กลุ่มแรงงานยื่นค้านแนวคิดการเมืองรวบอำนาจ พร้อมเสนอโครงสร้างประกันสังคมต้องเป็นอิสระ

P4031070

ผู้นำแรงงานยื่นข้อเสนอค้านกมธ.ประกันสังคม หยุดคิดให้การเมืองรวบอำนาจบริหาร เสนอควรรับหลักการร่างประกันสังคมฉบับขบวนการแรงงานและภาคประชาชน

วันนี้ (27 พ.ค. 56) นายยงยุทธ์ เม่นตะเภา เลขาธิการสมาพันธ์แรงงานเครื่องใช้ไฟฟ้า อิเล็กทรอนิคส์ ยานยนต์ และโลหะแห่งประเทศไทย และนางสาวธนพร วิจันทร์ เลขาธิการกลุ่มผู้ใช้แรงงานสระบุรี และใกล้เคียง ได้เข้ายื่นหนังสือต่อประธานกรรมาธิการวิสามัญพิจารณาร่างพระราชบัญญัติประกันสังคม เพื่อให้ประธานกรรมาธิการวิสามัญพิจารณาหลักการร่างพ.ร.บ.ประกันสังคมฉบับเข้าชื่อของนางสาววิไลวรรณ แซ่เตียและประชาชนผู้มีสิทธิเลือกตั้งจำนวน  14,264  คน ซึ่งมี นายอนุสรณ์ ไกรวัตนุสสรณ์ รองประธานฯเป็นตัวแทนรับหนังสือแทน

P5010430DSCN5202

นายยงยุทธ เม่นตะเภา กล่าว่า การมายื่นหนังสือครั้งเพื่อให้คณะกรรมาธิการวิสามัญพิจารณาหลักการร่างพ.ร.บ.ประกันสังคมฉบับเข้าชื่อของนางสาววิไลวรรณ แซ่เตียและประชาชนผู้มีสิทธิเลือกตั้งจำนวน  14,264 คน โดยมีหลักการที่สำคัญ มี 4 ประการดังนี้

1. เป็นหน่วยงานที่มีการบริหารแบบอิสระ โปร่งใส ตรวจสอบได้ และสร้างการมีส่วนร่วมจากผู้เกี่ยวข้องทุกฝ่าย

2. ปฏิรูปโครงสร้างการบริหารจัดการกองทุนประกันสังคม โดยผู้ประกันตนมีสิทธิเลือกตั้งคณะกรรมการบริหารที่บริหารโดยมืออาชีพ และมีกระบวนการหรือกลไกการตรวจสอบการบริหารงาน

3. ขยายสิทธิประโยชน์และครอบคลุมคนทำงานในทุกกลุ่มอาชีพอย่างเท่าเทียม เป็นธรรมและเป็นระบบที่ยั่งยืน

4. ผู้ประกันตนมีสิทธิรับรู้และเข้าถึงข้อมูลข่าวสารที่เกี่ยวข้องกับกองทุนประกันสังคมทุกเรื่อง มีการเพิ่มบทลงโทษนายจ้างให้มากขึ้นกรณีไม่ปฏิบัติตามในเรื่องต่างๆ

และเพื่อให้เกิดการมีส่วนร่วมของภาคประชาชน ทางสมาพันธ์ และกลุ่มสหภาพแรงงานจึงได้เดินทางมายื่นข้เสนอให้ประธานกรรมาธิการวิสามัญพิจารณาร่างพระราชบัญญัติประกันสังคม พิจารณาดำเนินการในการพิจารณาหลักการที่สำคัญของร่างที่เสนอชื่อโดยประชาชน 14,264 รายชื่อ  ซึ่งหากร่างพระราชบัญญัตินี้ได้บังคับใช้เป็นกฎหมายแล้วจะส่งผลดีต่อประชาชนและประเทศชาติเป็นอย่างมาก

“ เกี่ยวกับโครงสร้างคณะกรรมการประกันสังคม (บอร์ด) ที่เสนอให้รัฐมนตรีว่า การกระทรวงแรงงาน เป็นประธานบอร์ดสำนักงานประกันสังคม และโครงสร้างบริหารประกอบด้วยปลัดกระทรวงแรงงาน, ผู้แทนกระทรวงการคลัง, ผู้แทนกระทรวงมหาดไทย, ผู้แทนกระทรวงสาธารณสุข, ผู้แทนสำนักงบประมาณ เลขาธิการ เป็นกรรมการและเลขานุการ สำนักงานประกันสังคมเข้ามาบริหาร ทำให้ผู้ประกันตนซึ่งถือเป็นเจ้าของเงินมองว่าเป็นการโอนอำนาจให้กับฝ่ายการเมืองแบบรวบอำนาจจัดการกองทุนประกันสังคม ซึ่งขาดการมีส่วนร่วมจากผู้ประกันตน เพราะที่มาของผู้แทนฝ่ายนายจ้างและฝ่ายลูกจ้าง แม้จะมาจากการเลือกตั้ง ซึ่งเพิ่มอีกเป็นฝ่ายละ 7 คน แต่สุดท้ายต้องให้รัฐมนตรีว่าการกระทรวงแรงงานเป็นผู้แต่งตั้ง ซึ่งหลักเกณฑ์และวิธีเลือกตั้งให้เป็นไปตามระเบียบที่รัฐมนตรีฯกำหนดอีก และยังสามารถแต่งตั้งที่ปรึกษาได้อีก 7 คน เป็นการบริหารในลักษณะไตรภาคี เหมือนเดิม แต่อำนาจต่างๆอยู่ในมือของนักการเมือง ซึ่งอันนี้ผู้ใช้แรงงานไม่เห็นด้วย ที่ฝ่ายการเมือง ที่จะเข้าล่วงลูกแทรกแซงการบริหารจัดการ” นายยงยุทธ์ เม่นตะเภากล่าว

ด้านนางสาวธนพร วิจันทร์ เลขาธิการกลุ่มผู้ใช้แรงงานสระบุรีฯ กล่าวว่า “กองทุนประกันสังคมขณะนี้มีเงินจำนวนมาก ซึ่งต้องนำมาจัดสวัสดิการให้กับผู้ประกันตนให้ได้รับผลประโยชน์ที่สุด และผู้ประกันตนตอนนี้มีองค์ประกอบมากกว่าแรงงานในระบบอุตสาหกรรม อย่างที่ทราบกันอยู่ว่ามีทั้งแรงงานนอกระบบ แรงงานข้ามชาติ ผู้ประกันตนตามมาตรา 39 ในส่วนนี้ควรได้เข้ามามีสิทธิในการร่วมบริหาร และเลือกตัวแทนเข้าไปบริหารด้วยไม่ใช่หรือ ไม่ควรให้อยู่แบบแอบๆไว้ การเป็นองค์กรอิสระของประกันสังคม และการมีมืออาชีพมาบริหารจึงจำเป็น การบริหารต้องมองถึงอนาคตและปี 2558 ก็จะก้าวเข้าสู่ประชาคมอาเซี่ยน ทั้งระบบสวัสดิการ ค่าจ้างควรมีมาตรฐานเดียวกันด้วย”

ส่วนนายอนุสรณ์ กล่าวว่า ในส่วนร่าง พ.ร.บ.ประกันสังคมฉบับของรัฐบาลได้ผ่านการพิจารณาแล้ว อย่างไรให้ขบวนการแรงงานนำร่างร่างที่เสนอชื่อโดยประชาชน 14,264 รายชื่อ  เข้ามาอีกครั้งในช่วงของการพิจารณาในวาระที่ 2 และ 3 ซึ่งสามารถทำได้ในช่องทางดังกล่าว การที่เสนอโครงสร้างการบริหารนั้น ในส่วนของกรรมาธิการก็คิดว่าเป็นประโยชน์อยู่ หากไม่เห็นด้วยก็สามารถที่จะนำข้อเสนอมาเสนอได้

 นักสื่อสารแรงงาน รายงาน