วันแรงงาน ชงรัฐสนับสนุนพิพิธภัณฑ์แรงงานไทย

20150422_101907

คณะกรรมการจัดงานวันแรงงานแห่งชาติปี2558 เชิญทีมพิพิธภัณฑ์แรงงานไทย ฉายประวัติศาสตร์แรงงานความเป็นมาการก่อตั้งพิพิธภัณฑ์แรงงานไทย หลังบรรจุข้อเรียกให้รัฐสนับสนุนมูลนิธิพิพิธภัณฑ์แรงงานไทย พร้อมยื่นให้นายกรัฐมนตรีในวันแรงงานแห่งชาติ วันที่ 1 พฤษภาคม2558

วันที่ 22 เมษายน2558 คณะกรรมการจัดงานวันแรงงานแห่งชาติปี58 ซึ่งประกอบด้วย 14 สภาองค์การลูกจ้าง 1 สหพันธ์แรงงานรัฐวิสาหกิจ ได้มีการจัดประชุมเตรียมการจัดงานวันแรงงานแห่งชาติ ณ ห้องประชุมชั้น7 สำนักงานประกันสังคมเขตพื้นที่ 3 การประชุมครั้งนี้ทางคณะจัดงานฯได้เชิญทางพิพิธภัณฑ์แรงงานไทยเข้าร่วมเพื่อให้ทำความเข้าใจถึงความเป็นมาและความสำคัญของพิพิธภัณฑ์แรงงานไทย หลังจากที่คณะทำงานได้บรรจุข้อเรียกร้อง “ให้รัฐบาลสนับสนุนมูลนิธิพิพิธภัณฑ์แรงงานไทย“โดยครั้งนี้ นายวิชัย นราไพบูลย์ ผู้จัดการพิพิธภัณฑ์แรงงานไทยได้เป็นตัวแทนเข้าร่วมประชุมพร้อมทั้งนำวีดีทัศน์ประวัติศาสตร์แรงงาน แนวคิดการก่อตั้งพิพิธภัณฑ์แรงงานไทย กิจกรรมการทำงานต่างๆ สถาพปัญหาของพิพิธภัณฑ์ฯ พร้อมทั้งได้นำหนังสือประวัติศาสตร์แรงงาน ไปมอบให้องค์กรแรงงานต่างๆเพื่อเป็นการขอบคุณด้วย

20150422_10012120150422_104311

นายมานิตย์ พรหมการีย์กุล ประธานกรรมการจัดงานวันแรงงานแห่งชาติปี 58 กล่าวว่า ด้วยวันนี้เป็นการประชุมเตรียมการจัดงานวันแรงงานแห่งชาติ จึงได้เชิญทางพิพิธภัณฑ์แรงงานไทยมาเพื่อบอกถึงความสำคัญของพิพิธภัณฑ์ฯ ด้วยมีผู้เข้าร่วมประชุมจำนวนมากเป็นคนรุ่นใหม่เชื่อว่า มีหลายท่านในคณะกรรมการฯ แม้เป็นแรงงานก็ยังไม่รู้จัก และเคยไปพิพิธภัณฑ์แรงงานไทย ไม่ทราบถึงความสำคัญ และความเป็นมาของพิพิธภัณฑ์แรงงานไทย จึงได้เชิญให้ทางพิพิธภัณฑ์ฯมาแนะนำให้รู้จัก หลังจากที่คณะกรรมการฯได้เสนอเป็นข้อเรียกร้อง ด้วยมองว่า เรื่องพิพิธภัณฑ์แรงงานเป็นเรื่องสำคัญ ซึ่งขณะนี้มีปัญหาเรื่องสถานที่ ด้วยการรถไฟมีแนวคิดต้องการพื้นที่มักกะสันไปหารายได้ ซึ่งพิพิธภัณฑ์ฯเองตั้งอยู่ตรงนั้นด้วย แต่ก็คิดและหวังว่า ทางการรถไฟคงดูแลเรื่องสถานที่ให้ได้ ปัญหาต่อมาเรื่องค่าใช้จ่ายนั้น ต้องเข้าใจร่วมกันก่อนว่าพิพิธภัณฑ์แรงงานเป็นของพวกเราผู้ใช้แรงงานทุกคน ฉะนั้นต้องช่วยกันดูแล เบื้องต้น ทางคณะกรรมการจัดงานฯได้ให้พิพิธภัณฑ์ฯมาดำเนินกิจกรรมด้วย เช่นจัดนิทรรศการ พร้อมทั้งถ่ายภาพ ถ่ายวีดิโอ ซึ่งทางคณะกรรมการจัดงานมีค่าใช้จ่ายให้ เพื่อสนับสนุน และวันนี้ขอเชิญชวนให้คณะกรรมการร่วมบริจาคเงิน และไปจัดกิจกรรมที่พิพิธภัณฑ์แรงงาน ซึ่งทางสภาองค์การลูกจ้างสภาแรงงานยานยนต์แห่งประเทศไทย และสหภาพแรงงานโตโยต้าประเทศไทยจะมีการนำกรรมการ และสมาชิกไปเรียนรู้ประวัติศาสตร์แรงงานที่พิพิธภัณฑ์ฯ และขอเชิญร่วมบริจาคพร้อมขอเชิญชวนร่วมกันดูแลพิพิธภัณฑ์ของแรงงานไทยของพวกเราด้วย

DSCN2463DSCN2500

นายชินโชติ แสงสังข์ ประธานสภาองค์การลูกจ้างสภาแรงงานแห่งประเทศไทย กล่าวถึงการมีส่วนร่วมในการก่อตั้งพิพิธภัณฑ์แรงงานไทย ช่วงนั้นองค์กรแรงงาน ผู้ใช้แรงงานหลากหลายที่มาร่วมกัน ด้วยหวังการเป็นเอกภาพสร้างประวัติศาสตร์แรงงานร่วมกัน ดีใจที่วันนี้พิพิธภัณฑ์ฯยังคงอยู่มาได้กว่า 20 ปี และวันนี้ผู้ใช้แรงงานเห็นคุณค่าบรรจุเป็นข้อเรียกร้อง ถือเป็นประวัติศาสตร์ เป็นครั้งแรกที่มีการเรียกร้องเรื่องนี้ เพื่อให้รัฐบาลจัดสรรงบประมาณมาดูแลพิพิธภัณฑ์แรงงานของผู้ใช้แรงงาน อย่างไรถือเป็นภาระกิจของผู้ใช้แรงงาน ผู้นำแรงงานรุ่นใหม่ที่ต้องช่วยกันทำให้ข้อเรียกร้องนี้เป็นจริง

“พวกเราต้องเกาะติดข้อเรียกร้องข้อนี้เอาให้ได้ แม้การเรียกร้องของแรงงานทุกปีมีการเรียกร้องติดตามไม่มีความคืบหน้า แต่ข้อเรียกร้องเรื่องให้รัฐสนับสนุนพิพิธภัณฑ์ฯ จะต้องทำให้ได้ หากปีนี้ไม่ได้ปีหน้าต้องได้ อย่าทิ้งรากเหง้าของเรา วันนี้หากเราอยากรู้เรื่องประวัติศาสตร์แรงงาน เรื่องแรงงาน ไปที่นี่รู้แน่นอน แล้วตอนนี้ก็ได้บันทึกเรื่องราวของพวกเราเป็นประวัติศาสตร์ให้ลูกหลานได้เรียนรู้แล้ว” นายชินโชติกล่าว

DSCN2525DSCN2474

นายชินโชติ ยังกล่าวอีกว่า การสนับสนุนพิพิธภัณฑ์ฯไม่ใช่การบริจาคฟรี เมื่อบริจาคแล้วพิพิธภัณฑ์ฯมีข้อเสนอหลายเรื่อง เช่น การจัดนิทรรศการ ทำสื่อสิ่งพิมพ์ สื่อวีดิโอ วีดีทัศน์ อบรมให้การศึกษา ก็เข้าใจอยู่แล้วว่า ผู้ใช้แรงงานเป็นคนใจบุญไปทอดผ้าป่าวัดโน่นวัดนี้ ต่อไปนี้ให้หันมาทำบุญให้กับองค์กรตัวเององค์กรที่ถือว่ามีคุณค่าทำหน้าที่บอกเล่าประวัติศาสตร์ ความมีคุณค่าของผู้ใช้แรงงานให้สังคม เช่นนักเรียน นักศึกษา สื่อมวลชน ประชาชนทั่วไปนักท่องเที่ยวที่เข้ามาเรียนรู้คุณค่าความมีศักดิ์มีศรีของผู้ใช้แรงงาน การที่จะไปขอสมาชิกให้บริจาคเงินให้พิพิธภัณฑ์แรงงานอาจเป็นเรื่องยาก หากในช่วงของการประชุมใหญ่ของแต่ละสหภาพแรงงาน สหพันธ์แรงงาน สภาองค์การลูกจ้าง ให้ทางพิพิธภัณฑ์แรงงานไทยมาจัดทำนิทรรศการประวัติศาสตร์ ทำวีดีทัศน์ จัดกิจกรรมให้ความรู้กับสมาชิก ฯลฯ ซึ่งตนได้ใช้บริการแล้วทั้งทำวีดีทัศน์ อบรมนักสื่อสารแรงงาน และขอรับรองว่าคุณภาพเท่ามืออาชีพ พิพิธภัณฑ์ฯถือเป็นแหล่งข้อมูล เป็นผู้รู้ของแรงงานจริงแล้วทำไมจะไปใช้บริการจากคนอื่นๆที่ไม่รู้จักผู้ใช้แรงงาน หากวันนี้ทุกสภาบริจาคพิพิธภัณฑ์ฯก็จะได้มีเงินมาทำงาน ทำหน้าที่เป็นหน้าตาให้กับผู้ใช้แรงงาน และในการจัดงานวันแรงงานทุกปี หลายปีแล้วที่คณะกรรมการจัดงานฯได้ให้พิพิธภัณฑ์ฯมาจัดนิทรรศการให้ครั้งละ 40,000 บาท แต่ปีนี้ได้อนุมัติเพิ่มเป็น 50,000 บาท ค่าถ่ายภาพ-ถ่ายวีดิโอเพื่อจัดทำสารคดีวันแรงงานแห่งชาติปีนี้ 20,000 บาท ซึ่งที่ผ่านมาใช้วิธีการจัดจ้างบริษัทภายนอกมาจัดทำโดยการถ่ายภาพให้ แต่ไม่เข้าใจประเด็นแรงงาน

DSCN2519DSCN2521

ดร.พงษ์อัมพร บรรดาศักดิ์ สภาองค์การลูกจ้างคนงานไท กล่าวว่า เห็นด้วยกับการที่ขบวนการแรงงานจะมาช่วยกันดูแลพิพิธภัณฑ์แรงงานไทย สภาองค์การลูกจ้างทุกสภาได้รับเงินมาจัดให้การศึกษาให้กับผู้ใช้แรงงาน ต่อไปให้อย่างน้อยมาจัดที่พิพิธภัณฑ์แรงงานหนึ่งรุ่น เพื่อสนับสนุนพิพิธภัณฑ์ฯ และได้เรียนรู้ประวัติศาสตร์แรงงานด้วย และข้อเรียกร้องนี้ต้องทำให้ได้

ทั้งนี้ ได้มีสภาองค์การลูกจ้างร่วมบริจาคเงินให้กับพิพิธภัณฑ์แรงงานไทย ประกอบด้วย สภาองค์การลูกจ้างแรงงานยานยนต์แห่งประเทศไทย จำนวน 3,000 บาท สภาองค์การลูกจ้างสภาแรงงานแห่งประเทศไทย จำนวน 3,000 บาท สภาองค์การลูกจ้างสภาศูนย์กลางแรงงานแห่งประเทศไทย จำนวน 3,000 บาท สภาองค์การลูกจ้างองค์การแรงงานแห่งประเทศไทยจำนวน 2,000 บาท เป็นการบริจาคเบื้องต้น

DSCN2508DSCN2507

ข้อเรียกร้องในปีนี้คณะกรรมการจัดงานวันแรงงานแห่งชาติปี 58 ได้มีข้อเรียกร้อง 11 ข้อ ดังนี้

1. ให้รัฐบาลรับรองอนุสัญญาองค์การแรงงานระหว่างประเทศ (ILO) ฉบับที่87 และ98 ว่าด้วยสิทธิในการรวมตัวเจรจาต่อรอง

2.ให้รัฐบาลเร่งดำเนินการนำร่างพระราชบัญญัติคุ้มครองแรงงาน พ.ศ.2541 ฉบับแก้ไขเพิ่มเติมของผู้ใช้แรงงานเข้าสู่กระบวนการพิจารณาของสภานิติบัญญัติแห่งชาติ

3. ให้รัฐบาลตรากฎหมายตั้งกองทุนประกันความเสี่ยงให้กับลูกจ้างใจกรณีที่สถานประกอบกิจการปิดกิจการ เลิกจ้างไม่จ่ายค่าชดเชย เพื่อเป็นหลักประกันความมั่นคงในการทำงาน

4. ให้รัฐบาลยกเว้นการเก็บภาษีเงินได้กรณีค่าชดเชยลูกจ้างภาคเอกชนและเงินตอบแทนความชอบของพนักงานรัฐวิสาหกิจ รวมถึงเงินได้อื่นๆซึ่งเป็นเงินงวดสุดท้ายของลูกจ้าง

5. ให้รัฐบาลสนับสนุนและผลักดันกฎหมายพัฒนารัฐวิสาหกิจและยุตินโยบายการแปรรูปหรือแปลงสภาพรัฐวิสาหกิจให้เป็นบริษัทเอกชน หรือยุบรัฐวิสาหกิจ

6. ให้รัฐบาลตราพระราชกฤษฎีกาการจัดเก็บเงินสะสม และเงินสมทบเพื่อเป็นกองทุนสงเคราะห์ลูกจ้างตามบทบัญญัติว่าด้วยเงินกองทุนสงเคราะห์ ในหมวด 13 แห่งพระราชบัญญัติคุ้มครองแรงงาน พ.ศ.2541 ( มาตรา 163 )

7. ให้รัฐบาลยกระดับสำนักความปลอดภัยแรงงานเป็นกรมความปลอดภัยแรงงาน

8. ให้รัฐบาลปฏิรูปสำนักงานประกันสังคม ดังนี้

8.1 ให้รัฐบาลยกสถานะสำนักงานประกันสังคมเป็นองค์กรอิสระ

8.2 ให้รัฐมนตรีว่าการกระทรวงแรงงาน แก้ไขกฎกระทรวงเกี่ยวกับบัตรรับรองสิทธิให้ใช้ได้ทุกโรงพยาบาล

8.3 ให้รัฐมนตรีแก้กฎกระทรวงเกี่ยวกับลูกจ้างเจ็บป่วยหรืออุบัติเหตุอันเนื่องมาจากการทำงาน เมื่อลูกจ้างใช้สิทธิได้แล้วให้สิทธิลูกจ้างไปใช้กองทุนประกันสังคม

8.4 ให้สำนักงานประกันสังคมจัดสร้างโรงพยาบาลประกันสังคมต้นแบบเป็นของผู้ประกันตน

9. ให้รัฐบาลปรับขึ้นค่าจ้างขั้นต่ำ พร้อมทั้งควบคุมราคาสินค้าอุปโภค และบริโภค

10. ให้รัฐบาลสนับสนุนมูลนิธิพิพิธภัณฑ์แรงงานไทย

11.  ให้รัฐมนตรีว่าการกระทรวงแรงงานแต่งตั้งคณะทำงานติดตามข้อเรียกร้องวันแรงงานแห่งชาติปี 2558

โดยกิจกรรม ในวันแรงงานแห่งชาติ 1 พฤษภาคม 2558 ส่วนของคณะกรรมการจัดงานวันแรงงานแห่งชาติ2558 กำหนดการรวมตัวกันที่ลานพระบรมรูปทรงม้า ตั้งแต่เวลา 07.00น.โดยมีพิธีกรรมทางศาสนา และเริ่มเคลื่อนขบวนในเวลา 08.30 น. ไปยังท้องสนามหลวง มีพิธีเปิดงานวันแรงงานเวลา 11.00 น.โดยผู้นำแรงงาน และนายกรัฐมนตรีกดปุ่มสัญลักษณ์เปิดงาน และรับข้อเรียกร้องจากประธานจัดงานวันแรงงานแห่งชาติ

นักสื่อสารแรงงาน รายงาน