สปส อย่าสนองนโยบายรัฐบาลจนละเลยสิทธิประโยชน์ของผู้ประกันตน

 สปส อย่าสนองนโยบายรัฐบาลจนละเลยสิทธิที่ประโยชน์ของผู้ประกันตน

 วิไลวรรณ แซ่เตีย รองประธานคณะกรรมการสมานฉันท์แรงงานไทย

ตามที่กระทรวงแรงงานได้ออกมาตรการในการที่จะช่วยสถานประกอบการที่ได้รับผลกระทบ จากการปรับค่าจ้าง 300 บาท แบ่งเป็น 6 มาตรการ หนึ่งใน 6 มาตรา คือ การลดเงินประกันสังคม ฝ่ายลูกจ้าง และนายจ้างฝ่ายละ 2 % ในปี 2556 นี้ โดยจะทำให้กระทบต่อเงินกองทุนชราภาพของประกันสังคมทันที 40,000 ล้านบาท ในปี 2557 หากลดการส่งเงินสมทบอีก 1 % จะกระทบเงินกองทุนฯ อีกกว่า 25,000 ล้านบาท ซึ่งมาตรการที่ออกมาต้องการที่จะช่วยเหลือสถานประกอบการที่ได้รับผลกระทบจากการปรับค่าจ้าง จริงๆมีปัญหาฐานะการเงิน แต่ยังต้องการที่จะจ้างลูกจ้างให้ทำงานในบริษัทนั้นต่อไป แต่การลดเงินประกันสังคมในครั้งนี้ ไม่ใช่หลักประกันว่า สถานประกอบการจะไม่เลิกจ้างคนงาน สิ่งที่มีความกังวลเป็นอย่างมากให้กับลูกจ้างผู้ประกันตนเพราะว่า กระทรวงแรงงานได้มีการตรวจสอบข้อมูลที่ส่งผลกระทบ กับสถานประกอบการเหล่านั้นจำนวนเท่าไหร่ หรือพยายามที่จะลดกระแสทางนายจ้างที่ออกมาโอดครวญทุกวันว่าอยู่ไม่ได้ แต่ลูกจ้างที่ทนทำงานให้กำไรเพิ่มพูนแก่นายจ้างมาเป็นเวลา 20-30 ปี ชีวิตของคนงานเหล่านั้นล้วนผูกติดกับค่าจ้างขั้นต่ำมาโดยตลอด ก็ยังทนอยู่ได้ การลดเงินประกันสังคมในครั้งนี้สถานประกอบการที่ไม่กระทบก็จะได้ประโยชน์ สำหรับลูกจ้างจะเสียมากกว่าได้ เช่น เงินบำนาญชราภาพก็จะหายไปในส่วนที่ไม่นำส่งเข้ากองทุน แล้วรัฐบาลจะนำเงินที่ไหนมาสำรองจ่ายให้ อย่าลืมนะว่าขณะนี้รัฐบาลเองยังค้างเงินกองทุนอยู่ 63,200 ล้านบาทที่ยังไม่จ่ายสมทบเข้ากองทุนประกันสังคม รวมทั้งสถานประกอบการที่ยังค้างชำระเงินสมทบ 33,071 ราย คิดเป็นเงินเงินสมทบรวมทั้งเงินสูญ 4,047 ล้านบาท 

 

ฉะนั้นปัญหาเหล่านี้จะตอบสังคมอย่างไรกับสิ่งที่เกิดขึ้นที่ยังค้างอยู่ จะจัดการอย่างไร การลดเงินประกันสังคม อาจจะส่งผลกระทบต่อสิทธิประโยชน์ของผู้ประกันตนแน่นอนถ้าลดในระยะยาวนาน เพราะเงินที่สะสมทบถูกจ่ายออกทุกเดือน ส่วนเงินสำรองจ่ายที่มีอยู่จะต้องจ่ายในสิทธิประโยชน์ ต่างๆ เช่น การเจ็บป่วย ตาย ทุพพลภาพ ว่างงาน คลอดบุตร ส่งเคราะห์บุตร เงินจำนวนนี้ควรที่จะต้องเพิ่มสิทธิประโยชน์ให้กับผู้ประกันตนให้มีคุณภาพชีวิตที่ดีขึ้น แม้แต่การรักษาพยาบาลก็ยังเหมือนเดิม หลักเกณฑ์เงื่อนไข กรณีฉุกเฉินก็ยังมีข้อจำกัดไม่สามารถเข้ารักษาได้ตามที่ผู้บริหาร สปส. ประกาศไว้ ทำให้ผู้ประกันตน ต้องตั้งคำถามต่อ สปส. ว่ากองทุนประกันสังคม คือ สวัสดิการและหลักประกันที่จะสร้างความมั่นคงให้กับชีวิตของคนงานตั้งแต่เกิดจนตาย คนงานที่ต้องทำงานหนัก อาบเงื่อนต่างน้ำ ตากแดดตากฝน ทั้งหยดเลือดน้ำตา ของคนงานเพื่อนำเงินมาสะสมเข้ากองทุนประกันสังคม ที่พวกเขาฝากอนาคตไว้ อยากฝากบอก ผู้บริหาร สปส .อย่าใช้กองทุนประกันสังคมไปตอบสนองนโยบายรัฐบาล จนละเลยสิทธิประโยชน์ของผู้ประกันตน