สปส.ประกาศเคลื่อนนโยบายเพิ่มเพดานเงินสมทบ

คสรท.ต้านปรับเพดานจัดเก็บเงินสมทบ เรียกร้องรัฐบาลจ่ายเงินสมทบเข้ากองทุนร้อยละ 5 เท่ากันและปรับปรุงเพิ่มประสิทธิภาพ หากไม่พอคุยกันเรื่องเก็บเพิ่ม ด้านคปค.หนุนเก็บเพิ่มสมทบหวังยามชรา ส่วนสปส.บอกรอแก้กฎหมาย

เมื่อวันที่15 มิถุนายน 2561 นายสมพร ขวัญเนตร รองประธานคณะกรรมการสมานฉันท์แรงงานไทย (คสรท.)ได้ให้สัมภาษณ์สื่อมวลชนต่อประเด็นการขยายฐานการเพิ่มเพดานเงินเดือน เพื่อจัดเก็บเงินสมทบเข้ากองทุนประกันสังคมว่า เหตุผลที่ไม่เห็นด้วยกับการขยายจาก 15,000 บาท เป็น 20,000 บาท ซึ่งมีผู้ประกันตนอยู่ประมาณ 20% ที่ยังไม่มีความชัดเจนว่า จะได้อะไร จากการเก็บเงินเพิ่มขึ้น ขณะที่ฐานล่างที่มีผู้ประกันตนอยู่ประมาณ80% ยังต้องรอการปรับปรุงสิทธิประโยชน์ให้สอดคล้องกับความจำเป็นตามหลักการเฉลี่ยทุกข์เฉลี่ยสุขของระบบประกันสังคมที่มีกำไรจากการลงทุนทุกปีกว่า 50,000-60,000 ล้าน ซึ่งแนวคิดแบบนี้เป็นการสร้างความเหลื่อมล้ำสร้างความแตกต่างจ่ายมากได้มากจ่ายน้อยได้น้อย ข้อเสนอของคสรท.ให้รัฐกลับมาจ่ายสมทบ 5% เท่ากันกับลูกจ้างนายจ้างและนำเงินค้างจ่าย 56,000 มาคืน เพื่อปรับปรุงสิทธิประโยชน์ให้กับผู้ประกันตน ถ้าทำแล้วไม่เพียงพอค่อย มาคุยกันเรื่องเก็บเงินสมทบเพิ่ม

ด้านสำนักงานประกันสังคม (สปส.)ได้ประกาศเรื่องความคืบหน้าการขับเคลื่อนนโยบายเพิ่มเพดานเงินเดือนสำหรับเก็บเงินสมทบเข้ากองทุนประกันสังคม โดยต้องมีการแก้พ.ร.บ.ประกันสังคม โดยหลักการยังเก็บเงินสมทบร้อยละ 5 เท่าเดิม เพียงแต่มีการขยายฐานเพดานคำนวณเงินสมทบจาก 1.5 หมื่นบาทเป็น 2 หมื่นบาท โดยสรุปได้ดังนี้

  1. คนที่ฐานเงินเดือนอยู่ที่ 15,000 บาท ก็จ่ายเท่าเดิม คือ 750 บาทต่อเดือน
  2. คนที่มีฐานเงินเดือน 16,000 บาท จ่ายสมทบเพิ่มเดือนละ 800 บาท
  3. คนที่มีฐานเงินเดือน 17,000 บาท จ่ายสมทบเพิ่มเดือนละ 850 บาท
  4. คนที่มีฐานเงินเดือน 18,000 บาท จ่ายสมทบเพิ่มเดือนละ 900 บาท
  5. คนที่มีฐานเงินเดือน 19,000 บาท จ่ายสมทบเพิ่มเดือนละ 950 บาท
  6. คนที่มีฐานเงินเดือน 20,000 บาท จ่ายสมทบเพิ่มเดือนละ 1,000 บาท

ส่วนนายมนัส โกศล ประธานเครือข่ายประกันสังคมคนทำงาน (คปค.) ได้สัมภาษณ์กับมติชนว่า ทางกลุ่มเห็นด้วยกับการจัดเก็บเพิ่มเงินสมทบประกันสังคม ตรงนี้ไม่ได้ไปกระทบกับผู้ประกันตนทั้งหมด แต่จะช่วยเพิ่มให้ผู้ประกันตนมีเงินเก็บยามชรา และเข้าใจว่า ตอนนี้ยังไม่ได้ประกาศใช้ ยังอยู่ในกระบวนการ ซึ่งต้องมีการแก้ไขกฎมายประกันสังคมอีกครั้ง