คสรท.แถลงไม่เห็นด้วยค่าจ้างลอยตัว และสูตรคิดค่าจ้าง เสนอปรับขึ้นปี 2561

คสรท. และสรส.แถลง รัฐต้องกำหนดค่าจ้างที่เป็นธรรม ยกเลิกอนุกรรมการค่าจ้างจังหวัด เหตุขาดอำนาจ ซัดไม่เห็นด้วยกับค่าจ้างลอยตัวและสูตรการคิดค่าจ้างขั้นต่ำของกระทรวงแรงงาน เพราะแรงงานยังขาดอำนาจต่อรอง

คณะกรรมการสมานฉันท์แรงงานไทย(คสรท.) ร่วมกับสมาพันธ์แรงงานรัฐวิสาหกิจสัมพันธ์(สรส.) ได้จัดแถลงข่าวเรื่อง ขอให้มีการปรับค่าจ้างในปี 2561 ไม่เห็นด้วยกับค่าจ้างลอยตัวและสูตรการคิดค่าจ้างขั้นต่ำของกระทรวงแรงงาน วันที่ 8 กันยายน 2560 ที่ห้องประชุมศุภชัย ศรีสติ พิพิธภัณฑ์แรงงานไทย

โดยนายสาวิทย์ แก้วหวาน ประธานคณะกรรมการสมานฉันท์แรงงานไทย (คสรท.)แถลงว่า สืบเนื่องจากที่คณะกรรมการสมานฉันท์แรงงานไทย(คสรท.)และสมาพันธ์แรงงานรัฐวิสาหกิจสัมพันธ์(สรส.)ได้ยื่นข้อเรียกร้องต่อรัฐบาลเนื่องในวันกรรมกรสากลปี พ.ศ.2560 มีจำนวน 10 ข้อ การเสนอให้รัฐบาลปรับค่าจ้างขั้นต่ำเป็นหนึ่งใน 10 ข้อที่ยื่นไปซึ่งมีสาระก็คือ

1.) รัฐต้องกำหนดค่าจ้างแรงงานที่เป็นธรรมให้ครอบคลุมผู้ใช้แรงงานทุกภาคส่วน

เหตุผล : ที่ผ่านมาการปรับค่าจ้างก็เน้นแต่คำว่า “ขั้นต่ำ”แต่การปรับค่าจ้างไม่ได้คำนึงถึงความเป็นธรรมที่จะทำให้คุณภาพชีวิตของคนงานสามารถดำรงชีวิตอยู่ได้ควรค่าแห่งศักดิ์ศรีความเป็นมนุษย์ ก็จะได้รับการปฏิเสธจากรัฐบาลด้วยข้ออ้างเสมอว่านักลงทุนจะหนี จะย้ายฐานการผลิต รัฐบาลให้ความสำคัญของนักลงทุนมากกว่าคุณภาพชีวิตของลูกจ้างซึ่งส่วนมากยังคงได้รับค่าจ้างที่ไม่พอต่อการดำรงชีพ ทำให้คนงานไม่มีเงินเพียงพอที่จะสร้างคุณค่าให้ชีวิตที่ ยากจน เป็นหนี้ ซึ่งก็จะส่งผลต่อการบริโภคและภาคการผลิตและอัตราเติบโตทางเศรษฐกิจที่ให้ความสำคัญกับตัวเลขมากกว่าความเป็นจริงทางสังคม แท้จริงแล้วประมาณร้อยละ 60 ตัวเลขการเติบโตทางเศรษฐกิจที่เรียกว่า GDP มาจากคนงานและชนชั้นล่าง

2) ให้กำหนดนิยามค่าจ้างขั้นต่ำแรกเข้าให้เพียงพอต่อการเลี้ยงชีพตนเองและครอบครัวอีก 2 คน ตามหลักการขององค์การแรงงานระหว่างประเทศ(ILO) และต้องเท่ากันทั้งประเทศ

เหตุผล : ค่าจ้างขั้นต่ำเริ่มประกาศใช้ในประเทศไทยครั้งแรกในปี 2516 ซึ่งหลักการเป็นไปตามนิยามที่ ILO ให้เพียงพอต่อการเลี้ยงชีพตนเองและครอบครัวอีก ๒ คนโดยอัตราค่าจ้างขั้นต่ำอยู่ที่วันละ 12 บาทแต่ในปี พ.ศ.2518 นิยามค่าจ้างขั้นต่ำก็เปลี่ยนไปเหลือเพียงเลี้ยงดูคนทำงานเพียงคนเดียว และที่เลวร้ายกว่านั้นในปี 2537 รัฐบาลได้ประกาศให้ค่าจ้างลอยตัว โดยการปรับค่าจ้างในแต่ละจังหวัดก็ขึ้นอยู่กับอนุกรรมการค่าจ้างประจำจังหวัด ซึ่งทำให้ราคาค่าจ้างมีความต่างกันอย่างมากถึง 32 ราคา ในปี 2553 จังหวัดที่มีค่าจ้างสูงสุดเปรียบเทียบกับค่าจ้างต่ำสุดห่างกันถึง 62  บาท (221 – 159) ซึ่งจากความไม่เข้าใจ มองระบบเศรษฐกิจแบบคับแคบ ไม่สนใจโครงสร้างทางสังคมของนักการเมือง นักลงทุน และข้าราชการ ความต่างของค่าจ้างเหล่านี้ก่อให้เกิดความเหลื่อมล้ำเกิดขึ้นจนทำให้ประเทศไทยติดลำดับต้นๆของโลกในเรื่องความเหลื่อมล้ำ ซึ่งทุกรัฐบาลพยายามที่จะแก้ปัญหาแต่ก็ไม่สามารถแก้ได้จนกระทั่งปัจจุบัน และการทำให้ค่าจ้างต่างกันก็จะทำให้คนงานที่อยู่ในเขตค่าจ้างต่ำก็อพยพเข้าเขตค่าจ้างสูงก่อให้เกิดการกระจุกตัวแออัด และทำให้ชนบทภูมิลำเนาขาดแรงงาน ขาดความสัมพันธ์ต่อกันในสังคม สังคมชนบทล่มสลาย ที่ดินที่นาว่างเปล่าไร้เกษตรกรรุ่นหลังสืบทอดจนเกิดการยึดครองที่ดินของกลุ่มทุนผ่านการซื้อขายถูกๆ ชอบด้วยกฎหมายแต่ไม่ชอบธรรม

3) กำหนดให้มีโครงสร้างค่าจ้าง และปรับค่าจ้างทุกปี

เหตุผล : โครงสร้างค่าจ้างและการปรับค่าจ้างทุกปีในเหตุผลและราคาที่เหมาะสมโดยไม่ต้องมารอกังวลกับค่าจ้างขั้นต่ำ ก็จะทำให้คนงานสามารถวางแผนอนาคตได้ การจับจ่ายซื้อขายด้วยกำลังซื้อก็จะทำให้เกิดการไหลเวียนในระบบเศรษฐกิจให้เติบโตอย่างมั่นคง ยั่งยืน ยิ่งในภาวะที่เศรษฐกิจโลก เศรษฐกิจไทยที่เกือบทั้งหมดทั้งการลงทุนและส่งออกยังคงพึ่งพาต่างประเทศเป็นหลัก ยังมีความผันผวนสูงจากเงื่อนไขปัจจัยต่างๆที่กล่าวมา การเน้นกำลังซื้อ กำลังผลิต หรือการสร้างความแข็งแกร่งจากภายในประเทศ มีความสำคัญยิ่งต่อการวางระบบโครงสร้างค่าจ้าง และการปรับค่าจ้างรายปีโดยมองบริบทรอบด้านอย่างเข้าใจ ความเหลื่อมล้ำที่พยายามควานหาทางแก้ไขก็จะค่อยๆหายไปในที่สุด

อย่างไรก็ตามปัจจุบันรัฐบาลโดยกระทรวงแรงงานยังคงพยายามที่จะดำเนินการปรับค่าจ้างตามกรอบความคิดเดิม คือปล่อยค่าจ้างลอยตัวในแต่ละจังหวัดให้ดำเนินการได้เอง และเพิ่มสูตรการคิดให้ซับซ้อนมากขึ้นซึ่งในอนาคตค่าจ้างอาจมีถึง 77 ราคา ไม่เกิดผลดีต่อระบบโครงสร้างค่าจ้าง และระบบเศรษฐกิจโดยรวมของประเทศ จะเป็นการตอกย้ำให้เกิดความเหลื่อมล้ำ ความไม่เป็นธรรมในสังคมมากขึ้น จากข้อเสนอและเหตุผลที่กล่าวมาข้างต้นคณะกรรมการสมานฉันท์แรงงานไทย(คสรท.)และสมาพันธ์แรงงานรัฐวิสาหกิจสัมพันธ์(สรส.) จึงแถลงจุดยืนต่อสื่อมวลชนและสังคมว่าทั้ง 2 องค์กร ยังคงยืนยันในข้อเรียกร้องและเจตนารมณ์เดิมคือ

รัฐต้องกำหนดค่าจ้างแรงงานที่เป็นธรรมให้ครอบคลุมผู้ใช้แรงงานทุกภาคส่วน โดยกำหนดนิยามค่าจ้างขั้นต่ำแรกเข้าให้เพียงพอต่อการเลี้ยงชีพตนเองและครอบครัวอีก 2 คน ตามหลักการขององค์การแรงงานระหว่างประเทศ และต้องเท่ากันทั้งประเทศ พร้อมกำหนดให้มีโครงสร้างค่าจ้าง และปรับค่าจ้างทุกปี

 “และไม่เห็นด้วยกับการให้ค่าจ้างลอยตัวและสูตรการคิดค่าจ้างขั้นต่ำของกระทรวงแรงงานที่กำลังดำเนินการในขณะนี้ ส่วนการปรับค่าจ้างในอัตราเท่าใดนั้น เป็นเรื่องที่จะต้องเจรจาหาเหตุผลกันโดยยึดหลักการมีส่วนร่วมอย่างกว้างขวางที่มิใช่เพียงแค่คณะกรรมการค่าจ้างกลางเพียงอย่างเดียว และให้ยกเลิกอนุกรรมการค่าจ้างระดับจังหวัดโดยให้มีคณะกรรมการค่าจ้างระดับประเทศเพียงชุดเดียว มีองค์ประกอบคณะกรรมการที่หลากหลายกว่าที่เป็นอยู่ในปัจจุบันและที่สำคัญด้วยสภาวะเศรษฐกิจตามที่รัฐบาลได้มีการให้ราคาสินค้าที่เกี่ยวข้องกับการดำรงชีวิตของคนงานและประชาชน เช่น ก๊าซ น้ำมัน และอื่นๆจึงควรที่จะต้องปรับค่าจ้างในปี 2561 ตามหลักการและเหตุผลที่กล่าวมาข้างต้นพร้อมกับควบคุมราคาสินค้าอุปโภค บริโภคไม่ให้ขึ้นราคาตามไปด้วย

นายสาวิทย์ ยังกล่าวอีกว่า  กล่าวว่า ข้อเสนอเรื่องการปรับค่าจ้างมีความจำเป็นต้องมีการถกเถียงกัน จึงไม่ได้กำหนดตัวเลขออกไปฟว่าควรปรับค่าจ้างขึ้นเท่าไร และจากการที่ตนได้รับฟังนายกรัฐมนตรี กล่าวในรายการนายกพบประชาชนเมื่อวันที่ 18 สิงหาคมที่ผ่านมาว่า เงิน 1 แสนบาทต่อปีไม่สามารถมีชีวิตอยู่ได้ในปัจจุบัน หากเอา 12 เดือนหารก็ตกที่เดือนละ 9 พันบาท ซึ่งนายกรัฐมนตรีบอกว่าอยู่ไม่ได้ หากอยู่ได้ต้องมีรายได้ต่อปี 3 แสนบาทขึ้นไป ตกเดือนละ 25,000 บาท ซึ่งเห็นว่าค่าจ้างจะเท่าไรต้องมาคุยกัน แต่ในหลักการก็เห็นด้วยกับนายกรัฐมนตรี ซึ่งทางคสรท.เคยทำข้อมูลช่วงปี 2552-2554 เคยเสนอตัวเลขของผุู้มีรายได้สำหรับเลี้ยงดูครอบครัวได้อย่างน้อย 3 คน ค่าจ้างต้องอยู่ที่วันละ 560 บาท ซึ่งปัจจุบันคงมีความเปลี่ยนแปลงไปแล้ว หากคิดตามอัตราเงินเฟ้อปีละร้อยละ 3 คูรด้วยร้อยละ 12 จาก 560 บาทน่าจะเพิ่มเป็น ประมาร 700 กว่าบาทเพราะอัตราเงินเฟ้อทำให้ค่าเงินต่ำลงหากไม่มีการปรับขึ้นค่าจ้างก็จะส่งผลกระทบต่อการจับจ่ายทำให้คนงานมีเงินซื้อสินค้าได้น้อยลง และไม่สามารถดำเนินชีวิตได้อย่างปกติสุข ซึ่งขณะนี้ทางคสรท.กำลังมีการทำแบบสอบถามเรื่องค่าจ้างกันเองราวหมื่นฉบับ ใน 77 จังหวัด ตอนนี้ได้รับแบบสอบถามกลับมาแล้ว 20 จังหวัด

ส่วนประเด็นของการมีอนุกรรมการค่าจ้างระดับจังหวัดนั้นจากภาพสะท้อนก้จะเห็นได้ว่า เมื่อมีการเสนอให้มีการปรับขึ้นค่าจ้างในระดับจังหวัด ก็ต้องมีการนำมาให้ส่วนคณะกรรมการค่าจ้างกลางพิจารณา ซึ่งแน่นอนไม่ได้รับการปรับตามที่คณะอนุกรรมการจังหวัดเสนอปรับ ซึ่งหากดูข้อมูลของความเป็นตัวแทน ส่วนใหญ่ก้ไม่มีตัวแทนแรงงานที่แท้จริง เพราะว่าไม่มีสหภาพแรงงาน ไม่มีอำนาจต่อรองทำให้หลายจังหวัดไม่ได้มีการเสนอปรับขึ้นค่าจ้าง หรือที่เสนอให้ปรับก็ไม่ได้รับการปรับตามที่เสนอมา จึงคิดว่าคณะอนุกรรมการค่าจ้างจังหวัดไม่ควรมี ควรยกเลิก ซึงคสรท.ไม่ได้ปฏิเสธเรื่องไตรภาคี ในเมื่อไม่มีอำนาจ และไม่มีตัวแทนที่แท้จริงก็ไม่ควรมี และคิดว่าเวทีที่ถกแถลงกันต้องมีทุกภาคส่วนของสังคม ไม่ว่าจะเป็นทั้งส่วนของผู้ประกอบการ ส่วนของคนงาน รัฐบาล และอีกส่วนทั้งสื่อมวลชน นักวิชาการที่จะมาให้ข้อมูลในลักษณะที่เป้นกลาง ซึ่งหลายมหาวิทยาลัยมีการเสนอตัวเลขแต่ไม่ได้ตรงกับที่รัฐเสนอเลยไม่ได้ถูกเชิญมาร่วมเวทีให้ข้อมูล ที่เราออกแบบจึงต้องมีภาคส่วนเหล่านี้เข้าร่วมด้วย คาจ้างปัจจุบันไม่เพียงพอ จึงจำเป็นต้องมีการปรับขึ้นค่าจ้างในปี 2561 เพื่อให้แรงงานมีคุณภาพชีวิตที่ดี ซึ่งจะปรับขึ้นเท่าไรต้องมาดูกันในเชิงข้อมูล จำเป็นต้องมีการหารือกัน ส่วนค่าจ้างจะให้ลอยตัวนั้นไม่เห็นด้วยในขณะนี้เพราะว่ายังไม่มีความพร้อมด้วยแรงงานยังไม่มีเสรีภาพเพียงพอ ในการที่จะรวมตัวกันจัดตั้งสหภาพแรงงานและมีอำนาจต่อรองกับนายจ้างได้ เพราะกฎหมายที่มีไม่เอื้อต่อการสร้างการรวมตัวหรือเป็นสมาชิกสหภาพแรงงานในการสร้างอำนาจต่อรองเพื่อให้เกิดค่าจ้างที่เป็นธรรมอย่างแท้จริง ฉะนั้นการกำหนดเรื่องค่าจ้างประจำปีต้องมี ซึ่งหลังจากสรุปแบบสอบถามเรื่องค่าจ้างปลายเดือนตุลาคม 2560 จะมีการแถลงอีกครั้ง

นายชาลี ลอยสูง รองประธานคสรท.กล่าวว่า ค่าจ้างยังเป็นประมาณ 3 ถึง 4 อัตราตามที่มีการปรับขึ้นค่าจ้างเมื่อปีที่ผ่านมา จากเดิมค่าจ้างมีการปรับขึ้นเท่ากันทั่วประเทศ และยังมีบางจังหวัดที่ไม่ได้รับการปรับขึ้นค่าจ้างอีกด้วย วันนี้รัฐบาลดีใจว่ามีนักลงทุนมาลงทุนเพิ่มมากขึ้น แต่อยากถามว่าคนงานได้อะไรจากการลงทุน การลงทุนของนายทุนรัฐสนับสนุน และการลงทุนครั้งนี้มีการนำเทคโนโลยีใหม่ๆเข้ามา และการจ้างงานจะมีหรือไม่ เป็นอย่างไร การจ้างงานจะเป็นแรงงานไทย หรือแรงงานข้ามชาติ ซึ่งเขตAEC ที่มีการจัดตั้งขึ้นในภาคตะวันออก ในยุค 4.0 อย่าหลงดีใจว่าเศรษฐกิจจะดีขึ้น จะรับคนงานกี่คนในเขตเศรษฐกิจพิเศษที่เกิดขึ้น ซึ่งหากมองเรื่องสภาพแวดล้อมด้วยก็ยังไม่ทราบว่าจะส่งผลเสียต่อสิ่งแวดล้อมหรือไม่ในการลงทุนข้างหน้านี้

นางสาวธนพร วิจันทร์ ประธานกลุ่มผู้ใช้แรงงานสระบุรีและใกล้เคียง กล่าวว่า เรื่องการปรับค่าจ้างในระดับจังหวัด ในส่วนของจังหวัดสระบุรี มีการประชุมกันเพื่อกำหนดการปรับขึ้นค่าจ้างแล้ว ซึ่งมีหลายจังหวัดที่มีมติไม่ปรับขึ้นค่าจ้าง ซึ่งในฝั่งของลูกจ้างต้องการที่จะให้มีการเสนอปรับขึ้นค่าจ้าง แต่ว่าหากดูคะแนนที่มีการสรุปออกมาว่าจะขึ้นหรือไม่ ก็มีผู้ลงคะแนน 8 ต่อ 6 และ7 ต่อ5 เป็นความร่วมมือระหว่างตัวแทนภาครัฐกับนายจ้าง ฝ่ายลูกจ้างจะยกมืออย่างไรก็ไม่มีการปรับขึ้น อยากถามว่ารัฐบาล หรือเจ้าหน้าที่รัฐที่เข้ามาเป็นคณะอนุกรรมการแล้วออกเสียงโหวตนั้นมีส่วนได้เสียอะไรด้วยกับการปรับขึ้นค่าจ้าง หรือไม่ปรับขึ้นค่าจ้าง เพราะว่าไม่มีลูกจ้างที่ไหนที่มาเป็นกรรมการแล้วบอกว่าไม่อยากปรับขึ้นค่าจ้าง เพราะทุกจังหวัดยังพึ่งการปรับขึ้นค่าจ้างขั้นต่ำ ไม่ว่าจะทำงานมากี่ปี เช่นอุตสาหกรรมสิ่งทอ ลูกจ้างเหมาค่าแรง ที่ไม่มีองค์กรสหภาพแรงงานจะได้รับเพียงค่าจ้างขั้นต่ำเท่านั้น การที่ไม่เห็นด้วยกับการมีอนุกรรมการค่าจ้างขั้นต่ำจังหวัด เพราะท้ายที่สุดก็ขึ้นอยู่กับอำนาจต่อรอง ไม่ว่าอย่างไร หากนายจ้างกับรัฐร่วมกันโหวต ลูกจ้างก้แพ้ 2 ใน3

“อีกประเด็นรัฐจะบอกเสมอว่าหากปรับขึ้นค่าจ้างขั้นต่ำข้าวของจะขึ้นราคา วันนี้ยังไม่ได้ปรับขึ้นค่าจ้างเลยราคาก๊าซหุงต้มก็ขึ้นมาถังละ 10 บาท และราคาค่าไฟฟ้ากำลังจะปรับขึ้นตาม ซึ่งค่าจ้างขั้นต่ำยังไม่มีการปรับขึ้นเลย รัฐบาลควรให้ข้อมูลความจริงไม่ใช่ให้เรื่องการปรับขึ้นค่าจ้างขั้นต่ำของผู้ใช้แรงงานเป็นจำเลยสังคม ตอนนี้แบบสำรวจค่าจ้างกระจายออกไป 77 จังหวัด เพื่อดูว่าค่าครองชีพ ต่างจังหวัดแต่ละภาคนั้นมีความแตกต่างกันหรือไม่มากน้อยแค่ไหน ซึ่งค่าจ้างขั้นต่ำเป็นค่าจ้างของแรงงานแรกเข้าเท่านั้น รัฐต้องมีการปรับค่าจ้างประจำปีด้วย ที่ผ่านมาคสรท.ได้ประกาศว่าควรปรับขึ้นค่าจ้างขั้นต่ำ 360 บาทเท่ากันทั้งประเทศ ซึ่งไม่ได้รวมค่าเช่าที่อยู่อาศัย ค่าเดินทางไปทำงาน ซึ่งคราวนี้แบบสำรวจของคสรท.มีเรื่องอายุงาน ค่าจ้างที่ได้รับเป็นค่าจ้างขั้นต่ำหรือไม่ อยู่ภาคอุตสาหกรรมอะไร (แบบสำรวจค่าจ้าง ดาวน์โหลดได้ที่นี่ แบบสํารวจค่าจ้าง 60) คสรท.ในฐานะองค์กรนำที่ทำงานขับเคลื่อนนโยบายจะทำหน้าที่ปกป้องสิทธิแรงงานเพื่อให้เกิดความเป็นธรรม และอยากส่งเสียงถึงภาครัฐบาลว่าเศรษฐกิจจะเดินได้ต้องมีผู้ใช้แรงงานเป็นส่วนสำคัญในการขับเคลื่อนเศรษฐกิจด้วย ไม่ใช่เพียงนายทุน หรือนักลงทุนเท่านั้น” นางสาวนธนพร กล่าว

นายสมพร ขวัญเนตร เลขาธิการกลุ่มสหภาพแรงงานภาคตะวันออก กล่าวว่า ค่าจ้างขั้นต่ำควรต้องเท่ากันทั้งประเทศไม่ควรมีความแตกต่างกัน เพราะจะนำไปสู่ความเหลื่อมล้ำทางสังคม และค่าจ้างควรเป็นไปตามหลักเกณฑ์ขององค์การแรงงานระหว่าประเทศ (ILO) การปรับขึ้นค่าจ้างประจำปี ที่ไม่ใช่ค่าจ้างขั้นต่ำแรกเข้างานก้ไม่มี ทำไมแรงงานรัฐวิสาหกิจมีการปรับขึ้นค่าจ้างอัตราเดียวกันไม่เห็นมีข้ออ้างเรื่องค่าครองชีพที่แตกต่างกัน ปัจจุบันค่าจ้างที่ปรับขึ้นยังไม่สอดคล้องกับความเป็นจริง ยังไม่เพียงพอต่อการดำรงชีพ ซึ่งรัฐบาลได้ประกาศนโยบายไทยแลนด์ 4.0 ว่าประเทศไทยต้องเป็นประเทศที่มีรายได้ประชากรจากระดับปานกลางเป็นผู้มีรายได้ที่สูงขึ้น ฉะนันสิ่งที่จะบอกได้ว่าประชากรมีรายได้สูงคือ ประชากรต้องมีค่าจ้างที่สูงขึ้น เพื่อให้มีรายได้สูง มีคุณภาพชีวิตที่ดีขึ้นอย่างที่ควรจะเป็น

นางสาวดาวเรือง ชานก ตัวแทนอนุกรรมการค่าจ้างจังหวัดนครปฐม กล่าวว่า เมื่อมีการโหวตปรับขึ้นค่าจ้างระดับจังหวัด ฝ่ายตัวแทนลูกจ้างที่มีอยู่จะแพ้โหวตทุกครั้ง กลไกการออกเสียง ส่วนของลูกจ้างจะได้เพียง 5 เสียงเท่านั้น ฝ่ายรัฐ และนายจ้างที่มีฝ่ายละ 5 ส่วนใหญ่ก็โหวตเสียงไม่เห็นด้วยทุกครั้ง แม้ว่าลูกจ้างจะยืนหยันตามคสรท.ที่เสนอปรับค่าจ้าง 360 บาทแต่ส่วนของนายจ้างกับภาครัฐก็จะไม่เห็นด้วย และสรุปส่งให้ส่วนกลาง คือคณะกรรมการค่าจ้างกลางตัดสินใจกลไกระดับจังหวีดจึงไม่สอดคล้องในการเสนอปรับขึ้นค่าจ้าง เช่นลูกจ้างเสนอเหตุผลว่าค่าจ้างรายได้ไม่สอดคล้องกับค่าใช้จ่าย เมื่อภาครัฐไปสำรวจค่าครองชีพมา ตอนนี้ค่าจ้างขั้นต่ำพื้นที่อยู่ที่ 310 บาทต่อวัน เมื่อมีการสำรวจเรื่องค่าใช้จ่ายหลักของคนงาน เช่นค่าเช่าห้อง รัฐสำรวจว่าเดือนละ 500 บาท แต่ความเป็นจริงคือ เช่าเดือนละ 1,200-1,800 บาทขึ้นไป ทำให้ค่าจ้างที่หักลบออกไปยังเหลือ 8 บ้าง 10 บาทบ้าง ความเป็นจริงพอใช้จ่ายหรือไม่ ตัวอย่างเช่นจังหวัดสระบุรีเสนอให้ปรับขึ้นอย่างน้อย 315 บาทแต่พอส่งมาที่ประชุมคณะกรรมการค่าจ้างกลาง ตัดให้ปรับขึ้นเพียง 308 บาท ถามว่ากลไกระดับจังหวัดยังใช้ได้จริงหรือไม่ นี่เป็นอีกเหตุผลที่อยากให้ยกเลิกระบบอนุกรรมการค่าจ้างจังหวัด แล้วให้ส่วนกลางมีบทบาทเสนอปรับค่าจ้าง พร้อมทั้งดึงทุกภาคส่วนที่มีความเกี่ยวข้องจริงๆมามีส่วนร่วม

นักสื่อสารแรงงาน รายงาน