ขบวนคสรท.สรส.แถลงจัดงานวันกรรมกรสากลรณรงค์ 13 ข้อเสนอ

P4100371

เมื่อวันที่ 10 เมษายน 2557 คณะกรรมการสมานฉันท์แรงงานไทย(คสรท.) สมาพันธ์แรงงานรัฐวิสาหกิจสัมพันธ์(สรส.) ได้จัดแถลงข่าว การจัดงานวันกรรมกรสากล 2014 ร่วมกันโดยชูคำขวัญ “สามัคคีกรรมกร ต้านทุนนิยมครอบโลก สร้างสังคมใหม่ ประชาธิปไตยประชาชน” ที่สำนักงานสหภาพแรงงานรัฐวิสาหกิจรถไฟแห่งประเทศไทย สวนรถไฟ จตุจักร กรุงเทพฯ

นายชาลี ลอยสูง ประธานคสรท.ได้แถลงว่า วันกรรมกรสากลในปี 2014 คณะกรรมการสมานฉันท์แรงงานไทย(คสรท.)และสมาพันธ์แรงงานรัฐวิสาหกิจสัมพันธ์(สรส.)ได้ร่วมกันจัดกิจกรรมเพื่อตอกย้ำถึงเจตนารมณ์ “วันกรรมกรสากล”ให้แจ่มชัดยิ่งในสถานการณ์ปัจจุบันภาวะการกดขี่ ขูดรีดที่รุนแรง หนักหน่วง สลับซับซ้อนยิ่งกว่าเดิมภายใต้กระบวนการผลิต การทำงานของระบบเศรษฐกิจทุนเสรีนิยมใหม่ ซึ่งไม่ต่างจากในอดีต ที่การลงทุนมีการกดขี่ขูดรีดอย่างรุนแรงต่อคนงานอย่างหนัก ทั้งชั่วโมงการทำงานที่ยาวนานและสภาพการทำงานที่ไม่ปลอดภัยทำให้คนงาน ที่เมืองชิคาโก้ และอีกหลายเมืองในสหรัฐอเมริกา รวมไปถึงแคนาดา ได้นัดหยุดงานครั้งใหญ่ในวันที่ 1 พฤษภาคม ค.ศ.1886 เพื่อเรียกร้องให้เปลี่ยนระบบทำงานเป็น “ระบบสามแปด”คือทำงานแปดชั่วโมง พักผ่อนแปดชั่วโมง ศึกษาหาความรู้แปดชั่วโมง การต่อสู้ได้ลุกลามไปยังประเทศต่างๆทั่วทั้งโลกปี 1889 การต่อสู้ของกรรมกรประสบชัยชนะแต่กรรมกรที่ลุกขึ้นสู้ก็ได้สังเวยชีวิตและได้รับบาดเจ็บเป็นจำนวนมาก และในการประชุมสมัชชาสังคมนิยมสภาสากลที่สองกำหนดให้ วันที่ 1 พฤษภาคม ของทุกปีป็น “วันกรรมกรสากล” ที่ทั่วทั้งโลกต่างออกมาชุมนุม เดินขบวน เฉลิมฉลองเพื่อรำลึกถึงวีรกรรมที่กล้าหาญ กล้าต่อสู้ กล้าเสียสละในครั้งนั้นที่ได้ส่งผลคุณูปการมายังกรรมกรในยุคปัจจุบัน ในประเทศไทยก็ได้กระทำเช่นเดียวกันกับกรรมกรทั่วทั้งโลกแต่ต่อมาวันกรรมกรสากลได้ถูกชนชั้นปกครองได้เปลี่ยนชื่อเป็น “วันแรงงานแห่งชาติ”เพื่อตัดประวัติศาสตร์กรรมกรไทยและกรรมกรสากลมิให้เชื่อมถึงกันและได้ใช้ความพยายามแบ่งแยกและแทรกแซงการทำงานของกรรมกรเสมอมา

P4100364P4100378

โดยกิจกรรมในปีนี้จะจัดขึ้นที่บริเวณหน้ารัฐสภา ถนนอู่ทองใน โดยจะเริ่มตั้งแต่เวลา 9.00 น.จนถึง 14.00 น.โดยชูคำขวัญเช่นทุกปีว่า “สามัคคีกรรมกร ต้านทุนนิยมครอบโลก สร้างสังคมใหม่ ประชาธิปไตยประชาชน”และในปีนี้มติร่วมทั้ง 2 องค์กร คือ คสรท.และ สรส.ไม่ยื่นข้อเสนอต่อรัฐบาลรัษาการเพราะขาดความชอบธรรม และไม่มีความจริงใจต่อพี่นในการบริหารประเทศ แต่จะนำข้อเสนอและเรื่องที่ต้องติดตามเสนอต่อสาธารณะและหาวิถีทางที่จะผลักดันให้ข้อเสนอที่เป็นความต้องการของพี่น้องกรรมกรเป็นจริงให้จงได้ในสถานการณ์ปฏิรูปประเทศไทย โดยมีข้อเสนอในปีนี้ดังนี้

P4100383

ข้อเสนอปี 2014

1. รัฐต้องให้สัตยาบันอนุสัญญาองค์การแรงงานระหว่างประเทศ (ILO) ฉบับที่ 87 ว่าด้วยเสรีภาพในการสมาคมและการคุ้มครองสิทธิในการรวมตัวกัน และอนุสัญญาฯ ฉบับที่ 98 ว่าด้วยการปฏิบัติตามหลักการแห่งสิทธิในการรวมตัวและการรวมเจรจาต่อรอง เพื่อสร้างหลักประกันในสิทธิในการรวมตัวและการเจรจาต่อรอง

2. รัฐต้องยุตินโยบายและกฎหมายที่ละเมิดสิทธิแรงงาน กรณีผู้นําสหภาพแรงงานรัฐวิสาหกิจรถไฟแห่งประเทศไทย 13 คน และแรงงานในภาคเอกชนเป็นจํานวนมาก ซึ่งขัดต่ออนุสัญญาองค์การแรงงานระหว่างประเทศ ฉบับที่ 87 และ ฉบับที่ 98

3. รัฐต้องสร้างระบบสวัสดิการสังคม มีมาตรการควบคุมราคาสินค้า ค่าบริการสาธารณูปโภคลดค่าครองชีพ สร้างหลักประกันในการเข้าถึงการศึกษา สาธารณสุข การบริการสาธารณะ เพื่อลดความเหลื่อมล้ำสร้างความเป็นธรรมทางสังคม

4. รัฐต้องยกเลิกนโยบายการแปรรูปรัฐวิสาหกิจหรือการแปลงสภาพรัฐวิสาหกิจทุกรูปแบบ จัดตั้งกองทุนพัฒนารัฐวิสาหกิจ เพื่อให้เกิดการพัฒนาศักยภาพหน่วยงานรัฐวิสาหกิจในการให้บริการประชาชนและยุติการแทรกแซงการบริหารงานรัฐวิสาหกิจ โดยขาดความเป็นธรรมและขาดธรรมาภิบาล

5. รัฐและรัฐสภาต้องเร่งรัดการปฏิรูประบบประกันสังคม ประกันสุขภาพคนทํางานถ้วนหน้า โครงสร้างการบริหารงานเป็นอิสระ โปร่งใส ตรวจสอบได้ ผู้ประกันตนมีส่วนร่วม เพื่อให้เกิดความเป็นธรรมทางสังคม

6. ขอให้งดนําเข้า และยกเลิกใช้ผลิตภัณฑ์ที่มีส่วนประกอบแร่ใยหิน ไคลโซไทล์ทันทีตามมติ ครม.12 เมษายน 2554

P4100362P4100381

ข้อเสนอปีที่ผ่านมาที่ต้องติดตาม

1. รัฐต้องกําหนดค่าจ้างแรงงานที่เป็นธรรมให้ครอบคลุมผู้ใช้แรงงานทุกภาคส่วน โดยกําหนดนิยามค่าจ้างขั้นต่ำให้เป็นค่าจ้างแรกเข้าที่มีรายได้พอเพียงเลี้ยงชีพตนเองและครอบครัวอีก 2 คน ตามหลักการขององค์การแรงงานระหว่างประเทศ ทั้งนี้ โครงสร้างค่าจ้างของแรงงานให้มีการปรับค่าจ้างทุกปี โดยคํานึงถึงค่าครองชีพ ทักษะฝีมือ และลักษณะงาน ทั้งนี้ รัฐจะต้องทบทวนมติคณะรัฐมนตรีเมื่อวันที่ 22 พฤศจิกายน 2554 ที่ให้คงอัตราคาจ้างขั้นต่ำวันละ 300 บาท ในปี พ.ศ. 2557 และปี พ.ศ. 2558

2. รัฐต้องแก้ไขกฎหมายเลือกตั้งในระดับชาติ และระดับท้องถิ่น เพื่อให้ผู้ใช้แรงงานที่ทํางานในเขตพื้นที่สถานประกอบการใด ๆ ตั้งแต่ 2 ปีขึ้นไป มีสิทธิเลือกตั้งและลงสมัครรับเลือกตั้งในพื้นที่นั้น ๆ เพื่อให้สะท้อนถึงเจตนารมณ์ของประชาชนที่อาศัยอยู่ในพื้นที่

3. รัฐต้องเร่งรัดให้มีการพัฒนากลไกการเข้าถึงสิทธิ การบังคับใช้ พ.ร.บ.ความปลอดภัย อาชีวอนามัย และสภาพแวดล้อมในการทํางาน พ.ศ.2554 อย่างจริงจัง ภายใต้การมีส่วนร่วมของกลุ่มผู้ใช้แรงงานทุกภาคส่วน

4. รัฐต้องจัดตั้งกองทุนประกันความเสี่ยงจากการลงทุน โดยให้นายจ้างและรัฐบาลสมทบเงินเข้ากองทุน เพื่อเป็นหลักประกันในการคุ้มครองสิทธิแรงงาน เมื่อมีการเลิกจ้างหรือเลิกกิจการไม่ว่ากรณีใดก็ตาม ผู้ใช้แรงงานควรมีสิทธิได้รับเงินชดเชยจากกองทุน รวมทั้งการสนับสนุนค่าใช้จ่ายในการดําเนินคดีระหว่างนายจ้างกับลูกจ้างได้

5. รัฐต้องสนับสนุนการจัดตั้งศูนย์เลี้ยงเด็กหรือศูนย์พัฒนาเด็กให้แก่ผู้ใช้แรงงาน ในเขตพื้นที่อุตสาหกรรมหรือสถานที่ทํางาน

6. รัฐต้องเร่งรัดให้มีการพัฒนากลไกการคุ้มครองสิทธิแรงงานและสวัสดิการสังคมของแรงงานนอกระบบ และแรงงานข้ามชาติ

7. รัฐต้องยกเว้นภาษี กรณีเงินก้อนสุดท้ายของคนงานผู้เกษียณอายุ

การสำแดงพลังของพี่น้องกรรมกรทั่วโลกและในประเทศไทยโดยเฉพาะในสถานการณ์การเมือง เศรษฐกิจ และสังคมในปัจจุบันจึงมีนัยอย่างสำคัญที่จะเป็นเครื่องบ่งชี้ถึงความต้องการและความสำเร็จในอนาคตเพื่อบรรลุถึงความอยู่ดี มีสุข และเพื่อสังคมที่เป็นธรรม คสรท. สรส.จึงขอเชิญชวนพี่น้องมวลหมู่กรรมกร ผู้ใช้แรงงานทั้งผอง ทุกสาขาอาชีพเข้าร่วมกิจกรรมอย่างพร้อมเพรียงกัน

P4100376P4100359

นายอำพล ทองรัตน์ รองเลขาธิการสรส.กล่าวว่า การจัดงานครั้งนี้เป็นความร่วมมือกันของ 2 องค์กรแรงงาน เพื่อรณรงค์ประเด็นปัญหาความเดือดร้อนของผู้ใช้แรงงานต่อสังคมผ่านการจัดเวทีวิชาการ และการแสดงวัฒนาธรรมของแรงงาน

นายสาวิทย์ แก้วหวาน ที่ปรึกษาสรส. และรองประธานคสรท. กล่าวว่า รัฐควรต้องมีมุมมองด้านสวัสดิการที่มั่นคงให้กับผู้ใช้แรงงาน ด้วยจะเข้าสู่ประชาคมอาเซียน ซึ่งจะส่งผลกระทบต่อวิถีชีวิตการจ้างงานแรงงานในอีกไม่นาน รัฐต้องเร่งวางแผนการคุ้มครองผู้ใช้แรงงาน ให้ครอบคลุม เช่นเรื่องหลักการประกันสังคม แรงงานสัมพันธ์ ต้องเร่งพัฒนากลไกการคุ้มครองสิทธิแรงงานอย่างเท่าเทียม

นางสาววิไลวรรณ แซ่เตีย รองประธานคสรท. กล่าวถึงประเด็นการขับเคลื่อนประกันสังคมว่า ด้วยกลไกกฎหมายเดิมไม่เอื้อต่อการที่จะทำให้คุณภาพชีวิตของผู้ใช้แรงงานดีขึ้น โดยเฉพาะหลักการประกันสังคมที่ต้องให้การคุ้มครองผู้ใช้แรงงานเพิ่มขึ้น จึงทำให้เกิดการเรียกร้องและพัฒนาร่างร่าง พระราชาบัญญัติประกันสังคม พ.ศ. …. และรัฐธรรมนูญก็เปิดโอกาสให้ประชาชนสามารถเสนอกฎหมายทางตรงได้ด้วยการล่าลายมือชื่อหนึ่งหมื่นชื่อเสนอผ่านกลไกรัฐสภา แต่กลับถูกสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรโหวตไม่รับร่างของประชาชน และเมื่อยุบสภาร่างพ.ร.บ.ประกันสังคมอื่นๆที่อยู่ในวาระก็ตกไปด้วย ทางภาคแรงงานได้มีการนำร่างมาปรับปรุงและเตรียมการล่าลายมือชื่อเสนอเข้าสู่สภาอีกครั้ง

นักสื่อสารแรงงาน รายงาน