สรส.แถลงถึงสนช.“หยุด ! พ.ร.บ.บรรษัทก่อนเกิดวิบัติทั้งประเทศ”

เมื่อวันที่ 18 สิงหาคม 2560 สมาพันธ์แรงงานรัฐวิสาหกิจสัมพันธ์ (สรส.) ได้ออกแถลงการณ์เรื่อง ขอให้ สนช. ยับยั้ง ร่าง พ.ร.บ.การพัฒนาการกำกับดูแลและบริหารรัฐวิสาหกิจ พ.ศ. ….โดยเนื้อหาแถลงการณ์มีดังนี้ นับตั้งแต่ คณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) ยึดอำนาจจากรัฐบาลของนางสาวยิ่งลักษณ์ ชินวัตร ซึ่งเป็นน้องสาวอดีตนายกรัฐมนตรีทักษิณ ชินวัตร ที่เคยแปรรูป การปิโตรเลียมแห่งประเทศไทย การท่าอากาศยาน อสมท. องค์การโทรศัพท์ การสื่อสารแห่งประเทศไทยและอื่น ๆ อีกหลายแห่งในปี 2545 ภายหลังยึดอำนาจ (22 พฤษภาคม 2557) ไม่นาน คสช. ก็ออกคำสั่งที่ 75 /2557 ลงวันที่ 26 มิถุนายน 2557 ตั้งคณะกรรมการนโยบายรัฐวิสาหกิจ (คนร.) ชุดใหม่ ซึ่งครั้งนี้แปลกแตกต่างไปจาก ชุดก่อน ๆ ที่มีการตั้ง คนร. ตามระเบียบสำนักนายกรัฐมนตรี ซึ่งจะแต่งตั้งจากนักการเมืองตำแหน่งรัฐมนตรีในกระทรวงเศรษฐกิจและข้าราชการประจำ โดยมีนายกรัฐมนตรีหรือรองนายกรัฐมนตรีคนใดคนหนึ่งที่นายกรัฐมนตรีมอบหมายเป็นประธาน แต่ คนร.ชุดปัจจุบันที่ คสช. แต่งตั้ง ซึ่งมีหัวหน้า คสช. เป็นประธาน มีทั้งทหาร พลเรือน รวมทั้งมีการแต่งตั้งนักธุรกิจเข้ามาเป็นกรรมการ คนร. ซึ่งสื่อมวลชนเรียกว่า “ซุปเปอร์บอร์ด” โดยมีเป้าหมายเพื่อการปฎิรูปรัฐวิสาหกิจมีประสิทธิภาพ ตอบสนองการให้บริการแก่ประชาชน มีความโปร่งใส ปราศจากการแทรกแซงจากนักการเมือง ฟังแล้วก็ดูดี ใคร ๆ ก็เห็นด้วยและพร้อมให้การสนับสนุน แต่ในเวลาไม่นานรัฐบาลและ คนร. ก็มีการเสนอแนวคิดในการปฏิรูปรัฐวิสาหกิจโดยยกเอาปัญหาของรัฐวิสาหกิจ เหตุผล ความจำเป็นต้องปฏิรูป คือ

1. ต้องการให้รัฐวิสาหกิจมีประสิทธิภาพ ตอบสนองการให้บริการแก่ประชาชน

2.ให้มีการกำกับดูแลและการบริหารจัดการให้มีความโปร่งใส 3.ปราศจากการแทรกแซงจากนักการเมือง

4.จัดตั้งบรรษัทวิสาหกิจแห่งชาติเพื่อเสริมสร้างประสิทธิภาพให้มีความพร้อมในการแข่งขันเชิงพาณิชย์ และ

5.ให้คงความเป็นรัฐวิสาหกิจไว้ ซึ่งต่อมารัฐบาลก็ได้ร่างกฎหมายขึ้นมาเพื่อใช้ในการปฏิรูปรัฐวิสาหกิจซึ่งร่างกฎหมายฉบับดังกล่าว คือ “ร่าง พ.ร.บ.การพัฒนาการกำกับดูแลและบริหารรัฐวิสาหกิจ พ.ศ. ….”

หลังจากที่ร่าง พ.ร.บ.ฉบับดังกล่าวได้ถูกเผยแพร่ครั้งแรก ๆ ทางสมาพันธ์แรงงานรัฐวิสาหกิจสัมพันธ์(สรส.) ก็ได้ระดมความคิดเห็นในรูปแบบต่าง ๆ รวมทั้งจัดเวทีในการวิเคราะห์โดยเชิญนักกฎหมาย นักวิชาการที่เชี่ยวชาญด้านเศรษฐกิจและเครือข่ายคุ้มครองผู้บริโภค ภาคประชาชน ซึ่งได้ข้อสรุปว่า ร่าง พ.ร.บ.ฉบับดังกล่าวไม่ได้เป็นไปตามเจตนารมณ์ที่รัฐบาลได้แถลงต่อสาธารณะตั้งแต่ต้น ในหลายมาตราและนอกจากจะไม่ปฏิรูปแล้ว แต่จะนำไปสู่การแปรรูปรัฐวิสาหกิจในที่สุด เช่น 1. การที่บอกว่าไม่ให้การเมืองเข้าไปแทรกแซงแต่ดูจากโครงสร้างของคณะกรรมการ คือ คณะกรรมการนโยบายรัฐวิสาหกิจ (มาตรา 6) และ คณะกรรมการบรรษัท รวมทั้งผู้ทรงคุณวุฒิ (มาตรา 53,54) ล้วนแต่งตั้งจากคณะรัฐมนตรีทั้งสิ้น 2.ให้มีการกำกับดูแลที่โปร่งใส แต่สาระของร่างกฎหมายยังไม่มีมาตราใดที่ระบุถึงแนวทางหรือวิธีการตรวจสอบและร่าง พ.ร.บ.ฉบับดังกล่าวก็ไม่มีการกำหนดให้องค์กรเกี่ยวกับผู้บริโภค ภาคประชาชนเข้ามามีส่วนร่วมในการตรวจสอบ แม้แต่เรื่อง งบการเงินที่ระบุว่าไม่ต้องให้สำนักงานการตรวจเงินแผ่นดินตรวจสอบ เพียงแต่ให้ใช้องค์กรอื่นที่ สตง.รับรองเข้าตรวจสอบแทนก็ได้ (มาตรา 39) 3.การที่ระบุไว้ในหลักการว่าให้คงความเป็นรัฐวิสาหกิจไว้ แต่ก็มีการระบุไว้ในบางมาตราให้ คนร. สามารถ ยุบ แยก ลดสัดส่วนการถือหุ้น จนพ้นจากความเป็นรัฐวิสาหกิจได้โดยเสนอให้ ครม. ให้ความเห็นชอบ (มาตรา 13,42,44) และหากจะนำหุ้นของรัฐวิสาหกิจอื่นที่กำหนดไว้ในร่างกฎหมายฉบับนี้ซึ่งกระทรวงการคลังถืออยู่เพื่อโอนหุ้นเหล่านั้นให้บรรษัทให้ใช้ พ.ร.บ.ทุนรัฐวิสาหกิจ พ.ศ.2542 เปลี่ยนทุนเป็นหุ้น แล้วให้กระทรวงการคลังโอนหุ้นให้แก่บรรษัทต่อไป (มาตรา 30,36,49) และหากโอนไปเกินกว่าร้อยละ 50 หน่วยงานนั้นก็จะพ้นสภาพจากการเป็นรัฐวิสาหกิจทันที 4.การที่บอกว่าจะให้ประชาชนเข้าถึงการบริการที่ดี แต่ก็มีการบัญญัติให้รัฐวิสาหกิจที่อยู่ในบรรษัทไม่อยู่ภายใต้การบังคับใช้ พ.ร.บ.ว่าด้วยแผนพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ (มาตรา48, 52) ซึ่งก็หมายความว่ารัฐวิสาหกิจนั้น ๆไม่จำเป็นต้องไปทำภารกิจตามที่แผนพัฒนาเศรษฐกิจกำหนด และเป็นการแยกภารกิจกันระหว่างกระทรวงต้นสังกัดของรัฐวิสาหกิจที่ต้องดำเนินการตามภารกิจ แต่ส่วนทุน สินทรัพย์ และหุ้นยกให้บรรษัทเป็นผู้ดูแล(มาตรา 19 ) ซึ่งจะเกิดปัญหาเรื่องภารกิจและความสัมพันธ์กันในอนาคต จนทำให้รัฐวิสาหกิจอ่อนแอขาดประสิทธิภาพในที่สุด

ที่กล่าวมาเป็นเพียงบางส่วนในสาระของร่าง พ.ร.บ.การพัฒนาการกำกับดูแลและบริหารรัฐวิสาหกิจ พ.ศ. …. ซึ่งได้ผ่านกระบวนการพิจารณามาเป็นลำดับโดยไม่ฟังความเห็นที่แตกต่างและข้อเสนอที่พยายามให้ปรับปรุงเพื่อนำไปสู่การปฏิรูปที่แท้จริง และที่สำคัญการร่างกฎหมายฉบับนี้ ไม่ได้เป็นไปตามบทบัญญัติของรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พ.ศ.2560 มาตรา 77 และมาตราอื่น ๆ ที่กำหนดให้ประชาชนได้มีส่วนร่วม เป็นการตรากฎหมายที่ต้องการเพียงเพื่อการเติบโตของตลาดทุน ตลาดหุ้นเพียงอย่างเดียว ไม่ได้
ให้ความสำคัญไปที่ความมีประสิทธิภาพในการให้บริการที่ดีแก่ประชาชนอย่างแท้จริง

ด้วยเหตุผลที่กล่าวมาข้างต้น สมาพันธ์แรงงานรัฐวิสาหกิจสัมพันธ์ (สรส.) จึงไม่เห็นด้วยกับร่าง พ.ร.บ.การพัฒนาการกำกับดูแลและบริหารรัฐวิสาหกิจ พ.ศ. …. และได้เสนอความเห็นให้มีการปรับปรุงเปลี่ยนแปลงให้เป็นไปตามเจตนารมณ์ตั้งแต่ต้น แต่ความพยายามของ สรส. ก็ไม่ได้รับการพิจารณา ไม่ได้ถูกนำไปบัญญัติในร่าง พ.ร.บ.ฉบับนี้ จึงขอคัดค้าน ร่าง พ.ร.บ.ฉบับดังกล่าวและขอให้ประธานสภานิติบัญญัติแห่งชาติและสมาชิกโปรดพิจารณายับยั้งร่าง พ.ร.บ.ฉบับดังกล่าว ก่อนที่ประเทศชาติ และ ประชาชนจะได้รับผลกระทบอย่างมากในอนาคต

อย่างไรก็ตาม สรส. เห็นด้วยเป็นอย่างยิ่งต่อการพัฒนาและปฏิรูปรัฐวิสาหกิจเพื่อประโยชน์ของประเทศชาติและประชาชน ให้เกิดความมั่นคงและยั่งยืนจึงได้เสนอ ร่าง พ.ร.บ.การพัฒนารัฐวิสาหกิจ พ.ศ. …. (ฉบับสมาพันธ์แรงงานรัฐวิสาหกิจ) ซึ่งได้เคยเสนอต่อคณะกรรมการยกร่างกฎหมายของ คนร. และเสนอต่อนายกรัฐมนตรีไปก่อนหน้านี้แล้ว แต่ก็ไม่ได้รับการตอบรับ ซึ่งหากดำเนินการตามที่ สรส. เสนอก็จะเกิดประโยชน์อย่างมากและจะนำไปสู่การปฏิรูปรัฐวิสาหกิจอย่างแท้จริง