รัฐไทยลงนามให้สัตยาบัน ILO ฉบับที่ 111

รัฐบาลไทยลงนามให้สัตยาบัน ILO ฉบับที่ 111 ว่าด้วยการเลือกปฏิบัติในการจ้างงานและอาชีพ 

วันที่ 13 มิถุนายน 2560 แหล่งข่าวรายงานว่า พลเอกศริชัย ดิษฐกุล รัฐมนตรีว่าการกระทรวงแรงงาน (รมว.) พร้อมผู้บริหารกระทรวงแรงงานได้เข้าพบ Mr. Guy Ryder ผู้อำนวยการใหญ่องค์การแรงงานระหว่างประเทศ (ILO) ที่กรุงเจนีวา ประเทศสวิตเซอร์แลนด์ เพื่อลงนามให้สัตยาบันสารอนุสัญญาILOฉบับที่ 111 ว่าด้วยการเลือกปฏิบัติในการจ้างงานและอาชีพ ตามที่คณะรัฐมนตรี มีมติเห็นชอบเมื่อวันที่ 9 พฤษภาคม 2560 ตามที่กระทรวงแรงงาน (รง.) เสนอ ดังนี้

  1. เห็นชอบการให้สัตยาบันอนุสัญญาองค์การแรงงานระหว่างประเทศ (International Labour Organization: ILO) ฉบับที่ 111 ว่าด้วยการเลือกปฏิบัติในการจ้างงานและอาชีพ ค.ศ. 1958 (พ.ศ. 2501)
  2. มอบหมายให้กระทรวงการต่างประเทศ (กต.) จัดทำสัตยาบันสารเพื่อการเข้าเป็นภาคีอนุสัญญาองค์การแรงงานระหว่างประเทศดังกล่าว
  3. มอบหมายให้ รง. จดทะเบียนสัตยาบันสารดังกล่าวต่อองค์การแรงงานระหว่างประเทศต่อไป

สาระสำคัญของอนุสัญญา ILO ฉบับที่ 111 เป็น 1 ใน 8 อนุสัญญาหลักของ ILO ภายใต้หมวดการขจัดการเลือกปฏิบัติในการจ้างงานและประกอบอาชีพ โดยเป็นอนุสัญญาเชิงส่งเสริมให้มีนโยบายและมาตรการระดับชาติเพื่อป้องกันและขจัดการเลือกปฏิบัติในการจ้างงานและอาชีพ และมุ่งส่งเสริมโอกาสและการปฏิบัติที่ทัดเทียมในการจ้างงานและการประกอบอาชีพ โดยรายละเอียดของอนุสัญญาฯ เป็นอนุสัญญาเชิงส่งเสริมให้มีนโยบายและมาตรการระดับชาติเพื่อขจัดการเลือกปฏิบัติและส่งเสริมโอกาสความเสมอภาคการปฏิบัติที่ทัดเทียมในการจ้างงานและการประกอบอาชีพที่ครอบคลุมเรื่องต่าง ๆ ได้แก่ การเข้าถึงบริการแนะแนวอาชีพและจัดหางานการเข้าถึงการฝึกอบรมและการทำงาน ความก้าวหน้าในอาชีพ ความมั่นคงในการทำงานค่าตอบแทนที่เหมาะสมกับงานที่ทำ สภาพการจ้างและสวัสดิการจากการทำงาน โดยพิจารณาการเลือกปฏิบัติบนพื้นฐานของเชื้อชาติ สีผิว เพศ ศาสนา ความคิดเห็นทางการเมือง รากเหง้า (National Extraction) สถานภาพทางสังคม และฐานอื่น ๆ ที่ประเทศให้สัตยาบันกำหนดฐานเพิ่มเติมโดยการปรึกษาหารือกับองค์การนายจ้างและลูกจ้าง ซึ่งจะส่งผลให้ความเท่าเทียมในโอกาสหรือการได้รับการปฏิบัติในการจ้างงานหรืออาชีพนั้นหมดไปหรือด้อยลง โดยไม่เกี่ยวกับสัญชาติ (คนต่างชาติ)

ในวันเดียวกัน ข่าวกระทรวงแรงงานรายงานว่า พลเอกศริชัย ดิษฐกุล รมว.ได้กล่าวถ้อยแถลงในวาระการประชุมเพื่ออภิปรายรายงานของผู้อำนวยการใหญ่องค์การแรงงานระหว่างประเทศ เรื่อง “การทำงานในภูมิอากาศที่เปลี่ยนแปลง : ข้อริเริ่มสีเขียว” ณ องค์การแรงงานระหว่างประเทศ (ILO) กรุงเจนีวา ประเทศสวิตเซอร์แลนด์

โดยกล่าวว่า ปีนี้ ILO ให้ความสำคัญกับการขับเคลื่อนวาระงานสีเขียว (Green Job) ควบคู่กับการบรรลุเป้าหมายความยั่งยืนด้านสิ่งแวดล้อม ทั้งนี้ประเทศไทยได้น้อมนำเศรษฐกิจพอเพียง (ของในหลวงรัชกาลที่ 9) ซึ่งเป็นหลักการที่สำคัญที่มุ่งเน้นการสร้างสมดุลระหว่าง ความเจริญรุ่งเรืองทางเศรษฐกิจ การพัฒนาสังคม และความยั่งยืนของสิ่งแวดล้อม โดยกว่า 7 ทศวรรษ ที่หลักการนี้ได้พิสูจน์ให้เราเห็นว่า เป็นเงื่อนไข ที่สำคัญที่สุดในการขับเคลื่อนประเด็นเกี่ยวกับทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม คือ การสร้างงานที่มีคุณค่าให้แก่ประชาชนพร้อมทั้งเป็นการแก้ไขปัญหาการทำลาย ทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม ด้วยการสร้างความตระหนักรู้ให้แก่ประชาชนถึงความยั่งยืนระยะยาว มากกว่าการแสวงหาประโยชน์โดยไม่รับผิดชอบในระยะสั้น เพื่อบรรลุเป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืน (SDGs) ซึ่งสอดคล้องกับ ILO ที่เห็นว่าการเปลี่ยนผ่านไปสู่เศรษฐกิจสีเขียวนั้นจะต้องเป็นธรรม และครอบคลุม ซึ่งเป็นการส่งเสริมให้ประชาชนสามารถทำงานและดำรงชีวิตได้อย่างกลมกลืนกับเศรษฐกิจสีเขียว เป็นสิ่งจำเป็นที่จะนำไปสู่การกระตุ้นให้เกิดความเชื่อมั่นว่าอนาคตของเศรษฐกิจที่มีความสะอาดและเป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม จะไม่เป็นอุปสรรคต่อการดำรงชีวิต และการจ้างงาน ตามปณิธานของเป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืนที่มุ่งมั่นจะพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมที่มีความเจริญรุ่งเรือง และต้องทำงานร่วมกับองค์กรนายจ้างและลูกจ้าง โดยไม่ทิ้งใครไว้ข้างหลัง

โดยที่ผ่านมานั้น เพื่อส่งเสริมให้เกิดการเปลี่ยนผ่านที่ราบรื่นไปสู่เศรษฐกิจที่มีการเจริญเติบโตสูงและความยั่งยืนของสิ่งแวดล้อม รัฐบาลไทยได้ดำเนินมาตรการ เพื่อที่จะพัฒนาทักษะฝีมือให้แก่ผู้ทำงาน เพื่อให้มีความสามารถพร้อมรองรับเศรษฐกิจสีเขียว โดยการพัฒนาให้สามารถที่จะใช้วัสดุและสารเคมีที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม รวมทั้งการบริหารจัดการของเสียที่มีประสิทธิภาพสอดคล้องกับเศรษฐกิจและการผลิตสีเขียว นอกจากการมุ่งเน้นในการพัฒนาทุนมนุษย์และเสริมสร้างศักยภาพแล้ว เรายังให้ความสำคัญกับการสร้างความตระหนักรู้ให้แก่ประชาชนทั่วไปเกี่ยวกับคุณค่าที่แท้จริงของความยั่งยืนในระยะยาวมากกว่าผลประโยชน์ที่ไม่รับผิดชอบในระยะสั้น เพื่อสร้างความยั่งยืนให้เกิดขึ้นสำหรับการพัฒนาสังคมสีเขียว

ซึ่งรัฐบาลได้นำมาเป็นกรอบแนวคิดในการกำหนดยุทธศาสตร์ชาติ 20 ปี ไว้ด้วยแล้ว จากถ้อยแถลงข้างต้นสร้างความพึงพอใจแก่ผู้เข้าร่วมการประชุมทั่วโลก พร้อมแสดงความยินดีที่ประเทศไทยมีทิศทางชัดเจนและเอาความริเริ่มสีเขียวแห่งศตวรรษไปเป็นส่วนหนึ่งของการปฏิรูปอนาคตแห่งการทำงาน และการสอดส่องดูแลเพื่อสร้างความมั่นใจให้กับทุกฝ่ายว่าการก้าวไปข้างหน้าย่อมจะก่อให้เกิดประโยชน์เป็นที่ประจักษ์ต่อทั้ง ILO และสมาชิกไตรภาคีขององค์กร

ทั้งนี้แหล่งข่าวยังรายงานอีกว่า วันที่ 12 มิถุนายน 2560 ได้มีการเลือกตั้งสมาชิกคณะประศาสน์การ ซึ่งจากการลงคะแนนเพื่อเลือกผู้แทนเป็นคณะกรรมการบริหารสูงสุดของ ILO ในตำแหน่งสมาชิกประจำ (Regular Member) สำหรับวาระปี 2560 – 2563 ปรากฏว่าประเทศไทยได้รับความไว้วางใจจากการทำงาน ได้รับเสียงสนับสนุนจำนวน 230 เสียง จากผู้แทนฝ่ายรัฐบาลที่เข้าร่วมลงคะแนน 251 เสียง คณะกรรมการชุดนี้มีหน้าที่กำหนดนโยบายและบริหารองค์การแรงงานระหว่างประเทศ นอกจากนี้ยังจะมีบทบาทนำในอนุภูมิภาคอาเซียน ในฐานะผู้ประสานงานอาเซียนในกรอบเวทีองค์การแรงงานระหว่างประเทศ ทั้งนี้ จะเริ่มปฏิบัติหน้าที่ ตั้งแต่การประชุมคณะประศาสน์การ สมัยที่ 330 ในวันที่ 17 มิถุนายน 2560 เป็นต้นไป