ความล้มเหลวของการปฏิรูปแรงงาน มองผ่านการพิจารณาร่างพ.ร.บ.ประกันสังคม (ฉบับที่ ..) พ.ศ. …. มาตรา 40

 

นอกระบบ

ความล้มเหลวของการปฏิรูปแรงงาน มองผ่านการพิจารณาร่างพระราชบัญญัติประกันสังคม (ฉบับที่ ..) พ.ศ. …. มาตรา 40  เมื่อวันที่ 5 มีนาคม 2558

โดย บุษยรัตน์ กาญจนดิษฐ์ นักวิชาการอิสระด้านแรงาน

แม้เป็นที่ทราบดีว่าแรงงานนอกระบบ คือ เสาหลักของระบบเศรษฐกิจไทย เป็นกลไกที่สำคัญในการช่วยขับเคลื่อนเศรษฐกิจของประเทศ โดยเฉพาะการประคับประคองเศรษฐกิจไทยในช่วงวัฏจักรขาลง แต่ในแง่ของการคุ้มครองแล้วกลับพบว่า แรงงานกลุ่มนี้ล้วนดำเนินกิจกรรมทางเศรษฐกิจโดยอยู่นอกขอบเขตการคุ้มครองจากภาครัฐอย่างทั่วถึงและเป็นธรรม แรงงานอีกจำนวนมากยังคงไม่ได้รับความคุ้มครองหรือไม่มีหลักประกันทางสังคมจากการทำงาน

รายงานประเมินการคุ้มครองทางสังคมภายใต้บริบทของประเทศไทย ซึ่งจัดทำโดยองค์การแรงงานระหว่างประเทศ (ILO) ร่วมกับองค์การสหประชาชาติ (UN) เมื่อปี พ.ศ.2556 ได้ชี้ชัดว่า “ประชากรในภาคเศรษฐกิจนอกระบบของประเทศไทยนั้น ยังเข้าไม่ถึงสิทธิประโยชน์ภายใต้ความช่วยเหลือด้านประกันสังคมจากภาครัฐ โดยเฉพาะการจ่ายเงินสมทบที่ไม่สมดุลกับสัดส่วนรายได้” สอดคล้องกับการสำรวจแรงงานนอกระบบ พ.ศ. 2557 โดยสำนักงานสถิติแห่งชาติ พบว่า “มีแรงงานนอกระบบซึ่งเป็นผู้ที่ทำงานแต่ไมได้รับความคุ้มครอง หรือไม่มีหลักประกันทางสังคมจากการทำงานถึงร้อยละ 57.6 ของผู้ทำงานทั้งหมดจำนวน 38.4 ล้านคน โดยอยู่ในภาคเกษตรกรรมเป็นส่วนใหญ่”

m4020120904_140048

สถานการณ์ดังกล่าวส่งผลให้แรงงานนอกระบบบางกลุ่มเกิดความยากลำบากในการประกอบอาชีพและคุณภาพชีวิตโดยรวม

ในช่วงที่ผ่านมามีความพยายามของภาครัฐที่เกี่ยวข้อง ทั้งกระทรวงแรงงานและกระทรวงการคลังในการออกมาตรการเชิงนโยบายเพื่อสร้างหลักประกันทางสังคมให้กับแรงงานนอกระบบในด้านต่างๆ เพื่อเตรียมความพร้อมแรงงานนอกระบบให้เป็นทรัพยากรมนุษย์ที่มีคุณค่า สามารถเอื้อประโยชน์และช่วยลดความเสี่ยงที่จะเกิดขึ้นจากสภาพการค้าการลงทุนที่จะเป็นไปอย่างเสรีมากขึ้น

อันได้แก่ พ.ร.บ.คุ้มครองผู้รับงานไปทำที่บ้าน พ.ศ.2553, พ.ร.บ.กองทุนการออมแห่งชาติ พ.ศ. 2554, พ.ร.บ.ความปลอดภัย อาชีวอนามัยและสภาพแวดล้อมในการทำงาน พ.ศ.2554, พ.ร.บ. ประกันสังคม พ.ศ. 2533 มาตรา 40 หรือเรียกสั้นๆว่า “ประกันสังคมมาตรา 40” และแผนยุทธศาสตร์การบริหารจัดการแรงงานนอกระบบ. พ.ศ.2555–2559

รวมถึงความพยายามของคณะกรรมาธิการวิสามัญพิจารณาร่างพระราชบัญญัติประกันสังคม (ฉบับที่ ..) พ.ศ. …. ของสภานิติบัญญัติแห่งชาติ (สนช.) ที่มีการปรับแก้ไขถ้อยคำในร่างกฎหมายประกันสังคมที่มีการพิจารณามาตั้งแต่เดือนพฤศจิกายน 2557 – กุมภาพันธ์ 2558 จากเดิมที่ระบุว่า “การจ่ายเงินสมทบของรัฐบาลเข้ากองทุนสำหรับผู้ประกันตนมาตรา 40 แต่ไม่เกินกึ่งหนึ่งของเงินสมทบที่ได้รับจากผู้ประกันตน” โดยได้แก้ไขใหม่เป็น “การจ่ายเงินสมทบของรัฐบาลเข้ากองทุนสำหรับผู้ประกันตนมาตรา 40 ไม่น้อยกว่ากึ่งหนึ่งของเงินสมทบที่ได้รับจากผู้ประกันตน”

อย่างไรก็ตามเป็นที่น่าผิดหวังอย่างยิ่งต่อผลการพิจารณาร่างพระราชบัญญัติประกันสังคม (ฉบับที่ ..) พ.ศ. …. ของสภานิติบัญญัติแห่งชาติ (สนช.) กรณีมาตรา 40 เมื่อวันที่ 5 มีนาคม 2558 ที่ผ่านมา ภายหลังจากที่มีสมาชิกสภานิติบัญญัติแห่งชาติบางคนได้ตั้งคำถามต่อการปรับแก้ไขเงินสมทบของภาครัฐต่อกลุ่มแรงงานนอกระบบว่า การสมทบในลักษณะที่ “ไม่น้อยกว่ากึ่งหนึ่ง” นั้น จะส่งผลต่อภาระการคลังของประเทศไทยในระยะยาวที่ไม่สามารถควบคุมค่าใช้จ่ายที่แน่นอนได้ เห็นควรให้กลับไปใช้การสมทบตามที่ พ.ร.บ.ประกันสังคม พ.ศ.2533 ได้บัญญัติไว้แล้ว คือ “ไม่เกินกึ่งหนึ่ง”

ในที่สุดที่ประชุมได้เห็นชอบตามที่สมาชิก สนช. คนดังกล่าวเสนอ

ที่ผ่านมามีรายการศึกษาจำนวนไม่น้อย ที่ระบุชัดว่า แม้นโยบายรัฐทุกยุคสมัยมีความพยายามในการดึงแรงงานนอกระบบเข้าสู่ระบบประกันสังคม เพื่อให้มีหลักประกันด้านรายได้และระบบสวัสดิการ แต่การดำเนินการดังกล่าวกลับล้มเหลว เพราะอัตราเงินสมทบของแรงงานนอกระบบที่สูงมากเมื่อเทียบกับการสมทบจากภาครัฐในสัดส่วนที่ไม่เท่ากัน และสิทธิประโยชน์ที่ได้รับ อีกทั้งเมื่อเปรียบเทียบกับอัตราเงินสมทบของภาครัฐในกลุ่มแรงงานในระบบด้วยเช่นเดียวกัน ถือเป็นการเลือกปฏิบัติกับแรงงานนอกระบบที่มีรายได้น้อย โดยเฉพาะกลุ่มแรงงานในชนบท

ภายใต้สถานการณ์ปฏิรูปประเทศไทยที่มุ่งไปเรื่องการลดความเหลื่อมล้ำ สร้างความเป็นธรรม ผลักดันพลังพลเมืองให้แข็งแกร่ง พร้อมเป็นภาคประชาสังคมที่แข็งแกร่งในอนาคต เปล่าดายที่จะกล่าวอ้างเรื่องนี้ ตราบใดก็ตามที่ผู้กำหนดนโยบายต่อแรงงานนอกระบบยังปราศจากการตระหนักและยอมรับถึงการดำรงอยู่ของแรงงานนอกระบบ ว่ามีบทบาท “โดยตรง” ต่อระบบเศรษฐกิจของประเทศไทยอย่างมหาศาล ที่ผู้เกี่ยวข้องจะต้องตระหนักถึงลักษณะเฉพาะของแรงงานนอกระบบ

เศรษฐกิจไทยจะดำเนินไปด้วยประสิทธิภาพ ประสิทธิผล และคุณภาพ สิ่งเหล่านี้จะเกิดขึ้นได้ก็หมายถึงประสิทธิภาพและคุณภาพของผู้ใช้แรงงานทุกกลุ่มจักต้องดีขึ้นไปพร้อมกันด้วย การมองเพียงว่าค่าใช้จ่ายของรัฐเป็นต้นทุนที่รัฐไม่ควรลงทุน ถือเป็นเรื่องที่น่าผิดหวังอย่างยิ่ง เพราะนี้คือ การพัฒนาคุณภาพ “คน” ที่จะเป็นกำลังการผลิตที่มีประสิทธิภาพและคุณภาพของประเทศไทยในอนาคต

การออกมาตรการใดๆกับกลุ่มแรงงานนอกระบบควรมีลักษณะของการ “ส่งเสริม คุ้มครอง เข้าใจและพัฒนา” มากกว่าการเร่งผลักดันให้แรงงานเหล่านี้เข้าสู่ระบบที่เป็นทางการตามตัวบทกฎหมาย โดยปราศจากความเข้าใจในบริบทที่เกี่ยวข้อง ซึ่งท้ายที่สุดแล้วอาจไม่นำไปสู่การคุ้มครองและส่งเสริมคุณภาพชีวิตของแรงงานนอกระบบให้เกิดผลอย่างเป็นรูปธรรมชัดเจนและต่อเนื่องตามที่มุ่งหวังไว้ได้ และสุดท้ายประเทศไทยก็ปราศจากประชากรที่มีคุณภาพชีวิตที่ดีในระยะยาว ซึ่งเป็นผลมาจากความไม่เข้าใจของผู้ออกนโยบายนั้นเอง

//////////////