นอกระบบนัดรมว.คลังหารืองานกองทุนออม หลังรัฐยังไม่บังคับใช้

ศูนย์ประสานงานแรงงานนอกระบบ ได้ยื่นหนังสือนัดเข้าพบ นายกิตติรัตน์ ณ ระนอง รองนายกรัฐมนตรี และรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง หวังหารือถึงสถานการณ์ การดำเนินงานพระราชบัญญัติกองทุนการออมแห่งชาติพ.ศ.2554 (กอช.) ที่ได้มีการประกาศบังคับใช้ให้เปิดรับสมาชิกกองทุน กลัวประชาชนเสียโอกาสเข้าระบบ พร้อมตามทวงวันนัดอีกครั้งวันที่ 27 ธ.ค.นี้

นางสุจิน รุ่งสว่าง ผู้ประสานงานแรงงานนอกระบบกล่าวว่า 19 ธ.ค.55 ศูนย์ประสานงานฯได้เข้ายื่นหนังสือเพื่อนัดพบรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง ต้องการติดตามและหารือสถานการณ์และแนวทางการดำเนินการบังคับใช้พระราชบัญญัติกองทุนออมแห่งชาติพ.ศ.2554 เนื่องจากช่วงรัฐบาลเก่าภายใต้นายกนายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะได้ออกพระราชบัญญัติกองทุนการออมแห่งชาติพ.ศ.2554 (กอช.) เพื่อให้ประชาชนที่เป็นแรงงานนอกระบบจำนวน 24 ล้านคน ซึ่งเดิมไม่มีสวัสดิการใดๆให้ได้มีสวัสดิการด้านบำนาญชราภาพใช้ในยามสูงวัย ซึ่งถือเป็นเรื่องที่ดี และประชาชนส่วนใหญ่ต่างก็เห็นด้วย แต่ในขณะปัจจุบันก็ยังไม่เกิดการบังคับใช้พระราชบัญญัติกองทุนการออมแห่งชาติพ.ศ.2554 ตามที่ประกาศ เช่นการเปิดรับสมัครสมาชิกกองทุนฯ เมื่อวันที่ 8 พฤษภาคม 2555โดยให้ประชาชนทั่วไปได้สมัครเข้าเป็นสมาชิก ซึ่งประชาชนส่วนใหญ่ก็รอคอยที่จะสมัครเข้าเป็นผู้ประกันตนในกองทุนฯ ดังกล่าว

นางสุจิน ยังกล่าวอีกว่า ศูนย์ประสานงานแรงงานนอกระบบแห่งชาติ  ในฐานะตัวแทนภาคประชาสังคม จึงขอนัดเพื่อเข้าพบนายกิตติรัตน์ ณ ระนอง ในฐานะรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลังผู้รับผิดชอบ เพื่อรับทราบสถานการณ์ความคืบหน้าในขณะปัจจุบันของการบังคับใช้กฎหมายว่า ยังติดขัดอะไร หรือมีปัญหาในขั้นตอนใดที่กระทรวงการคลังไม่สามารถดำเนินการตามที่ได้ประกาศว่าจะเปิดรับสมัครฯ เมื่อวันที่ 8 พฤษภาคม 2555  ซึ่งได้ล่วงเลยมาจนถึงปัจจุบันเป็นระยะเวลา 210 วัน และสถานการณ์ดังกล่าวส่งผลให้ประชาชนส่วนหนึ่งเสียโอกาสที่จะได้รับสิทธิประโยชน์ ตามพระราชบัญญัติกองทุนการออมแห่งชาติ พ.ศ.2554

ทั้งนี้ หลังจากที่ได้ส่งหนังสือเพื่อขอนัดพบท่านรัฐมนตรีว่าการกระทรวงแรงงานแล้ว ทางศูนย์ประสานงานฯจะติดตามผลโดยในวันที่ 27 ธ.ค.นี้

นางสุจิน ยังกล่าวอีกว่า ทางกระทรวงฯควรมีการบังคับใช้กฎหมายก่อน แล้วค่อยมาดูผลว่ากฎหมายมีปัญหาอย่างไรในทางปฏฺบัติ หากต้องมีการปรับแก้ไขคิดว่าประชาชนคงไม่ขัด แต่ไม่เห็นด้วยที่จะตั้งเป้าแก้กฎหมายเพียงอย่างเดียวทั้งที่ยังไม่มีการบังคับใช้ โดยทางกลุ่มเองก็มีข้อเสนอสำคัญใน 2 เรื่อง คือ

(1) ให้กระทรวงการคลังยกเลิกเงื่อนไขในการเข้ากองทุนการออมแห่งชาติ เพื่อให้โอกาสกับผู้ประกันตนที่เป็นแรงงานนอกระบบทุกกลุ่มสามารถสมัครเป็นสมาชิกกองทุนการออมแห่งชาติได้

(2) ให้สำนักงานเศรษฐกิจการคลัง กระทรวงการคลัง กำหนดแนวทางการจัดระบบการจ่ายเงินสมทบและจัดให้มีหน่วยบริการย่อยในระดับพื้นที่ โดยพิจารณาถึงการมีส่วนร่วมจากองค์กรชุมชน องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น และเครือข่ายแรงงานนอกระบบ เพื่อเป็นการลดภาระค่าใช้จ่ายและเวลาของผู้ประกันตน เพื่อทำหน้าที่ให้บริการ การจ่ายเงินสมทบ การรับประโยชน์ทดแทน

นักสื่อสารแรงงาน รายงาน