คสรท.เสนอปรับค่าจ้างขั้นต่ำเท่ากันทั้งประเทศ พร้อมเลี้ยงคนได้ 3 คน

2 องค์กรแรงงาน ยื่นรมว.แรงงานเสนอปรับขึ้นค่าจ้างขั้นต่ำเท่ากันทั้งประเทศ ตามมาตราฐานสากลเลี้ยงครอบครัวได้ 3 คน เพื่อลดความเหลื่อมล้ำ สร้างความเป็นธรรมต้องคุมราคาสินค้า ย้ำต้องเร่งปรับขึ้นค่าจ้างยิ่งเลื่อนทำให้การปรับค่าจ้างตามไม่ทันค่าครองชีพ

วันที่ 14 มีนาคม 2562 คณะกรรมการสมานฉันท์แรงงานไทย (คสรท.) สมาพันธ์แรงงานรัฐวิสาหกิจสัมพันธ์ (สรส.) กลุ่มสหภาพแรงงานย่านต่างๆ และสหภาพแรงงานมอลเท็นเอเชียโพลิเมอร์โปรดักส์ กว่า 100 คน ได้เข้ายื่นหนังสือถึงรัฐมนตรีว่าการกระทรวงแรงงาน เรื่อง “ปรับค่าจ้างขั้นต่ำต้องเป็นธรรม ต้องเลี้ยงครอบครัวได้ตามหลักการสากล และต้องเท่ากันทั้งประเทศ”

นายสมพร ขวัญเนตร ประธานคณะกรรมการสมานฉันท์แรงงานไทย (คสรท.) กล่าวว่า การปรับค่าจ้างขั้นต่อไม่ควรมีการปรับให้แตกต่างกัน ควรปรับขึ้นค่าจ้างเท่ากันทั้งประเทศ ด้วยการปรับขึ้นค่าจ้างยังมีประเด็นการปรับขึ้นค่าจ้างประจำปีด้วย เพราะค่าจ้างขั้นต่ำ เป็นค่าจ้างสำหรับแรงงานแรกเข้าเท่านั้น ซึ่งค่าจ้างขั้นต่ำต้องเป็นไปตามหลักสากลคือ เลี้ยงดูครอบครัวได้อย่างน้อย 3 คน ทุกวันนี้ค่าจ้างขั้นต่ำยังไม่สามารถที่จะเลี้ยงดูคนทำงานคนเดียวได้เลย เพราะยังต้องทำงานล่วงเวลากัน

นายสมพรกล่าวอีกว่า “รัฐบาลกล่าวถึงยุค 4.0 ที่จะมีการนำเครื่องจักรกลใหม่ๆเข้ามาทดแทนแรงงานอีก ซึ่งการปรับขึ้นค่าจ้างต้องมีการทำเป็นโครงสร้างเพื่อให้มีการปรับฐานค่าจ้างทุกปี เพราะนายจ้างปัจจุบันจำนวนมากยึดอยู่กับการปรับขึ้นค่าจ้างขั้นต่ำเท่านั้น เมื่อมีการจ้างงานคนใหม่เข้ามาทำงานค่าจ้างก็เท่ากันกับคนที่ทำงานมานานอีกเป็นต้น การปรับค่าจ้างประจำปี ก็ต้องดูค่าครองชีพประจำปีด้วยว่ามีการปรับขึ้นเท่าไร ค่าจ้างที่ปรับขึ้นต้องเท่ากันทั้งประเทศ เพื่อให้เกิดความเป็นธรรมกับผู้ใช้แรงงานทุกคน หากไม่ชัดเจนคสรท.ก็จะต้องขับเคลื่อนต่อไป”

นายสาวิทย์ แก้วหวาน เลขาธิการสมาพันธ์แรงงานรัฐวิสาหกิจสัมพันธ์ (สรส.) กล่าวว่า มาวันนี้เพื่อให้กำลังใจรัฐมนตรีว่าการกระทรวงแรงงาน ปลัดกระทรวงแรงงาน ที่บอกว่าจะมีการปรับขึ้นค่าจ้าง ภายใต้ภาวะเศรษฐกิจขณะนี้ การส่งออก หรือการท่องเที่ยวเพียงอย่างเดียวไม่สามารถทำให้เศรษฐกิจเติบโตได้ การท่องเที่ยวต้องอาศัยให้คนมาซึ่งก็ขึ้นอยู่กับรายได้และเศรษฐกิจของนักท่องเที่ยวที่จะมา อาจไม่ได้ตัวเลขที่แน่นอน เรื่องการส่งออกภายใต้สถานการณ์โลกที่ขั้วมหาอำนาจมีปัญหากันทำให้เศรษฐกิจการส่งออกก็เป็นปัญหา การที่จะหวังตลาดส่งออกก็มีปัญหา ข้อเสนอคือ การส่งเสริมด้านเศรษฐกิจตอนนี้ต้องเน้นการบริโภคภายในประเทศ ต้องเพิ่มรายได้ให้กับคนในประเทศ ภายใต้ประเทศไทยที่ประสบปัญหาความเหลื่อมล่ำสูง และผู้ใช้แรงงานเป็นตัวชี้วัดเรื่องความเหลื่อมล้ำด้วยเป็นคนส่วนใหญ่ราว 38-40 ล้านคน ไม่ใช่การใช้นโยบายเพื่อหนุนกลุ่มทุนซึ่งมองว่าไม่ได้อะไร หากปรับขึ้นค่าจ้างการกระจายรายได้ทำให้เศรษฐกิจข้างล่างมีการจับจ่ายใช้สอย สินค้าที่ผลิตมามีคนซื้อ ทำให้เกิดการหมุนเวียนของเงิน หลักการง่ายๆคือ ผู้ใช้แรงงานมีเงินก็จับจ่ายซื้อสินค้าเศรษฐกิจก็ดีขึ้น รัฐก็เก็บภาษีได้ เมื่อมีรายได้ รัฐบาลควรปรับค่าจ้างที่มีราคาที่สมน้ำสมเนื้อกับค่าครองชีพที่สูงขึ้น

“การที่ว่าปรับขึ้น 2-10 บาท จังหวัดระยอง หรือชลบุรี ก็คิดว่า ค่างคอรงชีพคงไม่ต่างกับที่จังหวัดภูเก็ต หรือกรุงเทพฯเลย การที่มาประกาศปรับขึ้นค่าจ้างที่ต่างกันทำให้เกิดความเหลื่อมล้ำสูงขึ้น เพราะว่าชีวิตผู้ใช้แรงงานผูกติดอยู่กับร้านสะดวกซื้อ ราคาอาหารการกินมีราคาเท่ากันไม่ว่าจะอยู่จังหวัดไหนในประเทศไทย การที่อนุกรรมการค่าจ้างขึ้นต่ำ 46 จังหวัดไม่ได้เสนอตัวเลขมา เป็นไปได้ว่า ไม่มีตัวแทนของแรงงานที่แท้จริง หากมีผู้ใช้แรงงานที่ไม่มีสหภาพแรงงาน จะเอาข้อมูลไปเจรจากับผู้แทนหอการค้า หรือผู้ว่าราชการ เพื่อเสนอปรับขึ้นค่าจ้างอย่างไร เมื่อแค่ก้าวขึ้นบันไดศาลากลางจังหวัดก็ขาสั่นแล้ว จะกล้าพอที่จะบอกให้มีการปรับขึ้นค่าจ้างขั้นต่ำ และจริงแล้วอนุกรรมการค่าจ้างระดับจังหวัดเองก็ไม่ได้มีอำนาจใดในการเสนอปรับค่าจ้างขั้นต่ำ เพราะในที่สุดต้องตัดสินที่ส่วนกลางอย่างเช่น วันนี้ที่มีการนำเสนอปรับขึ้นค่าจ้าง 2 บาทใน 46 จังหวัดเป็นต้น

เรื่องค่าจ้างขั้นต่ำนั้นแม้แต่ ลูกจ้างภาครัฐยังไม่ได้รับค่าจ้างขั้นต่ำเลย เดือนหนึ่งๆได้รับค่าจ้าง 6-7 พันบาทเท่านั้น เช่นลูกจ้างภาครัฐในกระทรวงสาธารณสุข และกระทรวงศึกษาที่การ เช้ารับเล็ก ทำอาหาร และเตรียมการสอนให้เด็ก แล้วส่งเด็กกลับบ้าน นี่คือบุคลากรในระบบการศึกษาของเรามีค่าจ้างเดือนละ 6 พันกว่าบาทเท่านั้น” นายสาวิทย์กล่าว

นางสาว ธนพร วิจันทร์ รองประธานคสรท. กล่าวว่า เรื่องปรับขึ้นค่าจ้างขั้นต่ำต้องเป็นธรรม ต้องสามารถที่จะเลี้ยงคนในครอบครัวได้ตามหลักการสากล โดยต้องเท่ากันทั้งประเทศ ซึ่งผลดีประการแรกคือ จะทำให้แรงงานลดการอพยพของคนงาน จากเขตค่าจ้างต่ำเข้าสู่เขตค่าจ้างสูงเพียงแต่รัฐบาลมีนโยบายกระจายงานกระจายการลงทุนไปยังภูมิภาค บริหารจัดการเรื่องการขนส่ง ระบบโลจิสติกส์ให้คล่องตัว ดูเรื่องสภาพแวดล้อมจากโรงงานอุตสาหกรรมให้ดีไม่ให้มีผลกระทบต่อชุมชน ทำให้แรงงานสามารถทำงานในโรงงานอุตสาหกรรมในชนบทท้องถิ่น ประการต่อมา เมื่อปรับขึ้นค่าจ้างให้แรงงานมีกำลังซื้อ รัฐสามารถเก็บภาษีได้ทั้งบุคคล นิติบุคคล การส่งออก รัฐสามารถนำภาษีมาพัฒนาประเทศได้ เมื่อแรงงานมีรายได้ที่เพียงพอสามารถที่จะวางอนาคตและครอบครัว เช่นการศึกษาบุตร ที่อยู่อาศัย โดยค่าจ้างเป็นตัวชี้วัด และแก้ปัญหาความเหลื่อมล้ำได้

ที่ผ่านมาคสรท. และสรส.ได้เคยมีข้อเสนอให้ปรับขึ้นค่าจ้างขั้นต่ำที่ 360 บาท 421 บาทและ 700 บาท ต้องปรับขึ้นเท่ากันทั้งประเทศ ตั้งแต่ปี 2552 จนถึง 2560 ซึ่งเป็นข้อมูลที่มีการสำรวจค่าใช้จ่ายจากผู้ใช้แรงงานในพื้นที่ต่างๆ วันนี้ยังคงเป็นจุดยืนเดิมโดยขอประกาศว่า

  1. รัฐบาลต้องปรับค่าจ้างให้เป็นธรรมให้ครอบคลุมผู้ใช้แรงงานทุกภาคส่วน โดยค่าจ้างขั้นต่ำต้องเพียงพอต่อการเลี้ยงชีพของคนทำงาน และครอบครัวได้ 3 คน ตามหลักของปฏิญญาสากลขององค์การสหประชาชาติว่าด้วยสิทธิมนุษยชน และหลักการขององค์การแรงงานระหว่างประเทศ (ILO)
  2. รัฐบาลต้องปรับค่าจ้างขั้นต่ำเท่ากันทั้งประเทศ
  3. รัฐบาลต้องกำหนดโครงสร้างค่าจ้าง และปรับค่าจ้างประจำปี
  4. รัฐบาลต้องควบคุมราคาสินค้าไม่ให้แพงเกินจริง
  5. รัฐบาลต้องยกเลิกคณะอนุกรรมการพิจารณาอัตราค่าจ้างขั้นต่ำจังหวัด
  6. รัฐบาลต้องตั้งคณะกรรมการค่าจ้างระดับชาติ จากภาคส่วนที่เกี่ยวข้อง ทีมวิชาการที่เป็นอิสระ และมีองค์ประกอบมากกว่าไตรภาคี

ด้านพื้นที่ นายวินัย ติ่นตะโนด สมาพันธ์แรงงานเครื่องใช้ไฟฟ้า อิเล็กทรอนิคส์ ยานยนต์ และโลหะแห่งประเทศไทย(TEAM) กล่าวถึงการที่ 46 จังหวัดไม่ได้นำเสนอตัวเลขการปรับขึ้นค่าจ้างขั้นต่ำนั้น ตนได้สอบถามตัวแทนในองค์กรตนเองที่เข้าไปเป็นอนุกรรมการค่าจ้างจังหวัดฉะเชิงเทรา และได้สอบถามทางจังหวัดชลบุรี พบว่า อนุกรรมการค่าจ้างจังหวัดยังไม่ได้มีการประชุมพิจารณาเรื่องปรับขึ้นค่าจ้างขั้นต่ำเลย โดยทางแรงงานจังหวัดบอกว่า งบประมาณยังไม่ลงมา และตัวเลขที่ส่งเข้ามาจึงเป็นตัวเลขเก่าที่ประชุมกันเมื่อปีก่อน จึงอยากให้มีการสอบสวนด้วย

ส่วนนายชาลี ลอยสูง รองประธานคสรท. กล่าวว่า หากใช้ว่าค่าจ้างขั้นต่ำก็ต้องมาเรียกร้องกันทุกปี เราต้องการให้มีการทำเป็นโครงสร้างปรับค่าจ้างขึ้นทุกปี ส่วนค่าจ้างขั้นต่ำให้เป็นค่าจ้างแรงงานแรกเข้า และควรยกเลิกอนุกรรมการค่าจ้างระดับจังหวัด ด้วยไม่ได้มีอำนาจเต็มในการเสนอปรับขึ้นค่าจ้างอยู่แล้ว และระบบการได้มาซึ้งผู้แทนยังคงเป็นปัญหาอย่างไร ให้เรียบประกาศปรับขึ้นค่าจ้างขั้นต่ำโดยไม่ต้องรอให้มีการประชุมระดับจังหวัดแล้ว เพราะอย่างไรอำนาจตัดสินใจอยู่ที่ส่วนกลาง เพราะหากเลื่อนการปรับขึ้นค่าจ้างออกไป ค่าครองชีพสูงขึ้น พ่อค้า แม่ค้าปรับราคาสินค้าไปรอแล้วพอประกาศปรับขึ้นค่าจ้าง ผู้ใช้แรงงานก็ขาดทุนเพราะค่าจ้างที่ขึ้นเพียง 2 บาทคงตามไม่ทันค่าครองชีพแน่นอนซึ่งรัฐบาลเองก็ทราบแม้จะปรับค่าจ้าง 10 บาท ก็ยังไม่ทันค่าครองชีพ หรือทำให้คุณภาพชีวิตผู้ใช้แรงงานดีขึ้นมากหนัก ซึ่งรัฐต้องช่วยควบคุมราคาสินค้าและควรปรับขึ้นค่าจ้างทันที

ทั้งนี้ นายวิวัฒน์ จิระพันธุ์วานิช รองปลัดกระทรวงแรงงาน ที่เป็นผู้แทนรัฐมนตรีว่าการกระทรวงแรงงานมารับหนังสือแทนกล่าวว่า วันนี้ได้รับฟังขอเสนอทางฝ่ายของผู้แทนผู้ใช้แรงงาน เรายังไม่ได้รับฟังทางฝ่ายนายจ้าง และยังมีข้อมูลจาก 46 จังหวัดที่ต้องพิจารณา และส่งเข้ามาใหม่ และยังห่วงธนาคารแห่งประเทศไทย กระทรวงพาณิชย์ หอการค้า การที่ค้าเงินบาทแข็ง ผลทางการค้า จึงยังไม่ได้มีการเคาะตัวเลขในการปรับขึ้นค่าจ้างขั้นต่ำ ซึ่งคิดว่าคงเป็นเดือนเมษายน 2562  โดยรับไว้พิจารณาตามข้อเสนอ 3 ข้อคือ

  1. ให้ปรับขึ้นค่าจ้างขึ้น โดยจะปรับอัตราเท่าไรให้อยู่ที่คณะกรรมการค่าจ้างขั้นต่ำพิจารณา โดยขอให้ขึ้นอัตราเดียวกันทั้งประเทศ เพื่อลดความเหลื่อมล้ำ ซึ่งตนก็เห็นด้วยกับผู้ใช้แรงงานว่า ค่าจ้างขั้นต่ำยังไม่ได้ปรับขึ้นแต่ราคาสินค้าปรับตัวขึ้นไปแล้ว
  2. เรื่องอนุกรรมการค่าจ้างระดับจังหวัด 46 จังหวัดที่ไม่ได้ปรับขึ้นค่าจ้างมาเลย ซึ่งตรงนี้ทางปลัดกระทรวงแรงงานก็ได้สั่งให้มีการตรวจสอบ เนื่องเห็นเหมือนกันว่าไม่น่าจะใช่ที่จะไม่มีการเสนอปรับขึ้นค่าจ้างเลย จึงต้องตรวจสอบว่ามีเหตุอะไรจึงไม่มีการนำเสนอปรับขึ้นค่าจ้าง ซึ่งตอนนี้ค่าเงินบาทสูงหากค่าจ้างสูงไปก็จะเกิดปัญหากับผู้ประกอบการ แต่อย่างไรก็ตามส่วนตัวคิดว่าต้องปรับขึ้นค่าจ้าง
  3. กรณีคนงานมอลเท็นฯ ไม่มีอะไรเนื่องจากมีการนัดเจรจากันวันนี้ที่จังหวัดระยอง ตอนเวลา 14.00 น. อยู่แล้ว

ทั้งนี้เมื่อวันที่13 มีนาคมที่ผ่านมา นายจรินทร์ จักกะพาก ปลัดกระทรวงแรงงาน กล่าวภายหลังเป็นประธานการประชุมคณะกรรมการค่าจ้าง (บอร์ดค่าจ้าง) ว่า ที่ประชุมได้พิจารณาข้อมูลจากอนุกรรมการค่าจ้างจังหวัด โดยสรุปว่า มีจำนวน 46 จังหวัดที่ไม่ขอขึ้นค่าจ้าง ซึ่งบอร์ดค่าจ้างที่ประกอบด้วย ตัวแทนฝ่ายนายจ้าง ฝ่ายลูกจ้าง และฝ่ายรัฐบาล จึงมีมติเห็นชอบที่จะขอข้อมูลจากอนุกรรมการค่าจ้างทั้ง 46 จังหวัดมาพิจารณาอีกครั้งเพื่อสรุปเหตุผลที่ไม่ขอปรับขึ้น เพื่อให้บอร์ดได้มีข้อมูลเพิ่มเติมในการประกอบการตัดสินใจ

ขณะเดียวกันหน่วยงานด้านนโยบาย อาทิ กระทรวงพาณิชย์ ธนาคารแห่งประเทศไทย ให้ความเห็นว่า ขณะนี้ภาวะเศรษฐกิจอยู่ในภาวะที่ไม่แน่นอน ค่าเงินบาทแข็งค่าขึ้น และสงครามทางการค้าระหว่างประเทศ การส่งออกที่ตึงตัว ประกอบกับปัจจัยที่เกี่ยวข้องทั้ง 46 จังหวัด ซึ่งต้องมีข้อมูลที่พร้อมและมีความรอบด้านมาประกอบการตัดสินใจให้บอร์ดค่าจ้างเพื่อให้เป็นประโยชน์ต่อเศรษฐกิจของประเทศ

นักสื่อสารแรงงาน รายงาน