ข้าราชการ และการเมืองไทยในสายตาของคนเดินถนน

ความเรียงเพิ่งค้นพบของ อารมณ์ พงศ์พงัน

(บทความเกียรติยศ เฟื่องนครฉบับบานไม่รู้โรย ปีที่ 2 ฉบับที่ 9 ตุลาคม2529 หน้า 64-68)

ใครที่ทำให้การเมืองเป็นเรื่องสกปรกและชั่วร้าย?

                มีความเข้าใจของสังคมไทยเกี่ยวกับเรื่องของการเมืองอยู่ข้อหนึ่งที่น่าวิตกเป็นอันมาก และถึงแม้ว่า ความเข้าใจผิดนี้จะเป็นความเข้าใจผิดที่เป็นต้นเหตุทำให้การพัฒนากลุ่มของสังคมไทยดำเนินไปได้อย่างล่าช้าก่อให้เกิดความเสียหายเชื่อมโยงไปถึงระบบเศรษฐกิจของประเทศ ระบบการศึกษา ตลอดจนปัญหาทางด้านอื่นๆ ของสังคมอีกมากมาย อาทิ การประกันสังคม และการบริหารท้องถิ่น แต่ก็ไม่เคยมีใครคิดจะแก้ไขความเข้าใจผิดของสังคมในข้อนี้ ปล่อยให้ตกอยู่ในสภาพเลยตามเลย ความเข้าใจผิดที่ว่านี้ก็คือ สังคมไทยเข้าใจว่า “การเมืองเป็นเรื่องของความสกปรก และชั่วร้าย” คนที่รักสงบไม่สมควรเข้าไปยุ่งเกี่ยวเพราะอาจเกิดอันตรายขึ้นได้อย่างไม่รู้เนื้อรู้ตัว

               หลังการปฏิวัติเมื่อปี พ.ศ. 2475 ของคณะราษฎร สังคมไทยในระดับชั้นของกลุ่มผู้บริหารประเทศได้เติมสีแห่งความมัวหมองให้แก่ระบบการเมืองแบบเสรีประชาธิปไตยลงไปทีละเล็กละน้อย ทั้งๆที่บรรดาผู้ก่อการ พ.ศ.2475 หรือบรรดาผู้ใช้อำนาจบริหารประเทศช่วงระยะในเวลาต่อมาต่างก็ประกาศกันอย่างครึกโครมว่า ตนเองเป็นนักประชาธิปไตย แต่การแสดงออกในด้านปฏิบัตินั้นกลับกลายเป็นตรงกันข้ามอย่างสิ้นเชิง ประชาธิปไตยของบรรดากลุ่มชนชั้นบริหารเป็นเพียงประชาธิปไตยในแผ่นกระดาษ และความพลิกแพลงของตัวอักษร ตลอดจนการตีสำนวนโวหาร และการตีความของตัวบทกฎหมายอันเป็นความรู้ที่บรรดานักวิชาการ และกลุ่มสมองของชนชั้นบริหารมีความรู้ดีกว่าประชาชนทั่วๆไปใช้ความรู้ความสามารถในด้านนี้ วาดภาพใหม่ของระบบเผด็จการโดยบุคคลเดียว หรือเผด็จการโดยกลุ่มให้กลายเป็นระบบประชาธิปไตยในสายตาของประชาชนไปเสียชนิดที่ว่า ประชาชนไม่มีโอกาสที่จะโต้แย้งได้

                สมัยหนึ่งในยุคของจอมพล ป. พิบูลย์สงคราม การเมืองได้กลายเป็นเรื่องต้องห้ามที่น่าเกรงกลัวสำหรับประชาชน สมัยนั้นถ้าหากว่า ประชาชนคนไหนมีวี่แววหรือท่าทีจะแสดงให้เห็นว่า กำลังสนใจการเมืองของประเทศ ข้อหาคอมมิวนิสต์ก็จะมารออยู่เบื้องหน้าของเขาอย่างรวดเร็ว การกระทำของคณะผู้บริหารประเทศในยุคนั้น สมควรจะเรียกได้อย่างเต็มปากเต็มคำว่าเป็น “ยุคมืดแห่งแห่งการเมือง” จนในที่สุดภาพพจน์อันไม่ถูกต้องของลัทธิการปกครองแบบสังคมนิยมทางเศรษฐกิจบางแบบ ได้ถูกคณะผู้บริหารประเทศในยุคนั้นบิดเบือนรูปแบบอันแท้จริงให้กลายเป็นอีกรูปแบบหนึ่งในความเข้าใจของประชาชน จะเป็นเพื่อปกป้องอำนาจบริหารของกลุ่มผู้บริหารของพวกตนให้ยืนอยู่อย่างมั่นคงกับระบอบการปกครองประเทศโดยตลอดไปก็สามารถที่จะว่าได้ และบางครั้งก็ถึงกับว่า คณะผู้ใช้อำนาจบริหารได้ชักฉากลวงของระบบการปกครองแบบคอมมิวนิตส์ลงมาขู่ขวัญปิดตาประชาชน เพียงเพื่อทำลายฝ่ายตรงกันข้ามกับตนที่ขัดผลประโยชน์กันทางด้านการเมือง อย่างเช่นกรณีการยิงทิ้งหรือการสังหารชีวิตนักการเมืองบางกลุ่ม หรือแม้แต่การสร้าง “คุกการเมือง” สำหรับนักการเมืองขึ้นที่เกาะเต่า และเกาะตะรุเตา

   

             กรณีเช่นนี้ไม่สามารถจะถือได้ว่า เป็นเรื่องเล็กน้อยทางการเมือง แต่เป็นการทำลายการพัฒนาทางด้านการเมืองโดยสิ้นเชิง จนทำให้ปัญหาการเมืองกลายเป็นปัญหาเรื้อรังของชาติจนถึงปัจจุบัน

                การปฏิเสธที่จะเล่นการเมืองไม่ใช่วิสัยที่ดีของประชาชนในประเทศที่มีการปกครองแบบประชาธิปไตยเพราะการเมืองเป็นจุดเกิดของระบบอื่นๆ ดังได้กล่าวมาแล้วในตอนต้น แต่ในปัจจุบันนี้จะเห็นได้ว่า การรวมกลุ่มกันของประชาชนในสังคมกลุ่มย่อยกลุ่มต่างๆ ได้พากันปฏิเสธการเล่นการเมืองอย่างสิ้นเชิงทั้งๆที่ในความเป็นจริง ทุกๆเสี่ยววินาทีที่ประชาชนทุกคนยังคงมีลมหายใจเข้าออกอยู่ เขาต่างต้องผูกพันกับการเมือง ทั้งในแง่ของการรักษาผลประโยชน์ของรัฐที่เขาจำเป็นจะต้องเอาใจใส่เพราะเป็นผู้เสียภาษีอากร การใช้ทรัพยากรของชาติซึ่งเขามีส่วนร่วมในส่วนแบ่งอยู่ด้วย การวางเป้าหมายในการพัฒนาชาติของรัฐอันหมายถึงการพัฒนาการใช้ชีวิตประจำวันของประชาชนในด้านต่างๆให้ดีขึ้น และการควบคุมอำนาจสูงสุดในการปกครองประเทศทั้งสามอำนาจให้ดำเนินไปถึงจุดหมายปลายทางที่ได้ร่วมร่วมกันตั้งเป้าหมายเอาไว้

                ข้อยืนยันที่สนับสนุนให้เห็นว่า สังคมกลุ่มย่อยของประชาชนในชาติปฏิเสธที่จะเล่นการเมืองก็คือ การนอนหลับทับสิทธิในการออกเสียงเลือกตั้งผู้แทนราษฎร ส่วนคนที่ไปออกเสียงนั้น เปอร์เซ็นต์ส่วนใหญ่เป็นไปเพราะการชักนำ และการบีบบังคับขอร้องของผู้สมัครเข้ารับการเลือกตั้ง ส่วนที่จะใช้พิจารณาในการเลือกตั้งด้วยตนเองนั้นมีอยู่เพียงเล็กน้อย สภาพเช่นนี้ทำให้สภาผู้แทนราษฎรที่ใช้อำนาจสูงสุดทางด้านการปกครองประเทศในทางนิติบัญญัติไม่ได้ผู้แทนราษฎรที่มีสมรรถภาพและคุณภาพดีพร้อมเข้าไปทำงาน สภาผู้แทนราษฎร และอำนาจสูงสุดของประเทศฝ่ายนิติบัญญัติจึงถูกครอบงำโดยอิทธิพลด้านการเงินและอาวุธจากฝ่ายบริหารตลอดมา

               ข้อยืนยันอีกข้อหนึ่งคือ สมาคมหรือสโมสรต่างๆ ที่ตั้งขึ้นมาดำเนินกิจการเพื่อผลประโยชน์ของกลุ่มใดกลุ่มหนึ่ง ด้านใดด้านหนึ่งนั้น มักจะระบุจุดมุ่งหมายในการตั้งสมาคมหรือสโมสรเอาไว้ด้วยว่า ไม่ยุ่งเกี่ยวกับการเมืองอันเป็นการกระทำเพื่อทำให้เกิดความสะดวกในการขออนุญาตตั้งสมาคม หรือสโมสรนั้นๆ จากทางราชการเพียงประการเดียว เพราะถ้าหากสมาคมหรือสโมสรนั้นๆ เกิดมีจุดมุ่งหมายทางการเมืองขึ้นมา และประกาศแนวนโยบายทางการเมืองเป็นเอกเทศไม่เหมือนกับความต้องการของนักการเมืองผู้กุมอำนาจบริหารไว้ในมือแบบผูกขาดแต่เพียงกลุ่มเดียวแล้ว อำนาจทางการเมืองของนักการเมืองกลุ่มนั้นอาจกระทบกระเทือนได้ ฉะนั้น บรรดาลูกมือของนักการเมืองผู้มีอำนาจ อันได้แก่ ข้าราชการผู้ประจบสอพลอ และทำงานเพียงเพื่อให้คนอยู่รอดภายในระบบราชการแบบตัวใครตัวมัน จึงใช้อำนาจของข้าราชการกดดัน “มติบริสุทธิ์” ของมหาชนให้แก่นักการเมืองเลวๆ ผู้กุมอำนาจบริหารในแต่ละสมัยนั้น โดยไม่คำนึงถึงผลเสียของชาติ และมิได้มุ่งทำราชการเพื่อผลประโยชน์ของประชาชนอย่างแท้จริง แต่กลับทำตนเป็นเครื่องมือของนักการเมืองในทุกๆยุคที่อำนาจทางการเมืองได้เปลี่ยนมือไป

                สมาคมหรือสโมสรที่ตั้งขึ้นโดยไม่ยุ่งเกี่ยวกับการเมือง ล้วนแล้วแต่เป็นสมาคมหรือสโมสรที่หาค่าไม่ได้ เพราะเมื่อสมาคมหรือสโมสรไม่ยอมปกป้องผลประโยชน์ของสมาชิกทางด้านการเมืองเสียแล้ว ก็เท่ากับว่า สมาคมหรือสโมสรนั้นตั้งขึ้นมาเพื่อหาผลประโยชน์จากสมาชิกทางด้านอื่นๆ เพียงประการเดียว  อาที เป็นสถานที่บังหน้าของบุคคลบางคนเพื่อใช้สื่อสมาคมเป็นแหล่งหากินทั้งทางด้านการพนัน และการใช้อิทธิพลของสมาคมเข้าไปครอบงำบีบบังคับประชาชนคนอื่นๆ ในกลุ่มของธุรกิจประเภทเดียวกัน เพื่อผลประโยชน์ในกลุ่มของตนจะได้งอดเงยขึ้นมากกว่าเดิม

..ประชาธิปไตยของบรรดากลุ่มชนชั้นบริหารเป็นแต่เพียงประชาธิปไตยในแผ่นกระดาษ และความพลิกแพลงของตัวอักษร…

               หลังจากการปฏิวัติรัฐประหารเมื่อปีพ.ศ. 2500 จอมพลสฤษดิ์ ธนะรัชด์ ได้สร้างรูปแบบใหม่ทางการเมืองขึ้น โดยอาศัยความเห็นแก่ได้ของนักการเมืองระดับผู้แทนราษฎร ร่วมกับความบ้าอำนาจของกลุ่มผู้มีอำนาจก่อนการรัฐประหาร ปูเป็นพื้นฐานสร้างอำนาจทางการเมืองแบบเผด็จการให้แก่ตนเองในที่สุดอำนาจของจอมพล สฤษดิ์ได้ลอยโด่งสูงขึ้นจนไม่มีใครแตะต้อง การฉ้อราษฎรบังหลวง การแสวงหาอิทธิพลทางการค้าโดยการใช้อำนาจที่มีอยู่เข้าบีบบังคับ จอมพล สฤษดิ์ และผู้ใกล้ชิดได้ดำเนินการตามความเข้าใจผิดของประชาชนส่วนใหญ่ ซึ่งคิดว่าประเทศได้คณะผู้ปกครองบริหารที่ดีพร้อม จนกระทั้งเมื่อจอมพลสฤษดิ์เสียชีวิตลง  ความลับ และความไม่ดีไม่งามทั้งปวงก็เปิดเผยออกมา และจำนวนเงินของชาติที่สูญเสียไปเพราะจอมพลคนแสนซื้อคนนี้นั้นมีมากนับพันๆล้านบาท ประชาชนทั่วไปจึงรู้สึกเซ็งตัวผู้บริหารประเทศเพิ่มขึ้นจากสมัยจอมพล ป. พิบูลสงคราม และทำให้ภาพพจน์นักการเมืองไทยยุคต่อมาในสายตาของประชาชน กลายเป็นภาพของ “ผู้มีอำนาจที่ไม่น่าไว้วางใจ” ประกอบกับสื่อมวลชนที่ซื้อสัตย์ต่อหน้าที่ของตน (หนังสือพิมพ์รายวันบางฉบับ) ได้โหมประโคมข่าวคราวการคอร์รัปชั่นหนาหูมากขึ้น ประชาชนจึงเริ่มไม่ไว้วางใจเจ้าหน้าที่ระดับสูงของทางราชการทุกประเภท เพราะบรรดาข้าราชการระดับสูงเหล่านี้เป็นผู้ที่มีหน้าที่รับผิดชอบอยู่ในเรื่องนั้นๆ โดยเฉพาะแต่ก็ยังปล่อยให้มีการคอร์รัปชั่นกันอยู่ ความเข้าใจของประชาชนที่มีต่อเจ้าหน้าที่ระดับสูงของรัฐ และนักการเมืองที่ดำรงอำนาจอยู่จึงเต็มไปด้วยความเคลือบแคลง และไม่ค่อยจะยอมให้ความร่วมมือกับรัฐเท่าที่ควร บทเรียนต่างๆที่ประชาชนได้รับจากผู้บริหารประเทศในยุคก่อนๆ นั้นทำให้ความร่วมมือภายในชาติเป็นไปด้วยความล่าช้า และจำจะต้องมีการพิสูจน์เสียก่อนว่า เรื่องต่างๆที่ประชาชนได้รับการขอร้องหรือร่วมมือจากรัฐนั้นมีความบริสุทธิ์ และมีความจริงใจต่อประโยชน์ของส่วนรวมกี่เปอร์เซ็นต์

   

             ผลประโยชน์ของชาติที่ถูกเปลี่ยนมือไปเป็นของบุคคลบางคนในระยะเวลาต่อมาจากสมัยของจอมพลสฤษดิ์ก็ยังคงมีอยู่ ดังจะเห็นได้จากข่าวการคอร์รัปชั่นในกรมชลประทาน การคอร์รัปชั่นในจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย หรือแม้แต่การคอร์รัปชั่นในเทศบาลต่างๆทั่วประเทศ ยิ่งทำให้กำลังใจของประชาชนผู้ต้องการจะทำประโยชน์ให้แก่ชาติตามอุดมคติ อุดมการ ที่วางเอาไว้หมดลงไปทุกที โดยเฉพาะอย่างยิ่ง รูปแบบการปกครองในยุคต่อจากสมัยของจอมพล ป. ก็มิได้เปลี่ยนแปลงไปจากเดิม ยังคงมีระบบของทหารเข้ามายุ่งกับการเมือง ยังคงมีระบบครอบครัวอยู่ในวงราชการชั้นสูง ยังคงมีการใช้ตำแหน่งทางการทหารเป็นบำเหน็จแก่ผู้นำ ทำให้ประชาชนเข้าใจว่าผลประโยชน์ของชาติเป็นผลประโยชน์ของผู้บริหารแต่เพียงฝ่ายเดียว

                ภาษีอากรที่รัฐเก็บไปก็ถูกนำไปใช้พัฒนาชาติตามแผนเศรษฐกิจที่ล้มเหลว และขาดเป้าหมาย(ที่ดี) ในการใช้จ่ายเงินทองของชาติรั่วไหลเพราะแผนพัฒนาชาติตามช่วงระยะเวลาต่างๆ ที่วางเอาไว้มีมากเกินไป จนผลที่มีได้จากเงินภาษีอากรเหล่านั้นกลายเป็นผลได้ไม่คุ้มกันกับทุน กับการจ่ายดอกเบี้ยเงินกู้ และกับระยะเวลาแห่งการรอคอยผลประโยชน์ตอบแทนของประชาชน ภาษีอากรที่รัฐเก็บไปนั้น ชาวชนบทเข้าใจว่า เป็นเพียงค่าเช่า หรือค่าเช่าซื้อความเป็นคนไทย หรือซื้อผืนแผ่นดินไทยเอาไว้ทำกินจากผู้บริหารประเทศเท่านั้น

                ยิ่งสภาพเช่นที่ว่านี้มีมากขึ้น ก็จะยิ่งทำให้ช่องว่างระหว่างนักการเมืองไทย และนักบริหารประเทศ (โดยอาชีพ) กับประชาชนคนธรรมดามีมากขึ้น และเมื่อช่องว่างนี้ขยายออกไปมากเข้าจนถึงจุดหนึ่งที่ประชาชนอดทนต่อไปไม่ได้ ความแตกหัก และความรุนแรงก็จะเกิดตามขึ้นมา ดังเช่นที่เป็นอยู่ในภาคใต้ของประเทศไทยในปัจจุบัน

                กรมการปกครองได้ยอมรับออกมาว่า ยังมีข้าราชการของกรมการปกครอง กระทำตนเป็นเจ้านายของราษฎรเหมือนกับในยุคที่ยังมีระบบศักดินา และการกระทำตัวของข้าราชการกรมการปกครองนี้เองที่ทำให้ภาคใต้เกิดปัญหาทางการปกครองขึ้น ความเข้าใจของข้าราชการนั้นเกิดอยู่แต่เพียงว่า ตัวมีอำนาจ และหน้าที่ โดยมิได้คำนึงถึงขอบเขตแห่งการใช้อำนาจ และหน้าที่รับผิดชอบ ส่วนประชาชนเป็นแต่เพียงผู้อาศัย และจำจะต้องพึ่งพาอาศัยอำนาจของข้าราชการตามที่กฎหมายได้บัญญัติ และเปิดช่องโหว่เอาไว้ ดังนั้นข้าราชการประเภทนี้จึงเป็นตัวการสำคัญที่สุดที่คอยทำลายความเข้าใจร่วมกันของชนในชาติเกี่ยวกับระบบการปกครองแบบประชาธิปไตย ให้เสียหายไปจากจุดมุ่งหมายเดิม

                ผลสะท้อนจากความเข้าใจผิดต่างๆเหล่านี้ จะเห็นได้จากสังคมทุกระดับชั้นซึ่งขาดความดิ้นรนช่วยเหลือตนเอง คอยแต่จะงอมืองอเท้า และเฝ้าฝันถึงความทะยานอยากจะเข้าไปมีอำนาจอยู่ในวงราชการ (เช่น บัณฑิตใหม่ๆ จากมหาวิทยาลัย) เพียงประการเดียว ทำให้เกิดปัญหาอื่นๆตามมา อาทิ การว่างงาน

                ปัญหาการว่างงานที่เพิ่มมากขึ้นพร้อมๆกับที่ปัญหาการใช้แรงงานขั้นต่ำของกรรมกรได้ถูกกดขี่หนักขึ้น โดยที่ค่าตอบแทนของชนชั้นในระดับนี้ไม่ได้มากมายอะไรนักอยู่แล้ว ทำให้สภาพของสังคมไทยปั่นป่วนมากขึ้น ปัญหาอาชญากรรม และการแก้ไขที่ไม่ถูกจุดก็หาได้ช่วยทำให้อะไรดีขึ้นไม่ มีแต่จะพลอยให้การพัฒนาอาชีพทางด้านอื่นหยุดชะงักตามไปด้วย จะเห็นได้ว่าความไม่พอดีในสังคมได้บีบบังคับให้ชาวนาทิ้งที่ทำกิน และเข้ามาแสวงหาโชคลาภในเมืองมากขึ้น จนทำให้เมืองเกิดสภาวะคับขัน ขยายออกตามจำนวนประชากรได้ไม่ทันท่วงที ลักษณะของประเทศที่ประกอบอาชีพกสิกรรมเป็นหลักอย่างไทยเรานั้น จึงเริ่มพบปัญหาการเปลี่ยนแปลงแนวโน้มใหม่ในการประกอบอาชีพของประชาชน จนถึงขนาดว่าถ้าสภาพเช่นนี้ยังคงดำเนินอยู่อีกต่อไป ประเทศไทยซึ่งเคยส่งข้าวออกไปขายเป็นสินค้าออกมากที่สุดในโลก ต่อไปอาจจะต้องซื้อข้าวจากประเทศอื่นเข้ามาเลี้ยงประชาชนในชาติแทนและนี่ก็คือผลที่เกิดจากการที่แหล่งงานต่างๆ ของทางราชการ และเอกชนขาดคนที่มีสมรรถภาพในการทำงาน แต่เต็มไปด้วยคนที่คอยทำงานเพื่อผลประโยชน์ส่วนตน

                ผลเสียต่างๆเหล่านี้ นักการเมืองในอดีต และปัจจุบันเป็นผู้มีส่วนทำให้เกิดขึ้น และไม่เคยยอมรับว่า ตนเองเป็นผู้ก่อ และอาศัยเพียงคำพูดหรือข้อเขียนที่เต็มไปด้วยคารมคมคายของตน หลักเลี่ยงไม่ยอมรับผิดชอบต่อหน้าที่ และผลงานที่ทำผ่านมา

                หนทางที่จะแก้ไขวิกฤตกาลในปัจจุบันมีอยู่เพียงทางเดียวเท่านั้น คือ ค้นหาผู้นำที่มีคุณสมบัติพร้อมขึ้นมาให้ได้สักคนหนึ่งแล้วรวมพลังกันระหว่างคนที่มีอุดมคติ และอุดมการณ์เหมือนกัน สร้างสังคมใหม่ของไทยขึ้นมาให้ผิดไปจากเดิม ถึงแม้ว่าจะมีผลเสียบ้างในบางเรื่อง แต่ก็จำจะต้องยอมดีกว่าที่จะปล่อยให้ชาติล่มขมไปกับระบบ “หน้าไหว้หลังหลอก” ของบรรดาเหล่าข้าราชการทุจริต และนักการเมืองโสโครกในปัจจุบัน

//////////////////////////////////////////////////////