นักข่าวพลเมือง แรงงานเกี่ยวข้าว พระยืน ขอนแก่น


ภาพคนช่วยกันลงนาเกี่ยวข้าว อาจทำให้หลายคนนึกถึงประเพณีลงแขก ที่เป็นวัฒนธรรมของการลงแรงช่วยเหลือเกื้อกูลกัน และนับวันจะพบเห็นได้ยากแล้วในทุกวันนี้ จากการเข้ามาแทนที่ของรถไถนา รถเกี่ยวข้าวสีข้าว หรือแม้กระทั่งใช้แรงงานรับจ้างที่เจ้าของนาต้องใช้เงินจ้าง

snapshot5snapshot7

นายอภัย ลายลวด ผู้ว่าจ้าง  สมัยก่อนทำไร่ทำนาไม่ได้จ้างกันหรอก ถ้าใครทำนาเสร็จแล้วก็มาช่วยกันลงแขกแล้วก็หาของกินมาแบ่งกันกิน เสร็จนาทุ่งนี้ก็ไปนาทุ่งนั้นจนตีข้าวเสร็จ ก็ย้ายมาช่วยกันนาทุ่งนี้ ทุกวันนี้ยากลำบาก ครอบครัวก็หมุนเวียนกันไปไม่เหมือนสมัยก่อน เดี๋ยวนี้มีการมีงานของแต่ละครอบครัวจะให้มาช่วยกันก็ต้องจ้าง ถ้าไม่จ้างก็ไม่มา

แรงงานรับจ้างเกี่ยวข้าวเหล่านี้ บ้างก็เคยเป็นเจ้าของที่นาที่ต้องเปลี่ยนสภาพมาเป็นคนรับจ้างเกี่ยวข้าว หลายคนก็เป็นแรงงานที่เจอปัญหาต้องออกมาจากลูกจ้างในโรงงานอุตสาหกรรม และกลายเป็นที่ต้องการของเจ้าของที่นาที่ต่างแย่งกันจองตัว และต้องจ่ายค่าจ้างให้เท่าค่าแรงขั้นต่ำหรือสูงกว่า ตามแต่จะตกลงกัน

snapshot8snapshot9

แรงงานรับจ้าง ไม่ว่าจะดำนาเกี่ยวข้าว ถ้าติดต่อมาพ่อก็ไปพ่อก็มาให้เลยอย่างนี้แหละพ่อ อยู่ใกล้อยู่ไกลไปหมด แต่ก่อนราคา 250 บาท เดี๋ยวนี้มันอยู่ที่เจ้าของข้าว เขาขึ้นราคาให้เอง บางครั้งพื้นที่เท่านี้ก็ 300 บาท 350 บาท 360 บาท 370 บาท 380 บาท ก็มีแล้วแต่จังหวะ

แรงงานรับจ้าง ก็คือคนขับรถนี่แหละเขาพาไป ถ้าหัวหน้าจัดแจงงานกันหรอกครับ ใครมีรถก็พากันไป แล้วแต่นายจ้างจะติดต่อ ไปตามสาย ถ้ามีทุ่งตรงนี้มาติดต่อ ทุ่งต่อไปก็จะติดต่อตามมาเรื่อยๆ ในช่วงที่ข้าวเกี่ยวได้เยอะ บ้านหลังหนึ่งมา 3 คน กว่าจะเก็บเกี่ยวข้าวเสร็จรายได้ตกอยู่ที่เกือบหมื่นต่อฤดูกาลทำนา แต่ว่าค่าแรงก็อยู่ในเกณฑ์พออยู่พอกิน เลี้ยงชีพได้

แรงงานรับจ้างในภาคเกษตรที่เกิดขึ้นมากมายในฤดูเก็บเกี่ยว ก็เพื่อหารายได้เลี้ยงชีวิตและครอบครัว แต่สถานะที่เป็นเพียงแรงงานนอกระบบตามฤดูกาลเท่านั้น ก็ยังต้องการให้ภาครัฐมีนโยบายที่จะดูแลเรื่องค่าตอบแทนและสวัสดิการให้ทัดเทียมกับแรงงานกลุ่มอื่นๆ เพื่อที่พวกเขาจะได้ไม่ต้องทิ้งถิ่นฐานไปหางานทำในที่ไกลๆ

นักข่าวพลเมืองนักสื่อสารแรงงาน รายงาน