเงือนไขในการเลือกตั้งและการสรรหาสมาชิกวุฒิสภา รวมทั้งองค์ประกอบและที่มาของคณะกรรมการสรรหาสมาชิกวุฒิสภา ให้เป็นไปตามพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยการเลือกตั้งสมาชิกสภาปู่แทนราษฎร

โดยพบว่ารัฐธรรมนูญฉบับ 2540 และฉบับ 2550 รวมทั้งร่างรัฐธรรมนูญฉบับมีชัย ไม่มีการระบุเรื่องดังกล่าวนี้ไว้ ทำให้ตัดโอกาสจากภาคแรงงาน ทั้งๆที่เป็นประชากรส่วนใหญ่ของประเทศ

ทั้งนี้ในร่างรัฐธรรมนูญฉบับมีชัย เขียนไว้ในมาตรา102 ว่า

“วุฒิสภาประกอบด้วยสมาชิกจำนวนสองร้อยคน ซึ่งมาจากการเลือกกันเองของบุคคลซึ่งมีความรู้ ความเชี่ยวชาญ ประสบการณ์ อาชีพ ลักษณะหรือประโยชน์ร่วมกัน หรือทำงานหรือเคยทำงานด้านต่าง ๆ ที่หลากหลายของสังคม”

(6) เดิมในฉบับ สปช. ในมาตรา 265 วงเล็บ 3 ระบุว่า

ให้มีการปฏิรูปการศึกษา สาธารณสุข สังคม ศิลปวัฒนธรรม และการคุ้มครองผู้บริโภคตามแนวทางดังนี้

(3) จัดให้มีกลไกซึ่งทำหน้าที่ศึกษา รวมทั้งจัดทำข้อเสนอแนะและกฎหมายต่างๆ เพื่อผลักดันให้เกิดการปฏิรูปด้านสังคมและชุมชน ระบบสวัสดิการ ระบบการออม เพื่อการดำรงชีพในยามสูงอายุ ระบบบำนาญและระบบการดูแลอย่างต่อเนื่องให้กับผู้ด้อยโอกาส และผู้พิการหรือทุพพลภาพ รวมทั้งให้มีกฎหมายและกลไกสนับสนุนการจัดตั้งกองทุนหรือธนาคารแรงงาน เพื่อส่งเสริมการออมและการพัฒนาตนเอง และจัดทำแนวทางในการรวมตัวกันและการเจรจาต่อรองของผู้ใช้แรงงานให้สอดคล้อง กับมาตรฐานระหว่างประเทศ

พบว่ารัฐธรรมนูญฉบับ 2540 และฉบับ 2550 ไม่มีการระบุเรื่องนี้ไว้

ทั้งๆที่เรื่องธนาคารแรงงาน และการจัดทำแนวทางในการรวมตัวกันและการเจรจาต่อรองของผู้ใช้แรงงานให้สอดคล้องกับมาตรฐานระหว่างประเทศ ผู้ใช้แรงงานได้ผลักดันมาอย่างต่อเนื่องทั้งผ่านการรณรงค์ให้รัฐบาลไทยรับรองอนุสัญญาองค์การแรงงานระหว่างประเทศฉบับที่ 87 และ 98 มากว่า 10 ปี เนื่องจาก พ.ร.บ.แรงงานสัมพันธ์ 2518 มีจุดอ่อนในการคุ้มครองผู้ใช้แรงงานในการรวมตัวและเจรจาต่อรอง โดยเฉพาะการเลิกจ้างผู้ก่อตั้งและกรรมการสหภาพแรงงาน ส่วนธนาคารแรงงานก็เป็นไปเพื่อสนับสนุนให้แรงงานรู้จักการออมเพื่อเป็นกองทุนการเงินของผู้ใช้แรงงานโดยตรงนั้นเอง เป็นสถาบันที่เป็นแหล่งเงินทุนเพื่อช่วยเหลือแรงงาน หรือสนับสนุนการพัฒนาคุณภาพชีวิตของแรงงานให้พ้นจากความยากจน โดยให้ลูกจ้างสามารถเข้าถึงการกู้ยืมในอัตราดอกเบี้ยต่ำในยามที่ขาดแคลนเงิน

เหล่านี้ทั้งหมดคือประเด็นแรงงานในร่างรัฐธรรมนูญฉบับมีชัยที่หายไป ซึ่งมีมากกว่าเพียงแค่มาตรา 70 ตามที่กระทรวงแรงงานเข้าใจยังไม่ถ่องแท้และลึกซึ้งพอในการเข้าใจบริบทแวดล้อมชีวิตผู้ใช้แรงงานในประเทศไทย